ชวนลูกสาวให้ชื่นชอบกีฬา
การโค้ช
ช่องว่างระหว่างเพศในการเล่นกีฬานั้นมีจริง แต่หากในชีวิตคุณ มีเด็กหญิงคนไหนที่ต้องการกำลังใจ วิธีการเหล่านี้ช่วยได้

นี่ก็ปี 2021 แล้ว สหรัฐอเมริกามีรองประธานาธิบดีหญิง ธนาคารระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดก็มี CEO หญิง ผู้ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Oscar สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมก็เป็นผู้หญิงถึง 2 คน (และชนะไปคนหนึ่งด้วย) The Future Is Female อนาคตคือเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ของผู้หญิง... ยกเว้นในวงการกีฬา
การท้าทายของเพศ XX
แม้นักกีฬาหญิงอย่าง Serena และ Shalane จะเป็นผู้ชนะแบบกวาดเรียบทุกรายการ แต่ความเป็นจริงคือนักกีฬาหญิงยังขาดแรงสนับสนุนอยู่อีกมาก ตามข้อมูลจากรายงานเกี่ยวกับเด็กหญิงอายุ 7 ถึง 13 ปีโดย Women’s Sports Foundation (WSF) เด็กหญิงเริ่มเล่นกีฬาช้ากว่าเด็กชาย เด็กสาววัยรุ่น 15 เปอร์เซ็นต์มีแนวโน้มจะเล่นกีฬาน้อยกว่าเด็กชาย คนที่ยังเล่นกีฬาอยู่พอครบ 14 ปีก็เลิกเล่นไปเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับเด็กชาย และตามรายงานล่าสุดจากองค์กร Canadian Women & Sport เด็กหญิงที่ตัดสินใจจะเล่นกีฬาต่อจากช่วงอายุดังกล่าวมี 1 ใน 3 ที่ตัดสินใจเลิกเล่นในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ในขณะที่มีเด็กชายเพียง 1 ใน 10 ที่ตัดสินใจเลิกเล่น
มันเกิดอะไรขึ้น? สาเหตุคือมีอุปสรรคมากมายขัดขวางเด็กหญิงไม่ให้เล่นกีฬา เรากำลังพูดถึงช่วงอายุตั้งแต่เป็นเด็กวัยหัดเดินไปจนถึงวัยเรียนมหาวิทยาลัย และแววความรุ่งในวงการกีฬา ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในร่างกายไปจนถึงสิ่งที่สังคมเราบอกเกี่ยวกับศักยภาพของเธอ
ยกตัวอย่างเรื่องของชีววิทยา ถ้าเป็นเด็กชายอาจจะรู้สึกมั่นใจมากขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อเติบโต เมื่อเสียงทุ้มขึ้น เมื่อขนหน้าอกเริ่มขึ้น ทว่าเด็กหญิงกลับต้องกังวลร่างกายของตัวเองและมีความมั่นใจในร่างกายตัวเองน้อยลงเมื่อเริ่มมีหน้าอก มีประจำเดือน และเมื่อฮอร์โมนต่างๆ เริ่มทำงาน กล่าวโดย Mary Fry, PhD ผู้อำนวยการของ Kansas University Sport & Exercise Psychology Lab ด้วยสาเหตุนี้จึงอาจทำให้ความอยากเล่นกีฬาลดน้อยลง ยิ่งมีโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นแหล่งแพร่กระจายค่านิยมการเปรียบเทียบและการบั่นทอนความมั่นใจตัวเอง อาจจะยิ่งทำให้เด็กหญิง (และเด็กชายด้วย) มองหาทางเลือกในชีวิตที่ไม่ต้องเผชิญความรู้สึกเหล่านี้โดยตรง เธอเสริม
พลวัตครอบครัวและค่านิยมทางเพศก็มีบทบาทเช่นกัน เพราะโดยทั่วไปแล้วพ่อแม่ (หรือบุคคลที่มีบทบาทเป็นพ่อแม่) จะมีอิทธิพลมากที่สุดต่อความสัมพันธ์แรกเริ่มระหว่างเด็กหญิงและกีฬา ซึ่งมีบ่อยครั้งมากๆ ที่ลักษณะการชักชวนหรือสนับสนุนให้เธอเล่นกีฬาไม่ได้มีความเอาใจใส่หรือให้คุณค่าในแนวทางเดียวกับของเด็กชายและเกิดขึ้นในหลายๆ ครัวเรือน กล่าวโดย Karen Issokson-Silver รองประธานของการวิจัยและการศึกษาสำหรับ WSF “บางครอบครัวก็เป็นเรื่องปกติกว่ามากที่คุณพ่อจะเล่นโยนรับลูกบอลกับลูกชายตั้งแต่ยังเล็กมากกว่ากับลูกสาว” เธอชี้ หากไม่มีการสนับสนุนจากคนในบ้าน ความสนใจในกีฬาของเด็กหญิงก็อาจไม่สามารถเริ่มต้นตั้งแต่ยังเล็กได้ หรืออาจจะไม่มีวันได้เริ่มต้นเลยด้วยซ้ำ
นอกเหนือจากนั้น ยังมีเรื่องวัฒนธรรมเข้ามาอีก คือเรื่องของการกดขี่ ตามผลการศึกษาจาก USC และ Purdue ผู้หญิงในวงการกีฬามีพื้นที่ในจอโทรทัศน์โดยเฉลี่ยประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผู้ชายได้ไป 95 เปอร์เซ็นต์ และนักกีฬาหญิงยังได้รับเงินเดือนต่ำกว่า 15 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ในกีฬาหลายประเภท สิ่งนี้ส่งสัญญาณว่าผู้หญิงในวงการกีฬาดูค่อนข้างจะมีความสำคัญหรือมีคุณค่าน้อยกว่า ซึ่งจะยิ่งส่งผลกับเด็กที่ยังเปิดรับสิ่งต่างๆ ได้ง่าย Issokson-Silver กล่าว และนั่นจึงทำให้อัตราการเลิกเล่นสูงขึ้น (และเกิดภาวะขาดแคลนโค้ชหญิง) พอเด็กหญิงไม่มีนักกีฬาเพศเดียวกันที่แข็งแรงพอๆ กับของเด็กชายมาเป็นต้นแบบ วงจรนี้ก็จะดำเนินต่อไป เธอกล่าว
“บางครอบครัวก็เป็นเรื่องปกติกว่ามากที่คุณพ่อจะเล่นโยนรับลูกบอลกับลูกชายตั้งแต่ยังเล็กมากกว่ากับลูกสาว”
Karen Issokson-Silver
รองประธานของการวิจัยและการศึกษาสำหรับ Women’s Sports Foundation
แนวทางการแก้ไขปัญหาจากผู้เชี่ยวชาญ
เด็กที่โอเคกับการเล่นกีฬาได้รับประโยชน์มากมายจากหลายด้าน ซึ่งตามรายงาน Girls and Sports Impact ฉบับล่าสุด เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้เป็นนักกีฬาแล้ว เด็กหญิงที่เล่นกีฬาจะมีความมั่นใจมากกว่าในทุกช่วงอายุ และมีเกรดเฉลี่ยสูงกว่า นอกจากนี้ ในการวิจัยอื่นๆ ยังเชื่อมโยงกีฬาเยาวชนกับสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่พัฒนาขึ้น การมองร่างกายตัวเองในเชิงบวกมากขึ้น การมีโอกาสในการสร้างสัมพันธ์ทางสังคมเพิ่มขึ้น และการมีทักษะการเป็นผู้นำที่สูงขึ้น ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเลยถ้า “เด็กหญิงอายุน้อยที่เล่นกีฬาจะมีแนวโน้มเป็นคนแอ็คทีฟตลอดชีวิต จนนำไปสู่การมีสุขภาพดีกว่าในอนาคตโดยภาพรวม” Issokson-Silver กล่าว ดังนั้น ยังไงกีฬาก็มีความสำคัญแน่นอน
เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำให้ดีขึ้นเพื่อเด็กหญิงที่อยู่ในชีวิตของเรา และเราทำได้ เพราะมันไม่ได้ยากขนาดนั้นเลย! ในการเริ่มต้น แค่ใช้ Playbook นี้เป็นการอ้างอิง (และแบ่งปัน) เพื่อชวนให้เด็กหญิงมาเล่นกีฬา…และทำให้เธออยากเล่นมากขึ้นเรื่อยๆ

สร้างสภาพแวดล้อมที่ให้การสนับสนุน
ลักษณะการมีส่วนร่วมและสนับสนุนในการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายของคุณสามารถสร้างความแตกต่างได้เป็นอย่างมากในทัศนคติของเด็กหญิงที่มีต่อเรื่องนี้ กล่าวโดย Megan Bartlett ผู้ก่อตั้ง Center for Healing and Justice Through Sport ผู้ร่วมงานกับ Nike เพื่อสร้าง “คู่มือการโค้ชเด็กหญิง” ยิ่งคุณแอ็คทีฟมากเท่าไหร่ และยิ่งคุณใช้ภาษาที่คึกคักเวลาพูดถึงกิจกรรมมากเท่าไหร่ (“ตื่นเต้นจังจะได้ออกไปวิ่งวันนี้ด้วย!”) ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่เด็กหญิงจะสร้างความเห็นร่วมในเชิงบวกด้วยตนเอง Bartlett กล่าว “การเล่นด้วยกันกับเธอก็สำคัญพอๆ กัน” Fry เสริม ดังนั้นไม่ว่าจะอายุ 3 ขวบหรือ 13 ปี ให้เธอเป็นคนเลือกกิจกรรมเองดีกว่า (แบบนี้เธอจะสนุกกว่า) แล้วออกไปสนุกด้วยกัน
และขอร้องเลย อุปกรณ์กีฬาของเธอควรจะต้องพร้อมและเพียงพอด้วย ไม่ว่าจะเป็นสปอร์ตบรา รองเท้า หรือเสื้อผ้าที่จะช่วยให้เคลื่อนไหวได้สะดวกๆ ไปดูการฝึกซ้อมและการแข่งขันของเธอเพื่อส่งกำลังใจบ่อยๆ พาเธอไปดูการแข่งขันประเภทหญิงในระดับมัธยมหรือมหาวิทยาลัยบ้าง และชวนคุยเรื่องกีฬาเหมือนที่คุณชวนลูกคุยเรื่องการเรียนหรือเรื่องเพื่อน ขั้นตอนเหล่านี้จะปลูกฝังให้เธอมองกีฬาเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นส่วนที่น่าตื่นเต้นของชีวิต Issokson-Silver กล่าว และยังทำให้เธอได้ความมั่นใจเล็กๆ น้อยๆ ติดตัวไปด้วย
ค้นหาโค้ชที่ใส่ใจ
“หากเด็กหญิงไม่รู้สึกว่าเป็นที่ต้อนรับ ไม่ได้รับการสนับสนุน และรู้สึกว่าไม่มีคุณค่าในสายตาโค้ช พวกเธออาจคิดเลิกเล่นทั้งๆ ที่ชอบกีฬานั้นก็ได้” Issokson-Silver กล่าว วางแผนให้ลูกดีๆ ตั้งแต่เริ่มด้วยการหาโค้ชที่ปฏิบัติต่อเด็กหญิงแต่ละคนเหมือนเป็นบุคคลหนึ่ง และไม่ใช่แค่เป็นผู้เล่น ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่เปิดโอกาสให้พวกเธอได้พูดคุยอย่างเปิดเผย และออกปากชมเชยพวกเธอที่มาร่วมซ้อมและมีความพยายาม นอกจากนี้ ให้หาคนที่เชื่อว่าชัยชนะไม่ใช่ทุกสิ่ง เพราะในการศึกษาของ WSF เกี่ยวกับประเภทของโค้ชที่ทำให้เด็กหญิงประสบความสำเร็จมากที่สุดนั้น นักวิจัยพบว่าโค้ชที่ท้าทายคนในทีมพร้อมกับเน้นความสนุกและการพัฒนาทักษะฝีมือไปด้วยจะเหนือกว่าโค้ชที่เน้นการเอาชนะเพียงอย่างเดียว
หากคุณสนใจโปรแกรมฝึกซ้อมสักโปรแกรมที่มีในโรงเรียนหรือชุมชนของคุณ Fry แนะนำว่าให้พูดคุยกับพ่อแม่ในละแวกบ้านหรือกลุ่มออนไลน์ในพื้นที่ก่อน เลือกบ้านที่มีลูกซึ่งกำลังอยู่หรือเคยอยู่ในทีมนั้น “ถ้าไปดูการฝึกซ้อมเองด้วยจะยิ่งดีมาก เราจะได้เห็นว่าเด็กๆ ได้รับการปฏิบัติแบบไหน โค้ชมีปฏิสัมพันธ์กับทีมตลอดการฝึกซ้อมอย่างไร และช่วงท้ายของการฝึกซ้อมเป็นอย่างไร” กล่าวโดย Viv Holt หัวหน้า Youth Sport Trust International ผู้เป็นอีกคนที่ร่วมกันจัดทำ “คู่มือการโค้ชเด็กหญิง” ของ Nike หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้น ลองคุยกับโค้ช เพราะปฏิสัมพันธ์ที่โค้ชมีต่อคุณเป็นเครื่องชี้วัดได้อย่างดีว่าโค้ชคนนี้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกสาวคุณอย่างไร เธอเสริม
พัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับการแข่งขัน
การบอกให้ลูกสาวเก่งกว่าเพื่อนร่วมทีมหรือคู่ต่อสู้อาจทำให้เธอตีตัวออกห่างจากกีฬาได้ถ้าเกิดความรู้สึกกดดันมากกว่าความรู้สึกว่าได้รับการซัพพอร์ต Fry กล่าว ถ้าจะให้ดี ควรสอนเธอให้แข่งขันกับตัวเองแทน
“ย้ำกับเธอว่าจะบังคับให้คนอื่นเล่นตามใจตัวเองไม่ได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำได้เต็มที่คือการบังคับตัวเองว่าแต่ละวันอยากทุ่มเทมากแค่ไหน” Fry กล่าว เชียร์ให้เธอตั้งเป้าหมายส่วนตัวไว้ด้วย เช่น ตอนฝึกเสิร์ฟหรือส่งลูก เธอจะได้เห็นความก้าวหน้าของตัวเอง และถึงแม้จะมีพัฒนาการเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้น ก็อย่าลืมดีใจกับเธอด้วย เพื่อให้เธอมองเห็นผลของความพยายามและรู้สึกภูมิใจ
ใช้ภาษาอย่าง “ดีใจนะที่เห็นลูกพยายามอย่างหนัก” หรือ “ภูมิใจมากที่เห็นลูกพัฒนาขึ้น” ซึ่งจะเป็นการเน้นไปที่ความก้าวหน้า แทนที่จะเป็นผลลัพธ์ กล่าวโดย Diana Cutaia ผู้ก่อตั้ง Coaching Peace Consulting ภาษาจะช่วยให้บรรยากาศสนุกสนานขึ้นและตึงเครียดน้อยลงขณะเล่น

มุ่งเน้นที่คุณค่าและการพิสูจน์ว่ามีคุณค่า
การมองว่าตัวเองเป็นส่วนที่มีคุณค่าของทีมหรือไม่สามารถทำให้เด็กเกิดความมุ่งมั่นต่อการเล่นกีฬาหรือบั่นทอนกำลังใจได้เลย และยิ่งชัดเจนเข้าไปอีกสำหรับเด็กหญิง “การไม่มีทักษะสูงส่งด้านกีฬาไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย” Issokson-Silver กล่าว “ตราบใดที่พวกเธอรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่ยอมรับว่าเป็นคนนำบางสิ่งมาสู่ทีมหรือเกมการแข่งขัน”
โค้ชที่ดีจะทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว แต่คำยอมรับนี้จะหนักแน่นขึ้นหากย้ำลงไปอีก คอยบอกให้เธอรู้ว่ามีเด็กหญิงคนอื่นมองหาความช่วยเหลือหรือทางแก้ไขปัญหาจากเธอ หรือสปิริตอันแรงกล้าของเธอปรับอารมณ์คนรอบตัวได้เสมอเมื่อคนอื่นในทีมตามหลังอยู่ Issokson-Silver แนะนำ ส่วน Cutaia ก็เสริมว่าอยากให้คุณปรบมือบ่อยๆ ไม่เพียงในวันที่เธอท็อปฟอร์ม แต่ในวันที่เธอลำบากด้วยเพื่อบอกว่าคุณแคร์ที่ตัวเธอนะ ไม่ใช่ที่ฝีมือของเธอ
สร้างทัศนคติให้เธอสำหรับระยะยาว
งานวิจัยบางฉบับชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงจะนิยมความสมบูรณ์แบบมากกว่าผู้ชาย และความนิยมนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในวัยเด็ก Fry กล่าว จึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่จะสอนเด็กหญิงว่าการทำผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นการทำฟาวล์ในเกมหรือทำบอลตก นอกจากจะเป็นแค่เรื่องปกติในชีวิตแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้และการพัฒนาอีกด้วย
ขั้นแรก เริ่มจากให้เธอเชื่อก่อนว่าเธอมีความกล้าพอจะก้าวข้ามข้อผิดพลาด ทำให้คำว่ากล้าหาญเป็นส่วนหนึ่งในคำศัพท์ปกติที่คุณใช้ และเมื่อไหร่ที่คุณเห็นเธอหรือเพื่อนร่วมทีมลองอะไรใหม่ๆ หรือกล้าเสี่ยง (เช่น ชู้ตจากระยะไกล) อย่าลืมปรบมือให้ด้วยทุกครั้ง Bartlett กล่าว
เวลาเกิดเรื่องผิดพลาด ต้องพูดออกมา แต่ให้พูดถึงภาพกว้างด้วย Holt กล่าว “เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ แม้แต่กับเด็ก ที่จะอยากพูดย้ำๆ ถึงความผิดพลาดของตัวเอง แม้ว่าเรื่องที่ทำถูกจะมีตั้ง 20 อย่างก็ตาม” เธอกล่าว “บอกให้เธอทบทวนความผิดพลาด และใช้เป็นโอกาสสำหรับการเติบโต จากนั้นปรับโฟกัสมายังสิ่งดีๆ ทุกเรื่องที่เธอทำ” Holt กล่าวว่าการพูดถึงความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเองด้วยความเข้าอกเข้าใจก็ช่วยได้เหมือนกัน เพราะนั่นเป็นการย้ำว่าเรื่องที่ทำพลาดไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย
สุดท้ายคืออย่าเพิ่งให้ลูกสาวยอมแพ้ นอกจากว่าโดยส่วนตัวแล้ว เธอจะเข้ากับโค้ชไม่ได้จริงๆ การไม่มีเวลาเล่นอย่างเพียงพอก็ดี การรู้สึกด้อยทักษะกว่าเพื่อนร่วมทีมก็ดี การไม่ชอบกีฬาที่เล่นก็ดี หรือปัญหาอื่นใดแทบทั้งหมดสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับกรอบความหมายของคำว่าชัยชนะ Bartlett กล่าว “ให้ความสำคัญกับทักษะที่พัฒนาขึ้น หรือเพื่อนใหม่ที่รู้จัก และช่วยเธอตั้งเป้าหมายที่เกี่ยวกับสิ่งนั้นเมื่อเหลือเวลาไม่กี่สัปดาห์สุดท้ายร่วมกับคนในทีม” เธอกล่าว
ความทรหดและความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองโดยมากมาจากการอยู่จนจบฤดูกาล Bartlett กล่าว ลูกสาวคุณอาจจะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นหลังจากนี้ แต่ความแข็งแกร่งที่ได้รับมาอาจเป็นความแตกต่างที่เปลี่ยนทั้งเกมในทางสถิติและอนาคตของกีฬาไปตลอดกาล
เรียบเรียงโดย Charlotte Jacobs
ภาพประกอบโดย Kezia Gabriella
รับประโยชน์ที่มากขึ้น
สำหรับคำแนะนำเพิ่มเติมในการทำให้เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กหญิงมีส่วนร่วมในกีฬาต่อไป เข้าไปดูได้ที่ “คู่มือการโค้ชเด็กหญิง” คู่มือที่ Nike เป็นผู้สร้างร่วมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่น Made to Play แล้วฟัง Episode พิเศษของ Trained ที่มาพร้อมแขกรับเชิญ Jim Taylor, PhD นักจิตวิทยากีฬาเยาวชนและนักกีฬา