ใช้ความไม่แน่นอนให้เป็นประโยชน์
การโค้ช
แม้จะหลีกเลี่ยงเรื่องเกินคาดไม่ได้ แต่ก็อย่าให้ความไม่มั่นใจมารบกวนความก้าวหน้าของคุณ
- เราไม่มีพลังหยั่งรู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นเช่นไร (แหงสิ) แต่เราสามารถเปลี่ยนความไม่แน่นอนนั้นให้กลายเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการเติบโตได้
- นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คุณรับมือกับความไม่มั่นใจ จงย้ำเตือนตัวเองถึงทุกวิถีทางที่เคยผ่านพ้นมาในอดีต
- การมองภาพใหญ่ที่ไม่ชัดเจนจะทำให้รู้สึกล้นมือเกินไป ให้แยกย่อยขั้นตอนเพื่อไปสู่เป้าหมายออกเป็นขั้นตอนเล็กๆ แล้วจัดการไปทีละเรื่อง
อ่านต่อเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม…
ไม่มีใครทำนายอนาคตได้ แม้จะเป็นหมอดูที่เดาถูกว่าคุณจะตัดสินใจเลี้ยงหมาไว้ที่บ้านสักตัว และอย่างที่พวกเราส่วนใหญ่รู้กันว่าชีวิตเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ไม่ว่าเราจะชอบใจหรือไม่ ความไม่แน่นอนนั้นก็มักจะนำไปสู่ความไม่มั่นใจ อย่างเช่น ฉันจะเข้าโรงเรียนในฝันได้ไหม ฉันพร้อมลุยมาราธอนครั้งนี้จริงๆ ใช่ไหม ฉันจะได้งานนั้นไหม ทุกๆ เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าล้วนยังไม่ถูกตัดสิน ความไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมยิ่งเรารู้สึกสบายใจกับความไม่แน่นอนนี้ เราก็ยิ่งควบคุมความกังวลของตัวเองได้ดีขึ้น ความสบายใจนี้ยังอาจเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คุณเข้าใกล้เป้าหมายที่รู้สึกว่าอยู่ไกลเกินเอื้อมได้มากขึ้นอีกด้วย "สิ่งเดียวในโลกนี้ที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้คือการเปลี่ยนแปลง ยิ่งเรายอมรับความจริงได้มากเท่าไหร่ เราจะยิ่งตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลงมากเท่านั้น อารมณ์เหมือนเราได้รับพลังใหม่ๆ เข้ามา" Mollie Eliasof นักจิตบำบัดและนักสังคมสงเคราะห์ทางคลินิกที่ได้รับใบอนุญาตในนิวยอร์กซิตี้ กล่าว
ทำไมความไม่แน่นอนถึงเล่นงานเรา
เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะปล่อยให้ความไม่มั่นใจคืบคลานเข้ามาเมื่อไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต สำหรับบรรพบุรุษยุคแรกของเราแล้ว "ความไม่แน่นอนเท่ากับความอันตราย และต้องหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด" Robin Buckley, PhD โค้ชระดับผู้บริหารใน New Hamshire กล่าว ถ้าเจอถ้ำที่มืดจนมองไม่เห็นและไม่รู้ว่ามีเสือเขี้ยวดาบที่กำลังหิวอยู่ในนั้นหรือไม่ แทนที่จะเข้าไป อยู่ให้ห่างๆ ไว้ดีกว่า
การพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่รู้ของเราเป็นสัญชาตญาณที่ฝังรากลึก ซึ่งอาจถึงขั้นที่เรายอมทุกข์กับเรื่องที่คุ้นเคยมากกว่าจะลองเรื่องที่ตัวเองไม่เคยพบเคยเห็นด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างในกรณีศึกษาหนึ่งของประเทศอังกฤษ คนที่รู้อย่างแน่นอนว่าตัวเองจะเจ็บปวดจากการถูกช็อตไฟฟ้า จะมีความเครียดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการรู้ว่ามีโอกาสถูกช็อต 50-50
ทำไมตอนนี้ถึงเป็นเวลาที่จะยอมรับความไม่รู้ทั้งหลาย
แน่นอนอยู่แล้ว ในหลายๆ ครั้งการเลือกอยู่กับสิ่งที่ตัวเองรู้เป็นการตัดสินใจที่ฉลาดกว่า ไม่มีใครหรอกที่อยากให้คุณเลือกทางเดินกลับบ้านตอนกลางค่ำกลางคืนเป็นถนนมืดๆ ในซอยเปลี่ยวแทนที่จะใช้เส้นทางปกติที่สว่างดีอยู่แล้ว "แต่เมื่อเรามีความสามารถที่จะออกสำรวจสิ่งใหม่ แล้วกลับถูกขวางกั้นด้วยนิสัยหรือแบบแผนต่างๆ ของเราถึงแม้ว่าจะเป็นด้านดีก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการขยับขยาย ความคิดสร้างสรรค์ หรือการเติบโตในรูปแบบใหม่" Buckley อธิบาย
การเรียนรู้ที่จะใจเย็นในสถานการณ์อันคลุมเครือ "สามารถพาเราไปเจอผู้คนและสิ่งต่างๆ ที่อาจจะไม่มีโอกาสได้พบเลยถ้ายังทำแต่อะไรเดิมๆ" Buckley กล่าว งานวิจัยของ University of Chicago เผยอีกว่า ความไม่แน่นอนนี้ยังทำให้คุณมีความกระตือรือร้นที่จะบรรลุผลลัพธ์ความสำเร็จด้วย หลักการก็คือ การเจอความเสี่ยงทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น และความตื่นเต้นเป็นแรงกระตุ้นให้เราได้ และด้วยแรงกระตุ้นทั้งหมดเหล่านั้น ก็จะไม่มีอะไรมาหยุดยั้งความก้าวหน้าของคุณได้
และที่ดียิ่งกว่านั้นก็คือ คุณจะรู้สึกว่าตัวเองยอมรับความไม่รู้ได้ง่ายขึ้นในทุกครั้ง "การเผชิญหน้าสถานการณ์ต่างๆ ที่มีความท้าทายหรือไม่แน่นอน จะช่วยให้เราปรับระบบความคิดของตัวเองใหม่อีกครั้งเมื่อเจอเรื่องที่ทำให้ตื่นตัว และจะทำให้เราได้เข้าหาโอกาสมากขึ้นในอนาคต" Michael Ambrose, PhD นักจิตวิทยาคลินิกที่ได้รับใบอนุญาตในนิวยอร์กซิตี้กล่าว หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ เราสามารถพัฒนาความกล้าและความเชื่อมั่นในตัวเองได้ในระหว่างเผชิญสถานการณ์
ถึงความไม่รู้จะทำให้เราไม่สบายใจมากถึงมากที่สุด แต่เราอยากให้เชื่อว่าคุณสามารถรับมือได้ งานวิจัยจาก Yale University ทำการศึกษาข้อมูลในลิงและพบว่า สถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้จะไปเร่งให้เกิดกิจกรรมในสมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) ซึ่งเป็นส่วนที่มีหน้าที่ควบคุมการตอบสนองทางด้านอารมณ์ นี่จึงทำให้เชื่อว่า กลไกเดียวกันนี้สามารถทำให้สมองมนุษย์มุ่งความสนใจเต็มที่ไปกับข้อมูลที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลาอันไม่แน่นอนเพื่อเลือกทางออกที่ดีที่สุด
ยอมรับให้เป็นนิสัย
ความเชื่อมั่นว่าสิ่งดีๆ อาจมาจากความไม่แน่นอน (หรือถ้าไม่มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น อย่างน้อยคุณก็ยังโอเค) เป็นความเชื่อที่พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะมันก็ยากจะเชื่อจริงๆ นั่นแหละ แต่ถ้าเป็นการฝึกคิดด้วยคำว่า "จะเกิดอะไรขึ้นถ้า..." แบบนี้น่าจะทำได้แน่นอน
1. ไปให้ไกลกว่าแค่ A หรือ B
Eliasof อธิบายว่า ความวิตกกังวลจากสิ่งที่ไม่รู้อาจหนักหนาขึ้นจากการปิดกั้นความคิดตัวเองให้มีแค่ 2 ทางเลือก เช่น คุณรู้สึกว่างานของคุณไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป แต่กลับชอบงานนี้เพราะ WFH ได้ถ้าต้องการ ถ้ามองแค่ตัวเลือกที่มี คุณรู้สึกติดกับดักระหว่าง A) ทำงานที่คุณไม่รักต่อไป หรือ B) เครียดเพราะต้องหางานใหม่ที่ไม่บังคับให้เข้าออฟฟิศ
เรื่องของเรื่องคือ ทางเลือกไม่ได้มีแค่ 2 อย่างนั้น "คุณสามารถแบ่งย่อยตัวเลือก A และ B ออกเป็นหลายๆ หมวดหมู่ได้" Eliasof กล่าว "การมีหลายตัวเลือกจะเปิดความเป็นไปได้ต่างๆ และทำให้คุณรู้สึกสามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้" ถ้าทำงานเดิมต่อ คุณก็อาจจะหันไปให้ความสำคัญกับงานที่ช่วยให้รู้สึกได้พิชิตเป้าหมายมากขึ้นก็ได้ หรือไม่ก็สร้างความแน่นแฟ้นกับทีม ซึ่งอาจช่วยให้คุณก้าวหน้าในอาชีพต่อไปได้ ส่วนถ้าอยากหางานใหม่ คุณก็อาจจะใช้เวลาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อฝึกทักษะให้เป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้นก่อนจะไปสมัครงานในตำแหน่งอื่นๆ ก็ได้เหมือนกัน เห็นไหมว่าน่าตื่นเต้นมากกว่าน่ากลัวเสียอีก
2. ทบทวนเรื่องที่เคยเกิดขึ้นกับตัว
แทนที่จะไม่มั่นใจว่าตัวเองมีความสามารถพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ใหม่ได้ไหม ลองคิดย้อนกลับไปว่าคุณเคยทำอย่างไรเมื่อต้องเจอประสบการณ์ยากๆ ในอดีต เช่น จัดการชีวิตท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาด "คุณอาจจะเป็นคนมีไหวพริบและมองโลกในแง่ดีก็ได้ เอาสิ่งเหล่านี้มาใช้เป็นจุดแข็งสิ" Buckley กล่าว "จุดแข็งพวกนี้คุณรู้ว่าเคยใช้แล้วได้ผล ถ้าในอดีตเคยได้ผล ปัจจุบันก็ต้องได้ผลอีกสิ"
คำแนะนำ - การใช้ความสามารถเฉพาะตัวที่เคยทำให้ตัวเองบรรลุเป้าหมายมาแล้ว มีความทรงพลังมากกว่าการพูดง่ายๆ ว่า "ฉันทำได้" นั่นเพราะสมองของคุณมีหลักฐานชี้ชัดว่าทักษะที่มีอยู่กับตัวตอนนี้สามารถนำมาใช้ได้ Buckley กล่าว คุณจะตระหนักได้ว่าถึงแม้ทางข้างหน้าจะไม่มีอะไรคาดเดาได้ แต่อย่างน้อยมีอยู่สิ่งหนึ่งที่คุณรู้แน่ๆ นั่นคือ คุณเคยผ่านมาแล้ว เคยจัดการได้แล้ว และครั้งนี้ก็จะสามารถจัดการได้อีก
3. แบ่งเป็นงานย่อยๆ
ความไม่แน่นอนอาจกระหน่ำใส่คุณเมื่อคุณมีงานใหญ่ต้องจัดการ และคุณก็มืดแปดด้านไม่รู้ว่าทางออกควรจะเป็นทางไหน เมื่อสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ให้ลองวางแผนโดยแบ่งงานใหญ่ออกเป็นงานย่อยๆ แล้วกำหนดเป้าหมายว่าจะทำงานย่อยชิ้นต่อไปเมื่อถึงวันที่กำหนด Eliasof แนะนำ "คุณจะรู้สึกได้ถึงความสำเร็จเวลาที่ทำงานแต่ละชิ้นเสร็จ ความรู้สึกนี้จะทำให้คุณมีความมั่นใจและรู้สึกว่าควบคุมสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น" เธอกล่าว นอกจากนี้ การวางแผนยังทำให้คุณมีฐานที่มั่นไว้คอยรองรับเมื่อใดก็ตามที่เกิดความสับสน
4. อย่ากดดันตัวเอง
ถ้ามีเด็กมาเล่าให้คุณฟังว่ากำลังมีเรื่องเครียด คุณจะช่วยเด็กคนนั้นอย่างไร คงไม่ใช่การบอกว่าในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดจะเกิดอะไรขึ้น และคงไม่ใช่การตัดพ้อว่าโลกใบนี้อะไรๆ ก็ยากไปหมดอยู่แล้ว ดังนั้น ขอให้ใจดีกับตัวเองเยอะๆ รักตัวเองเยอะๆ แล้วก็ดูแลตัวเองให้ดีๆ เข้าไว้ Eliasof กล่าว พูดคุยเกี่ยวกับความกังวลของคุณกับคนอื่นที่คุณไว้วางใจ นึกถึงผลลัพธ์ด้านบวกที่อาจเกิดขึ้น หรืออนุญาตให้ตัวเองไปทำสิ่งอื่นที่ทำให้คุณไม่ต้องขบคิดถึงสถานการณ์นั้นไปซักพัก ไม่ว่าจะเป็นการเล่นบาสเก็ตบอลหรือดูวิดีโอไร้สาระใน TikTok "ประเด็นคือการไม่ละทิ้งความรู้สึกของคุณโดยการบอกว่าเหตุการณ์ทุกอย่างปกติดี แต่ควรปลอบประโลมและซัพพอร์ตความกลัวของคุณ" เธอกล่าว การทำแบบนี้ไม่เพียงแต่จะให้ผลลัพธ์ที่ช่วยให้สงบลง แต่ยังช่วยให้คุณเห็นภาพที่ชัดเจน ทำให้เข้าถึงวิธีการแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
5. อยู่กับปัจจุบัน
การตื่นตูมกับเรื่องอนาคตหมายความว่าสมองของคุณจะไปแต่ข้างหน้าอย่างเดียว โดยไม่สนใจปัจจุบัน ซึ่งยังไม่มีเรื่องร้ายใดๆ เกิดขึ้น การจะฝึกให้อยู่กับปัจจุบันได้นั้น Buckley มักจะใช้เวลาช่วงกลางคืนเขียน 3 สิ่งที่ทำให้เธอมีความสุขในวันนั้น "เป็นการฝึกความคิดให้มองหาสิ่งเหล่านี้ตลอดทั้งวันโดยอัตโนมัติ และจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ได้ เช่น การดูเต่าทองไต่บนหน้าต่าง ตื่นมาก็เจอหมาที่บ้านเลียหน้า" เธอกล่าว "สิ่งนี้จะพัฒนาความสามารถของคุณในการอยู่กับปัจจุบันและควบคุมความคิดของคุณ ซึ่งในท้ายที่สุดจะนำไปสู่การควบคุมความรู้สึกของตัวเอง" เพราะว่าแม้คุณจะไม่รู้แน่ชัดว่าจะได้งานนั้นหรือเปล่า หรือการแข่งขันนั้นจะออกมาดีที่สุดในชีวิตหรือไม่ สิ่งที่คุณตัดสินใจได้แน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ก็คือจะปล่อยให้ความไม่แน่ใจเป็นตัวถ่วงความก้าวหน้าหรือจะใช้ในการขับเคลื่อนตัวเองเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น
เรียบเรียงโดย Marygrace Taylor
ภาพประกอบโดย Davide Bonazzi
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
หากอยากได้ข้อพิสูจน์เพิ่มเติมว่าความไม่มั่นใจและความไม่แน่นอนทรงพลังแค่ไหน ไปดูวิธีที่ Amy Bream นักกีฬา Nike ใช้ในการฝ่าฟันทั้ง 2 อย่างในแต่ละวันเพื่อสร้างความก้าวหน้า แล้วดูการออกกำลังกายของเธอที่ปรับได้ตามต้องการในแอพ Nike Training Club