เปลี่ยนความท้อแท้เป็นพัฒนาการแบบก้าวกระโดด
การโค้ช
หากจู่ๆ คุณพบกับสิ่งที่ฉุดรั้งไม่ให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมาย อย่าเพิ่งหัวเสีย ลองกัดฟันสู้สักตั้ง
คุณคิดว่าในช่วงอายุหนึ่งตัวเองคงจะได้แต่งงาน แต่สุดท้ายกลับต้องได้เลิกกับแฟนที่คบหาดูใจกันมานาน คุณอุตส่าห์ฝึกซ้อมเพื่อจะลงแข่งวิ่งครั้งแรก แต่งานแข่งนั้นกลับถูกยกเลิก คุณพยายามกินวีแกนติดต่อกันให้ได้สองสัปดาห์ แต่สุดท้ายก็พังไม่เป็นท่าเพราะดันกินเบอร์ริโต้ถั่วไปครึ่งชิ้นแล้วเพิ่งรู้ว่ามีชีสอยู่ในนั้น
อุปสรรคที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ก็ทำให้คุณกังวล ทุกข์ทรมาน และทำให้หมดเรี่ยวหมดแรงได้เหมือนกัน Carrie Jackson Cheadle โค้ชด้านประสิทธิภาพทางจิตและผู้เขียนหนังสือชื่อ “On Top of Your Game” และ “Rebound” กล่าว โดย Jackson Cheadle กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เหตุผลที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเวลาที่อะไรๆ ไม่เป็นไปตามคาด เรามักจะรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้
Jehan Sparks, PhD นักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรม ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญในด้านทักษะการประเมินและการตัดสินใจจาก UCLA อธิบายว่า “เวลามีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นเพียงหนึ่งเรื่อง คุณก็พร้อมจะจมดิ่งไปกับความคิดในแง่ลบแล้ว” คุณจะไวต่อเรื่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องไม่ดีอีก คุณจะรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน คุณจะเก็บซ่อนความรู้สึกต่างๆ ไว้กับตัวเอง และนึกถึงแต่เรื่องร้ายๆ ในชั่วขณะนั้น ถ้าจะให้อธิบายสั้นๆ นี่คือ “ความกังวลใจซ้ำแล้วซ้ำเล่าของคุณเอง” Sparks กล่าว
ที่จริงแล้วคุณไม่จำเป็นต้องคิดมากเลยด้วยซ้ำ Jackson Cheadle กล่าวว่า “คนที่รู้สึกเครียดจะไม่กลายเป็นคนที่เครียดง่าย จนกว่าพวกเขาเลือกที่จะคิดว่าตัวเองรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ไม่ได้” นั่นหมายความว่าคุณสามารถควบคุมเรื่องนี้ได้ทั้งหมด อยู่ที่ว่าจะมองและจัดการกับอุปสรรคทางอารมณ์เหล่านั้นอย่างไร คุณทำได้แม้กระทั่งเปลี่ยนอุปสรรคเหล่านั้นเป็นแรงขับเคลื่อนที่พาคุณไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ลองมาดูวิธีการที่ว่านี้กัน
“คนที่รู้สึกเครียดจะไม่กลายเป็นคนที่เครียดง่าย จนกว่าพวกเขาเลือกที่จะคิดว่าตัวเองรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ไม่ได้”
Carrie Jackson Cheadle
โค้ชด้านประสิทธิภาพทางจิต
1. ปล่อยใจให้รู้สึกอย่างเต็มที่
“อย่าเศร้าไปเลยนะ” “อย่าปล่อยให้ความรู้สึกนี้ทำให้เธอหงุดหงิดสิ” เสียงในใจของคุณเป็นแบบนี้ใช่ไหม “เป็นเรื่องปกติที่คุณจะต่อสู้กับความรู้สึกแรกเริ่มเมื่อพบเจอกับเหตุการณ์แย่ๆ แต่การที่คุณจำแนกความรู้สึกเหล่านั้นว่าเป็นความรู้สึก ‘แย่’ จะทำให้คุณกลับมารู้สึกดีขึ้นได้ช้าลง” Jackson Cheadle กล่าว “คุณควรปล่อยให้ตัวเองเข้าถึงความรู้สึกเหล่านั้นให้เต็มที่ แล้วคุณจะก้าวผ่านมันไปได้” เธอกล่าว
มีงานวิจัยชี้ให้เห็นด้วยว่า การที่เราจำแนกความรู้สึกได้อย่างถูกต้องแม่นยำจะช่วยเร่งกระบวนการฟื้นคืนอารมณ์ให้ดีขึ้นได้ Jackson Cheadle กล่าวเพิ่ม ซึ่งนี่คือเหตุผลว่าทำไมเธอถึงแนะนำให้ลองเสิร์ชหา “คำที่ใช้บอกอารมณ์” ในเว็บไซต์ต่างๆ และเลือกเว็บที่มีคำบอกอารมณ์นี้ตั้งแต่ 50 คำขึ้นไป เพื่อใช้จัดการกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองได้อย่างอยู่หมัด “แทนที่จะมัดรวมความรู้สึกต่างๆ ให้อยู่แค่ในหมวดใหญ่ๆ คือ ‘ดี’ กับ ‘แย่’ คุณสามารถคิดแยกย่อยไปได้ว่า ‘โอ้ย ตอนนี้ฉันรู้สึกท้อแท้ใจจัง’ หรือ ‘สิ่งที่ฉันรู้สึกตอนนี้คือความสิ้นหวัง’” การระบุให้ชี้ชัดว่าอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ เป็นอย่างไรและปล่อยให้ใจของคุณรู้สึกถึงอารมณ์นั้นจะช่วยให้คุณได้กลั่นกรองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยังช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้เร็วกว่าเดิมด้วย เธออธิบาย
2. ยอมรับและลงมือทำ
หากคุณเคยแสดงตลกแบบด้นสด คุณคงจะรู้จักกฎ “ใช่ แล้วก็” ที่ไม่ว่าอะไรจะถูกหยิบยกขึ้นมาในฉาก คุณจะต้องรับมุกแล้วนำไปเล่นต่อให้ได้ โดย Jackson Cheadle กล่าวว่า “ถ้าคนอื่นพูดถึงมนุษย์ต่างดาวแล้วคุณพยายามจะฉีกไปเรื่องอื่น ทุกอย่างที่เล่นมาก็จะพังหมด” ซึ่งก็เหมือนกับการทำใจยอมรับความผิดหวัง ถ้าคุณปิดใจแล้วเอาแต่คิดว่า “มันต้องไม่เป็นแบบนี้สิ” คุณก็จะผิดหวังอยู่อย่างนั้น จงยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นและลองดูว่าจะทำอะไรต่อไปได้บ้าง วิธีนี้จะทำให้คุณพร้อมกลับไปลุยต่อได้อย่างเต็มร้อย
Sparks แนะนำว่าการนำเอาแนวคิดนี้ไปปรับใช้จะช่วยเสริมสร้างและหล่อเลี้ยงกรอบแนวคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) หรือก็คือความเชื่อที่ว่าเราสามารถเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ แทนที่จะเชื่อว่าความสามารถของตัวเองมีขีดจำกัด เช่น ถ้าคุณตกงาน ก็อย่าไปคิดว่าคุณไม่มีความสามารถในการทำงานด้านนั้น แต่ให้ลองหาวิธีที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะต่างๆ แล้วลงมือทำในเวลาว่างที่จะมีมากขึ้น หรือถ้าคุณดันข้อเท้าพลิกหนึ่งสัปดาห์ก่อนจะเริ่มวิ่งตามแผนใหม่ที่วางไว้ แทนที่จะถอดใจไปเลย คุณก็ยังหันไปออกกำลังกายในรูปแบบที่ช่วยเสริมสร้างความสมดุลของร่างกายได้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการกลับไปวิ่งอีกครั้ง
การจัดระเบียบความคิดของตัวเองในลักษณะนี้ถือเป็นวิธีการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งภายในได้ Sparks กล่าวเพิ่ม “คนที่ฮึดสู้บ่อยๆ มักจะประสบความสำเร็จ เพราะคนเหล่านี้มักจะฟื้นฟูความรู้สึกตัวเองได้รวดเร็วเมื่อเจอกับอุปสรรคต่างๆ และพวกเขาเลือกที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์แย่ๆ”
3. มองหาสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น
มุมมองในแง่ร้ายก่อตัวและสะสมในใจได้ก็จริง แต่ความรู้สึกดีๆ ก็เกิดขึ้นและเพิ่มพูนในใจได้เช่นกัน “ถ้าคุณนึกถึงแต่เรื่องดีๆ ในชีวิตหรือเรื่องที่ทำให้คุณซาบซึ้งใจอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังเจอกับเรื่องแย่ๆ คุณก็จะเริ่มสังเกตเห็นเรื่องดีอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น” Sparks กล่าว การมองหาสิ่งดีๆ ที่คุณอาจนึกไม่ถึงในสถานการณ์ใหม่ที่ต้องพบเจอ ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้ความรู้สึกในแง่บวกคงอยู่ได้นาน ตัวอย่างเช่น ถ้าการแข่งวิ่งถูกยกเลิกไป แสดงว่าคุณมีโอกาสวิ่งแบบเวอร์ช่วลรันในเส้นทางที่ต้องการได้ หรือถ้าต้องย้ายเข้าไปอยู่บ้านหลังเดียวกับพ่อแม่ แสดงว่าคุณมีโอกาสได้เก็บเงินไว้สำหรับอพาร์ทเมนต์ที่ดี เธอกล่าวเสริม แนวคิดทั้งสองนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจและเพิ่มแรงกระตุ้นให้คุณกลับไปลุยต่อและลุกขึ้นสู้ได้อีกครั้ง
Sparks กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการรอจังหวะที่จะนำเอาเทคนิคการคิดเหล่านี้ไปใช้ โดยจะต้องเป็นช่วงเวลาหลังจากที่คุณรับรู้ถึงความรู้สึกของตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว และก่อนที่จะมีแต่ความคิดในแง่ลบวนเวียนในหัว “ถ้าเริ่มเอามาใช้เร็วเกินไปก็อาจแย่กว่าเดิม เพราะแนวคิดเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่เรารู้สึกจริงๆ” เธอกล่าว เพราะฉะนั้นให้จำไว้ว่า คุณจะต้องสังเกตอารมณ์ที่น่ารำคาญใจเหล่านี้ให้ได้ ก่อนที่จะเอาแนวคิดเป็นเหตุเป็นผลมาใช้แล้วมองหาแง่มุมดีๆ ที่จะช่วยดึงความรู้สึกของคุณไม่ให้จมปลัก
4. ปรับเป้าหมายของคุณ
ไม่ว่าเป้าหมายจะเป็นอะไร หากไขว้เขว้ไปจากเส้นทางสู่เป้าหมายนั้น คุณต้องลองปรับเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ “สมองของคุณมักจะยึดติดกับความคาดหวังในตอนแรก” Jackson Cheadle กล่าว แม้ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปแล้ว “แต่ถ้าคุณยังไม่ยอมปรับเปลี่ยนเป้าหมายของตัวเอง คุณจะรู้สึกว่าทุกอย่างที่ทำจะพังไม่เป็นท่า”
เธอกล่าวว่า วิธีการปรับเปลี่ยนที่คุณใช้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่อยากทำและสิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้กับคุณ เช่น คุณอาจจะต้องเปลี่ยนกำหนดการต่างๆ ที่วางไว้ โดยตัดใจจากทริปที่จะไปเที่ยวกับเพื่อนๆ ในปีนี้ เพื่อทริปที่เลิศกว่าเดิมในปีหน้า หรือคุณอาจจะต้องกำหนดแพลนว่าจะออกเดทอาทิตย์ละครั้ง แล้วยึดแพลนนี้ไว้เพื่อจะได้ตัดใจจากเรื่องเก่าๆ ได้ ซึ่งไม่ว่าคุณจะปรับเปลี่ยนเป้าหมายอย่างไร ส่วนที่จะต้องไม่ลืมก็คือการเขียนเป้าหมายใหม่พร้อมกับขั้นตอนที่จะลงมือทำแบบเป๊ะๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น Jackson Cheadle กล่าว วิธีการง่ายๆ นี้จะช่วยกระตุ้นให้สมองส่วนที่เน้นด้านการกระทำได้ทำงานมากขึ้น และช่วยเพิ่มโอกาสให้ทำสำเร็จได้มากขึ้นด้วย เธอกล่าว
แนวคิดข้อสุดท้ายที่จะช่วยเติมพลังใจให้คุณได้ก็คือ แม้ว่าในชั่วเวลาหนึ่ง สิ่งต่างๆ จะไม่เป็นไปตามที่คุณคาดหวัง แต่เรื่องแย่ๆ ที่เกิดขึ้นมาอีกโดยที่ไม่คาดคิดนั้นอาจส่งผลดีต่อการทำผลงานของคุณได้ นี่คือสภาวะที่ผู้เชี่ยวชาญเรียกกันว่า “การเติบโตขึ้นจากความรู้สึกที่ย่ำแย่” (Post-Traumatic Growth) ในการศึกษาวิจัยปี 2019 ของ Kellogg School of Management แห่ง Northwestern University นักวิจัยได้ศึกษานักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่อายุงานยังไม่มากและต้องเผชิญกับความยากลำบากในช่วงแรกที่เริ่มทำงาน ซึ่ง 10 ปีให้หลัง นักวิจัยพบว่านักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้มีผลงานดีกว่าเพื่อนๆ ในระดับเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ โดยงานวิจัยที่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ได้เผยแพร่ออกไปนั้นได้รับการอ้างอิงถึงมากกว่าและสร้างอิมแพ็คให้สาขาวิชาของตนเองได้มากกว่า ซึ่งทฤษฎีหนึ่งตามข้อมูลจาก Dashun Wang, PhD เจ้าของและผู้นำของงานวิจัยได้สรุปเอาไว้ว่า ประสบการณ์ที่ยากลำบากจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความมุ่งมั่นตั้งใจได้ โดย Wang กล่าวว่า อาจเป็นเพราะช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านั้น “นักวิทยาศาสตร์กลุ่มดังกล่าวจึงมีพัฒนาการจนกลายเป็นตัวเองในแบบที่ดีขึ้นได้”
และนี่คือแนวทางในการพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสต่อตัวคุณ
เรื่องโดย Marissa Stephenson
ภาพประกอบโดย Davide Bonazzi
รับประโยชน์ที่มากขึ้น
เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านการฟื้นกำลัง รวมถึงทัศนคติ การเคลื่อนไหว โภชนาการ และการนอนหลับ
รับประโยชน์ที่มากขึ้น
เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านการฟื้นกำลัง รวมถึงทัศนคติ การเคลื่อนไหว โภชนาการ และการนอนหลับ