วิธีเล่นกลกับสมองให้เข้าสู่การนอนได้ดียิ่งขึ้น

การโค้ช

แค่เปลี่ยนทัศนคติ การนอนก็อาจเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงเวลานอนจะยาวขึ้น แต่คุณภาพการนอนจะดีขึ้นด้วย มาลองดูกันด้วยวิธีต่อไปนี้ที่มีงานวิจัยสนับสนุน

อัพเดทล่าสุด: 1 ธันวาคม 2563
วิธีหลอกสมองให้นอนหลับได้ดีขึ้น

ห้องนอนก็มืดสนิท อากาศก็เย็นสบาย โทรศัพท์ก็ไม่ได้แตะมาชั่วโมงหนึ่งแล้ว จิบกาแฟครั้งสุดท้ายก็ตั้งแต่ก่อนเที่ยง ทำทุกอย่างถูกต้องหมดแล้วแต่ทำไมยังหลับไม่ลงเสียที คำตอบของคำถามอาจเป็นเรื่องในหัวก็เป็นได้

สิ่งที่เรากำลังพูดถึงอยู่คือแง่มุมในการมอง โดยทั่วไปแล้ว การมองโลกในแง่ดีหรือแง่ร้ายของคนเราจะค่อนข้างหนักไปในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งงานวิจัยชิ้นใหม่ก็ชี้ว่าความโน้มเอียงดังกล่าวไม่เพียงส่งผลในระดับการรู้สึกตัวเท่านั้น แต่ยังอาจบอกล่วงหน้าได้ว่าสภาพการนอนหลับของคุณดีแค่ไหน

ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงวารสาร “Journal of Behavioral Medicine” มีการขอให้คนในวัยผู้ใหญ่มากกว่า 3,500 คน ทำแบบสำรวจที่เปิดเผยถึงมุมมองต่อโลกของตัวเอง จากนั้นทุกคนจะได้ทำแบบประเมินตนเองเกี่ยวกับการนอนหลับ นักวิจัยพบว่าผู้ที่ระดับการมองโลกในแง่ดีค่อนข้างสูงมีแนวโน้มที่จะให้คะแนนคุณภาพการพักผ่อนของตัวเองในระดับที่ค่อนข้างดีหรือดีมาก โดยมีปัจจัยที่นำมาพิจารณา เช่น ความรวดเร็วในการหลับ ความบ่อยครั้งในการพลิกตัว และจำนวนชั่วโมงที่ได้นอนหลับ ผลวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่เรารู้ดีอยู่แล้วในเรื่องทัศนคติว่า คนที่มองโลกในแง่ดีมักจะคาดหวังและบอกกล่าวถึงผลลัพธ์ที่ดีกว่าไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด

แต่ทีมวิจัยก็เชื่อว่ามีอะไรมากกว่านั้น พวกเขาสงสัยว่า เพราะคนมองโลกในแง่ดีรู้สึกดีกับชีวิตมากกว่า ดังนั้นการนอนหลับยามค่ำคืนจึงเป็นเรื่องที่จัดการได้ง่ายกว่า หรือเพราะการพักผ่อนที่เพียงพอทำให้อารมณ์ดี ดังนั้น คนจึงมองโลกในแง่ดีมากกว่า

เพื่อค้นหาคำตอบ ทีมวิจัยจึงติดตามผลในอีกห้าปีต่อมาและขอให้ผู้เข้าร่วมกลุ่มเดิมทำการทดลองซ้ำอีกครั้ง กลุ่มที่เคยได้รับคะแนนมองโลกในแง่ดีสูงแต่มีคุณภาพการนอนหลับต่ำในคราวนี้มีแนวโน้มที่จะนอนหลับได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับคนที่มองโลกในแง่ร้าย หรือกล่าวได้ว่าเพราะคะแนนการนอนหลับเปลี่ยนไปแต่ทัศนคติไม่ได้เปลี่ยน ทัศนคติที่แจ่มใสจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนการนอนหลับธรรมดาๆ ให้กลายเป็นคืนอันแสนหวานได้ นักวิจัยสรุป

วิธีหลอกสมองให้นอนหลับได้ดีขึ้น

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการพักผ่อนอย่างเต็มที่นั้นช่วยพัฒนาสภาพอารมณ์ได้ และยังได้ผลทั้ง 2 ทาง Rosalba Hernandez, PhD ผู้นำวิจัยและรองศาสตราจารย์ในโรงเรียนสังคมสงเคราะห์ที่มหาวิทยาลัย University of Illinois at Urbana-Champaign กล่าว “ยิ่งนอนหลับมากเท่าใด ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อความสมบูรณ์แข็งแรงทางอารมณ์และสุขภาพร่างกายมากเท่านั้น”

นอกจากนี้ ดูเหมือนสิ่งที่เกิดทั้งหมดจะเป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ แค่เชื่อว่าตัวเองนอนหลับได้แย่ ไม่ได้แปลว่าจะกลายเป็นแบบนั้นจริง ในงานวิจัยครั้งแรกของ Hernandez การนอนหลับใช้วิธีประเมินด้วยตนเองเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าคนที่ให้คะแนนต้องคิดเองว่าจะให้คะแนนอย่างไร แต่ในระหว่างการวิจัยครั้งที่ 2 ทีมของเธอเป็นคนคอยเฝ้าดูการนอนหลับของผู้เข้าร่วม โดยใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กที่จะคอยวัดการเคลื่อนไหวในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งผลที่ออกมาก็เป็นไปตามคาด นักวิจัยสังเกตเห็นผู้เข้าร่วมบางคนนอนหลับได้เต็มอิ่มแม้จะบอกว่าตนนอนหลับได้แย่ก็ตาม ดังนั้น คนที่มองโลกในแง่ร้ายและและคิดว่าตัวเองนอนหลับได้ไม่ดีอาจเป็นคนที่นอนหลับอย่างสงบสุขทั้งคืนมาโดยตลอดก็เป็นได้

ทั้งหมดนี้หมายความว่าอย่างไร Christopher Winter, MD นักประสาทวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านนอนหลับสำหรับนักกีฬามืออาชีพกล่าวว่า “มุมมองความคิดว่าคุณนอนแบบไหน สำคัญกว่าการนอนจริงๆ ของคุณ” พยายามฝึกจนเชื่อว่าตัวเองหลับได้ดีกว่าที่ทำได้จริง เช่น พยายามสนใจแค่ช่วง 3 ชั่วโมงที่ไม่ถูกรบกวนในระหว่างตี 3 ถึง 6 โมงเช้า แทนที่จะสนใจตอนที่ตัวเองหลับๆ ตื่นๆ นอกช่วงเวลาดังกล่าว ทำแบบนี้แล้วคุณน่าจะรู้สึกว่าตัวเองพักผ่อนได้ดีขึ้น นี่ยังไม่รวมถึงวิธีคิดเชิงบวกที่จะช่วยส่งเสริมทัศนคติมองโลกในแง่ดีให้คุณได้ ซึ่งถ้าอ่านมาถึงตอนนี้ คุณก็น่าจะรู้แล้วว่าเป็นสิ่งช่วยสำหรับการนอนหลับในครั้งต่อๆ ไปได้

คนที่มองโลกในแง่ร้ายและและคิดว่าตัวเองนอนหลับได้ไม่ดีอาจเป็นคนที่นอนหลับอย่างสงบสุขทั้งคืนมาโดยตลอดก็เป็นได้

Rosalba Hernandez, PhD รองศาสตราจารย์ในโรงเรียนสังคมสงเคราะห์ที่ University of Illinois at Urbana-Champaign

ถ้าคิดว่าปกติตัวเองไม่ใช่คนมองโลกในแง่ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลไป เดี๋ยวคุณก็ทำได้ เพราะพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็ช่วยดึงความรู้สึกด้านบวกได้เช่นกัน Hernandez กล่าว ตัวอย่างเช่น ลองเขียนสิ่งดีๆ 3 สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณในวันนี้ จะเป็นเรื่องที่เล็กน้อยขนาดไหนก็แล้วแต่ งานวิจัยชี้ว่าการทำแบบนี้ช่วยทำให้จิตใจสงบลงและทำให้อยู่ในสภาพที่พร้อมนอนมากขึ้น อีกวิธีหนึ่งคือ ลองหาเวลาระหว่างวันเพื่อมองคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมี โดยส่งข้อความหาเพื่อนหรือคนในครอบครัวเพื่อขอบคุณสำหรับเรื่องต่างๆ แล้วจากนั้น ให้ฝึกแสดงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยลองไปทำอาสาสมัครหรือแม้แต่ช่วยเหลือใครสักคนที่อยู่ด้วยกัน ถ้าความเอื้อเฟื้อติดต่อถึงกันได้ การนอนหลับฝันดีก็น่าจะไม่ต่างกัน แต่ถึงจะไม่ใช่ อย่างน้อยเราก็ได้มองโลกในแง่ดีไปแล้ว

เผยแพร่ครั้งแรก: 17 สิงหาคม 2563