เรียนรู้ที่จะรักลู่วิ่งไฟฟ้า

การโค้ช

เมื่อทำตามเคล็ดลับเหล่านี้ที่จะเปลี่ยนคุณให้กลายเป็นเครื่องจักรแห่งการวิ่ง การจะรู้สึกสนุกกับการฝึกซ้อมแบบอยู่กับที่จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

อัพเดทล่าสุด: 11 พฤษภาคม 2564
ทำไมการวิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้าถึงน่าเบื่อ

เสน่ห์บางอย่างของการดื่มด่ำกับวิวใหม่ๆ การรู้สึกถึงแสงแดดบนผิวหนังและสายลมที่พัดผ่านเส้นผม และการรอดูว่าขาคู่นี้จะพาคุณจะเดินไปถึงที่ใดบ้าง (ไปร้านกาแฟหรือเปล่า หรือไปบ้านเพื่อน หรือไปที่สะพานเท่ๆ) ทำให้การวิ่งนอกบ้านเรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่สุดยอดไปเลย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการวิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้าจะให้ความรู้สึกตรงกันข้ามนะ

“เวลาเดียวที่ลู่วิ่งไฟฟ้าจะน่าเบื่อก็คือตอนที่คุณตั้งค่าทิ้งไว้แล้วก็ขึ้นวิ่งแบบไม่สนใจอะไร” Jessica Woods โค้ช Nike Run Club อธิบายถึงข้อผิดพลาดที่พวกเราส่วนใหญ่จะทำ (อุ้ย) แน่นอนว่าการวิ่งบนเครื่องไม่อาจเลียนแบบประสบการณ์ในการท่องไปบนท้องถนนหรือเส้นทางเทรลซึ่งเป็นอิสระได้ แต่มันก็ไม่ควรเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว

“วัตถุประสงค์หลักของลู่วิ่งไฟฟ้าคือมีไว้ใช้ให้เป็นเครื่องมือ” Woods กล่าว โดยเธอเป็นผู้บริหารสตูดิโอลู่วิ่งไฟฟ้า Mile High Run Club ในนครนิวยอร์ก ลองมาเรียนรู้วิธีใช้ลู่วิ่งไฟฟ้าเป็นเครื่องมือ (เรามีเคล็ดลับและการออกกำลังกายไว้ให้ด้านล่าง) แล้วคุณจะรู้สึกสนุกไปพร้อมกับการเสริมการออกกำลังกายและสุขภาพ ซึ่งท้ายที่สุดลู่วิ่งไฟฟ้าจะไม่มีคำว่า “น่าเบื่อ” อีกต่อไป

แต่ก่อนอื่น ถ้าคุณต้องการเหตุผลเพิ่มเติมในการที่จะเปิดรับลู่วิ่งไฟฟ้า เราขอบอกเลยว่า

ลู่วิ่งไฟฟ้าจะให้การควบคุม

การวิ่งในร่มจะลดอุปสรรคตามธรรมชาติ อย่างเช่นพื้นที่เป็นหลุมเป็นบ่อ และแรงต้านจากลม ไม่ต้องพูดถึงตัวแปรที่ทำลายประสิทธิภาพของคุณ เช่น อากาศแบบสุดขั้ว ความชื้น และสัญญาณไฟจราจรที่ทำให้คุณต้องหยุดอยู่บ่อยๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับเส้นทางที่วิ่ง นอกจากนี้ เมื่อวิ่งกลางแจ้ง คุณต้องอาศัยนาฬิกาที่มี GPS และความแม่นยำของมันในการกำหนดเพซและระยะทาง นั่นคือในกรณีที่คุณใส่นาฬิกาแล้วด้วยนะ

การควบคุมตัวแปรในการวิ่งได้จะช่วยให้คุณจดจ่ออยู่กับเพซและวิ่งได้ระยะทางมากขึ้นได้ง่ายขึ้น

ลู่วิ่งไฟฟ้าอาจถนอมร่างกายคุณมากกว่า

ทุกคนที่วิ่งบนถนนรู้ดีว่ายางมะตอยนั้นไม่ค่อยเห็นใจข้อต่อสักเท่าไหร่ (แต่ยังไงก็อย่าให้สิ่งนี้มาห้ามไม่ให้คุณเพลิดเพลินกับการวิ่งกลางแจ้งนะ) ส่วนลู่วิ่งไฟฟ้านั้นมีสายพานที่มีการบุซึ่งจะช่วยซับแรงได้ดีกว่า (เหมือนกับเส้นทางเทรลหรือสนามบางสนามเล็กน้อย) ซึ่งจะรองรับข้อเท้า หัวเข่า และสะโพก เป็นการลดความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บลง Chris Bennett (หรือโค้ช Bennett ที่เรารู้จัก) ผู้อำนวยการอาวุโสของ Nike Running Global อธิบาย การดูแลข้อต่อที่ช่วยรับน้ำหนักร่างกายด้วยการออกกำลังกายบนลู่วิ่งนิ่มๆ จะช่วยให้คุณรู้สึกเจ็บน้อยลงเมื่อได้ออกไปซ้อมกลางแจ้ง และส่งผลดีในอีกหลายปีข้างหน้าด้วย

“เวลาเดียวที่ลู่วิ่งไฟฟ้าจะน่าเบื่อก็คือตอนที่คุณตั้งค่าทิ้งไว้แล้วก็ขึ้นวิ่งแบบไม่สนใจอะไร”

Jessica Woods
โค้ช Nike Run Club

การวิ่งในร่มเป็นการออกกำลังกายที่ยอดเยี่ยม

ไม่มีอะไรมาทดแทนการวิ่งกลางแจ้งได้ โดยเฉพาะเมื่อคุณเทรนเพื่อการแข่งขัน แต่ว่าการวิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้าก็มีประสิทธิภาพ แล้วก็ไม่ใช่แค่ในวันที่ฝนตกอากาศหนาวเย็นอย่างเดียวด้วย เพราะว่าการวิ่งบนสายพานจะให้คุณตั้งเพซที่แน่นอนได้เมื่อเทียบกับการเดาหรือต้องดูนาฬิกาอยู่ตลอด จึงดีเป็นพิเศษสำหรับการออกกำลังกายด้านความเร็วโดยเฉพาะ Woods อธิบาย แถมคุณยังวิ่งขึ้นเนินที่ชันได้ตามที่คุณต้องการอีกต่างหาก

แม้ลู่วิ่งไฟฟ้าอาจทำให้รู้สึกว่าวิ่งได้ง่ายกว่า แต่วิธีที่ร่างกายของคุณเคลื่อนไหวไม่ได้แตกต่างออกไปอย่างชัดเจนเมื่อคุณวิ่งบนเครื่องเมื่อเทียบกับการวิ่งกลางแจ้ง โดยอ้างอิงจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Sports Medicine การวิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้ายังให้ผลค่า VO2 Max เช่นเดียวกับการวิ่งกลางแจ้ง ค่านี้คือค่าการใช้ออกซิเจนของร่างกายอย่างเต็มกำลังสูงสุด เป็นการกำหนดมาตรฐานหลักสำหรับการออกกำลังแบบคาร์ดิโอ

เคล็ดลับของมือโปร: สำหรับการออกกำลังกายบนลู่วิ่งบนพื้นเรียบประเภทใดก็ตาม ให้ตั้งค่าความชันไว้ที่ 1 เปอร์เซ็นต์เพื่อเลียนแบบภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอของธรรมชาติผู้ให้กำเนิด Woods กล่าวว่าวิธีนี้ยังแก้ปัญหาเรื่องการกระตุ้นกล้ามเนื้อน้อยลง ซึ่งอาจมาจากสายพานติดมอเตอร์ที่ช่วยขยับเท้า

วิธีใช้ลู่วิ่งไฟฟ้าให้ได้ผลมากที่สุด

ในเมื่อตอนนี้คุณถูกใจกับข้อดีของเครื่องนี้แล้ว (แค่เดาน่ะ เพราะเห็นว่าคุณยังอ่านอยู่น่ะนะ) ต่อไปนี้เป็นวิธีที่จะทำให้การเทรนนิ่งบนเครื่องมีประสิทธิภาพและสนุกยิ่งขึ้นไปอีก

ทำไมการวิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้าถึงน่าเบื่อ

1. ค่อยๆ เริ่มต้น

ไม่ว่าจะวิ่งครั้งใด สิ่งสำคัญคือการวอร์มอัพ และคุณต้องยิ่งวอร์มอัพโดยเฉพาะเวลาที่ใช้ลู่วิ่งไฟฟ้าสำหรับบริหารความเร็วแบบเข้มข้นสูงหรือการวิ่งเป็นช่วง “การวอร์มอัพหมายความว่าคุณกำลังเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและอุณหภูมิร่างกาย พร้อมทั้งเพิ่มการเคลื่อนไหวที่ประสานกัน (Coordination) และเสริมระยะการเคลื่อนไหว” Robyn LaLonde โค้ช NRC จากชิคาโกกล่าว “ทั้งหมดนี้ทำงานร่วมกันเพื่อเปลี่ยนท่าทางให้ดีขึ้นและพัฒนาความเร็วขึ้น”

ลองทำดู: วิ่งจ๊อกกิ้ง (แบบจ๊อกกิ้งง่ายๆ จริงๆ) 5 - 10 นาที แล้วตามด้วยท่าฝึกวอร์มร่างกายอีกเล็กน้อยก่อนขึ้นลู่วิ่ง อย่างเช่นชุดท่าวิ่งกระโดดยกเข่าสูง ท่าเตะบริหารบั้นท้าย ท่าเดินเหยียดขา หรือท่าแกว่งขา ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ยิ่งขึ้น หลังจากนั้น คุณก็พร้อมเร่งความเร็วแล้ว

2. เช็คท่าทางและตำแหน่งของคุณ

ไม่มีใครอยากตกจากลู่วิ่งไฟฟ้า (เคยแล้ว เจ็บจริง) คนจึงชอบวิ่งใกล้แผงควบคุม (แบบว่า วิ่งชิดกับด้านหน้าของเครื่องเกินไป) แต่การทำเช่นนั้นหมายความว่าคุณจะวิ่งด้วยท่าที่เป็นธรรมชาติไม่ได้ Woods และโค้ช Bennett ก็เห็นพ้องต้องกัน โดยโค้ช Bennett แนะนำว่า “ให้เช็คเป็นครั้งคราว ถ้าคุณกำลังแทบจะกอดหน้าจอของเครื่อง ให้ถอยออกมาเล็กน้อย”

ถึงแม้คุณจะเหนื่อยก็ตาม ต้องอดใจไม่ให้ตัวเองจับราวลู่วิ่งไฟฟ้า Woods กล่าว เธออธิบายต่อว่าการพึ่งราวจับจะทำให้ท่าวิ่งของเราเสีย ถ้าคุณเพิ่มความเร็วขึ้นจนคุณต้องเกาะราวไว้แน่นมากๆ นั่นเป็นสัญญาณว่าต้องลดความเร็วลงแล้ว

สุดท้ายนี้ ยังไงเราก็ต้องพูดถึงประเด็นนี้ คือค่อยมาเช็คดูข้อความและสายเรียกเข้าหลังจากที่ออกกำลังกายเสร็จแล้ว เพราะเวลาที่วิ่งอยู่บนสายพานเคลื่อนที่ คุณต้องจำกัดสิ่งรบกวน นอกจากว่าคุณอยากจะไปอยู่ในคลิปไวรัลเป็นภาพกีฬามันๆ บนอินเทอร์เน็ต

3. วิ่งให้เต็มสูบแล้วค่อยฟื้นกำลัง (ซ้ำแล้วซ้ำอีก)

การเทรนนิ่งแบบเป็นช่วงนั้น (Interval Training) เป็นการผลักดันตัวคุณเอง จากนั้นก็ฟื้นกำลัง ส่วนมากจะตั้งเป็นช่วงเวลาเอาไว้ การเทรนนิ่งแบบเป็นช่วงจะสร้างความแข็งแรงให้กับขาของคุณและช่วยสร้างความเร็ว เรื่องดีๆ จากการวิ่งแบบนี้บนลู่วิ่งไฟฟ้านั้น นอกจากจะทำให้ร่างกายและจิตใจจดจ่อแล้ว คุณยังได้กำจัดการคิดคาดเดาเพื่อให้ทำตามเพซที่ตั้งไว้ได้อีกด้วย

“ลู่วิ่งไฟฟ้าจะช่วยให้คุณคุ้นเคยกับเพซที่คุณฝึก” Woods กล่าว “เหมือนกับเป็นการจดจำของกล้ามเนื้อ ยิ่งคุณคุ้นเคยกับเพซนั้นๆ มากเท่าไหร่ คุณก็จะวิ่งด้วยเพซนั้นได้พอดีเช่นเดียวกันเมื่อไปวิ่งกลางแจ้ง”

ลองทำดู: มีวิธีจัดโปรแกรมการวิ่งแบบเป็นช่วงลงในการเทรนของคุณได้อย่างไม่รู้จบ หนึ่งในการออกกำลังกายสุดโปรดของ Woods คือแบบขั้นบันได ซึ่งคุณจะค่อยๆ ใช้แรงมากขึ้น โดยวิ่ง 3 นาทีที่เพซ 10K (หรือใช้แรง 80 %) ต่อด้วย 2 นาทีที่เพซ 5K (ใช้แรง 90 %) จากนั้น 1 นาทีที่เพซไมล์แข่ง (ใช้แรง 100 %) และให้เวลาตัวเองได้พัก 90 วินาทีหลังจากแต่ละช่วง สำหรับมือใหม่ให้ลองทำตามลำดับนี้รอบเดียว นักวิ่งขั้นสูงให้ทำ 2 หรือ 3 รอบ โดยสำหรับไอเดียการออกกำลังกายด้วยการวิ่งเป็นช่วงเพิ่มเติม ลองดูที่แอพ NRC

“การวิ่งบนสายพานจะให้คุณตั้งเพซที่แน่นอนได้เมื่อเทียบกับการเดาหรือต้องดูนาฬิกาอยู่ตลอด จึงดีเป็นพิเศษสำหรับการออกกำลังกายด้านความเร็วโดยเฉพาะ”

Jessica Woods
โค้ช Nike Run Club

4. เพิ่มความชัน

การเล่นกับความชันตลอดการวิ่งจะช่วยให้การวิ่งน่าสนใจเสมอ และช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้บั้นท้าย ต้นขาด้านหน้า รวมถึงระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วย Woods กล่าว

เธอบอกว่า นั่นเป็นเพราะการไต่เขาแฝงการบริหารความเร็วเอาไว้นั่นเอง ทางชันจะเพิ่มแรงต้านซึ่งจะบังคับให้คุณเพิ่มพลังที่ใส่เข้าไป นั่นจะช่วยเพิ่มการเผาผลาญแคลอรี่ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และฝีเท้าในแบบเดียวกันกับการวิ่งให้เร็วขึ้น และจะช่วยให้ท่าทางของคุณดีขึ้นด้วย การวิ่งขึ้นเขายังเพิ่มความแข็งแรงให้การระเบิดพลังบีบตัวอย่างรวดเร็วของกล้ามเนื้อขา ซึ่งเปลี่ยนเป็นความเร็วที่มากขึ้นบนพื้นราบ

ลองทำดู: การออกกำลังกาย 20 นาทีนี้จะพาคุณเข้าสู่ “เนินแบบลูกระนาด” โดยวิ่งบนลู่วิ่งพื้นเรียบที่เพซง่ายๆ สบายๆ เป็นเวลา 2 นาที (ความชัน 0%) จากนั้นเพิ่มความชันเป็น 1% เป็นเวลา 1 นาที ต่อไปเพิ่มความชันเป็น 2% เป็นเวลา 1 นาที จากนั้นลดความชันเหลือ 0% เป็นเวลา 1 นาที แล้วเพิ่มความชันเป็น 4% เป็นเวลา 1 นาที จากนั้นลดความชันเหลือ 0% เป็นเวลา 1 นาที แล้วเพิ่มความชันเป็น 2% เป็นเวลา 1 นาที จากนั้นลดความชันลงเหลือ 1% เป็นเวลา 1 นาที แล้วเพิ่มความชันเป็น 3% เป็นเวลา 1 นาที จากนั้นลดความชันเหลือ 2% เป็นเวลา 1 นาที จากนั้นให้เพิ่มความชันเป็น 5% เป็นระดับที่ชันที่สุดสำหรับการวิ่งนี้ จากนั้น ให้ลดและเพิ่มความชันสลับกันไปเรื่อยๆ จนเวลาผ่านไป 18 นาที หลังจากนั้นให้คูลดาวน์บนพื้นเรียบเป็นเวลา 2 นาที พยายามคงความเร็วไว้หรือวิ่งให้เร็วกว่าเพซที่สบายๆ เพื่อความท้าทายที่มากขึ้น

(ปล. การออกกำลังกายเวอร์ชั่นนี้ยังปรากฏในรูปแบบการวิ่งพร้อมเสียงแนะนำชื่อ “The Rollercoaster” บน NRC ด้วย)

5. อย่ารู้สึกแย่ที่จะเดิน

เพียงเพราะสายพานหมุนอยู่ไม่ได้แปลว่าคุณจำเป็นต้องวิ่ง “ถ้าคุณวิ่งแบบเป็นช่วง ลองลดความเร็วลงมาเป็นการเดินสำหรับฟื้นกำลังจนกว่าคุณจะกลับมาหายใจเป็นปกติหรืออัตราการเต้นของหัวใจลดต่ำลงมา” Woods กล่าว เธออธิบายว่า ยิ่งบริหารด้วยการวิ่งเป็นช่วงหนักเท่าไหร่ คุณก็ต้องฟื้นกำลังมากเท่านั้น ด้วยวิธีนี้คุณก็จะเพิ่มแรงให้สุดกำลังได้ในช่วงการวิ่งถัดไป

คุณจะใช้ลู่วิ่งไฟฟ้าไว้สำหรับเดินด้วยก็ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเดินแบบเป็นช่วงหรือไม่ก็ตาม “เป็นการดีที่จะได้บริหารขาโดยไม่จำเป็นต้องวิ่ง” Woods กล่าว และชี้ให้เห็นว่าการเดินบนลู่วิ่งนั้นเป็นวิธีหลักในการครอสเทรน “ถ้าคุณอยากเพิ่มแรงโดยไม่ต้องเพิ่มความเร็ว ก็คงเพซให้อยู่ที่การเดินไปพร้อมๆ กับเพิ่มความชันไปในตัวได้”

ลองทำดู: เปลี่ยนการออกกำลังกายแบบใดก็ได้ข้างต้นให้เป็นการเดินออกกำลังกาย โดยเฉพาะแบบที่มีความชัน ซึ่งทำได้ด้วยการลดเพซลงมาอยู่ในความเร็วแบบการเดิน ซึ่งมักจะอยู่ที่ประมาณ 6 กม./ชม. หรือช้ากว่านั้น

6. คูลดาวน์เสมอ

การปิดท้ายด้วยการวิ่งจ๊อกกิ้งสบายๆ หรือเดินเร็วจะช่วยให้คุณค่อยๆ ผ่อนคลายออกจากการออกกำลังกาย เช่นเดียวกับที่การวอร์มอัพช่วยให้คุณค่อยๆ เริ่มต้น “เลี่ยงการหยุดทันทีเหมือนเหยียบเบรกหลังออกกำลังกาย” Woods กล่าว “การคูลดาวน์จะเริ่มกระบวนการซ่อมแซมด้วยการส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงเพื่อช่วยซ่อมกล้ามเนื้อต่างๆ” เธออธิบาย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นถ้าหากคุณอยากจะออกไป (หรือกลับมา) วิ่งต่อ

ลองทำดู: ลดความเร็วลงเหลือ 7 กม./ชม. หรือต่ำกว่านั้น และวิ่งจ๊อกกิ้งหรือเดินเป็นเวลา 5-10 นาที (ถ้าคุณรีบ แค่ 2 นาทีก็ช่วยได้) จากนั้นก็ปิดเครื่องแล้วออกไปทำธุระของคุณได้เลย

ครบถ้วนกระบวนความแล้ว ทั้งเหตุผล 3 ข้อและการออกกำลังกาย 5 แบบที่จะทำให้คุณไม่คิดว่าลู่วิ่งไฟฟ้า “น่าเบื่อ” อีกต่อไป

เรียบเรียงโดย Ashley Mateo
ภาพประกอบโดย Yué Wu

ทำไมการวิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้าถึงน่าเบื่อ

รับประโยชน์ที่มากขึ้น

เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านการเคลื่อนไหว รวมถึงทัศนคติ โภชนาการ การฟื้นกำลัง และการนอนหลับ

รับประโยชน์ที่มากขึ้น

เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านการฟื้นกำลัง รวมถึงทัศนคติ การเคลื่อนไหว โภชนาการ และการนอนหลับ

เผยแพร่ครั้งแรก: 25 พฤษภาคม 2563