ค้นพบโฟลว์ของคุณ แล้วรักษาเอาไว้

การโค้ช

กลายเป็นว่าคุณไม่ต้องเหนื่อยหนักเพื่อไปถึงจุดพีคของร่างกาย แต่ยังได้ความมั่นใจ ประสิทธิภาพ และรางวัลความภูมิใจแบบไม่ขาด

อัพเดทล่าสุด: 2 มิถุนายน 2565
ใช้เวลาอ่าน 7 นาที
  • การจดจ่อกับกิจกรรมใดๆ จนหลงลืมเรื่องอื่นๆ ไปหมดสิ้น หรือที่เรียกว่าการเข้าสู่สภาวะโฟลว์ ถือได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการมีสมรรถนะท็อปฟอร์มและยังเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดความก้าวหน้าทุกรูปแบบ
  • การมีสมาธิจดจ่อไม่ได้ยากอย่างที่คิด แค่ต้องหาเวลาทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดสภาวะโฟลว์สักสองสามนาทีต่อวัน
  • ถ้ามีสิ่งรบกวนมาทำให้โฟลว์ของคุณติดขัด การเดินจงกรมอาจทำให้จิตใจสงบลงได้


อ่านต่อเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม…

5 เคล็ดลับในการค้นหาสถานะโฟลว์ของคุณ โดยอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญ

อาจดูเหมือนเป็นสิ่งวิเศษที่ได้จดจ่ออยู่กับกิจกรรมที่ทำ (ไม่ว่าจะเป็นการได้อ่านหนังสือเล่มโปรด หรือการออกไปโต้คลื่นในทะเล) จนลืมรายการสิ่งที่ต้องสะสางซึ่งยาวเป็นหางว่าว ลืมเรื่องกังวลใจอะไรต่างๆ ได้เป็นปลิดทิ้ง หรือไม่ก็ลืมแม้แต่จะหยิบมือถือขึ้นมาดู แต่ความเป็นจริงก็คือคุณได้สัมผัสประสบการณ์ทางจิตวิทยาที่มีอยู่จริงๆ ซึ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่า "โฟลว์" และสิ่งนี้ก็คือเคล็ดลับในการสร้างแรงผลักดันที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าที่ชัดเจนของทักษะด้านกีฬา ประสิทธิภาพทางการกีฬา และกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ต้องใช้สมาธิ

โฟลว์นั้นหมายถึงช่วงเวลาที่เราเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม "เราให้นิยามได้ว่าเป็นการจดจ่ออยู่กับช่วงเวลา ณ ขณะนั้นอย่างสมบูรณ์" Morgan Levy, PhD อธิบาย เธอเป็นนักจิตวิทยาผู้มีใบประกอบวิชาชีพในเมืองโบกาเรตัน รัฐฟลอริดา และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความเครียด ความวิตกกังวล และอาการหมดไฟ "แทบจะเหมือนกับว่าคนเราได้สัมผัสประสบการณ์การหลอมรวมการกระทำเข้ากับการตระหนักรู้ถึงตัวเอง" เธอเสริมว่า นั่นตรงข้ามกับวิธีที่สมองของคนเรามักจะทำงานในช่วงเวลาปกติทั่วไป

ลองนึกภาพดูว่าจิตใจคุณเป็นแล็ปท็อปหรือโทรศัพท์ โดยส่วนใหญ่แล้วคุณเปิดไว้หลายแท็บหรือหลายแอพในเวลาเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้อุปกรณ์ช้าลงได้ Randy Paterson, PhD อธิบาย เขาเป็นนักจิตวิทยาในแวนคูเวอร์ และผู้เขียน How to Be Miserable In Your Twenties แต่เมื่ออยู่ในโฟลว์ อุปกรณ์นั้นจะทุ่มความสามารถได้มากขึ้นอย่างมากให้กับการทำงานของแอพสมรรถนะสูงเพียงแอพเดียว อุปกรณ์จึงทำงานได้ในระดับสูงสุด

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าด้วยความพยายามเพียงเล็กน้อย สภาวะโฟลว์ก็กลายเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจและเกิดขึ้นบ่อยครั้งได้ แล้วก็อาจทำให้คุณก้าวหน้าไปอย่างไม่ติดขัดอีกด้วย

ความรู้สึกดีๆ จากโฟลว์

นักจิตวิทยาผู้ที่คิดค้นแนวคิดของโฟลว์เมื่อปี 1990 (ซึ่งก็คือ Mihaly Csikszentmihalyi เอาไว้ตอบคำถามความรู้ทั่วไป) ถือว่าโฟลว์นี้เป็นประสบการณ์ชีวิตที่มีประโยชน์สูงสุด เมื่อคุณกำลังอยู่ในโฟลว์ คุณจะเริ่มยืดขีดจำกัดของตัวเองออกไปเพื่อทำอะไรที่ท้าทายและเป็นกำไรชีวิตก้อนใหญ่และสนุกไปในเวลาเดียวกันด้วย เขาชี้ว่าโดยปกติแล้วเราจะรู้สึก "แข็งแรง กระปรี้กระเปร่า ควบคุมตัวเองได้สบาย ไม่สงสัยในตัวเอง แสดงความสามารถได้ในระดับสูงสุด" ปัญหาต่างๆ ดูจะคลี่คลายไปเอง

นักจิตวิทยาชื่อดังคนอื่นๆ อย่าง Martin Seligman เชื่อว่าสภาวะโฟลว์นั้นคือกุญแจสำคัญในการบรรลุความสุขที่แท้จริงอย่างลึกซึ้ง คุณไม่ได้แค่รู้สึกดีในระหว่างที่อยู่ในโฟลว์ แต่ยังรู้สึกสงบขึ้น พึงพอใจมากขึ้น และรู้สึกถึงความสำเร็จมากขึ้นหลังจากนั้นด้วย (ความสุขหลังโฟลว์นั้นคู่ควรต่อการได้สัมผัส Paterson กล่าว เนื่องจากจะช่วยให้คุณมีสมาธิกับสิ่งที่เพิ่งทำเสร็จไป แทนที่จะใจลอยไปหาเรื่องอื่น)

มีเหตุผลทางชีววิทยาอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ "เมื่อคนเราอยู่ในสภาวะโฟลว์ สมองจะหลั่งสารสื่อประสาทอย่างโดพามีนและเซโรโทนินที่ทำให้เรารู้สึกดี" Levy อธิบาย นั่นคือเหตุผลที่การได้สัมผัสกับความรู้สึกนี้เป็นประจำจะแปลงเป็นประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ต่อสุขภาพจิต รวมทั้งเสริมให้เราทำงานได้ดีขึ้นด้วย

ผลงานวิจัยได้เปิดเผยความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างการสัมผัสกับประสบการณ์จากโฟลว์และความสามารถในการลงเล่นระดับสูงสุดของนักกีฬา "จากมุมมองของนักจิตวิทยาด้านกีฬา โฟลว์คือเมื่อจิตใจและร่างกายเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสมบูรณ์" Joel Fish, PhD ผู้อำนวยการศูนย์ Center for Sport Psychology ในฟิลาเดลเฟียกล่าว สภาวะเช่นนั้นจะทำให้คุณมีแรงผลักดันอย่างมหาศาลเพื่อออกกำลังกายประจำวันให้สำเร็จ เล่นให้เหนือใครในสนามฟุตบอล หรือไม่ก็ทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะกินคาร์โบไฮเดรตคุณภาพสูงให้มากขึ้น

งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการสัมผัสประสบการณ์โฟลว์เป็นประจำยังเกี่ยวข้องกับความภูมิใจในตัวเองและความมั่นใจที่สูงขึ้นอีกด้วย นั่นเป็นเพราะกิจกรรมที่ทำให้เกิดสภาวะโฟลว์นั้นมีแนวโน้มที่จะสร้างความพึงพอใจ และการอยู่ในโฟลว์จะช่วยให้คุณทำกิจกรรมดังกล่าวได้ดีขึ้น "ใครที่บรรลุสภาวะนี้เป็นประจำก็จะพัฒนาทักษะของตัวเองให้ดีขึ้นได้ และมีแนวโน้มที่จะรู้สึกมั่นใจยิ่งขึ้นด้วยเหตุนั้น" Levy กล่าว

เมื่อสิ่งดีๆ ทุกอย่างรวมเข้าด้วยกัน คุณก็พร้อมที่จะไล่ตามเป้าหมายได้อย่างจริงจังและกระตือรือร้นแล้ว

5 เคล็ดลับในการค้นหาสถานะโฟลว์ของคุณ โดยอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญ

จะหาโฟลว์ได้อย่างไร

คงมีหลายช่วงเวลาที่คุณ "ติดลม" ไปกับสภาวะโฟลว์โดยไม่ตั้งใจหรือไม่รู้ตัว (หากคุณเล่นเกมไขปัญหาได้เป็นชั่วโมง ยินดีด้วย คุณโฟลว์ได้เยี่ยมไปเลย)

บ่อยครั้งที่สภาวะนี้เกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว แต่ถ้าอยากเข้าสู่สภาวะโฟลว์โดยตั้งใจ ก็ทำตามขั้นตอนนี้ได้เลย

1. ค้นหากิจกรรมที่เหมาะกับโฟลว์

จุดที่ดีที่สุดของสภาวะโฟลว์จะเกิดขึ้นเมื่อเราทำสิ่งที่ตัวเองชอบมากจริงๆ ซึ่งอาจจะหนักหน่อย แต่ก็ไม่ยากไปในระดับที่ทำให้รู้สึกหงุดหงิด ซึ่งจะทำให้คุณสมาธิหลุดได้เร็วมาก กิจกรรมต้องให้การตอบรับแบบชัดเจนในทันทีเพื่อให้เพ่งสมาธิได้ ทั่วไปแล้วก็คือความรู้สึกดีกับสิ่งที่กำลังทำ Levy กล่าว

กีฬาเป็นกิจกรรมที่เหมาะกับโฟลว์อย่างน่าอัศจรรย์ โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องใช้การจดจ่ออย่างการปีนผา โยคะ เล่นเซิร์ฟ หรือเล่นสกี เพราะ "คุณจะมีสมาธิจดจ่อกับช่วงเวลานั้น ไม่ได้คิดถึงอดีตหรืออนาคต" Fish กล่าว สมาธิดังกล่าวจะเป็นแรงผลักดันให้คุณทำกิจกรรมนั้นๆ ต่อไปได้ไม่มีหยุด

แต่อันที่จริงแล้ว โฟลว์จะมาจากอะไรก็ได้ที่ทำให้เราจดจ่อจนถึงจุดที่ลืมอย่างอื่นไปชั่วขณะและลืมเวลาไปเลย "การล้างจาน จัดตู้เสื้อผ้า เล่นหมากรุก เต้น ล้างรถ และเขียนหนังสือ ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่าง" Levy บอก สิ่งสำคัญสำหรับเรื่องธรรมดาๆ อย่างงานบ้านนั้นอยู่ที่การรักษาความตระหนักรู้เอาไว้ แทนที่จะทำไปตามอัตโนมัติแล้วปล่อยให้ความคิดฟุ้งซ่านไปไหนต่อไหน "เวลาล้างจาน ลองจดจ่อกับรูปทรงของจานแต่ละใบ ความรู้สึกที่มือสัมผัส หรือเสียงของน้ำที่เปิดไว้" เธออธิบาย (เคล็ดลับสุดท้ายที่เล่ามานั้นได้ประโยชน์ถึง 2 อย่าง เพราะช่วยเพิ่มความมีสติได้ด้วย)

2. จัดสรรเวลา

การวางแผนให้ชัดเจนในการทำกิจกรรมที่เหมาะกับโฟลว์จะเพิ่มโอกาสในการมีสมาธิจดจ่อได้ "เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ" Levy กล่าว "คุณอาจตั้งแจ้งเตือนที่โทรศัพท์ไว้เพื่อเตือนตัวเองให้ใช้เวลาสักช่วงหนึ่งในแต่ละวันเพื่อทำกิจกรรมนั้น แม้จะเป็นเวลาแค่ 5 นาทีก็ตาม" จะเลือกทำในเวลาไหนก็ได้ แต่การทำในช่วงเวลาเดิมทุกวันจะช่วยให้คุณทำได้สม่ำเสมอขึ้น ซึ่งก็จะช่วยให้เข้าสู่สภาวะโฟลว์ได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น เธอเสริม และความสม่ำเสมอก็อาจถือได้ว่าเป็นผลดีกับความก้าวหน้าของคุณมากยิ่งกว่าความทุ่มเท

3. ตัดสิ่งรบกวน

โฟลว์ต้องใช้ความสามารถในการทำสมาธิ (ไม่น่าแปลกใจเลย) ดังนั้นให้หาที่เงียบๆ ปิดโทรศัพท์หรือเปลี่ยนเป็นโหมดห้ามรบกวน แล้วเตรียมทุกอย่างที่ต้องการเพื่อเริ่มต้น ขั้นตอนนี้สำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยให้เราตั้งสมาธิได้ แต่ยังไม่หมดแค่นั้น การจัดเครื่องไม้เครื่องมือโดยทำให้เหมือนกับเป็นกิจวัตรไปเลย จะช่วยเตรียมสมองให้เข้าสู่โฟลว์ Paterson กล่าว บางทีอาจเป็นการเปิดเพลงเดิมเสมอในระหว่างเตรียมอุปกรณ์สำหรับการออกกำลังกาย หรือการเอาสีกับพู่กันทั้งหมดออกมาวางบนโต๊ะทำงานเดียวกันก่อนที่จะลงมือวาด

4. ทำให้สมองปลอดโปร่ง

หากการตัดสิ่งรบกวนภายนอกยังไม่พอที่จะช่วยให้มีสมาธิกับสิ่งที่ทำอยู่ ลองกิจกรรมที่ช่วยปรับเปลี่ยนเพื่อให้สมองโล่งขึ้น จุดเริ่มต้นที่ดีก็คือการเดินจงกรมสั้นๆ โดยเพ่งสมาธิไปที่รูป เสียง กลิ่น และสัมผัสรอบตัว Kelley Kitley นักสังคมสงเคราะห์คลินิกและนักจิตบำบัดที่มีใบประกอบวิชาชีพในชิคาโกแนะนำ การทำเช่นนี้จะเป็นการระบุความตั้งใจก่อนที่จะเริ่มทำกิจกรรมและช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ถึงสภาพแวดล้อมของตัวเองในขณะนั้น เธอกล่าว เราจึงมีสมาธิกับช่วงเวลาปัจจุบันได้

5. อย่าฝืน

แม้เราจะตั้งสภาวะสำหรับโฟลว์ได้ แต่ก็เข้าสู่ไฟลว์ไม่ได้ทุกครั้ง (เสียใจด้วย) ดังนั้นให้คิดว่าโฟลว์เป็นเหมือนเพื่อนที่เราชวนมาปาร์ตี้แบบสบายๆ ไม่ใช่แขกผู้มีเกียรติ เป็นคนที่เราต้อนรับและอยากให้มา แต่ถึงจะไม่มาก็ไม่เป็นไร "ไม่มีใครเช็กได้ตลอดว่า 'ทำได้หรือยังนะ แบบนี้เรียกว่าโฟลว์หรือเปล่า' เพราะธรรมชาติของโฟลว์นั้นก็คือเราจะไม่คิดถึงปฏิกริยาของตัวเอง" Paterson อธิบาย หากกังวลจุดนี้มากไป ก็แสดงว่ากำลังเบนความสนใจของสมองออกไปจากโฟลว์

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ แค่ออกไปวิ่ง ออกไปทำสวน หรือเปิดสมุดบันทึกส่วนตัวขึ้นมา อย่างอื่นก็จะตามมาเอง เมื่อคุณโฟลว์ได้อย่างเชี่ยวชาญแล้ว ไม่ว่าอะไรก็หยุดคุณไม่ได้

เรียบเรียงโดย Marygrace Taylor
ภาพประกอบโดย Mojo Wang

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

พร้อมโฟลว์แบบจริงๆ แล้วใช่ไหม เริ่มโปรแกรม "ตกหลุมรักวินยาสะ" ในแอพ Nike Training Club แล้วสร้างความก้าวหน้าบนเสื่อภายใน 2 สัปดาห์ และหากต้องการชุดที่ช่วยให้มีสมาธิจดจ่อ ดูสินค้าล่าสุดจาก Nike Yoga ได้เลย

เผยแพร่ครั้งแรก: 6 มิถุนายน 2565

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

6 นิสัยในการมีวิธีคิดแบบนักกีฬา

การโค้ช

หนีจากความไม่มั่นใจในตัวเองด้วยวิธีคิดที่ดีกว่า

การพูดกับตัวเองในแบบที่ดีที่สุดเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ

การโค้ช

คุยกับตัวเองอย่างถูกจุด

น้ำตาลส่งผลต่อร่างกายอย่างไร

การโค้ช

น้ำตาลมีหลากหลายแบบ สรุปแล้วแตกต่างหรือเหมือนกันตรงไหน

ฉันควรพักระหว่างการออกกำลังกายหรือไม่

การโค้ช

พักสักนิดระหว่างออกกำลังกาย

การฟื้นกำลังส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันอย่างไร

การโค้ช

การฟื้นกำลังส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันอย่างไร