ได้เวลาหญิงมุสลิมทวงคืนพื้นที่สื่อ

วัฒนธรรม

ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวจากลอนดอนกำลังใช้พื้นที่แห่งความคิดสร้างสรรค์เพื่อมาชำแหละภาพจำที่สังคมมีต่อหญิงมุสลิม

อัพเดทล่าสุด: 7 มีนาคม 2565
ใช้เวลาอ่าน 9 นาที

มากันพร้อมหน้า: ถึงตัวจะห่างไกล แต่ใจเราไม่ห่างกัน เราได้พูดคุยกับ
เหล่านายแบบและนางแบบประจำลุคบุ๊ควันหยุดเทศกาล 2020 ในเรื่องความหมายของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ณ ช่วงเวลานี้

Muslim Sisterhood คือกลุ่มครีเอทีฟที่ร่วมกันก่อตั้งโดย Zeinab Saleh, Lamisa Khan และ Sara Gulamali มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการให้นิยามใหม่และให้ภาพลักษณ์ที่ชัดเจนว่าการเป็นหญิงมุสลิมมีความหมายต่อพวกเธอเองอย่างไร กลุ่มนี้จึงต้องการเปลี่ยนความคิดทั้งภายในสังคมคนมุสลิมเองและในสังคมกระแสหลัก

“[ตอนเป็นเด็ก] ถ้าได้เห็นภาพของผู้หญิงมุสลิมในแบบที่เราสร้างขึ้น ฉันก็ไม่คิดว่าตัวเองจะต้องดิ้นรนต่อสู้ในเรื่องความเชื่อความศรัทธามากอย่างที่เคยเป็นค่ะ” Lamisa นักเขียนและสไตลิสต์วัย 25 ปีกล่าว “เราได้สร้างพื้นที่สำหรับผู้หญิงมุสลิมให้มีความศรัทธาโดยที่ไม่ต้องรู้สึกว่าจะต้องเป็นคนในแบบใดแบบหนึ่งคนอื่นถึงจะยอมรับ”

ทั้ง 3 สาวพบกันผ่านทางโซเชียลมีเดียหลังจากที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของกันและกันในการผลักดันเรื่องอัตลักษณ์ของผู้หญิงมุสลิม พวกเธอรู้สึกเชื่อมโยงกันผ่านสิ่งที่ Sara เรียกว่า “การผสมผสานระหว่างความหลงใหลและความเจ็บปวด” ในการต่อสู้เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและไม่ถูกมองข้ามทั้งในวงการครีเอทีฟและในสังคมมุสลิมเอง กลุ่ม Muslim Sisterhood ถือกำเนิดขึ้นในปี 2017 โดยเริ่มจากการเป็นซีรีส์ภาพถ่ายซึ่งเป็นผลงานของ Sara ศิลปินและช่างภาพวัย 23 ปี ผลงานชุดนี้เป็นทั้งการตอบโต้ภาพลักษณ์เดิมที่พวกเธอเคยเห็นและเป็นการเฉลิมฉลองให้กับมิติและพลังของผู้หญิงมุสลิมที่พวกเธอรู้จักซึ่งชอบใส่สตรีทแวร์และดูดีมีสไตล์

“พวกเราล้วนเกิดมาพร้อมความตั้งใจในการสร้างพื้นที่ซึ่งให้ความสำคัญกับผู้หญิงมุสลิม ในการทำให้สิ่งรอบตัวน่าอยู่มากขึ้น ไม่เพียงสำหรับเราเท่านั้น แต่เพื่อคนรุ่นหลังเราด้วย” Zeinab ศิลปินวัย 24 ปีอธิบาย “เป็นเรื่องของการฉลองให้กับตัวเราเอง ส่งเสริมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้หญิง และผลักดันคนซึ่งมักจะอยู่ชายขอบขึ้นมาอยู่แนวหน้า แต่ไม่ใช่ในลักษณะที่ทำให้ใครคนใดในชุมชนของเราต้องตกเป็นเหยื่อ”

“พวกเราล้วนเกิดมาพร้อมความตั้งใจในการสร้างพื้นที่ซึ่งให้ความสำคัญกับผู้หญิงมุสลิม”

Zeinab

โปรเจกต์ที่มาจากแรงใจของพวกเธอนั้นได้พัฒนามาเป็นชุมชนระดับนานาชาติที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ครอบคลุมทั้งงานกิจกรรมที่เปิดกว้างไม่แบ่งแยก การร่วมงานกับแบรนด์ต่างๆ เวิร์กช็อปสร้างความมั่นใจในเรื่องการป้องกันตัว หนังสือทำมือที่เผยแพร่กันเอง และภาพถ่ายอีกมากมายที่สนับสนุนความเป็นอิสลามอย่างสร้างสรรค์

สาวๆ บอกว่าการอยู่ในพื้นที่ออนไลน์ได้ทำให้พวกเธอทำงานร่วมกันต่อไปได้ดียิ่งขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ยิ่งในช่วงที่หลังจาก Sara ย้ายจากลอนดอนไปอยู่แวนคูเวอร์ วันนี้พวกเธอจะมาพูดคุยถึงวิธีการวางรากฐานความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่ 3 สาวด้วยกันเองไปพร้อมๆ กับการดำเนินโครงการริเริ่มสู่สาธารณชน รวมถึงความหวังที่จะให้นิยามใหม่ในการเป็นผู้หญิงมุสลิมในโลกปัจจุบัน

ผู้หญิงมุสลิมเรียกคืนสิทธิการแสดงออกถึงตัวตน

Zeinab (ซ้าย), Lamisa (ขวา)

“เราผูกพันกันด้วยความรักและความคับข้องใจที่เรามีต่อสิ่งต่างๆ ซึ่งการผสมผสานระหว่างความหลงใหลและความเจ็บปวดนี้เองที่นำพาเรามารวมกัน”

Sara

เป็นที่รู้กันดีว่าพวกคุณทั้ง 3 คนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาพบกันและพบว่าต่างก็มีเป้าหมายด้านครีเอทีฟไปในทางเดียวกัน พวกคุณรู้สึกอย่างไรบ้างตอนที่ได้มาพบกันในที่สุด และพัฒนาสายสัมพันธ์กันอย่างไร

Sara:
ตอนเจอกันครั้งแรก พวกเรานั่งคุยกันไม่หยุดเลย เป็นช่วงเวลาของพลังแห่งการรวมกลุ่มที่แท้จริง เราผูกพันกันด้วยความรักและความคับข้องใจที่เรามีต่อสิ่งต่างๆ ซึ่งการผสมผสานระหว่างความหลงใหลและความเจ็บปวดนี้เองที่นำพาเรามารวมกัน เพราะเราต้องการผู้หญิงที่ไม่ใช่แค่สนับสนุนกันอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจจริงๆ ด้วยว่าเราเป็นคนแบบไหน

Lamisa: ฉันต้องดิ้นรนต่อสู้ตลอดเลยตอนเด็กๆ เพราะการเป็นคนมุสลิมมันไม่เคยมีคำว่าง่ายเลย เป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างแปลกแยกทีเดียว แต่ทุกวันนี้สังคมเราเชื่อมโยงถึงกันหมด จึงไม่มีเหตุผลที่ทำให้ใครต้องมารู้สึกแบบนั้นอีกแล้ว พอเห็นผลงาน [ของ Zeinab และ Sara] ฉันก็ติดต่อไปหาทันทีเลย แล้วก็ชวนให้เข้ามาพูดคุยกันที่ออฟฟิศฉัน และนั่นคือที่มาของกลุ่มเราในวันนี้ค่ะ ฉันมีแต่พี่น้องผู้ชาย พอได้มาสนทนากันลึกซึ้ง [กับสาวๆ กลุ่มนี้] ในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ความศรัทธา ตัวตน และความแข็งแกร่ง ฉันเลยรู้สึกดีใจมากค่ะ

Zeinab: ฉันเป็นลูกสาวคนเดียวในบ้าน เลยอยากมีพี่สาวมาตลอด และก็ได้ Lamisa นี่แหละที่เป็นเสมือนพี่สาวของฉันเอง เราคุยกันทุกวัน ฉันไปนอนค้างบ้านเธอ และแม่ของเธอก็เป็นเหมือนป้าของฉัน ส่วนกับ Sara ฉันคิดว่าตัวเองไม่เคยเจอใครที่มีประสบการณ์แบบเดียวกันในคณะด้านศิลปะมาก่อน เพราะคณะทางสายนี้คนมุสลิมอยู่ยาก ฉันเลยผูกพันกับ Sara ในเรื่องนี้ และ Sara ก็เป็นเสมือนน้องสาวของฉัน

ฉันไม่คิดว่าจะมีอะไรที่เหมือนกับการที่มีพี่สาวน้องสาวและชุมชนของตัวเองสนับสนุน การที่ได้รู้ว่าฉันมี 2 คนนี้คอยหนุนหลังอยู่เลยเป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมมาก ทั้ง Lamisa และ Sara ช่วยเยอะมากในเรื่องความแข็งแกร่งแล้วก็…

Lamisa: …ความมั่นใจกับความอุ่นใจ

Zeinab: แล้วก็เรื่องการยอมรับด้วย สาวๆ กลุ่มนี้คือพี่สาวน้องสาวของฉันค่ะ

“ฉันอุ่นใจมากที่ความเป็นอิสลามทำให้ฉันกับเพื่อนๆ มีตัวตนและความเข้าใจร่วมกันในแบบที่หาจากที่อื่นไม่ได้”

Lamisa

ความเชื่อที่คุณมีร่วมกันในฐานะหญิงสาวมุสลิมมีอิทธิพลต่อแนวทางด้านงานครีเอทีฟและผลงานของคุณอย่างไร

Zeinab:
ศาสนาอิสลามสอนให้เรานึกถึงผู้อื่น มีความเห็นอกเห็นใจ และต้อนรับทุกคน ใครที่เข้ามาในมัสยิดก็จะได้รับการต้อนรับอย่างเป็นมิตร และครอบครัวของฉันก็สอนอยู่เสมอให้เปิดกว้างต่อทุกคน วินัยบัญญัติที่สำคัญประการหนึ่งของศาสนาอิสลามคือ “ซะกาต” ซึ่งเป็นการจ่ายเงินประจำปีเพื่อการกุศล เป็นสิ่งที่ชี้ว่าการตอบแทนสังคมนั้นฝังอยู่ในความเชื่อความศรัทธาของเราอย่างแท้จริง

Lamisa: ฉันเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่พูดถึงความเข้าใจที่มีร่วมกันเกี่ยวกับคนชายขอบและคนที่มีเชื้อสายมาจากที่อื่น เพราะทุกคนเข้าใจตรงกันดีโดยไม่ต้องอธิบายเลย ฉันไม่ต้องอธิบายว่าทำไมถึงไม่ดื่ม ทำไมพ่อแม่ให้กลับถึงบ้านก่อน 21.00 น. ทำไมแต่งตัวแบบนี้ ฉันอุ่นใจมากที่ศาสนาอิสลามทำให้ฉันกับเพื่อนๆ มีตัวตนและความเข้าใจร่วมกันในแบบที่หาจากที่อื่นไม่ได้

คุณ 3 คนพบกันผ่านทาง Instagram แล้วก็ได้เริ่มจากการเปิดบัญชี Muslim Sisterhood ใน Instagram ก่อน และค่อยๆ สร้างฐานผู้ติดตามขึ้นจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ได้ยึดติดกับประเทศหรือภาษาใด พวกคุณทำอย่างไรในการรักษาความน่าสนใจของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้หญิงทางออนไลน์ไปพร้อมๆ กับการทำให้เสียงที่อยู่ในโลกออฟไลน์ดังขึ้น

Zeinab:
โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราพบเจอกับคนที่มีแนวคิดเดียวกันมาโดยตลอด ส่วนช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ในการนำชุมชนออนไลน์ของเราออกสู่พื้นที่ของ “โลกในชีวิตจริง” ก็คือตอนที่เราเปิดตัวหนังสือทำมือ [เมื่อปี 2019] มีคนมาร่วมงานมากกว่า 200 คน เป็นอะไรที่เจ๋งมากๆ มีม็อกเทลอร่อยๆ มีที่สำหรับสวด แขกรับเชิญก็สุดยอด และมีดีเจที่เป็นคนมุสลิมด้วย

Lamisa: เหตุผลที่เราได้รับการสนับสนุนอย่างมากคือเพราะเรามาจากพื้นที่ที่เป็นตัวตนของเราจริงๆ พวกเราคือผู้หญิงมุสลิมที่สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับผู้หญิงมุสลิม ส่วน Instagram ก็เป็นพื้นที่ซึ่งทำให้เราเห็นชีวิตของคนอื่นๆ และทำความเข้าใจว่าผู้คนเหล่านั้นคล้ายกับเรา ซึ่งทำให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโดยไม่เกี่ยวว่าจะอยู่ที่ไหนหรืออยู่ประเทศใด

Muslim Sisterhood ตั้งมาได้ 3 ปีแล้ว ได้ท้าทายทัศนคติที่ล้าสมัยทั้งภายในและภายนอกสังคมคนมุสลิมอย่างไรบ้าง

Zeinab:
เราฉีกการนำเสนอในสื่อด้วยผลงานของเราซึ่งเน้นความสำคัญไปที่กลุ่มคนผิวดำ คนมุสลิม และคนผิวสีกลุ่มอื่นๆ เราโฟกัสไปยังผู้ที่อยู่เบื้องหลังภาพถ่ายและทีมงานเบื้องหลังการถ่ายภาพนั้น ไม่ใช่แค่คนที่มีใบหน้าอยู่บนป้ายโฆษณาเท่านั้น เป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้นอกเหนือไปจากการมองโลกผ่านสายตาคนผิวขาวและโครงสร้างสังคมที่เป็นเส้นตรงหรือเป็นบรรทัดฐาน สิ่งต่างๆ นี้ได้ผลิบานอย่างเป็นธรรมชาติ อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งก็คือตอนที่จัดงานแสดงระบำหน้าท้อง เวิร์กช็อปหนังสือทำมือ และเวิร์กช็อปทำเครื่องหอม เป็นอะไรที่น่าอัศจรรย์มากที่ได้ติดต่อให้ผู้หญิงมุสลิมได้มาจัดเวิร์กช็อปของตัวเองเป็นครั้งแรก

Lamisa: ในช่วงแรก ภาพของเราสะท้อนถึงย่านในกรุงลอนดอนที่เราเติบโตมาและทวงคืนความงามนั้นกลับมา เราไปถ่ายภาพกันในย่านอย่างบริคเลนและบริกซ์ตันซึ่งเคยเป็นแหล่งศูนย์กลางของชุมชนและวัฒนธรรม แต่ต่อมาได้ตกเป็นเหยื่อของการปรับปรุงพื้นที่เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เราถ่ายภาพกันในร้านฮาลาล ตลาด และร้านขายของเงินสด เจ้าของร้านที่เราเข้าไปถ่ายภาพก็ให้การสนับสนุนดีมาก แถมยังบอกว่า “แท็กพวกเราใน Instagram ด้วยนะ” ปีที่แล้ว ตอนที่เราถ่ายภาพกับแบรนด์ เรากลับไปถ่ายภาพกันที่ร้านขายของเงินสดร้านนั้นอีกรอบ เหมือนได้วนกลับมาเป็นวงจรเต็มวงเลย รู้สึกอิ่มเอมใจมากๆ

Zeinab: เราได้รับเชิญให้ไปออกรายการโทรทัศน์ในช่อง Islam Channel [ของสหราชอาณาจักร] ซึ่งแม่กับป้าๆ น้าๆ ก็ได้เปิดดูด้วย เป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมากๆ เพราะเราได้มีโอกาสพูดกับชุมชนของเรา โดยเฉพาะกับผู้ใหญ่ และได้ส่งเสริมเรื่องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความหลากหลายของผู้หญิงมุสลิมและคนในชุมชนนอน-ไบนารีให้กับคนที่ไม่ได้ติดตาม Instagram ของเราได้ฟัง

ผู้หญิงมุสลิมเรียกคืนสิทธิการแสดงออกถึงตัวตน

“ฉันไม่คิดว่าจะมีอะไรที่เหมือนกับการที่มีพี่สาวน้องสาวและชุมชนของตัวเองสนับสนุน”

Zeinab

ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งที่ทั้งกระตือรือร้นและทุ่มเทแรงกายแรงใจในสิ่งที่ทำอยู่ พลังแห่งการรวมกลุ่มมีส่วนอย่างไรบ้างในการทำงาน ซึ่งทำให้คุณเติบโตทั้งในด้านตัวตนและการเป็นครีเอทีฟ รวมถึงส่งผลให้ชุมชนเติบโตขึ้นได้อย่างไรบ้าง

Lamisa:
ฉันจะชอบพูดมากกว่าและชอบแสดงออกมากกว่า เลยทำหน้าที่ติดต่อผู้คน ส่วน Zeinab เจ้าระเบียบมากและทำงานละเอียด เลยดูแลเรื่องการวางแผนและการจัดการ ส่วนเรื่องการเช็คอีเมลหรือการร่างอีเมลนั้นเราจะสลับกันทำ ส่วน Sara เคยเป็นช่างภาพประจำกลุ่ม แต่ตอนนี้ดูแลลูกค้าและงานระยะไกลต่างๆ ที่เรามี ฉันวางใจทั้งคู่ได้ว่ามีวิสัยทัศน์เดียวกัน แต่ถ้าเกิดว่าเห็นไม่ตรงกัน เราก็จะหันหน้ามาพูดคุยกันและหาจุดร่วมที่ทุกคนเห็นด้วย

ถ้าไม่มี Muslim Sisterhood เราก็จะเรียกตัวเองไม่ได้ว่าเป็นสไตลิสต์หรือครีเอทีฟไดเรกเตอร์ เพราะอาชีพเหล่านั้นเข้าถึงได้ยาก เราได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้บทบาทเหล่านี้ด้วยตัวพวกเราเอง และการที่เรามีทัศนคติแบบ DIY นั้นก็หมายความว่าทักษะเหล่านี้ถ่ายทอดกันได้และเราก็สามารถสอนผู้อื่นได้

Sara: เรามีสิ่งให้ต้องทำอีกเยอะและมีโอกาสอีกมากที่นอกเหนือไปจากตัวพวกเราเอง เราชอบจ้างเพื่อนๆ และคนอื่นๆ จากชุมชนของเรา แล้วยิ่งตอนนี้ฉันย้ายประเทศแล้วด้วย ก็เลยอยากเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เติบโตและประสบความสำเร็จไปกับเรา เมื่อเราทำงานร่วมกัน เราก็จะพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้เราไม่เสียสติไปเสียก่อน เพราะมีกันและกันให้พูดคุย ให้ระบาย ให้บ่นได้เมื่อไม่อยากทำแล้ว ให้บ่นได้เมื่อรู้สึกแย่ หรือเมื่อหงุดหงิด แล้วพวกเราคนใดคนหนึ่งก็จะบอกว่า “ไม่เป็นไรนะ เดี๋ยวฉันจัดการเรื่องนี้ให้”

Zeinab: บางครั้งการทำงานร่วมกันในกลุ่มอาจทำให้เครียดได้บ้าง เพราะควบคุมบางอย่างด้วยตัวเองไม่ได้ แต่ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์มากที่ได้รู้ว่าฉันวางใจทั้งคู่ได้ทั้งในด้านความช่วยเหลือ ทั้งการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ พอเรารวมทักษะทั้งหมดที่เรามีเข้าด้วยกัน เราก็จะสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไปเหนือกว่าตัวเราได้จริงๆ และฉันเองก็รู้ดีว่าผลงานที่เรากำลังจะสร้างสรรค์นั้นจะออกมาอย่างสวยงามและมีความหมายสำหรับทั้งชุมชนของเรา

รายงานเมื่อ: กรกฎาคม 2020

เผยแพร่ครั้งแรก: 8 มีนาคม 2565