ดีไซน์รองเท้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 101

นวัตกรรม

โปรเจกต์ Space Hippie ให้เราได้ติวเข้มเพื่อเตรียมความพร้อมในการปูทางไปสู่อนาคตแบบปราศจากคาร์บอน นี่คือบทเรียนทั้ง 5 ที่เราได้เรียนรู้ระหว่างทาง

อัพเดทล่าสุด: 5 พฤศจิกายน 2564
ใช้เวลาอ่าน 11 นาที
วิชาดีไซน์รองเท้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

“อนาคตที่ดีกว่า” เป็นซีรีส์เกี่ยวกับการร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อไปสู่อนาคตแห่งโลกกีฬาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

การดีไซน์เพื่อโลกที่ดียิ่งขึ้นนั้นจะว่าไปก็คล้ายกับภารกิจพิชิตดาวอังคารอยู่หลายอย่าง เพราะทั้งมีความเสี่ยงสูง ทรัพยากรมีจำกัด อีกทั้งยังเป็นเส้นทางที่ไม่เคยมีใครออกสำรวจ นี่จึงเป็นเสมือนการออกผจญภัย

“ลองนึกภาพพวกเราทุกคนอยู่ในยานอวกาศ ใส่ชุดนักบินอวกาศกันทุกคน ชุดผมจะเป็นสีม่วงกำมะหยี่” James Zormeir ดีไซเนอร์รองเท้า Nike กล่าว “แล้วพวกเราก็คงพูดกันว่า ‘เห้ย เจ๋งโคตร พวกเราได้ขับยานนี้ด้วยว่ะ!’”

Zormeir เป็นนักบินร่วมที่ขับยานลำนั้นไปพร้อมกับเหล่าลูกเรือสุดสร้างสรรค์ที่ประกอบไปด้วยเหล่านวัตกรเพื่อสร้าง Space Hippie ที่เป็นคอลเลกชันสนีกเกอร์เทรนนิ่งจากเศษวัสดุเหลือทิ้งซึ่งผลิตจากวัสดุรีไซเคิลในสัดส่วน 25-50% เมื่อเทียบกับน้ำหนัก คอลเลกชันนี้ได้ปูทางให้ Nike ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่การเปิดตัวไปเมื่อช่วงหน้าร้อนในปี 2020 และหวังว่าจะเป็นการปูทางให้โลกของเราด้วย

“ตอนที่เริ่มทำโปรเจกต์นี้ใหม่ๆ เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกันเลย เราคอยตั้งคำถามกันตลอดเวลาในระหว่างการทำงาน”

Haley Toelle
ดีไซเนอร์ Space Hippie

เป้าหมายของทีมที่มีโอกาสสำเร็จเพียงน้อยนิดแต่ก็ยังเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นคือการผลิตรองเท้าที่ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องใช้ความคิดสุดล้ำในทุกๆ ก้าวของขั้นตอน แม้ว่าพวกเขาจะลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไปได้มากกว่า 70% (เราจะพูดถึงเรื่องนี้ในส่วนต่อไป) แต่ตัวเลขก็ยังไม่ใช่ศูนย์อยู่ดี

ซึ่งนั่นก็ไม่เป็นไร เพราะสำหรับทีมนี้ แม้ผลลัพธ์ที่ได้เป็นสิ่งสำคัญ แต่บทเรียนและข้อมูลที่ได้มาระหว่างทางก็สำคัญไม่แพ้กัน

ในการนำข้อมูลเชิงลึกทั้งหมดนั้นมาตกตะกอนจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ ทางทีมจะต้องเปิดใจให้กว้างอยู่เสมอ “ตอนที่เริ่มทำโปรเจกต์นี้ใหม่ๆ เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกันเลย” ดีไซเนอร์ Haley Toelle กล่าว “เราคอยตั้งคำถามกันตลอดเวลาในระหว่างการทำงาน”

เรารู้ว่าคุณก็มีคำถามเช่นกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความเข้าใจไปพร้อมๆ กับการมุ่งแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศนี้ด้วยกัน เราจึงยกบทเรียนด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้ง 5 บทเรียนที่ได้จากโปรเจกต์ Space Hippie ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะนำไปใช้กับการทดลองครั้งต่อๆ ไปในอนาคตมาไว้ที่นี่ ดังนี้

วิชาดีไซน์รองเท้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

การดีไซน์เพื่อการ “หมุนเวียน” หมายถึง การผลิตสินค้าในวงจรแบบไม่มีที่สิ้นสุด หรือก็คือการรีไซเคิลของเก่าให้กลายเป็นของใหม่ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลต่อไปได้อีก

บทเรียนที่ 1: ถึงจะสับสนก็ไม่เป็นไร

เราได้ยินเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เสื้อผ้า รถยนต์ ไปจนถึงเมล็ดกาแฟ แต่จริงๆ แล้วมันหมายถึงอะไรกันแน่

การตั้งนิยามที่ตายตัวนั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากไม่ได้มีความชัดเจนเหมือนแบ่งว่าของชิ้นนี้ “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” หรือ “ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” แต่เราต้องนำหลายๆ ปัจจัยมาใช้ประเมินร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่ใช้ผลิต วิธีการผลิต วิธีการขนส่ง ดังนั้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเหมือนการไล่ระดับมากกว่า

“มีวิธีวัดอยู่หลายรูปแบบ” Toelle กล่าว “ไม่ว่าจะเป็นการดูปริมาณน้ำ คาร์บอน แนวทางปฏิบัติด้านแรงงาน ซึ่งนอกจากผู้บริโภคอาจรู้สึกสับสนแล้ว ตัวดีไซเนอร์เองก็สับสนเช่นกันว่าควรจะโฟกัสกับจุดไหนดี”

ด้วยเหตุนี้ ทีม Space Hippie จึงจำเป็นต้องเลือกเป้าหมายไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ พวกเขาเลือกที่จะมุ่งไปที่การผลิตรองเท้าแบบปราศจากคาร์บอน โดย Noah Murphy-Reinhertz หัวหน้าฝ่ายดีไซน์ประจำโปรเจกต์ได้ให้เหตุผลไว้ดังนี้

“มี 2 สิ่งที่พวกเรา [ในฐานะสังคมโดยรวม] สามารถทำได้ คือการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศให้น้อยลง กับการนำคาร์บอนออกไปจากชั้นบรรยากาศเลย” เขากล่าว พร้อมอธิบายเรื่องวิธีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เข้าใจกันได้ง่ายๆ ว่า “เราจำเป็นต้องทำทั้ง 2 อย่าง แต่ว่า [อย่างแรก] เป็นอะไรที่เราเริ่มลงมือทำในวันนี้ได้เลย”

“มี 2 สิ่งที่พวกเราสามารถทำได้ คือการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศให้น้อยลง กับการนำคาร์บอนออกไปจากชั้นบรรยากาศเลย”

Noah Murphy-Reinhertz
หัวหน้าฝ่ายดีไซน์ Space Hippie

สงสัยใช่ไหมว่าคาร์บอนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร ไม่ว่าคุณจะผลิตเซมิคอนดัคเตอร์แบบไฮเทค หรือแค่เปิดเครื่องปิ้งขนมปัง คุณก็มีแนวโน้มที่จะเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีคาร์บอนอยู่มหาศาลในระหว่างทำสิ่งเหล่านั้น ซึ่งนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่นคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่กักความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้ในชั้นบรรยากาศโลก และเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ แม้ว่า CO2 บางชนิดเกิดขึ้นตามธรรมชาติและมีประโยชน์ (รู้ไว้ใช่ว่า ถ้าไม่มีปรากฏการณ์เรือนกระจก โลกก็จะเป็นแค่ลูกบอลน้ำแข็งขนาดยักษ์) และก๊าซปริมาณมหาศาลที่เราปล่อยออกไปมากยิ่งขึ้นในช่วงกว่า 200 ปีที่ผ่านมากำลังไปทำลายความสมดุล

แม้ว่าทีมจะไม่ได้บรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณคาร์บอนให้เหลือศูนย์ (ในครั้งนี้) แต่รองเท้ารุ่น Space Hippie “04” ก็ทำสถิติไว้ได้ที่ราว 3.7 กก. CO2e (ค่าคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเป็นหน่วยวัดมาตรฐานสำหรับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทั้งหมด) เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น การผลิตรองเท้า 1 คู่จะปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อมในปริมาณเทียบเท่ากับการขับรถเกือบ 15 กม. หรือการชาร์จสมาร์ทโฟน 472 เครื่อง

เมื่อเทียบกับรองเท้าระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนมากกว่าถึง 3 เท่า (12.5 กก. CO2e อิงจากงานวิจัยของ Massachusetts Institute of Technology) ก็นับได้ว่า Space Hippie นั้นเป็นก้าวสำคัญที่พาเรามาถูกทาง แล้วทางทีมมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

วิชาดีไซน์รองเท้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

การนำไป “รีไซเคิล” ได้คือกระบวนการนำของเก่ามาเปลี่ยนเป็นของใหม่ เช่นการ “อัพไซเคิล” เศษวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานให้กลายมาเป็นรองเท้าคู่ใหม่ หรือการ “ดาวน์ไซเคิล” รองเท้าคู่เก่าให้กลายมาเป็นพื้นผิวสนามกีฬา

บทเรียนที่ 2: ปรับสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น

สิ่งหนึ่งที่เรารู้คือสัดส่วนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่มากที่สุดของ Nike (มากกว่า 70%) มาจากวัสดุที่เราใช้

ทีมงาน Space Hippie ได้นำเอาวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เคยคิดค้นไว้แล้วมาใช้ประโยชน์ในการต่อยอด เช่น Flyknit ซึ่งเป็นนวัตกรรมของ Nike ที่เปิดตัวในปี 2012 และช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมโดยการใช้เส้นด้ายโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลในโครงสร้างการถักที่มีประสิทธิภาพสูง

“เราเอาขวดพลาสติกมาฉีก ละลาย แล้วบีบออกมาอีกครั้ง แล้วก็จะได้เป็นโพลีเอสเตอร์ใหม่” Murphy-Reinhertz อธิบายถึงวิธีการทั่วไปในการผลิตวัสดุพื้นฐานของ Flyknit ซึ่งก็ฟังดูดี แต่มีจุดที่น่าสังเกตคือ “เราใช้ความร้อนและพลังงานไปเยอะมากในระหว่างขั้นตอนดังกล่าว”

นั่นหมายความว่า เมื่อเปรียบเทียบระดับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว แม้ว่า Flyknit จะปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าวัสดุรองเท้าชนิดอื่นๆ แต่ก็ยังต้องใช้การเผาผลาญอยู่บ้าง ทางทีมมองเห็นโอกาสในการพัฒนาแนวทางใหม่ๆ โดยเปลี่ยนจากการใช้ส่วนประกอบที่เป็นโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลมาผลิต Flyknit ทั้งหมด ไปใช้เศษวัสดุเหลือทิ้งจากการผลิตเสื้อยืดในโรงงานจำนวน 50%

“เรานำเอาเศษ [วัสดุเหลือทิ้งจากการผลิตเสื้อยืด] มาผ่านกระบวนการแบบเครื่องย่อยไม้เลย” Murphy-Reinhertz อธิบาย “เราจึงใช้พลังงานน้อยมาก ไม่ต้องใช้เครื่องทำความร้อน ไม่ต้องใช้เครื่องปั๊มโลหะไฮดรอลิกเลย แล้วเราก็จะได้ปุยขนก้อนใหญ่ เพื่อนำมาผสมกับเศษขวดพลาสติกที่ถูกบีบอัดออกมา”

พวกเขาเรียกส่วนผสมไฮบริดแบบใหม่นี้ว่า Space Waste ซึ่งมีศักยภาพที่จะช่วยปกป้องโลกในระดับที่มองข้ามไม่ได้ “เส้นด้ายประเภทนี้ช่วย [ให้เรา] ลดคาร์บอนได้ถึง 70% เมื่อเทียบกับโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลทั่วไป” Murphy-Reinhertz เล่า “นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่เราลงมือทำแล้วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด”

“หนึ่งในผู้พัฒนาโรงงานของเราในเกาหลีใต้สักลาย Space Hippie ด้วย ซึ่งผมก็จะไปสักลายเดียวกันกับเขาแน่นอน”

James Zormeir
ดีไซเนอร์ Space Hippie

บทเรียนที่ 3: ยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ

เส้นด้าย Space Waste ทำให้ทีมสามารถลดปริมาณคาร์บอนจากการผลิตส่วนบนของรองเท้าได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ แต่พวกเขายังต้องทดลองค้นหานวัตกรรมอื่นๆ อีกหากต้องการจะลดให้ใกล้ตัวเลขศูนย์ตามที่หวัง

“เพื่อนร่วมงานของเราเคยเริ่มพัฒนาโฟม Crater มาก่อน” Toelle กล่าวถึงโซลูชันวัสดุที่จะนำมาผสานกับยาง Nike Grind ที่ได้มาจากเศษยางเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตรองเท้าประมาณ 10% เพื่อนำมาเติมโฟมที่ได้จากน้ำมันที่นำมาใช้ผลิตส้นรองเท้าส่วนใหญ่ “พวกเขาพยายามจะปรับให้มันดูเป็นส่วนเดียวกันมากขึ้น แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือออกมามีฟองเยอะอยู่เรื่อยไป”

แต่เนื่องจากเป้าหมายของทีม Space Hippie มุ่งเน้นไปที่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การได้ลุคที่สื่อถึงความคืบหน้ามากกว่าความสมบูรณ์แบบจึงเป็นสิ่งที่รับได้ และเป็นสิ่งที่ควรจะทำด้วย “มันทำให้ได้ความงามที่แหวกแนวมากๆ และแทนที่เราจะพยายามปรับให้มันสมบูรณ์แบบ เรากลับมองว่าเอาแบบนี้ไปเลยดีกว่า” Toelle ย้อนนึก

ส่วน Zormeir ก็เห็นด้วยและพร้อมลุยเต็มที่กับแนวทางแบบเน้นการใช้งานนี้ “ผมเหม็นแนวคิดที่ผมชอบเรียกว่าความหมกมุ่นกับผิวเคลือบของแวดวงออกแบบเชิงอุตสาหกรรมมานานแล้วครับ” เขากล่าว “ผมก็เลยตื่นเต้นมากที่ Space Hippie ออกมาท้าทายแนวคิดในด้านความสวยงาม รวมถึงการที่เราปฏิเสธ และบอกว่าความขรุขระก็เป็นส่วนของแนวคิดที่ว่าด้วยความโปร่งใสอย่างสุดโต่ง”

การมีวิสัยทัศน์ที่ไม่เหมือนใครก็นับเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การจะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นจริงได้ ทางทีมก็ต้องมองหาแรงสนับสนุนจากคนอื่นด้วย

“ตัวโฟม Crater ยังคงมี ‘ข้อบกพร่อง’ จากฟิลเลอร์ยาง Nike Grind” Zormeir กล่าว “ซึ่งผมเรียกว่าเอฟเฟกต์ ‘น้ำตาลเรนโบว์แต่งหน้าเค้ก’ ครับ”

“แนวคิดนี้ขัดกับหลักการของรองเท้าที่ผลิตขึ้นอย่างดีที่ทุกคนเคยเรียนกันมา” Toelle กล่าว โดยพูดถึงทีมควบคุมคุณภาพที่โรงงานพาร์ทเนอร์ของ Nike ที่มองว่า “ข้อบกพร่อง” มักจะแปลว่าห้ามวางจำหน่าย “แต่อย่างที่เราบอกน่ะครับ จริงๆ เราก็ค่อนข้างชอบลักษณะของวัสดุที่เป็นไปในแนวทางแบบวาบิซาบิ ความไม่สมบูรณ์แบบก็เป็นส่วนหนึ่งของลักษณะเฉพาะของมัน และมีส่วนในการช่วยลดของเสียที่จะเกิดขึ้น อย่าเอาไปทิ้งเลยครับ”

เมื่อพาร์ทเนอร์ด้านการผลิตเริ่มเข้าใจว่ารูปลักษณ์ที่แหวกจากมาตรฐานทั่วไปนั้นเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ พวกเขาก็เริ่มมีแรงฮึดที่จะปฏิบัติตาม ซึ่งบางครั้งก็มากจนล้นได้เช่นกัน

“หนึ่งในผู้พัฒนาโรงงานของเราในเกาหลีใต้สักลาย Space Hippie ด้วย” Zormeir เล่า “ซึ่งผมก็จะไปสักลายเดียวกันกับเขาแน่นอน”

วิชาดีไซน์รองเท้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

ในด้านความงามตามแบบฉบับญี่ปุ่นดั้งเดิม คำว่า “วาบิซาบิ” แปลออกมาคร่าวๆ ได้ว่า “ความไม่สมบูรณ์แบบที่สมบูรณ์แบบ” แนวทางที่รองเท้า Space Hippie ประกอบขึ้นมานั้นทำให้รองเท้าแต่ละคู่มีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ซึ่งบางคนก็มองว่าเป็นหนึ่งในเสน่ห์ของมัน

บทเรียนที่ 4: เล่นให้สนุก

“ตอนแรกเราตั้งชื่อกันขำๆ ครับ” Zormeir พูดถึง Space Hippie “แต่มันก็จำง่าย แล้วก็ทำให้เรามี [คำเรียกติดปาก] ของเราเอง ถ้าไม่สนุก ก็ไม่ใช่ Space Hippie”

แรงบันดาลใจจากแนวคิดด้านการสำรวจอวกาศโดยใช้ระบบ ISRU (In-Situ Resource Utilization หรือแผนการหาทรัพยากรจากวัตถุทางดาราศาสตร์เพื่อทดแทนทรัพยากรจากโลก) ผสานกับแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมในยุค 70 ก่อให้เกิดเป็นชื่อที่สื่อถึงสิ่งที่เป็นมากกว่าสโลแกนประจำทีม กลิ่นอายแห่งการออกนอกอวกาศและค่านิยมดังกล่าวก็ได้กลายมาเป็นวิถีชีวิต

“Fanny ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกทีมของเราพูดประมาณว่า ‘อ๋อ ก็ทำเหมือนอยู่ดาวอังคารสิ’” Zormeir ย้อนนึก “เหมือนในหนังเลย เวลาที่อยู่บนดาวอังคาร ก็จะมีแค่เทปกาวกับพลาสติก…”

“แล้วก็แค่ต้องหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันเอาเอง” Toelle เสริม “การทำงานก็จะสนุกขึ้นมา [ทันที] เลย”

ไม่ว่าจะแปะโน้ตที่วาดหน้ายิ้มและเขียนคำว่า “ปังไม่หยุดฉุดไม่อยู่” ไว้แบบลวกๆ หรือตะโกนเรียกขวัญกำลังใจกลางที่ทำงานเสียงดัง บรรยากาศของทีมมีผลอย่างมากในการผลักดันให้สมาชิกก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

“มันเหมือนกับเป็นสถานีอวกาศที่ความคิดเห็นของทุกคนสำคัญ” Toelle กล่าว “เหมือนกับว่า นอกจากเราจะร่วมกันออกแบบอะไรบางอย่างแล้ว เราก็กำลังทำภารกิจสำคัญอยู่ด้วย”

ทั้งหมดนี้พาเรากลับมาสู่ความรู้สึกที่ว่า “ถ้าลงมือทำทันทีก็จะต้องสำเร็จแน่นอน” ซึ่งทำให้ไม่รู้สึกหวั่นเกรงกับข่าวร้ายด้านสิ่งแวดล้อม แต่กลับทำให้เราตั้งคำถามว่าควรจะรับมืออย่างไร “หากไม่คาดหวังอนาคตในแง่บวก” Murphy-Reinhertz ตั้งคำถาม “แล้วจะมีใครอยากร่วมเดินทางไปกับคุณเพื่อไปสู่อนาคตตรงนั้นกันล่ะ”

วิชาดีไซน์รองเท้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

การ “รองรับการขยายตัว” คือความมหัศจรรย์ที่ไม่ได้อยู่แค่การลงมือทำในสิ่งที่สำเร็จได้ยาก แต่เป็นการนำแนวคิดที่น่าสนใจมาต่อยอดในโปรเจกต์อื่นๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

บทเรียนที่ 5: ไปให้ไกลกว่าที่เคย

“ความมหัศจรรย์ที่แท้จริงในการ [ค้นหา] วิธีผลิตรองเท้าแบบอื่นๆ คือสิ่งต่างๆ ที่วิธีการเหล่านี้ช่วยปลดล็อค” Murphy-Reinhertz กล่าว ในกรณีนี้ สิ่งที่ Space Hippie ปลดล็อคได้สำเร็จคือการแบ่งปันข้อมูลและทีมเวิร์กที่มากกว่าที่เคย

“โปรเจกต์ประเภทนี้ไม่ควรจะถูกมองว่าเป็นความลับสุดยอด” Toelle กล่าว “แต่ควรเป็นอะไรที่ [ช่วย] ทำให้ผู้คนรู้สึกมีพลัง” Nike เริ่มเปิดให้ทุกคนได้เข้าถึงผลการเรียนรู้ด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกับ Circular Design Guide ที่เผยแพร่ออนไลน์เมื่อปี 2019 เพื่อช่วยให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจของนวัตกรทั่วทุกมุมโลก ความตั้งมั่นในการแบ่งปันตรงนี้มีแต่จะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ และกระจายไปตามหลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงภายในบริษัทของเราเอง

“เราเริ่มเห็นตัวเลขความสนใจจากผู้คนรอบๆ บริษัทเพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อย” Toelle กล่าว พร้อมนึกถึงบทสนทนาที่คุยกันแบบเจอต่อหน้าก่อนช่วงโควิด “เรามีห้องประชุมประหลาดๆ ที่เหมือนเป็นตู้เสื้อผ้า คือเราจะปูเสื่อโมร็อกโก แล้วประชุมงานดีไซน์แบบให้ทุกคนนั่งกันบนพื้น”

“โปรเจกต์ประเภทนี้ไม่ควรจะถูกมองว่าเป็นความลับสุดยอด แต่ควรเป็นอะไรที่ [ช่วย] ทำให้ผู้คนรู้สึกมีพลัง”

Haley Toelle
ดีไซเนอร์ Space Hippie

Zormeir คือสุดยอดผู้ดำเนินการประชุม “[เราจะเปิด] ดนตรีแอมเบียนต์แปลกๆ คลอ แล้วก็จะแบบว่า ‘มาๆ มานั่งบนหมอนอิงแบบโมร็อกโกกัน’ เรามีเครื่องหอมกลิ่นลมทะเล พอทุกคนผ่อนคลายจิตใจแล้ว เราก็จะมาคุยเรื่องจริงจังกัน”

พลังแห่งความร่วมมือเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นจากทั้ง 2 ฝั่ง ร่วมกับแนวคิดเพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เริ่มกระจายไปสู่ทีมอื่นๆ ทำให้เราเริ่มเห็นรองเท้ารุ่นคลาสสิกของ Nike อย่างซีรีส์ Air Force 1 ที่มีพื้นรองเท้าชั้นกลางจากโฟม Crater และ Jordan 1 High ที่ใช้ส่วนบนจากผ้าใบซึ่งได้มาจากเทคโนโลยี Space Waste

ภาพการรับรู้ที่เกิดขึ้นนั้นไม่หยุดอยู่แค่ที่ Nike HQ เท่านั้น Zormeir มองเห็นโอกาสที่สินค้าจะสามารถใช้เปิดบทสนทนาเชิงบวกได้ เวลาที่มีคนมองสนีกเกอร์ของคุณแล้วถามว่า “‘นั่นรองเท้าอะไรเหรอ’ นั่นเป็นโอกาสในการพูดถึงการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกับคนอื่นในแบบที่พวกเขาคงไม่เคยเจอมาก่อน” เขากล่าว

Toelle เห็นด้วย “เมื่อเป็นเรื่องของนวัตกรรม บ่อยครั้งที่เป้าหมายของเราไม่ใช่เพียงการดีไซน์รองเท้าชั้นยอด แต่คือเรื่องราวที่เราจะสามารถนำมาเล่าต่อ นำมาสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน และรองเท้าก็เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ทำแบบนั้นได้”

เรียบเรียงโดย Emily Jensen และ Seth Walker
ภาพถ่ายโดย Holly Andres
ภาพประกอบโดย Brian Rea

รายงานเมื่อ: ตุลาคม 2020

เผยแพร่ครั้งแรก: 6 พฤศจิกายน 2564