อย่านั่งนานเกินไป
การโค้ชและโภชนาการ
โดย Ryan Flaherty
ลดผลกระทบจากการนั่งเป็นเวลานานด้วยท่ายืดตัวง่ายๆ เหล่านี้
แทบทุกคนที่ผมทำงานด้วย ตั้งแต่นักกีฬาทั่วไปจนถึงมืออาชีพ ต่างก็มีปัญหากับบั้นท้ายและสะโพกของตน ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้เวลานั่งนานเกินไป ลองคิดดูว่าร่างกายของเราถูกออกแบบและใช้งานมาหลายพันปีให้เคลื่อนไหวไปมาตลอดวันเพื่อออกหาอาหาร แต่ปัจจุบัน เรากลับใช้เวลานั่งนานเกินกว่าที่ควรจะเป็น ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า เรื่องนี้จะส่งผลเสียต่อร่างกายของเราอย่างแน่นอน
สิ่งดีที่สุดที่คุณพอจะทำได้เพื่อลดผลกระทบจากการนั่งเป็นเวลานานต่อเนื่องคือการเพิ่มความคล่องตัวในบริเวณที่ได้รับผลกระทบ เพื่อรักษาความยืดหยุ่นของร่างกายอยู่เสมอ มาลองใช้เวลา 20 นาทีในแต่ละคืนเพื่อทำกิจวัตรการยืดร่างกายนี้ให้สำเร็จกัน
- กล้ามเนื้อส่วนอก
กล้ามเนื้อส่วนนี้มักจะตึง เพราะปกติเวลาที่เรานั่งนั้น ไหล่ของเราจะโน้มไปด้านหน้าและทำให้กล้ามเนื้อส่วนอกนี้เกิดการหดตัว ยืดกล้ามเนื้อส่วนนี้ด้วยการยืนหน้าประตู ยกมือขึ้นในระดับหัวไหล่ เดินผ่านมือทั้ง 2 ข้างให้มือไปอยู่ด้านหลังบริเวณวงกบประตู จากนั้นให้แอ่นอกขึ้นด้านบน - กล้ามเนื้อข้องอของสะโพก
ตลอดเวลาที่นั่ง กล้ามเนื้อข้องอของสะโพกจะอยู่ในสภาพหดตัว ยืดกล้ามเนื้อส่วนนี้ออกด้วยการทำท่ายืดขางอเข่าค้างไว้ โดยตั้งหลังให้ตรง (ไม่เอนไปข้างหน้าหรือข้างหลัง) - กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง
กล้ามเนื้อส่วนนี้ก็หดตัวด้วยเช่นกันจากการนั่งเป็นเวลาหลายชั่วโมง ไม่ว่าจะที่โต๊ะ ในรถ หรือบนโซฟา ยืดกล้ามเนื้อส่วนนี้ออกด้วยการนอนหงายแล้วยกขาขึ้นทาบกับกำแพง
“การศึกษาเผยให้เห็นว่า หากต้องการทำให้พฤติกรรมเสริมสุขภาพชนิดใหม่ อย่างท่ายืดกล้ามเนื้อประจำวัน 3 แบบข้างต้น ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคุณ วิธีที่ได้ผลที่สุดคือการเสริมพฤติกรรมดังกล่าวเข้ากับพฤติกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วครับ”
Ryan Flaherty
การศึกษาเผยให้เห็นว่า หากต้องการทำให้พฤติกรรมเสริมสุขภาพชนิดใหม่ อย่างท่ายืดกล้ามเนื้อประจำวัน 3 แบบข้างต้น ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคุณ วิธีที่ได้ผลที่สุดคือการเสริมพฤติกรรมดังกล่าวเข้ากับพฤติกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว ดังนั้น ขณะที่คุณดูโทรทัศน์ในช่วงเย็น อย่าใช้เวลาไปกับการนั่งบนโซฟาเพียงอย่างเดียว ลุกขึ้นมาแล้วยืดกล้ามเนื้อด้วยท่าเหล่านี้กันเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการนั่งทั้งหมดที่ผ่านมา พอพฤติกรรมเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรได้แล้ว คุณก็น่าจะรู้สึกปวดเมื่อยน้อยลงและมีระยะการเคลื่อนไหวที่กว้างขึ้น