ร่างกายของคุณต้องการพักใช่ไหม
การโค้ช
กล้ามเนื้อที่ปวดเมื่อยไม่ใช่สัญญาณเดียวที่บ่งบอกว่าคุณออกกำลังกายหนักเกินไป เรียนรู้ที่จะสังเกตสัญญาณที่ไม่ชัดเจนกัน
- ใจดีกับร่างกายตนเองเมื่อต้องเทรนอย่างหนักหน่วง ด้วยการพักฟื้นกำลังเพิ่มสักวัน (หรือ 3 วัน)
- การนอนไม่หลับเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่าร่างกายต้องการการพักผ่อนและฟื้นกำลัง คุณจึงต้องสังเกตการนอนหลับของตนเองและสัญญาณอื่นๆ ร่วมด้วย
- ฟื้นกำลังด้วยกิจกรรมเคลื่อนไหวไปกับรูทีนการฝึกโยคะฟื้นฟูกำลังในแอพ NTC
อ่านต่อเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม…
คุณอาจรู้ตัวว่าต้องค่อยเป็นค่อยไป บางทีเอาอุปกรณ์โฟมโรลเลอร์ออกมาใช้ก็เป็นความคิดที่ดีเมื่อกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าสั่นจนแทบเดินไปห้องน้ำไม่ไหว แต่อาการปวดเมื่อยที่เป็นผลของการฉีกขาดระดับเซลล์ของเส้นใยกล้ามเนื้อจากความตึงเครียดของการออกกำลังกาย (และการตอบสนองของร่างกายเพื่อซ่อมแซมความเสียหาย) ไม่ใช่สิ่งเดียวที่บอกใบ้ว่าร่างกายและจิตใจของคุณอาจต้องการวันพัก
การกัดฟันทนความปวดเมื่อยอาจทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองเจ๋งมาก แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้คุณสร้างความก้าวหน้าเลย หากคุณไม่พักและฟื้นกำลัง ร่างกายของคุณจะไม่มีโอกาสได้เติมเต็มพลังงานสะสมและซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหาย กล่าวโดย Andrew Watkins เทรนเนอร์ที่ได้รับการรับรองและผู้อำนวยการด้านการเสริมสร้างความแข็งแรงที่ Sports Performance Lab ความเครียดทางกายภาพนี้ทำให้ศักยภาพร่างกายต้องรับบทหนักเพื่อทำงานให้ได้ดีที่สุด และถ้าคุณยังต้องรับมือกับความเครียดทางจิตใจและอารมณ์อีก (ชีวิตก็เป็นแบบนี้นี่เนอะ) คุณก็จะรู้สึกลำบากยิ่งกว่าเมื่อต้องฟื้นตัวหลังออกกำลังกาย นำไปสู่ภาวะที่บกพร่องและร่างกายที่พัง แทนที่จะได้รับประโยชน์
การเรียนรู้ว่าเวลาไหนควรพักฟื้นแทนที่จะออกกำลังกายตามแผนนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อใจดีกับตัวเอง แถมยังเป็นเรื่องง่ายด้วย (ดีใช่ไหมล่ะ) “ร่างกายของคุณเป็นเครื่องจักร และจะบอกคุณเองว่าตอนไหนที่จำเป็นต้องชะลอ” Watkins กล่าว ถูกแล้วที่อาการปวดเมื่อยเป็นเรื่องใหญ่ แต่นั่นเป็นเพียงหนึ่งในสัญญาณหลายอย่าง ลองสังเกตคำใบ้ที่ไม่เป็นที่คุ้นเคยเหล่านี้ที่บ่งบอกว่าคุณจำเป็นต้องหยุดพักผ่อนคลาย
1. อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นตอนที่ไม่ทำอะไรเลย
สำหรับคนส่วนใหญ่ อัตราการเต้นของหัวใจตอนพักจะอยู่ที่ระหว่าง 60 ถึง 100 ครั้งต่อนาที (BPM) ตามข้อมูลจาก American Heart Association (Watkins กล่าวว่าตัวเลขนี้อาจต่ำกว่าสำหรับนักกีฬา)
อัตราที่สูงขึ้นหรือลดลงเล็กน้อยนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่หากคุณสังเกตว่าอัตราการเต้นของหัวใจตอนพักมากกว่าปกติ 5 BPM ขึ้นไปเป็นประจำ “นั่นหมายความว่าร่างกายของคุณกำลังทำงานหนักขึ้นเพียงเพื่อจะทำงานตามกิจวัตรประจำวันให้เรียบร้อย” Tina M. Penhollow, PhD ผู้ช่วยศาสตราจารย์ในภาควิชาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการส่งเสริมสุขภาพที่ Florida Atlantic University กล่าว หากไม่มีการพักผ่อนอย่างเหมาะสม หัวใจของคุณต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อ และอัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มระดับขึ้นคือสัญญาณถึงความลำบากในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อให้ทัน
2. รู้สึกว่าการออกกำลังกายหนักหน่วงกว่าปกติ
ปกติแล้วหากคุณวิ่ง 9 นาทีต่อไมล์ได้สบายๆ แต่อยู่ดีๆ ก็รู้สึกว่าเพซ 11 นาทีหนักมาก หรือหากการยกน้ำหนัก 60 เปอร์เซ็นต์ของแรงที่คุณรับได้กลับทำให้คุณรู้สึกเหมือนกำลังยกรถ นั่นเป็นสัญญาณว่าร่างกายของคุณกำลังยกธงขาวแล้ว
ไม่ใช่ว่ากล้ามเนื้อของคุณอ่อนแอลงข้ามคืน (น่ากลัวขนาดนั้น!) แต่เป็นระบบประสาทส่วนกลางของคุณเองที่กำลังทำงานหนักเกินไป ซึ่งระบบนี้เป็นศูนย์กลางการประมวลผลของร่างกายที่ควบคุมการตอบสนอง การรับ และการส่งสารจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย Watkins กล่าว “หากระบบประสาทของคุณไม่ได้ฟื้นตัวจากความเครียดที่ผ่านมาเมื่อวันก่อน สมองของคุณก็ส่งสารไปถึงกล้ามเนื้อได้ไม่เร็วเท่ากับที่ทำได้ตอนปกติ และนั่นจะเป็นผลให้วิ่งได้ช้าลงหรือน้ำหนักที่ยกนั้นรู้สึกหนักมากกว่าปกติ”
3. คุณมีปัญหานอนหลับไม่ดี
“การเทรนมากเกินไปจะทำให้ร่างกายและจิตใจของคุณตื่นตัวในระดับสูง และทำให้อยู่ในภาวะกระสับกระส่ายอยู่เป็นประจำ” Penhollow กล่าว และนั่นนำไปสู่การนอนหลับยาก กระสับกระส่ายระหว่างนอน และนอนน้อยลงโดยรวม ซึ่งระบุไว้ในรายงาน Frontiers in Physiology
การนอนถือว่าเป็นปัจจัยเดียวที่อาจสำคัญที่สุดในการฟื้นกำลังจากการออกกำลังกาย ตามบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ใน International Journal of Sports Medicine ซึ่งเน้นย้ำว่าการนอนสำคัญกว่าการออกกำลังกายเป็นวันที่ 7 ของสัปดาห์ และจริงๆ แล้วยังมีแนวโน้มที่จะช่วยให้คุณมีความคืบหน้าในระยะยาวได้
4. คิดถึงการออกกำลังกายทีไรคุณก็รู้สึกห่อเหี่ยว
การเทรนมากเกินความจำเป็นไม่ได้ส่งผลแค่ความเหนื่อยล้าทางร่างกาย แต่ยังอาจส่งผลให้เหนื่อยล้าทางจิตใจได้ด้วย ซึ่งค้นพบโดยผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Current Biology และการผลักดันตัวเองให้ออกกำลังกายหนักขนาดนั้นอาจทำให้คุณถดถอยลงไปอีก “การวิจัยแสดงให้เห็นว่าความเหนื่อยล้าทางจิตใจนั้นเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพที่บกพร่อง รวมทั้งแรงและพลังความอดทนที่ลดน้อยลง” Penhollow กล่าว การให้วันพักผ่อนกับตัวเองแทนจะช่วยให้คุณลุยกับเซสชันต่อไปได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์
5. กล้ามเนื้อของคุณเป็นตะคริวแบบไม่บอกล่วงหน้า
การเป็นตะคริวเกิดขึ้นได้หลังจากการทำกิจกรรมทางกายภาพอย่างเข้มข้นที่ใช้กล้ามเนื้อเดิมมากเกินไป Penhollow กล่าว การออกกำลังกายทุกอย่างจะสร้างการฉีกขาดเล็กๆ ในกล้ามเนื้อ แต่ถ้าขาดวันพักผ่อน กล้ามเนื้อก็จะแทบไม่มีเวลาได้ซ่อมแซมหรือสร้างตัวเองใหม่ให้แข็งแรงขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ ความเสียหายทั้งหมดทำให้กล้ามเนื้อของคุณดูดซับสารอาหารที่จำเป็นต้องใช้ในการฟื้นฟูและกำจัดของเสียจากเซลล์ที่เกิดขึ้นเมื่อออกกำลังกายได้ยากขึ้นอีกด้วย เธอเสริม สิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่อาการกล้ามเนื้อกระตุก ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่ากล้ามเนื้อคุณไม่ไหวแล้ว
หากคุณรู้สึกถึงอาการเหล่านี้ พักสัก 2 ถึง 3 วันหรือจัดตารางใหม่โดยสับเปลี่ยนระหว่างการฝึกโยคะหรือการแช่น้ำเกลือ Watkins กล่าว หรือลองการวิ่งฟื้นกำลังก็ได้
ถ้าสังเกตเห็นสัญญาณหลายอย่างของการเทรนมากเกินไป ก็อาจถึงเวลาที่ต้องเพิ่มสัปดาห์ลดการออกกำลังลงแล้วก็ได้ “ซึ่งอาจเป็นอะไรง่ายๆ อย่างลดน้ำหนักที่ยก ลดไมล์ที่วิ่ง หรือลดระยะเวลาการออกกำลังกาย” Watkins อธิบาย สัญญาณหรืออาการใดก็ตามควรหายไปภายในระยะเวลาเหล่านี้ (ถ้าไม่หายอาจต้องไปปรึกษาแพทย์)
คนที่ออกกำลังกายแล้วได้ผลเด็ดที่สุดคือคนที่ไม่ได้มีแค่วินัยในการฝึกฝนตัวเอง พวกเขายังรู้ว่าตอนไหนต้องใจดีกับตัวเองและหยุดพัก แล้วก็รู้สึกภูมิใจมากที่ทำได้
เรียบเรียงโดย Ashley Mateo
ภาพประกอบโดย Mojo Wang
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
เติมความสดใหม่ เพิ่มชุดสำหรับใส่ในเซสชันฟื้นฟูกำลัง แล้วมาเติมพลังผ่านการออกกำลังกายโยคะแบบฟื้นฟูกำลังฟรีในแอพ Nike Training Club