จะวิ่งหรือไม่วิ่งดี เรามีคำตอบ
การโค้ช
ทุกเช้า คุณมีเรื่องต้องตัดสินใจ คำแนะนำง่ายๆ นี้จะช่วยให้คุณเลือกคำตอบที่ถูกต้อง
อาจเป็นเพราะเริ่มเจ็บที่ส้นเท้าเมื่อวาน บางทีน่องก็ยังปวดอยู่จากที่ไปขี่จักรยานมาเมื่อวันอาทิตย์ได้ไกลกว่าที่คาด อาจรู้สึกอยากจะจัดหนักให้สุดชีวิตไปเลย 19 กิโลเมตรแต่ก็ไม่ได้หยุดพักสักวันมาหลายสัปดาห์แล้ว หรืออาจเพราะมีเรื่องงานกับเรื่องที่บ้านให้ต้องปวดหัว คุณเลยเครียดสุดๆ
มีเหตุผลนับล้านข้อว่าทำไมคุณถึงตั้งคำถามว่าจะไปวิ่งหรือไม่ไปดี เรามีวิธีหนึ่งที่จะช่วยหาคำตอบได้ “คุณต้องตั้งใจฟังสิ่งที่ร่างกายบอก” Chris Bennett หัวหน้าโค้ชของ Nike Running Global กล่าว การฟังเสียงของร่างกายจะบอกใบ้ได้ว่ากล้ามเนื้อรู้สึกล้าเล็กน้อยหรือหมดสภาพแล้วจริงๆ หรือบอกได้ว่าการไปวิ่งจ๊อกกิ้งอาจเป็นช่วงพักจัดการความเครียดที่ดีหรือเป็นภาระอีกอย่างหนึ่งที่สร้างความกังวลในวันที่ตึงเครียด
การเป็นผู้ฟังที่ดีต้องอาศัยการลองผิดลองถูก แต่การทำความรู้จักกับตัวเองให้ลึกซึ้งขึ้นก็ถือเป็นส่วนที่เติมเต็มเกี่ยวกับการวิ่ง Marielle Hall กล่าว เธอคือนักกีฬาโอลิมปิก นักวิ่งอาชีพระยะไกล และนักกีฬาของ Nike
“การรู้ว่าวันไหนควรหยุดพักและวันไหนควรพักผ่อนถือว่าทรงพลังเทียบเท่ากับการทำสถิติส่วนตัวหรือการออกกำลังกายที่ยอดเยี่ยมเลย” เธอบอก “คุณจะเข้าใจร่างกายตามสัญชาตญาณและแยกความแตกต่างระหว่างความรู้สึกไม่สบายตัวออกจากความเจ็บปวดที่เกิดจากอาการบาดเจ็บได้” การเข้าใจตัวเองจะยกระดับการวิ่งของคุณขึ้นไปอีกขั้น Hall กล่าว คุณจะไม่จำใจต้องพักเพราะได้รับบาดเจ็บหรือหมดแรง คุณจะเป็นคนควบคุมและตัดสินใจเลือกสิ่งที่จะช่วยให้ตัวเองแข็งแรงยิ่งขึ้นในอนาคต
เปลี่ยนแปลงได้ไม่ยาก
หากกำลังเถียงกับตัวเองเรื่องการวิ่งอยู่ ก็ลองถามตัวคุณเองดูว่า จะรู้สึกอย่างไรหากไปวิ่งครั้งนี้
นั่นคือคำแนะนำจาก Shalane Flanagan นักกีฬาโอลิมปิก 4 สมัยและโค้ชจากสโมสร Bowerman Track Club “หากวิ่งแล้วเกิดความเครียดมากเกินไป ถ้าบางส่วนของร่างกายได้รับบาดเจ็บ หรือวิ่งแล้วก็ไม่ได้ทำให้อารมณ์ดีขึ้น คำตอบก็คือ วันนี้ไม่ใช่วันสำหรับการวิ่ง” เธอบอก
Flanagan เพิ่งฟื้นตัวจากการผ่าตัดเข่า 2 ครั้งเมื่อไม่นานมานี้ เธอบอกว่าลองถามคำถามดังกล่าวกับตัวเองอยู่บ่อยครั้ง “ฉันต้องอ่านสัญญาณให้ออกและพูดคุยกับร่างกายของตัวเองอย่างจริงใจ”
ความจริงใจนั้นยังหมายถึงว่า คุณรู้ว่าที่ไม่ยอมไปวิ่งเพราะคิดกลัวไปเองหรือเปล่า Bennett กล่าว ถ้าคุณเป็นแบบนั้น ขอแนะนำให้คุณบอกกับตัวเองว่า ออกไปแค่ 5 นาทีเอง หยุดได้ตลอด เดินได้เสมอ แต่ก็อาจพบว่าการเริ่มต้นนั้นเป็นสิ่งที่ยากที่สุด แต่สุดท้ายก็วิ่งได้ตั้ง 30 นาที ซึ่งนั่นคือสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ
และหากคุณมีแนวโน้มว่าจะเป็นนักวิ่งประเภทใจร้อน ต้องวิ่งให้เต็มที่ ก็ให้ตั้งใจฟังคำพูดจาก Brett Kirby, PhD นักวิทยาศาสตร์ด้านประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์ผู้ที่ทำงานร่วมกับนักวิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่งที่ Nike Sport Research Lab
“คุณต้องสร้างความสัมพันธ์กับการวิ่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ใจร้อนประเภทที่ว่า ‘ฉันจะไปวิ่งให้ได้หลายกิโลเมตรและวิ่งให้เต็มที่สุดๆ เสร็จแล้วก็หมดแรง ออกไปวิ่งต่อในวันรุ่งขึ้นไม่ไหว’” Kirby กล่าว “นั่นคือสักแต่ว่าจะวิ่งอย่างหนักหน่วงลูกเดียวเลย ทัศนคติแบบนี้ไม่ค่อยทำให้นักวิ่งประสบความสำเร็จเท่าไรนัก”
“ฉันต้องอ่านสัญญาณให้ออกและพูดคุยกับร่างกายของตัวเองอย่างจริงใจ”
Shalane Flanagan
นักกีฬาโอลิมปิก 4 สมัยและโค้ชจากสโมสร Bowerman Track Club
เคล็ดลับเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาคุณขึ้นไปอีก
01. เรียนรู้จากความผิดพลาด
เคยไปวิ่งไกลหลังจากที่เมื่อคืนหลับไม่ค่อยสนิทแล้วก็วิ่งได้แย่หรือเปล่า ให้เน้นไปที่ผลลัพธ์ที่ได้แทน นั่นคือคุณก็จะรู้ว่าต้องปรับตารางเวลาในครั้งต่อไป ตามที่ Kirby ได้พูดไว้ว่า “การเอาแต่โทษตัวเองในวันที่ไม่ได้ไปวิ่งหรือวันที่วิ่งได้ไม่ดีนั้นมีแต่จะทำให้เรารู้สึกแย่ลง เราจะได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการพยายามยอมรับ เรียนรู้ และก้าวไปข้างหน้า”
02. ลองสิ่งอื่นนอกจากการวิ่ง
หากร่างกายหรือจิตใจไม่พร้อมวิ่ง ก็ลองยกน้ำหนัก เล่นโยคะ หรือเดินไกลๆ ดู Derek Samuel นักกายภาพบำบัดที่ได้รับใบอนุญาตและสมาชิก Nike Performance Council กล่าว ครอสเทรนนิ่งช่วยให้ร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับการวิ่งครั้งต่อไปได้ เขาบอก และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือให้หลีกเลี่ยงทัศนคติที่ไม่ดีต่อการวิ่ง
03. ปรับเปลี่ยนแผน
อย่าลืมว่าการฟื้นกำลังไม่ได้หมายถึงว่าไม่ต้องวิ่ง Bennett กล่าว การวิ่งอาจเป็นการระบายทางจิตใจและการปลดปล่อยที่ยอดเยี่ยมสำหรับความเครียดและความกังวลที่สะสมเอาไว้ แต่สิ่งเหล่านั้นอาจไม่ได้มาจากการวิ่งทำความเร็วหรือการวิ่งเป็นช่วงแบบสุดโหดที่คุณวางแผนไว้ “เป้าหมายคือความก้าวหน้าและบางครั้งคุณอาจจะก้าวหน้าได้ด้วยการปรับตัว” Bennett กล่าว “มีวิธีปรับเปลี่ยนการวิ่งอย่างไม่สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นวิ่งให้สั้นลงกว่าเดิม ช้าลงกว่าเดิม หรือวิ่งบนพื้นที่ราบมากขึ้น ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจของคุณวิ่งได้ตามที่ต้องการ”
04. ปล่อยวางเสียบ้าง
“ถ้าคุณทำอาหารไหม้ หลายครั้งก็มักจะต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้น” Samuel เตือน เขาบอกลูกค้าว่าไม่เป็นไรถ้าจะกลับไปนอนคิดอยู่บนเตียงว่า ฉันต้องทำให้มากกว่านี้ “การคิดแบบนั้นจะช่วยเติมความกระหายให้กับคุณ” Samuel กล่าว “เทียบกับความคิดที่ว่า วันนี้ฉันทำมากเกินไปและฉันรู้สึกแย่”