คุยกับตัวเองเพื่อสร้างสุขนิสัยการกินที่ดี

การโค้ช

เปลี่ยนบทพูดในหัวเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับอาหาร มาดูสคริปต์ใหม่ของคุณได้เลย

อัพเดทล่าสุด: 1 เมษายน 2564
การพูดกับตัวเองเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับอาหารให้ดีขึ้น

การคุยกับตัวเองเป็นทักษะที่นักกีฬาและเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จใช้เพื่อเอาชนะความไม่แน่ใจและเติมพลังพิชิตเป้าหมายใหญ่เมื่อต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุด หลายคนใช้ทักษะนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระหว่างทำงานหรือออกกำลังกายในแต่ละวัน แต่น้อยคนนักที่จะใช้บทสนทนาในใจมาเพิ่มพลังให้ความสัมพันธ์ที่ดีต่ออาหารและตัวพวกเขาเอง

ประเด็นก็คือ แม้ว่าจะฝึกพูดคุยกับตัวเองในเชิงบวกเกี่ยวกับแง่มุมด้านอื่นๆ ของชีวิตแค่ไหน ก็อาจเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าคุณได้ตกหลุมพรางในการจำแนกอาหารออกเป็น “ดี” หรือ “ไม่ดี” และโทษตัวเองเมื่อใดก็ตามที่กินอาหารไม่ดี “พวกเราส่วนใหญ่ต่างก็ถูกสั่งสอนกันมาตั้งแต่เด็กๆ ให้ด่วนตัดสินอาหารผ่านมุมมองแคบๆ” Kelly Newsome Georges โค้ชด้านการดูแลตัวเองและผู้ก่อตั้งแบรนด์เพื่อการมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ Ritual Care กล่าว

หากมีใครมาบอกว่าบรอกโคลีจะทำให้แข็งแรงและตัวใหญ่ขึ้น ก็ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมผักถึงจัดเป็นสิ่งที่ดี แต่หากพ่อแม่ไม่เคยให้กิน “อาหารขยะ” หรือแย่ยิ่งกว่านั้นคือ พ่อแม่มองว่าอาหารประเภทนี้เกี่ยวโยงกับการน้ำหนักขึ้น รายการอาหารที่ต้องเลี่ยงของคุณคงยาวเหยียดพอตัวเลย สุภาษิตที่ว่า “กินอะไรก็เป็นอย่างนั้น” ยิ่งตอกย้ำเรื่องนี้ซ้ำเข้าไปอีก เพราะอาจทำให้คุณเก็บเอาสิ่งต่างๆ มาคิดว่าตัวเองจะเป็นคนดีหากกินอาหารที่ดี และเป็นคนไม่ดีหากกินอะไรอย่างอื่น Newsome Georges กล่าว

“พวกเราส่วนใหญ่ต่างก็ถูกสั่งสอนกันมาตั้งแต่เด็กๆ ให้ด่วนตัดสินอาหารผ่านมุมมองแคบๆ”

Kelly Newsome Georges
โค้ชด้านการดูแลตัวเอง

นอกเหนือจากการมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นคนหมกมุ่นและ/หรือมีข้อจำกัดเกี่ยวกับสิ่งที่กินและไม่กินแล้ว (ซึ่งจะแยกออกไปเป็นอีกประเด็น) ปัญหา ณ ตอนนี้คือภาษาที่ใช้กับอาหารอาจส่งผลยาวนานต่อภาพลักษณ์ของคุณเองและการเห็นคุณค่าในตัวคุณเอง Alanna Gardner นักบำบัดคู่สมรสและครอบครัวที่มีใบอนุญาตในฟิลาเดลเฟียกล่าว หากบอกกับตัวเองว่าเป็นคนที่ไม่เข้มแข็งเพราะดันไปกินเค้กวันเกิดชิ้นที่ 2 หรือต้องไปเข้ายิมเพื่อ “เผาผลาญ” เบอร์ริโต้ที่กินไปตอนมื้อเที่ยง ก็แสดงว่าคุณกำลังเอาคุณค่าของตัวเองไปยึดโยงอยู่กับการเลือกกินอาหารและทำโทษตัวเองเมื่อกินอาหารที่ “ไม่ดี” Newsome Georges กล่าวเสริม

แนวคิดดังกล่าวส่งผลให้เกิดแต่เพียงความละอายใจและทำให้รู้สึกว่าตัวเองเข้มแข็งน้อยลง ซึ่งจะทำให้ทำตามเป้าหมายด้านการมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ได้ยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านโภชนาการหรืออื่นใดก็ตาม (นอกจากนี้ ความเชื่อที่ว่ากินแล้วค่อยออกกำลังกายนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะให้ผลลัพธ์อย่างที่ว่าไว้) คุณอาจรู้สึกมั่นใจน้อยลง รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนล้มเหลวมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อทุกแง่มุมในชีวิตได้

หากฟังดูคล้ายกับสิ่งที่คุณอยากจะหลีกเลี่ยงล่ะก็ เราก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน เคล็ดลับเหล่านี้จะช่วยคัดกรองบทพูดในหัวของคุณและกำหนดให้ไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ เพื่อที่คุณจะได้กินอาหารที่มีประโยชน์และดูแลตัวเองให้ดียิ่งขึ้น

การพูดกับตัวเองเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับอาหารให้ดีขึ้น

01. ปรับแนวคิดที่มีต่อคำว่า “ดี” กับ “ไม่ดี”

ลองเปลี่ยนจากการจัดประเภทอาหารที่มาจากธรรมชาติและอุดมด้วยสารอาหารให้เป็นสิ่งที่ดี และจัดของหวานกับของขบเคี้ยวรสเค็มให้เป็นสิ่งที่ไม่ดี มาเป็นการคำนึงถึงประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับจากอาหารแต่ละอย่างแทน เช่น บราวนี่มีรสชาติดีมาก ในขณะที่บลูเบอร์รี่ก็มีรสชาติดีมาก แถมยังให้วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ ตอนนี้คุณกำลังคิดสิ่งต่างๆ ในแง่ดี (เรียกว่า “ดี” เทียบกับ “ดีกว่า” ถ้าช่วยได้นะ) ซึ่งส่งผลให้คุณสนุกไปกับการทำอะไรตามใจตัวเองในบางโอกาสแทนการโทษตัวเองที่กินอาหารพวกนั้น Gardner กล่าว การปรับแนวคิดยังทำให้คุณเลือกกินของที่มีประโยชน์มากขึ้นบ่อยขึ้นเพราะเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการกินได้อย่างชัดเจนอีกด้วย


02. อย่าเปรียบเทียบ

เมื่อแฟนเริ่มกินผักใบเขียวมากขึ้นและคุณเองก็กังวลว่ากินผักไม่เพียงพอ หรือเพื่อนคุณลงรูปอาหารยั่วน้ำลายบนโซเชียลมีเดียและคุณก็คิดว่า “ทำไมฉันจะกินอะไรตามใจแบบเธอบ้างไม่ได้ล่ะ” อย่าลืมเตือนตัวเองว่าคุณกำลังอยู่บนเส้นทางสู่การมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ในแบบฉบับของตัวคุณเอง Gardner กล่าว มิเช่นนั้น คุณจะเสี่ยงต่อการตำหนิตัวเองวนไปทั้งๆ ที่กำลังเดินหน้าปรับเปลี่ยนนิสัยการกิน และอาจไม่มีความสุขเวลากินในสิ่งที่อยากกิน ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนเชคหรือไอศกรีมสักถ้วย เธอกล่าว


03. มองหาสิ่งดีๆ มาสักอย่าง

เมื่อมองไปที่อาหาร แทนที่จะบอกตัวเองว่า “อาหารจานนี้มีแคลอรี่เยอะมาก” หรือ “ฉันไม่ควรกินอาหารจานนี้” ให้ลองหาประโยชน์ของอาหารที่กินมาสักข้อ Newsome Georges แนะ สมมติว่าคุณกำลังรีบและกินซีเรียลเป็นอาหารเช้าแทนข้าวโอ๊ตแบบป่น แทนที่จะคิดว่า “ไม่มีสิ่งใดจะบ่งบอกว่า ‘ขี้เกียจ’ ไปมากกว่าการกินซีเรียลสำเร็จรูปอีกแล้ว” ลองปรับตัวเองให้โฟกัสกับเบอร์รี่และกล้วยที่ใส่เพิ่มด้านบนแล้วพูดว่า “ฉันกำลังฝึกปรับสมดุลในการเลือกกินอาหารอยู่” หากไม่ได้ใส่ผลไม้เพิ่มลงไป ให้โฟกัสไปที่ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณต่อการมีอาหารให้กินหรือวิธีที่อาหารเชื่อมต่อคุณกับเหล่าผู้คนที่ทำให้อาหารจานนี้มาอยู่ตรงหน้าคุณได้ Newsome Georges เสนอ ทัศนคตินี้จะช่วยให้คุณพูดคุยกับตัวเองในเชิงบวกได้อย่างเป็นเรื่องปกติ รวมถึงส่งเสริมให้คุณเลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้นด้วย เธอกล่าว


04. สร้างระยะห่าง

งานศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ลง “Clinical Psychological Science” ระบุว่าผู้คนตัดสินใจเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้นเมื่อได้พูดคุยกับตัวเองโดยใช้สรรพนามบุรุษที่ 3 หรือที่ผู้เชี่ยวชาญเรียกกันว่า “การพูดคุยกับตัวเองแบบมีระยะห่าง” หากพูดถึงทฤษฎี ระยะห่างทางจิตวิทยาจะช่วยให้คุณโฟกัสได้ว่าอาหารบางชนิดสอดคล้อง (หรือไม่สอดคล้อง) กับเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าอย่างไร ซึ่งจะทำให้การปฏิเสธไม่กินคัพเค้กเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้นหากว่าสิ่งนั้นไม่ได้อยู่ในแผนการกินของคุณ ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่พบปัญหาเรื่องการวางโครงบทพูดในหัวเกี่ยวกับอาหาร ให้ลองขยับปากพูดชื่อตัวเอง (แบบไม่ออกเสียง) พร้อมสิ่งที่คุณตั้งใจจะทำ เช่น “___ กินอาหารที่ช่วยบำรุงและเพิ่มพลังให้กับเขา/เธอ”

คุณจะสร้างระยะห่างที่ต้องการเพิ่มขึ้นได้โดยการทำตัวสนใจใคร่รู้อย่างเห็นอกเห็นใจในเรื่องการพูดคุยกับตัวเอง Gardner กล่าว เมื่อนึกขึ้นได้ว่า “วันนี้ฉันกินแต่อะไรแย่ๆ” ให้ตั้งข้อสงสัย นึกย้อนถึงสิ่งที่กินไป แล้วคุณก็อาจเห็นได้ว่า อันที่จริงตัวเองก็กินผักจนหมดหรือไม่ได้กินข้าวสวยมากเกินไปในมื้อเย็น ถ้าคุณกินได้แย่ลงจากที่ตั้งใจไว้ ให้ใช้ความรู้ดังกล่าวมาเป็นแรงกระตุ้นในการกินให้ดีกว่านี้ในวันรุ่งขึ้น เธอกล่าว


ส่วนที่เจ๋งที่สุดเกี่ยวกับการพูดคุยกับตัวเองคือคุณควบคุมบทพูดในหัวได้ทั้งหมด เริ่มกลั่นกรองบทพูดนั้นไปทีละเล็กทีละน้อย จะได้ทำลายบทพูดเชิงลบที่เรียนรู้มาเมื่อตอนเป็นเด็ก โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้เปลี่ยนแปลงบทพูดในหัวให้กับคนเจเนอเรชันถัดไป

เรียบเรียงโดย Brooke Slade
ภาพประกอบโดย Jon Krause

การพูดกับตัวเองเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับอาหารให้ดีขึ้น

รับประโยชน์ที่มากขึ้น

เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านโภชนาการ ทัศนคติ การเคลื่อนไหว การฟื้นกำลัง ไปจนถึงการนอนหลับ

รับประโยชน์ที่มากขึ้น

เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านโภชนาการ ทัศนคติ การเคลื่อนไหว การฟื้นกำลัง ไปจนถึงการนอนหลับ

เผยแพร่ครั้งแรก: 29 มีนาคม 2564

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

3 เคล็ดลับในการสร้างนิสัยใหม่ให้ติดตัว โดยอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญ

การโค้ช

ฝึกนิสัยใหม่ๆ ดีๆ ให้ติดตัวไปได้จริงๆ กัน

ใช้เคล็ดลับทางจิตใจนี้เพื่อช่วยควบคุมการตอบสนองของคุณ

การโค้ช

เป็นคนหัวร้อนง่าย แก้อย่างไรได้บ้างนะ

6 วิธีในการกินอย่างช้าๆ และเพลิดเพลินกับอาหาร

การโค้ช

ทานอาหารให้เป็นจังหวะจริงๆ

5 เคล็ดลับในการรับมือกับภาวะหมดไฟจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

การโค้ช

สิ่งที่ต้องทำเมื่อหมดไฟแบบไม่ไหวแล้วจริงๆ

วิธีสร้างความมั่นใจในตนเอง

การโค้ช

คุณคนเดิม แต่เพิ่มความเจ๋ง