มองให้เห็นภาพแล้วสร้างให้เป็นจริง
การโค้ช
การจินตนาการภาพตัวเองขณะเข้าเส้นชัยหรือสัมภาษณ์งานได้แบบมือโปรอาจเป็นกุญแจสำคัญสู่ทุกความสำเร็จก็ได้
- การจินตนาการภาพทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นและมั่นใจยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการไล่ล่าคว้าเป้าหมาย และยังช่วยให้บรรลุความสำเร็จได้จริงๆ
- จินตนาการถึงรายละเอียดให้ได้มากที่สุด เช่น คุณกำลังสวมใส่รองเท้าอะไรอยู่และคุณน่าจะรู้สึกอย่างไร เพื่อทำให้ภาพที่คิดสมจริงและดูเหมือนอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมให้ได้มากที่สุด
- ลงมือทำวิสัยทัศน์ด้านการออกกำลังกายให้เป็นจริงด้วยโปรแกรมการออกกำลังกายใน NTC หรือแผนการวิ่งเทรนเตรียมแข่งใน NRC
อ่านต่อเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม…
รู้หรือเปล่าว่าไม่ว่าคุณจะทำประตูชัยหรือแค่จินตนาการว่ากำลังเตะบอลเข้าตาข่ายก็ทำให้สมองตื่นตัวได้ในลักษณะเดียวกัน โดยมีงานวิจัยที่พิสูจน์ให้เห็นได้จริงๆ ด้วยเหตุผลนี้ การจินตนาการภาพจึงมักเป็นตัวกระตุ้นและตัวเสริมประสิทธิภาพที่ได้รับความนิยมในหมู่นักกีฬาชื่อดังระดับโลก นักธุรกิจ ไปจนถึงโค้ชและครูฝึกที่คอยสอนคน 2 กลุ่มแรก
“การจินตนาการภาพ” หมายถึงการสร้างฉากที่เป็นภาพชัดเจนในหัว คุณอาจใช้วิธีนี้เพื่อความผ่อนคลาย หรือเพื่อเตรียมพร้อมตัวเองเพื่อทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จก็ได้ “เมื่อภาพถูกสร้างขึ้นมาในสมอง พื้นที่ของสมองหลายส่วนจะเริ่มทำงาน” Sheri Dewan, MD แพทย์เฉพาะทางด้านประสาทศัลยศาสตร์ที่โรงพยาบาล Northwestern Medicine Central DuPage Hospital อธิบาย ส่วนแรกสุดเลยคือสมองกลีบหน้า (Frontal lobe) ซึ่งรับผิดชอบหน้าที่ด้านการเรียนรู้ การวางแผน ไปจนถึงการดำเนินตามแผนที่วางไว้ ต่อมาจะเป็นการกระตุ้นสมองกลีบท้ายทอย (Occipital lobe) ซึ่งช่วยให้คุณเห็นสิ่งที่กำลังคิดปรากฏเป็นภาพขึ้นมาจริงๆ
แล้วหลังจากนั้น เมื่อการเห็นภาพเกิดขึ้นแบบวนซ้ำไปเรื่อยๆ การตอบสนองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) จะค่อยๆ ถดถอย (อะมิกดาลาคือศูนย์กลางของสมองในเรื่องการตอบสนองแบบจะสู้หรือหนี) ซึ่งช่วยลดความกลัวและวิตกกังวลที่มีต่อกิจกรรมนั้นๆ ได้ นอกจากนี้ การจินตนาการภาพซ้ำๆ ยังช่วยเสริมประสิทธิภาพการสั่งการจากสมองถึงกล้ามเนื้อ จนราวกับว่าคุณกำลังทำกิจกรรมนั้นอยู่จริงๆ Angie Fifer, PhD ที่ปรึกษาผู้ผ่านการรับรองด้านประสิทธิภาพทางจิตในเมืองพิตต์สเบิร์กและสมาชิกคณะกรรมการบริหารขององค์กร Association for Applied Sport Psychology เสริม กลไกการทำงานทั้งหมดนี้เกิดขึ้นร่วมกันเพื่อกระตุ้นความสามารถและทำให้คุณแสดงศักยภาพได้อย่างดีที่สุด Dr Dewan กล่าว
นี่อาจใช้อธิบายได้ว่าทำไมการจินตนาการภาพจึงมีประสิทธิภาพและอยู่ในความสนใจของนักวิจัยมาเป็นเวลานาน ที่ปรึกษาผู้ผ่านการรับรองด้านประสิทธิภาพทางจิตอย่าง Alan Chu, PhD ผู้ช่วยศาสตราจารย์และประธานหลักสูตร Sport, Exercise, and Performance Psychology แห่งมหาวิทยาลัย University of Wisconsin-Green Bay ได้ให้ข้อมูลว่า หนึ่งในงานวิจัยชิ้นแรกๆ เกี่ยวกับการจินตนาการภาพเกิดขึ้นในปี 1960 ในการทดลองมีทีมบาสเก็ตบอลมัธยมปลายที่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งโฟกัสเฉพาะการฝึกฝนด้านร่างกาย และอีกกลุ่มใช้เพียงวิธีจินตนาการภาพเพื่อฝึกฝนทักษะกล้ามเนื้อด้านต่างๆ หลังจากผ่านไป 14 วัน งานวิจัยพบว่ากลุ่มที่ใช้วิธีจินตนาการภาพมีความชำนาญในทักษะที่ฝึกใกล้เคียงกับกลุ่มที่จดจ่ออยู่กับการฝึกซ้อมด้านร่างกายเพียงอย่างเดียว
ตั้งแต่นั้นมาก็มีงานวิจัยหัวข้อนี้เกิดขึ้นมากมาย งานวิจัยชิ้นหนึ่งในวารสาร Journal of Neurophysiology ค้นพบว่าเมื่อคนที่เข้าเฝือกข้อมือจินตนาการว่าตัวเองกำลังบริหารข้อมือ คนกลุ่มนี้จะเสียความแข็งแรงน้อยกว่าคนที่ไม่ได้จินตนาการ 50 เปอร์เซ็นต์หลังจากที่ไม่มีการขยับเขยื้อนข้อมือเลยเป็นเวลา 4 สัปดาห์ งานวิจัยอีกชิ้นเปิดเผยว่าคนที่ต้องการฝึกกินผลไม้ให้มากขึ้นแล้วนึกภาพแผนการในแต่ละขั้นตอนของตัวเอง (จะซื้อ เตรียม และกินผลไม้เมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร) จะมีปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และงานวิจัยนำร่องที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Imagery Research in Sport and Physical Activity พบว่านักยิมนาสติกมีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้นเมื่อได้ฝึกเทคนิคการจินตนาการภาพ ยังมีงานวิจัยสนับสนุนอีกมากมายนอกเหนือจากที่ได้กล่าวไป
จินตนาการภาพยังไงให้ได้ผลดี
ถึงอย่างนั้น การจินตนาการภาพก็ไม่ใช่เรื่องที่แค่หลับตาเฉยๆ ก็ทำได้ (ถ้าได้คงดี) ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามีวิธีดีๆ หลายวิธีที่นำไปใช้ได้เพื่อทำให้การฝึกจิตของคุณได้ผล และเราขอแนะนำคุณดังต่อไปนี้
1. ตื่นแล้วนึกเลย
ทันทีหลังจากตื่นนอน ใช้เวลา 5 นาทีเพื่อ “จินตนาการภาพ” นึกถึงพฤติกรรมทั้งหมดที่ต้องทำเพื่อบรรลุเป้าหมายแล้วจดบันทึก สมมติว่าคุณมีเรื่องทะเลาะกับคนในครอบครัวมาแล้ว 1 สัปดาห์และก็อยากให้เรื่องคลี่คลาย ลองนึกภาพตัวคุณกำลังจัดเวลาเพื่อโทรหา คุณกำลังนั่งสมาธิหรือออกกำลังกายเพื่อตั้งสติก่อนกดปุ่มโทร คุณกำลังพูดอย่างใจเย็นให้อีกฝ่ายรับฟังเรื่องที่อยากพูด แล้วจึงไปซื้อการ์ดแทนความรู้สึกเพื่อส่งหาอีกฝ่าย เมื่อจินตนาการเสร็จ ทำในสิ่งที่คุณนึกไว้ให้ตรงตามลำดับขั้นตอนทั้งหมด
วิธีนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจได้ และหากฝึกอย่างสม่ำเสมอได้ ก็จะเป็นการคอยบอกสมองไว้ว่าสิ่งที่คุณทำควรจะสำเร็จ เพราะทุกอย่างที่กำลังทำเป็นไปตามที่วางแผนไว้ Michael Ceely นักจิตบำบัดอาชีพและโค้ชด้านประสิทธิภาพทางจิตที่เมืองเบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าว ยิ่งทำเป็นอย่างแรกในตอนเช้า เทคนิคนี้จะทำให้จิตใจได้มีเวลาคิดมากขึ้นก่อนที่จะนำแผนในความคิดของคุณไปลงมือทำในชีวิตจริง Ceely กล่าว
ขั้นตอนนี้ยังเป็นขั้นตอนที่ทำได้ไม่ยากก่อนที่คุณจะขยับขึ้นไปสู่การจินตนาการภาพที่ท้าทายมากขึ้น เช่น การวิ่งมาราธอน “ฝึกย้อนภาพในหัวแล้วเริ่มเล่นใหม่อย่างช้าๆ” Fifer กล่าว “สุดท้าย เมื่อฝึกฝนไปเรื่อยๆ การควบคุมและความสามารถของคุณก็จะเพิ่มมากขึ้น และคุณจะควบคุมภาพในหัวให้ตรงกับประสบการณ์ที่คุณอยากให้เป็นได้ดีขึ้น”
2. จับทุกรายละเอียด
ตามที่ Chu บอก เมื่อภาพที่คุณจินตนาการมีครบทุกรายละเอียด ทุกสถานการณ์ และทุกห้วงอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นในขณะลงมือทำ สิ่งที่คุณฝึกจะไม่ใช่เพียงการนั่งมองตัวเองบรรลุเป้าหมายอย่างลอยๆ แต่จะเป็นหนทางประสบความสำเร็จด้วยการกระทำที่ชัดเจนจับต้องได้ การจะมองเห็นได้ทุกรายละเอียดได้นั้น คุณต้องพิจารณาประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของคุณให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วหาวิธีใช้ประสาทสัมผัสเหล่านั้นเพื่อการบรรลุเป้าหมาย Anna Hennings ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพทางจิต เมืองออสติน กล่าว
ถ้าภาพของคุณคือการพิชิตยอดเขา พยายามจินตนาการความรู้สึกของรองเท้าที่ต้องยึดเกาะบนเส้นทางเทรล กลิ่นของธรรมชาติ ทิวทัศน์ของหุบเขาเบื้องล่าง เสียงลมที่พัดผ่าน ไปจนถึงรสชาติของอาหารมื้อเที่ยงที่เตรียมไว้กินเมื่อปีนถึงยอด ถ้าเป้าหมายของคุณคือแข่งขันกีฬาเพื่อชิงเหรียญมาราธอนเหรียญแรก นึกภาพเสื้อผ้าที่ใส่ไปวิ่ง อาหารเช้าที่กินมาล่วงหน้า เพลงที่จะเปิดฟัง ฯลฯ เมื่อคุณปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างไปกับจินตนาการ (แต่เก็บรายละเอียดทุกอย่างด้วยนะ) ภาพที่คุณเห็นจะรู้สึกสมจริงขึ้น ทำให้สำเร็จได้มากขึ้น และรู้สึกอยากพิชิตมากยิ่งขึ้นในชีวิตจริง Chu กล่าว
3. ย้อนนึกถึงช่วงท็อปฟอร์ม
การย้อนภาพช่วงที่ตัวเองเคยประสบความสำเร็จจะทำให้คุณรู้จักจุดแข็งของตัวเองและรู้ว่าตัวเองไล่ตามเป้าหมายมาไกลแค่ไหนแล้ว ซึ่งทำให้คุณพร้อมกว่าเดิมเมื่อต้องทำเรื่องเดิมซ้ำ Hennings กล่าว ความสำเร็จครั้งก่อนยังเป็นแหล่งพลังและความมั่นใจให้คุณได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยได้มากเวลารู้สึกขาดความมั่นใจหรือขาดแรงจูงใจ
ถ้ายังไม่มีโมเมนต์ชัยชนะที่ให้ความรู้สึกคล้ายกับเป้าหมายตอนนี้ Hennings กล่าวว่า ให้ลองนึกถึงความรู้สึกตอนที่คุณสงบที่สุด ตอนที่ดีใจจนเนื้อเต้น ตอนที่แข็งแกร่งจนมั่นใจเกินร้อย นำความรู้สึกนั้นมาใช้ “เพื่อสร้างอารมณ์และขับเคลื่อนตัวเองในปัจจุบัน” ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยากพรีเซนต์งานออนไลน์เก่งๆ แต่ยังไม่เคยพรีเซนต์ของจริงต่อหน้าคนเยอะๆ มาก่อน ให้นึกย้อนเวลากลับไป แล้วหาช่วงเวลาที่คุณขจัดความประหม่าของตัวเองได้เมื่ออยู่ในสถานการณ์ เช่น เดทครั้งแรก หรือคุณอาจจะลองลักจำสิ่งที่คนอื่นเคยทำมาใช้ Hennings กล่าว ลองตั้งใจสังเกตว่าคนอื่นทำงานอย่างไรให้สำเร็จ ดูว่ามีอะไรที่ใช้ได้บ้างแล้วจินตนาการว่าคุณกำลังพัฒนาตัวเองโดยอิงจากสิ่งที่ได้เรียนรู้มา
4. จินตนาการฝั่งตรงข้ามของความต้องการ
เมื่อไหร่ที่คุณหมดแรงบันดาลใจต่อเป้าหมายที่กำลังไล่ตาม ลองใช้เคล็ดลับที่เรียกว่าจินตนาการภาพทางลบ (Negative Visualization) “นึกภาพว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรในด้านที่ตรงข้ามกับความจริง เมื่อคุณไม่มีโอกาสทำสิ่งที่อยากทำ” Laurie Santos, PhD ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและหัวหน้าวิทยาลัย Silliman College แห่งมหาวิทยาลัย Yale University กล่าว นึกภาพตัวเองที่บาดเจ็บและไม่สามารถแบกกระเป๋าไปเที่ยวได้ นึกภาพตัวเองที่สูญเสียความทรงจำและไม่อาจเขียนนิยายได้อีกต่อไป “แค่ปรับเปลี่ยนวิธีคิดเพียงเล็กน้อยก็ทำให้คุณรู้คุณค่าของชีวิตได้มากแล้ว” และยังได้แรงจูงใจใหม่ๆ ด้วย Santos กล่าว
เรียบเรียงโดย Rozalynn Frazier
ภาพประกอบโดย Davide Bonazzi
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จินตนาการภาพว่าตัวเองแข็งแรงขึ้นหรือวิ่งได้ไกลขึ้นอยู่ใช่ไหม มาเปลี่ยนภาพของคุณให้กลายเป็นจริงด้วยโปรแกรมการออกกำลังกายในแอพ Nike Training Club หรือแผนการเทรนนิ่งในแอพ Nike Run Club ได้เลย
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จินตนาการภาพว่าตัวเองแข็งแรงขึ้นหรือวิ่งได้ไกลขึ้นอยู่ใช่ไหม มาเปลี่ยนภาพของคุณให้กลายเป็นจริงด้วยการออกกำลังกายในแอพ Nike Training Club หรือด้วยแอพ Nike Run Club ได้เลย