6 เหตุผลไม่อยากวิ่ง (และทำไมหลายข้อถึงฟังไม่ขึ้น)
การโค้ช
ทำลายกำแพงข้ออ้าง แล้วสวมรองเท้าเพื่อออกวิ่งกับ Chris Bennett หัวหน้าโค้ช Nike Running Global ผู้ที่จะมาแนะนำทางออกต่างๆ ให้กับคุณ
เมื่อวานคุณบอกจะวิ่งพรุ่งนี้ แต่พอถึงวันพรุ่งนี้เท่านั้นแหละ... ว้า ทำไมข้างนอกร้อนจัง วันนี้เลิกงานช้าเหนื่อยมากเลย กางเกงขาสั้นก็โยนลงตะกร้าหมดแล้ว ประโยคพวกนี้คุ้นๆ ไหม ไม่ใช่แค่คุณคนเดียวหรอกที่รู้สึก เพราะผลสำรวจล่าสุดแสดงให้เห็นว่าคนอเมริกามีข้ออ้างเฉลี่ย 6 ข้อต่อวัน หรือมากกว่า 2,000 ข้อต่อปี และข้ออ้างว่าออกกำลังกายไม่ได้นี่แหละที่มาเป็นลำดับต้นๆ ราวกับใครก็ตามที่เป็นนักวิ่งจะมีปีศาจตัวหนึ่งเกาะอยู่บนไหล่ซ้าย และ...ปีศาจอีกตัวเกาะอยู่บนไหล่ขวา
Chris Bennett ในฐานะหัวหน้าโค้ช Nike Running Global ได้ยินข้ออ้างมาหมดแล้วเท่าที่คนจะจินตนาการออก ในบทความนี้ Bennett จะมาเล่าให้ฟังถึงข้ออ้างยอดนิยม 6 ข้อที่ได้ยินคนชอบพูดเวลาไม่อยากวิ่ง พร้อมเสนอทางออกง่ายๆ ที่จะทำให้คุณยอมออกไปวิ่ง
ข้ออ้าง #1: “วิ่งแล้วเหนื่อยง่าย” ทางออก: หยุดวิ่งก่อนจะอยากหยุด
“เหตุผลอันดับ 1 ที่ทำให้หลายคนคิดว่าตัวเองไม่ชอบวิ่งคือ เพราะตัวเองพยายามมากเกินไป” Bennett กล่าว “ผมอยากให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตัวเลขบนนาฬิกาข้อมือ แต่ความง่ายนี้หมายถึงความพยายาม คุณต้องหยุดตัวเองก่อนจะรู้สึกว่าต้องหยุด หรืออาจจะก่อนความรู้สึกว่าอยากหยุดเลยด้วยซ้ำ เคยมีไหมจังหวะที่คิดว่าอยากวิ่งแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องหยุด พอเกิดความคิดนี้ปุ๊บให้หยุดวิ่งเดี๋ยวนั้นเลย วิธีนี้แหละจะพลิกความคิดต่อการวิ่งครั้งหน้าจากกังวลเป็นตั้งหน้าตั้งตารอได้ ผมอยากให้หงุดหงิดจนบ่นออกมาเลยว่าทำไมได้วิ่งแค่นี้เอง แล้วถ้าเผื่อจะทำให้รู้สึกดีขึ้น เชิญโทษผมได้เต็มที่เลย
ข้ออ้าง #2: “จะรู้ได้ไงว่าวิ่งแบบไหนถูก” ทางออก: จำไว้ว่าไม่มีการวิ่งแบบนั้นอยู่จริง
“คุณวิ่งแบบไหนมาก็วิ่งแบบนั้นต่อไป โอเคไหม” Bennett กล่าว “ไม่มีหรอกการก้าวที่เพอร์เฟกต์ ไม่มีหรอกฟอร์มวิ่งที่สมบูรณ์แบบ ถ้าคุณได้ดูเทปของ Paula Radcliffe คุณจะเห็นเธอผงกหัว ไหล่ตั้ง แขนก็ไม่ดี... จนต้องโพล่งออกมาว่า “หาคนมาสอนวิ่งหน่อยเถอะ!” โชคยังดีที่ไม่มีใครทำแบบนั้นจริง เพราะ Radcliffe คือคนที่ครองสถิติมาราธอนผู้หญิงยาวนานถึง 16 ปี ดังนั้น แทนที่จะไปหาอ่านตำราแล้วพยายามฝึก สู้มาสร้างฟอร์มการวิ่งที่เป็นธรรมชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไปดีกว่า รู้สึกว่าตรงไหนตึงก็ผ่อน รู้สึกว่าก้าวยาวไปก็ปรับให้สั้นลง”
ข้ออ้าง #3: “ไม่มีเวลาวอร์มอัพก่อนวิ่ง” ทางออก: ให้วอร์มอัพเป็นส่วนหนึ่งของการวิ่ง
“ผมมีวิธีแก้ 2 วิธีสำหรับปัญหานี้” Bennett กล่าว “วิธีแรก วอร์มอัพเป็นแค่การเตรียมพร้อมทางจิตใจกับการซ้อมท่าต่างๆ ของการวิ่งจริง ดังนั้น ทางเลือกหนึ่งคือออกวิ่งได้เลย แค่วิ่งให้ช้าลงและใช้ช่วง 5-10 นาทีแรกในการวอร์มอัพแบบเคลื่อนไหว วิธีที่ 2 ยืดเหยียดให้เต็มที่แล้วลดเวลาวิ่งแทน เพราะจำไว้ว่าการวิ่งไม่มีเวลาหรือระยะทางขั้นต่ำกำหนดไว้ ไม่ว่าจะใช้วิธีใด คุณก็จะได้ทั้งการวอร์มอัพและการวิ่งเหมือนๆ กัน และเท่านี้ก็จะไม่มีปัญหาให้ต้องบ่นแล้ว”
ข้ออ้าง #4: “โห อากาศแบบนี้ยังจะวิ่งอีกเหรอ” ทางออก: วางแผนล่วงหน้า
“บางทีอากาศก็ร้อนเกินไปหรือหนาวเกินไป” Bennett กล่าว “อากาศที่รุนแรงอาจถึงขั้นเป็นอันตรายได้ ดังนั้นบางทีก็ไม่ต้องออกไปวิ่งหรอก แต่ถ้าเกิดอากาศแค่ทำให้ไม่สบายเนื้อสบายตัว แบบนี้ยังพอมีวิธีที่คุณจะวางแผนล่วงหน้าได้ 1) แต่งตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม 2) เปลี่ยนเวลาวิ่งของวัน และ 3) ปรับความเข้มข้นของการวิ่ง คุณอาจจะไม่ได้วิ่งอย่างที่ต้องการ แต่ยังได้วิ่งอย่างที่จำเป็นอยู่
ข้ออ้าง #5: “ร่ายกายแบบนี้ไม่ได้เหมาะกับการวิ่งซะหน่อย” ทางออก: เอาชนะความคิด
“ไหนบอกผมหน่อย ร่างกายที่ “เหมาะ” เป็นแบบไหน” Bennett ถาม “มีด้วยเหรอสำเนียงภาษาที่เหมาะ ทรงผมที่เหมาะ ขนาดที่จุดสตาร์ทของมาราธอน คุณยังได้เจอกับผู้คนมากหน้าหลายตาเลย การบอกว่าตัวเองมีร่างกายที่ไม่เหมาะ อาจแปลความได้ว่า “ฉันตัดสินใจแล้วว่าตัวเองทำไม่ได้หรอก” หรือบางทีอาจมีคนเคยมองคุณแล้วตัดสินใจแทนคุณมาก่อน แบบนี้จะสลัดความคิดออกอย่างไรดี คำตอบคือเปลี่ยนมุมมองของการวิ่งไปเลย วิ่ง 5K ไม่ได้เหรอ ก็ไม่มีใครบอกว่าต้องวิ่งให้ได้ ผมแค่ขอให้คุณวิ่งจากตรงนี้ไปจนสุดหัวมุมแค่นั้น นักวิ่งคือคนที่วิ่ง ขอแค่คุณวิ่ง คุณก็เป็นนักวิ่งแล้ว
ข้ออ้าง #5: “วิ่งแล้วเจ็บนู่นปวดนี่” ทางออก: ฝึกความแข็งแรง
“เวลาคุณบอกว่าเจ็บ แสดงว่าอาจมีการบาดเจ็บเกิดขึ้น” Bennett อธิบาย “และคำตอบในระยะสั้นคือ ใช่ ตอนนี้คงไม่ใช่เวลาที่ควรวิ่ง แต่ก็ไม่ใช่เวลาที่ควรเศร้าเสียใจเหมือนกัน ลองมองในมุมนี้สิ ตอนนี้คุณวิ่งเก่งขึ้นจนรู้แล้วว่าตัวเองต้องพยายามเก่งให้รอบด้าน นี่แหละ! แล้วคุณก็เริ่มพยายามมองว่าสาเหตุของการบาดเจ็บเกิดจากอะไร ข้องอสะโพกแข็งแรงพอหรือยัง แกนกลางลำตัวกับกล้ามเนื้อประคองหัวเข่า อย่างกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า แข็งแรงพอหรือยัง สิ่งที่ต้องพยายามเพิ่มไม่ได้มีมากมายเลย อาจจะบริหารด้วยท่ากระดานหรือท่าถอยเหยียดไปด้านหลังก็ได้ ฝึกไว้แล้วการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อาจเกิดขึ้นกับการดูแลสุขภาพของคุณก็เป็นได้”
เมื่อเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ได้แล้ว คุณอาจจะเริ่มเข้าใจว่าการไม่ท้อถอยนั้น แม้จะเป็นช่วงที่ตัวเองไม่อยากทำก็ตาม ถือเป็นด้านหนึ่งในความสวยงามของการวิ่ง
“บางครั้งการวิ่งก็ออกมาแย่” Bennett กล่าว “อาจเป็นเพราะเครียดจากทะเลาะกับที่บ้านมา อาจเป็นเพราะเมื่อคืนหลับไม่ลง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่วิ่งเสร็จ แม้จะแค่ระยะช่วงตึกสั้นๆ คุณก็บอกได้แล้วว่า “สำเร็จแล้ว วิ่งได้แล้ว ได้รู้จักตัวเองมากขึ้นแล้ว” พอมีโอกาสที่จะได้รู้สึกแบบนั้นอีก คุณจะอยากกลับไปวิ่งอีกครั้ง บางครั้งสิ่งที่คุณต้องการก่อนจะเข้านอน ก่อนที่หัวจะถึงหมอน ก็คือความหวังนี้ เพราะนี่เป็นชัยชนะที่สุดยอด ชัยชนะที่การวิ่งให้คุณได้”
ดังนั้น ครั้งต่อไปที่คุณลังเลว่าจะวิ่งดีหรือเปล่า ลองสมมติดูว่ามีโค้ช Bennett 1 คนหรือ 2 คนกำลังเกาะไหล่คุณอยู่แล้วเอาข้ออ้างที่มีในตอนนั้นโยนทิ้งไป