เหนือขึ้นบนฟ้า: คอร์ทบนชั้นดาดฟ้าในฮ่องกง
นวัตกรรม
กรณีศึกษาที่แสดงบทบาทของการออกแบบเชิงนวัตกรรมที่เชื่อมโยงผู้คนหลายวัยเข้าหากัน ส่งเสริมพลังชุมชน และเปลี่ยนให้กีฬาเป็นพื้นที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น
“พิสูจน์ให้รู้” เป็นซีรีส์ที่เผยโฉมนวัตกรรมพลิกขั้วในด้านกีฬา การมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ และศักยภาพ
Melody Siu เจอปัญหาเล็กน้อยในสมัยเรียน เธอชอบวิทยาศาสตร์และศิลปะพอๆ กัน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเธอก็เลือกทั้ง 2 อย่าง “ไม่ยากเลยค่ะ ถ้าเราลองมองอนาคตไว้ [โดยเอาความรู้มารวมกัน] ทั้ง 2 สาย คำตอบที่ได้ก็จะออกมาเป็นอะไรแนวๆ สถาปัตย์นั่นแหละ” เธอพูดถึงเส้นทางการทำงานที่ตัวเองเลือก
ทุกวันนี้ Melody ทำงานเป็นนักออกแบบสถาปัตยกรรมอาวุโสของ One Bite Design Studio ในฮ่องกง เธอจึงได้ใช้ทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะในการทำงานแต่ละวัน โดยโปรเจกต์ออกแบบพื้นที่สาธารณะในแบบต่างๆ นั้นผ่านมือเธอมาแล้วทั้งหมด ไม่ว่าจะโปรเจกต์ร้านชาเงียบสงบ ล็อบบี้โรงแรมที่คับคั่ง ไปจนถึงคอร์ทบาสเก็ตบอลบนดาดฟ้าของตึกการเคหะหลายแห่งในแถบนี้
งานแต่ละชิ้นจะต้องอาศัยการพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นในช่วงแรกที่ Melody และทีมของเธอเข้ามาดูแลการรื้อออกแบบใหม่สำหรับคอร์ทบาสเก็ตบอล ตัวเธอเองและทีมจึงต้องเรียนรู้งานนี้ด้วยการลงมือทำ หลังจากที่ผ่านโปรเจกต์แนวนี้มาแล้วถึง 4 ครั้ง พวกเธอจึงรวบรวมหลักการทำงานจากหน้างานจริงมาได้ส่วนหนึ่ง ลองคิดภาพหลักการเหล่านี้ให้เป็นเหมือนเคล็ดลับในคัมภีร์นักออกแบบคอร์ทเล่นกีฬาดูก็ได้
- ออกแบบให้ทนทาน ถ้าเป็นพื้นที่ส่วนรวมแล้วล่ะก็ ความสวยงามจะสำคัญไม่เท่ากับอายุการใช้งานที่ยาวนาน Melody บอกว่า “เราจะต้องเลือกสีพื้นที่เหมาะสมกับคอร์ท เพื่อไม่ให้พื้นเป็นร่องหรือเกิดรอยขีดข่วนได้ง่าย”
- ใช้พื้นที่ที่จำกัดให้คุ้มค่า บาสเก็ตบอลเป็นกีฬาที่ฮิตมากในฮ่องกงจนขนาดที่ว่าผู้เล่นจะต้องรอเป็นชั่วโมงกว่าจะได้ฟอร์มทีมเล่นกัน ซึ่งถ้ามีคอร์ทที่ออกแบบโดยอิงกับดีไซน์เดิมที่เป็นสนามเด็กเล่นมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรองรับคนที่เข้ามาเล่นได้มากขึ้นเท่านั้น
- ร่วมมือกับชุมชน คอร์ทเล่นกีฬาจะต้องออกแบบให้ตอบโจทย์กับความต้องการจริง เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด เนื่องจาก Melody และทีมของเธอไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านบาสเก็ตบอลที่เข้ามาทำงานในโปรเจกต์สำหรับคอร์ทเหล่านี้ เธอและทีมจึงต้องมองหาผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยในส่วนนี้ได้
- ออกแบบจากสิ่งที่มี การปรับโฉมของโครงสร้างที่มีอยู่เดิมเป็นอะไรที่ต่างจากการออกแบบตั้งแต่ต้นโดยสิ้นเชิง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์และการยอมรับในข้อจำกัดต่างๆ จึงเป็นหัวใจสำคัญของงานนี้
ชมคลิปวิดีโอด้านบนเพื่อดูว่านักออกแบบ นักกีฬา และกลุ่มคนรักบาสเก็ตบอลร่วมแรงร่วมใจกันเปลี่ยนคอร์ทส่วนรวมทั่วฮ่องกงให้กลับมามีชีวิตชีวาได้อย่างไร ส่วนด้านล่างนี้คือประมวลภาพโปรเจกต์ล่าสุดของพวกเขา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสถานที่เล่นบาสที่ยอดเยี่ยมเลยทีเดียว
คอร์ท Kai Yip — พลังแห่งการร่วมแรงร่วมใจ
ไม่ว่าจะในหรือนอกคอร์ท ชัยชนะก็เป็นของทีมที่ร่วมแรงร่วมใจกัน โปรเจกต์รีโนเวทครั้งแรกนี้ทำให้ Melody และสมาชิกทีม One Bite ของเธอ รวมถึงเพื่อนๆ นักออกแบบจาก SLAB ชุมชนคนรักบาสเก็ตบอลในฮ่องกงมารวมตัวกัน เธอและทุกๆ คนจัดแจงแบ่งหน้าที่กันได้อย่างลงตัว โดย SLAB มีหน้าที่ดูแลเรื่องสไตล์การออกแบบโดยใช้กราฟิกและสีสันที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเส้นขอบฟ้าของเมืองในยามค่ำคืน และจัดการเรื่องดีไซน์ต่างๆ ในส่วนของคอร์ทหลัก ขณะเดียวกันทีม One Bite ก็มีหน้าที่นำสไตล์ดังกล่าวไปถ่ายทอดต่อลงบนพื้นที่สนามกลางแจ้ง ร่วมกับการลงมือซ่อมแซมองค์ประกอบต่างๆ ตามการจัดการในโปรเจกต์ เช่น ส่วนหลังคาปิดที่ช่วยให้นักกีฬาเล่นกันได้แม้ในช่วงฤดูฝนของแถบนี้ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ก็ให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นงานศิลปะที่ใช้งานได้จริง และเป็นผลงานที่มากกว่าการจับทุกอย่างมายำรวมกัน
คอร์ท Tsing Yi — ความภาคภูมิใจของท้องถิ่น
“[คอร์ท] ส่วนใหญ่ในฮ่องกงมักจะเป็นสีแดงและสีเขียว ก็เลยดูธรรมดาๆ ไม่ค่อยมีสีสัน” Melody กล่าวถึงงานลงสีแบบมาตรฐานที่ใช้กับพื้นที่สนามสาธารณะส่วนใหญ่ เพราะเหตุนี้สีสันจัดจ้านที่คอร์ท Tsing Yi นำมาใช้ก็ยิ่งโดดเด่นสะดุดตายิ่งขึ้นไปอีก แม้ว่าการปรับปรุงใหม่ในครั้งนี้จะค่อนข้างเรียบง่ายและเน้นแค่ความสวยงาม แต่เป้าหมายที่มากกว่านั้นคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ผ่านภาษาทางดีไซน์ที่คนในพื้นที่เข้าใจ ทั้งรูปทรงที่ชวนให้นึกถึงภูมิลักษณ์ของเกาะ Tsing Yi และเฉดสีที่ได้แรงบันดาลใจจากพันธุ์ปลาขึ้นชื่อในท้องถิ่น “ฉันหวังว่าผู้คนที่นี่จะรู้สึกได้ถึงอัตลักษณ์ ความหวงแหน และความภาคภูมิใจค่ะ” Melody กล่าว โดยอธิบายว่าการออกแบบนี้ทำให้มองเห็นพื้นที่สนามได้จากหน้าต่างอพาร์ทเมนต์รอบบริเวณนี้ทั้งหมด
คอร์ท Siu Hei — เชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกัน
ครั้งแรกที่ทีม One Bite มาสำรวจพื้นที่แห่งนี้ พวกเขาพบว่าสนามที่สูงลดหลั่นกันไปนั้นทั้งซอมซ่อและไม่เป็นไปในแนวเดียวกัน โดยมีส่วนกั้นที่แยกคอร์ทชั้นบนและชั้นล่าง สิ่งแรกที่พวกเขาต้องลงมือทำก็คือการเปลี่ยนโฉมเพื่อประโยชน์ใช้สอย พวกเขาเปิดให้ทุกส่วนโล่งโดยสร้างที่นั่งที่มีลักษณะคล้ายสแตนด์เชียร์เพื่อให้ผู้ใช้พื้นที่ตรงนี้หมุนเวียนเข้าออกได้ง่ายๆ พอเริ่มต้นด้วยแนวคิดนี้แล้ว พวกเขาก็เน้นออกแบบให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์และเหมาะกับผู้คนทุกวัย เนื่องจากคอร์ทนี้ตั้งอยู่ชั้นบนสุดของพื้นที่อยู่อาศัยของการเคหะ ซึ่งผู้คนที่นี่มีช่วงอายุและความสนใจที่หลากหลายแตกต่างกันไป ทีมออกแบบจึงพยายามสร้างพื้นที่นี้ให้ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุดโดยเพิ่มทางเดิน จัดวางยางรถให้ได้ปีนป่าย ทำคอร์ทบาสเก็ตบอล รวมถึงมีโซน “เล่นตามอัธยาศัย” ที่ออกแบบและสร้างมาเพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เล่นอย่างสร้างสรรค์ และเพื่อให้กำหนดจุดบนคอร์ทได้ถูกต้องแม่นยำ พร้อมรองรับการเล่นที่เป็นไปตามมาตรฐาน Melody และทีมของเธอจึงปรึกษากับสมาคมในท้องถิ่นอย่าง Hong Kong Playground Association ให้ช่วยดูแลเรื่องการทำสัญลักษณ์บนพื้นสนาม
คอร์ท Ming Tak — การเติบโตของกีฬานี้ในหมู่ผู้หญิง
การจะช่วงชิงเวลาใช้คอร์ทบาสเก็ตบอลที่คนแวะเวียนกันมาไม่ขาดสายในฮ่องกงนั้นเป็นเรื่องยากไม่ว่ากับใครก็ตาม โดยเฉพาะผู้เล่นที่ไม่ใช่ผู้ชาย ซึ่งมักไม่ได้รับการต้อนรับขับสู้หรือไม่ถูกแยแสสักเท่าไหร่ ทีม One Bite จึงร่วมมือกับองค์กรในชุมชนเพื่อดำเนินการจัดสรรพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับนักกีฬาให้มาเล่นบาสกันอย่างสบายใจโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเพศ “ธีมหลักของส่วนนี้คือการเปิดกว้างให้กับผู้หญิงค่ะ” Melody กล่าวถึงกลยุทธ์สุดสร้างสรรค์นี้ที่ทีมของเธอวางเอาไว้สำหรับคอร์ท Ming Tak “เราตั้งใจจะสร้างพื้นที่ที่วางใจได้สำหรับนักกีฬา โดยเฉพาะนักกีฬาผู้หญิง เพื่อให้ทุกคนได้สนุกกับการเล่นกีฬาโดยไม่ต้องกังวล” คุณค่าเหล่านี้สะท้อนออกมาจากการออกแบบครั้งใหม่ ทั้งการไล่สีที่สื่อถึงความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศตามแนวคิดแบบนอนไบนารี รวมถึงกราฟิก “W” ซึ่งโดดเด่นสะดุดตาอยู่ในใจกลางของคอร์ทฝั่งหนึ่งจาก 2 คอร์ทที่มี เพื่อเป็นการประกาศว่าในคอร์ทนี้ ผู้หญิงต้องมาก่อน
พร้อมจะเล่นแล้วใช่ไหม ในช่วงเวลาที่เราเขียนอยู่นี้ คอร์ทสาธารณะถูกปิดชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด แต่ไม่เป็นไร เราลองมาดูภาพมุมสูงจากที่ตั้งของคอร์ททั้ง 4 แห่งนี้ในฮ่องกงกัน เพื่อที่ว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจนไปตามรอยได้แล้ว คุณจะได้รู้ว่าอยู่ตรงไหน
อัพเดท! ล่าสุดนี้ Nike ได้ร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นเพื่อทำการปรับปรุงคอร์ทของชุมชนอีกแห่งในฮ่องกง ซึ่งคอร์ทนี้น่าเล่นมากๆ และเผอิญเป็นการปรับปรุงด้วยวัสดุจากรองเท้าผ้าใบใช้แล้วกว่า 20,000 คู่จากโครงการรีไซเคิล Nike Grind เสียด้วย ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคอร์ท Shek Lei Grind ได้ใน Nike News
ภาพยนตร์โดย Azsa West
เรียบเรียงโดย Brinkley Fox
ภาพถ่ายโดย Victor Cheng