ตัวต่อตัว: Napheesa Collier x Sylvia Fowles
นักกีฬา*
ดารานักบาสเก็ตบอล 2 คนเชื่อมสัมพันธ์ทุกเจนเนอเรชันทั้งในและนอกคอร์ท
ตัวต่อตัว คือซีรีส์ที่ถ่ายทอดบทสนทนาระหว่างนักกีฬา Nike ชั้นนำแบบสดๆ ไม่มีสคริปต์
สิ่งที่น่าประหลาดใจมากที่สุดเกี่ยวกับ Sylvia Fowles และ Napheesa Collier นั้นไม่ใช่เรื่องที่ผู้เล่นแห่งยุคของตน 2 คนจาก 2 เจเนอเรชันที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจะมาเล่นร่วมทีม WNBA เดียวกันในทีม Minnesota Lynx เจ้าของตำแหน่ง WNBA All-Star 7 สมัย แชมป์ 2 สมัย รวมถึงคว้าตำแหน่ง MVP ปี 2017 และเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก (Fowles) กับเจ้าของตำแหน่ง WNBA Rookie of the Year ปี 2019 ตำแหน่ง All-Star 2 สมัยและปัจจุบันก็เป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกด้วย (Collier) ได้ร่วมกันนำทีมไปสู่ความสำเร็จ อาศัยความเหมาะเจาะลงตัวที่ไม่เหมือนใครซึ่งแสดงให้เห็นทั้งความเก๋าเกมสุดๆ ของ Fowles และมันสมองด้านบาสเก็ตบอลที่เก่งเกินวัยของ Collier ชัยชนะบนคอร์ทของพวกเธอเกิดขึ้นได้ด้วยความสัมพันธ์อันยอดเยี่ยมที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ Fowles เริ่มเป็นเมนเทอร์ให้ Collier ระหว่างค่ายเทรนนิ่งผู้เล่นหน้าใหม่อายุน้อย เรื่องที่น่าประหลาดใจของ Fowles กับ Collier นั้นก็คือพวกเธอเป็นเพื่อนที่สนิทกันจริงๆ ซึ่งยืนยันได้จากน้ำเสียงหยอกล้อที่หยอดให้กันตลอดการสนทนานี้
เมื่อไม่นานมานี้ พวกเธอได้มีโอกาสแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทั้งในและนอกคอร์ทบนเวทีการแข่งขันที่ใหญ่ยิ่งขึ้นมาก ทั้งคู่เป็นผู้เล่นทีมชาติสหรัฐอเมริกาชุดสู้ศึกโอลิมปิก เราได้พูดคุยกับพวกเธอก่อนที่การแข่งโอลิมปิกจะเริ่มต้นขึ้นไม่นานและก่อนที่ทั้งคู่จะบรรลุเป้าหมายความสำเร็จอันน่าทึ่ง พวกเธอพูดคุยถึงสถานะของวงการบาสเก็ตบอลหญิงในภาพรวมและตอบคำถามว่าการได้เป็นตัวแทนประเทศร่วมกันมีความหมายอะไรสำหรับพวกเธอทั้ง 2 คน
ความทรงจำแรกของการฝึกซ้อมหรือลงเล่นด้วยกันคืออะไร ซึ่งน่าจะนับตั้งแต่หลังจากที่ Napheesa ถูกดราฟท์ตัวมาเข้าทีม Lynx ในปี 2019
NC: พูดตรงๆ เลยนะคะ ฉันจำการซ้อมครั้งแรกไม่ได้เพราะตอนนั้นตื่นเต้นไปหมด เหมือนกับว่าทุกอย่างเกิดขึ้นไวมากเหมือนขับรถเหยียบมิด 200 กม./ชม. เลยค่ะ ตั้งแต่การทะลุเข้ามาเป็นตัวเลือก 4 คนสุดท้าย จนกระทั่งถูกดราฟท์ แล้วก็มาถึงที่มินนิโซตา และอีก 2 สัปดาห์ให้หลังฉันก็ได้ลงแข่ง
แต่ก็จำความรู้สึกตอนที่เจอ Syl กับความรู้สึกตอนที่ได้เจอกับทีมได้นะคะว่าทุกคนให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นขนาดไหน เธอทำให้ฉันรู้สึกอุ่นใจในทันที และฉันซาบซึ้งกับเรื่องนั้นมากกว่าที่จะบอกออกมาเป็นคำพูดได้ค่ะ เพราะมันน่ากลัวนะ ถูกดราฟท์ตัวเข้าทีม มาอยู่ทีมใหม่ แล้วต้องมาเล่นเคียงคู่กับตำนานอย่าง Sylvia Fowles ด้วย น่าหวั่นใจจริงๆ เลยค่ะ แล้วยิ่งเธอเป็นคนที่คอยดูแลฉันด้วยก็ทำให้รู้ได้ทันทีว่าถ้าฉันต้องการอะไรก็ตาม ฉันก็มาบอกเธอได้ ถ้ามีปัญหาอะไร ก็มาหาเธอได้ เยี่ยมไปเลยค่ะ ขอบคุณค่ะแม่ Syl
SF: คือ Napheesa คิดว่าตัวเองทำได้ไม่ดีตอนเข้าค่ายจนน่าจะถูกคัดออก ฉันก็แบบ “ว่าอะไรนะ”
NC: ฉันคิดว่าคงไม่ได้เล่นแล้ว
SF: [Napheesa พูดประมาณว่า] “ฉันไม่มีทางได้เข้าทีมแน่เลย” ฉันก็บอกว่า “พูดเรื่องอะไรของเธอ” ฉันพูดว่า “เธอทำได้ดีนะ” [Napheesa บอกว่า] “ฉันยังทำได้ไม่ดีพอ” นั่นทำให้รู้ได้เลยว่า Napheesa จะเป็นผู้เล่นที่ยอดเยี่ยมได้แน่ๆ เพราะสิ่งที่เธอทำลงไปที่ค่ายนั้นดีมากๆ และเธอไม่มีแม้แต่ความมั่นใจพอที่จะรู้สึกว่าเธอจะได้รับเลือกเข้าทีม นั่นบ้าไปแล้ว
NC: ค่ายเทรนนิ่งโหดนะคะ
คิดว่าพอถึงจุดหนึ่งคุณคงจะมีโมเมนต์ “ขอต้อนรับสู่ลีก” แน่ๆ เลย คุณจำครั้งแรกที่ไปขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำจาก Sylvia ได้ไหม
NC: ระหว่างช่วงที่น่าจะเป็นสัปดาห์แรกของการซ้อมค่ะ โค้ช Reeve กำลังทวนแผนการเล่นให้ฟัง และฉันไม่ได้ล้อเล่นนะคะ คือว่าเธออัดเข้ามาตั้ง 15 แผนในวันเดียว ฉันก็แบบ “แล้วฉันจะไปจำแผนการเล่นตั้ง 15 แผนได้ยังไงกัน ทั้งเพาเวอร์ฟอร์เวิร์ด ทั้งสมอลฟอร์เวิร์ด” ฉันก็นึกขึ้นได้ “Syl พี่ Sylvia Fowles” เธอจะรวมทีมก่อนซ้อมแล้วก็ทวนแผนให้ฟังกันก่อน เราจะได้มั่นใจกันมากขึ้น นั่นก็ช่วยได้มากเลยค่ะเพราะถึงแม้ว่าเราจะมีแผนการเล่น แต่ฉันก็เป็นคนที่ต้องลงมือทำจริงถึงจะเข้าใจได้มากกว่าแค่ดูแผนการเล่นอย่างเดียว เลยเป็นอะไรที่เจ๋งมากที่ไปหาเธอแล้วเอ่ยว่า “ช่วยหน่อยได้มั้ย” แล้วเธอก็ตอบว่า “แม่จัดให้”
SF: Cheryl ตั้งมาตรฐานให้เราไว้สูงและเธอก็ทำให้เรารู้สึกอึดอัดค่ะ แต่นั่นก็เป็นเรื่องดีนะ เพราะพอลงสนามจริงแล้วจะปรับตัวได้ง่ายขึ้นเยอะ แม้พวกการ์ดจะทำเกมขึ้นมาเลี้ยงผ่านฉันไป แต่ฉันก็รู้ว่า “Napheesa จะคอยช่วยฉันอยู่”
NC: ไม่นะ ฉันคิดว่าเราสลับบทบาทกัน พอการ์ดเลี้ยงผ่านฉันไป ฉันก็แบบ “Sylvia ช่วยบล็อคให้ฉันหน่อยได้มั้ย ฉันอยู่ข้างหลังเธอ ฉันบล็อคไม่ได้แน่ๆ”
SF: แม่กันให้อยู่แล้วจ้ะ
การที่คุณทั้งคู่อยู่กันคนละช่วงในเส้นทางอาชีพเลย ในจุดนี้ โดยส่วนตัวแล้วคุณแต่ละคนใช้เวลาฝึกฝนเรื่องอะไรมากที่สุด คุณพยายามที่จะพัฒนาด้านไหน
NC: สำหรับฉันก็เป็นการชู้ตลูก 3 แต้มค่ะ ต้องทำให้ได้ดีขึ้น
SF: Na-three-sa [หัวเราะ] สำหรับฉัน คิดว่าเป็นการรวม 3 อย่างที่แตกต่างเข้าด้วยกันค่ะ ฉันรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรให้ต้องพิสูจน์แล้วในจุดนี้ ฉันคิดว่าความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับตัวเองคือการมีสุขภาพที่ดีและซื่อสัตย์กับตัวเองเสมอ ไม่เสียความแน่วแน่ในสิ่งที่ฉันเป็นและในสิ่งที่ฉันจะมอบให้กับทีมได้
“สิ่งที่ฉันเคารพในคนรุ่นเด็กกว่าก็คือพวกเขารู้วิธีทำการตลาดให้ตัวเอง แต่ก็กล้าพูดด้วย พวกเขาจะไม่ปล่อยให้คุณมาบอกว่าพวกเขายังทำได้ไม่ดีพอ”
Sylvia Fowles
Sylvia เห็นได้ชัดว่าคุณมีความอึดที่ไม่ธรรมดาเลย เพราะในซีซั่นที่ 14 กับ WNBA คุณยังคงโชว์ฟอร์มได้สุดยอด คิดว่าอะไรช่วยให้คุณยังคงลงแข่งและยังคงเล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพเสมอ
NC: เมื่อประมาณ 3 วันก่อนฉันก็ถามเธอแบบนี้เลยค่ะ
SF: ฉันใช้เวลา 2 ปีเพิ่มน้ำหนักขึ้นอีก 4.5 กก. ฉันเป็นคนที่น้ำหนักขึ้นยากค่ะ
NC: ลำบากมากจริงๆ เนอะ [หัวเราะ]
SF: แต่ปีที่แล้วตอนที่ฉันบาดเจ็บ เหมือนถูกเตือนค่ะว่าฉันเป็นคนช่วงล่างใหญ่ ขาของฉันรับน้ำหนักมาก แล้วการเพิ่มน้ำหนัก 4.5 กก. ก็ไม่ดีกับข้อต่อของฉัน และตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ก็มีบางเรื่องที่ฉันทำต่างออกไป พิลาทิสช่วยฉันได้เยอะค่ะ ฉันไม่ได้กินคลีนอยู่ตลอดนะคะ แต่ก็ระวังเรื่องกินอยู่ค่ะ
NC: ใช่เลย ยีนมหัศจรรย์ของเธอ “ฉันจะกินอะไรก็ได้ ก็ฉันน่ะ… มีบุญเรื่องยีน”
SF: เห็นไหมคะว่าฉันต้องรับมือกับอะไรแบบนี้ตลอดเลย การปั่นจักรยานก็ช่วยได้เยอะนะคะ อะไรก็ตามที่ไม่กดน้ำหนักไปที่ข้อต่อก็ใช้กับฉันได้ผลหมดเลย
NC: ฉันพยายามจะขอความช่วยเหลือและคำตอบที่เธอให้ฉันก็คือ “ฉันมีบุญเรื่องยีน” [หัวเราะ]
SF: เธอถามฉันว่าทำอะไรมาบ้างจนถึงตอนนี้ที่ร่างกายถึงยังได้ฟิตอยู่ ฉันก็บอกไปว่าเพิ่งมาเริ่มรู้สึกปวดเมื่อยเอาก็ปีนี้เอง เป็นปีแรกเลยที่รู้สึกจริงๆ ว่า…
NC: ใช่เลย แล้วนี่ปีที่เท่าไหร่แล้วนะ 14 ใช่ไหม คำตอบไม่ได้ช่วยเลยค่ะ Sylvia
SF: ฉันขอโทษนะที่ใช้เวลาตั้ง 14 ปีถึงจะเมื่อยเป็น ขอโทษนะแต่ก็ช่วยไม่ได้จ้ะ
Sylvia คุณรู้สึกว่าวงการเปลี่ยนไปยังไงบ้าง ตั้งแต่ตอนที่คุณเริ่มต้น แล้วถึงตอนนี้ที่ Napheesa เข้ามาเล่นในลีก โดยเฉพาะเรื่องโพสต์เพลย์และการเป็นคนตัวใหญ่
SF: ตอนที่ฉันเข้ามาเล่นในลีกครั้งแรก เรามีผู้เล่นที่เล่นบอลใกล้หลายคน ยกเว้น Tina Thompson หรือ Lauren Jackson ที่ชู้ตนอกกะโหลกได้ การพยายามกันผู้เล่นแบบนั้นเลยง่ายกว่ามากๆ เดี๋ยวนี้ทุกคนอยากจะเล่นบอลไกลหลังเส้น 3 แต้ม คุณก็เลยต้องฝึกเกมรับให้แข็งและเท้าต้องไว เพราะคุณไม่ได้อยู่ใกล้แป้นขนาดนั้น นั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งก็คือการที่ไม่มีผู้เล่นแบบโพสต์เพลย์จริงๆ
NC: ลีกนั้นเดินหน้าไปสู่จุดที่เล่นบาสกันแบบไร้ตำแหน่ง เราเห็นผู้เล่นสูง 200 ซม. ยิง 3 แต้มได้ 2 ลูกในเกมเดียว ซึ่งเป็นอะไรที่เราไม่เห็นกันในช่วงที่ Syl เริ่มเล่นในลีกช่วงแรกๆ แล้วฉันอยากจะเล่าว่า Sylvia ชู้ตลูก 3 แต้มได้ด้วยนะ ฉันไม่รู้ว่าคุณไปฝึกมาตอนไหน แต่รู้ว่าคุณไม่ได้ยิงลูกแบบนี้แน่ๆ ตอนที่ลงเล่นในลีกช่วงแรก
SF: ใช่เลย ช่วงแรกไม่ได้เล่นแบบนี้ Cheryl เปิดไฟเขียวให้ฉันชู้ตได้นะ แต่ฉันแค่ไม่ทำ ฉันเล่นในแบบที่ฉันทำได้ดีดีกว่า คือเล่นใต้แป้นได้ดี ซึ่งก็จะเล่นแบบนั้นไปเรื่อยๆ
NC: Sylvia ไม่รู้เรื่องนี้นะคะ แต่เราคุยเรื่องนี้กันนานแล้ว มีอยู่ในแผนค่ะ เราพยายามที่จะให้เธอชู้ตสักลูกในปีนี้
SF: ฉันเตรียมใจเล่นที่เส้น 3 แต้ม 100% นะ ฉันเลยไม่อยากพลาด ฉันเคยชู้ตได้ที่ชิคาโก 14 ปีได้ลูกเดียว อย่ามาขวางฉันก็แล้วกัน [หัวเราะ]
คุณเห็นอะไรจากนักบาสเก็ตบอลหญิงรุ่นต่อไป การเล่นของพวกเธอแบบไหนที่ทำให้คุณประหลาดใจ
NC: ฉันจบมัธยมปลายมายังไม่ถึง 10 ปีดี แต่ตอนที่เรียนอยู่ ก็ยังไม่เห็นเล่นกันในแบบปัจจุบันนะคะ อย่าง Arike [Ogunbowale] เนี่ยเธอเล่นในแบบที่ “โอ้โห เท่มากเลย” แต่วันนี้เราจะเห็นทุกคนเล่นกันแบบนั้นตั้งแต่มัธยมปลาย มีทักษะดีกันมากๆ แล้วจะเห็นเลยว่าน้องๆ ปรับการเล่นให้เฉียบขึ้น และไม่ใช่แค่กับเรื่องความเป็นนักกีฬา
SF: ตอนนี้ฉันว่าเราได้ชิมลางดูแล้วว่า WNBA จะเป็นยังไงในอีกไม่มี่ปีข้างหน้า อย่างที่ Phee บอกไปว่าด้วยพรสวรรค์ระดับนั้นตั้งแต่จบมัธยมปลาย แต่ก็ยังมีความไวอีกด้วย รุ่นน้องกระโดดกันได้สูงกว่า เคลื่อนไหวได้เร็วกว่า
NC: ดั๊งค์ ตอนนี้ใครๆ ก็ดั๊งค์
SF: ใช่เลย เมื่อก่อนมีแต่ฉันแล้วก็ Candace [Parker] ที่ดั๊งค์ตอนอยู่มัธยมปลาย แต่ภายใน 5 ปีข้างหน้าในลีกหญิง เราจะได้เห็นสาวๆ ดั๊งค์กันหลายคนมากขึ้น น่าประทับใจมากเลยล่ะ Napheesa ขอให้ฉันดั๊งค์ทุกเกม ต้องบอกก่อนเลยนะว่ากว่าจะทำได้ก็กินแรงไปมาก มีคนกันฉันอยู่ตั้ง 3 คน ซึ่งบางทีฉันก็ไม่มีแรงจะกระโดดหรอก
NC: ถ้างั้นทำเป็นแต้มเปิดเกมไปเลยตอนที่แรงยังดีอยู่
SF: เห็นแก่ตัวนี่ คุณเห็นไหมว่าฉันต้องเจอกับอะไร ไม่คิดถึงใครเลยนอกจากตัวเอง [หัวเราะ] แต่แน่นอนค่ะว่าคุณจะมีหญิงสาวที่มีพรสวรรค์และมีความเป็นนักกีฬาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมาสร้างความตื่นเต้นเร้าใจในวงการในอีก 5 ปีข้างหน้า ฉันไม่คิดว่า [บัญชีรายชื่อผู้เล่น] 144 คนจะมีที่ว่างพอสำหรับทุกๆ พรสวรรค์ที่กำลังจะก้าวเข้ามา ฉันรอไม่ไหวแล้วที่จะได้นั่งดูเพราะฉันไม่ยอมให้ใครมาดั๊งค์ใส่แน่ๆ
คุณหวังว่า WNBA จะเป็นอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า
SF: ฉันหวังว่าเราจะมีทีมเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 10 ทีมในอีก 10 ปีข้างหน้า เราต้องการทีมเพิ่มขึ้น ยังมีคนที่มีพรสวรรค์อีกมากมายและฉันแค่อยากให้ทุกคนได้ออกมาแสดงฝีมือ
คำถามนี้ออกจะเป็นแนวภาพรวม แต่คุณได้เรียนรู้อะไรจากการแบ่งเวลาเล่นในระดับนานาชาติกับ WNBA ให้สมดุล คุณคงความสมดุลได้อย่างไร
NC: ฉันคิดว่าคนเข้าใจผิดเรื่องระยะเวลานะคะ เราเริ่มต้นค่ายเทรนนิ่ง WNBA ในเดือนเมษายน แล้วเราก็เล่นกันจนถึงเดือนกันยายนเป็นอย่างน้อยสำหรับซีซั่นปกติ ถ้าได้ไปถึงเพลย์ออฟ ก็จะเล่นถึงเดือนตุลาคม คุณมีวันหยุดมากสุด 10 วัน และหยุดแบบนี้ได้ถ้าคุณเป็นผู้เล่นที่เก่งเท่านั้น คุณจะได้หยุด 10 วันก่อนที่จะต้องไปเล่นกับทีม [ที่ต่างประเทศ] แล้วซีซั่นก็ยาวมาจนถึงเดือนเมษายนปีถัดไป ซึ่งคุณก็อาจจะได้กลับมาเข้าค่ายเทรนนิ่ง WNBA ช้ากว่ากำหนดถ้าทีมต่างประเทศที่คุณเล่นให้นั้นยังลงแข่งอยู่ คุณมีเวลาพักน้อยกว่า 3 สัปดาห์ตลอด 365 วัน นั่นบ้าไปแล้ว ฉันไม่คิดว่าคนจะเข้าใจว่าร่างกายเราต้องกรำศึกหนักขนาดไหนปีแล้วปีเล่า
SF: ใช่เลย ในแง่มุมของจิตใจก็เหมือนกันนะคะ ฉันเล่นตลอดทั้งปีไปแบบอัตโนมัติประมาณ 10 หรือ 11 ปี แล้วช่วงพักครั้งแรกที่ฉันได้กลับบ้าน ฉันคิดว่าไม่ต้องไปซ้อมจนกว่าจะพ้นคริสต์มาสไป จุดนั้นฉันรู้เลยว่าจะไม่ไปแข่งต่างประเทศอีก ประมาณว่าฉัน “ไม่ดีกว่า” ฉันไม่คิดว่าคนเข้าใจถึงสิ่งที่เราต้องเสียสละไป
คุณทั้งคู่ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับความยุติธรรมทางสังคมและความสำคัญของการต่อสู้กับความไม่เท่าทียมผ่าน WNBA และเวทีอื่นๆ คุณต้องการให้สิ่งนั้นส่งผ่านไปถึงการเล่นบาสเก็ตบอลทีมชาติสหรัฐอเมริกาอย่างไร
SF: การเล่นของคุณจะแสดงออกมาเองอย่างแน่นอนค่ะ ฉันคิดว่าเวลาที่คุณชนะแล้วคุณได้ความสนใจอย่างที่คุณต้องการ นั่นเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในชุมชนของเรา สังคมของเรา เมืองของเรา
NC: ทุกคนอยากฟังคุณพูดเมื่อคุณเป็นผู้ชนะ นั่นจึงเป็นส่วนสำคัญแน่นอนค่ะ เราเล่นเพื่อประเทศชาติ ฉันจึงคิดว่าการพูดถึงความรักที่เรามีต่อประเทศนั้นมีพลังจริงๆ แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์แบบนะคะ แล้วก็ยังมีสิ่งที่เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ฉันคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะพูดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้น
Napheesa คุณพูดถึงความยุติธรรมทางสังคมบางประเด็นในพอดแคสต์ “Tea with A & Phee” ของคุณกับ A’ja Wilson ใช่ไหม และ Sylvia คุณก็เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการต่างๆ ที่ผลักดันประเด็นความยุติธรรมทางสังคมและการต่อสู้เพื่อความเท่าทียมใช่ไหม คุณหวังว่าผู้ฟังจะได้รับอะไรจากการสนทนาของคุณ
NC: เป้าหมายเรื่องนั้นสำหรับเราคือการเปิดเผยชีวิตของเราให้คนได้ดูกันสักนิด เพราะเราตระหนักว่า ถึงแม้สำหรับเราจะเป็นอีกวันที่ต้องไปทำงานหรือทำอะไรก็ตาม ก็อาจเป็นเรื่องน่าประหลาดใจสำหรับคนอื่น เราจึงสนทนาเกี่ยวกับภาพของลีกที่เรามองเห็นตอนนี้ และภาพนั้นแตกต่างอย่างไรสำหรับเราที่เป็นหน้าใหม่เมื่อเทียบกับสิ่งที่เราเห็นตอนยังเล็ก แน่นอน รายการชื่อว่า Tea แบบพูดจริงไม่จกตา ฉันเลยพยายามใส่เรื่องเม้าท์เข้าไปด้วยนิดหน่อยตลอดเวลา
SF: สิ่งที่ฉันเคารพในคนรุ่นเด็กกว่าก็คือพวกเขารู้วิธีทำการตลาดให้ตัวเอง แต่ก็กล้าพูดด้วย พวกเขาจะไม่ปล่อยให้คุณมาบอกว่าพวกเขายังทำได้ไม่ดีพอ พวกเขาเป็นกระบอกเสียงให้ตัวเองและบอกว่า “นี่ เรามีพรสวรรค์นะ เรารู้ว่าเรามีพรสวรรค์ เราเลยต้องทำให้คุณมาสนใจเรา”
NC: มันไม่ใช่แค่ “หุบปากแล้วกลับไปเล่นบาสอย่างเดียวเถอะ” อีกต่อไป ฉันคิดว่าโซเชียลมีเดียช่วยเรื่องนั้นได้เยอะ คนมีโอกาสได้พูดเกี่ยวกับสิ่งที่เชื่อ คุณได้เห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นปีที่แล้วในบับเบิล โดยเฉพาะตอนที่เรามารวมกลุ่มกัน สิ่งที่เราทำสำเร็จนั้นมหัศจรรย์จริงๆ
คุณเริ่มสร้างความกลมเกลียวในหมู่ผู้เล่นที่มาจากหลายช่วงอายุและระดับประสบการณ์ให้เป็นบาสเก็ตบอลหญิง All-Star ทีมชาติสหรัฐอเมริกาได้อย่างไรในช่วงเวลาที่ค่อนข้างสั้น
SF: คุณได้ทำความรู้จักกันในช่วงคัดตัว แต่พอติดทีมชาติสหรัฐอเมริกาแล้วต้องมีสมาธิให้มั่น เพราะคุณไม่อยากเป็นทีมที่น่าผิดหวัง ทุกคนต่างก็มุ่งสมาธิไปที่ว่าเราจะชนะได้อย่างไร ก็มีความกดดันบ้างค่ะ เพราะนั่นคือเวลาที่เราจะเล่นให้เต็มที่สุดฝีมือ เมื่อเรามารวมตัวกัน เราทุกคนมีทัศนคติที่ไม่ได้เป็นเรื่องของเราคนเดียว แต่เป็นเรื่องของทีม และวิธีที่จะคว้าเหรียญทอง
NC: ในลีกเรามีผู้เล่นดาวเด่นในทุกทีม แบบว่าพวกเธอจะทำคะแนนได้มากที่สุดแล้วทำนั่นทำนี่ พอติดทีมชาติสหรัฐอเมริกาแล้ว จริงๆ มันไม่ใช่เรื่องว่าใครเป็นผู้เล่นที่เก่งที่สุด หรือจะมาคิดว่าตัวเองชู้ตได้ดี มันเป็นเรื่องว่า “แบบนี้ดีที่สุดสำหรับทีมหรือเปล่า แบบนี้จะช่วยให้เราชนะกันเป็นทีมหรือเปล่า” มากกว่า ทีมชาติสหรัฐอเมริกาสื่อสารสิ่งนั้นกับเราได้เป็นอย่างดี และผู้เล่นก็ทำได้ดีในเรื่องการตระหนักและรู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องของ “ฉัน” เรามาเพื่อชนะเหรียญทองเพื่อเรา เพื่อสหรัฐอเมริกา เพื่อทีมของเรา
เหรียญทอง หรือเหรียญทองอีกเหรียญ มีความหมายอะไรกับคุณในจุดนี้ของอาชีพ
SF: มีความหมายมากๆ ค่ะ ฉันว่ามันตลกดีนะ เพราะตอนนี้พอมานึกถึง ฉันไม่เคยเห็นภาพตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของบาสเก็ตบอลทีมชาติสหรัฐอเมริกาเลย ฉันรู้แค่ว่าต้องทำงานหนัก และถ้าฉันทำงานหนัก สิ่งต่างๆ ก็จะลงตัวไปเอง มันแน่วแน่มากกว่าเดิมแล้วตอนนี้ การพาตัวเองไปอยู่ในที่นั้น แล้วเข้าใจว่านี่ไม่ใช่เรื่องขำๆ และฉันก็จะต้องฝึกหนักจริงๆ นั่นคือความท้าทายสำหรับฉัน ส่วนการได้เหรียญทองเหรียญนี้นั้น ฉันคิดว่าก็คงจะมีความหมายมากพอๆ กับเหรียญแรกที่ได้เลยค่ะ
NC: เหมือนกับที่ Syl บอกค่ะว่ามีความหมายมากๆ เลย ฉันดูโอลิมปิกมาตั้งแต่จำความได้ การที่ติดทีมชาติก็ถือเป็นพรและเป็นเกียรติ ฉันตื่นเต้นกับเรื่องนั้นอยู่แล้วค่ะ ถ้าเกิดว่าเราลงเล่นแล้วได้เหรียญทอง นั่นก็คงเหมือนฝันที่เป็นจริงเลยค่ะ นั่นคงจะมหัศจรรย์มาก ฉันตั้งเป้าหมายให้ตัวเองไว้สูงทีเดียว เหรียญทองก็คงเป็นอะไรที่ดีเหลือเชื่อเลยค่ะ
SF: ปังอยู่แล้วก็ยิ่งปังเข้าไปอีก
NC: ปังอยู่แล้วก็ยิ่งปังเข้าไปอีก
ภาพประกอบโดย Alexis Eke