ตัวต่อตัว: Fran Kirby x Jordan Henderson
นักกีฬา*
ความเป็นผู้นำ ความพ่ายแพ้ และบทเรียนจาก 2 สุดยอดผู้เล่นแห่งวงการลูกหนัง
ตัวต่อตัว คือซีรีส์ที่ถ่ายทอดบทสนทนาระหว่างนักกีฬา Nike ชั้นนำแบบสดๆ ไม่มีสคริปต์
Fran Kirby และ Jordan Henderson เผชิญกับช่วงซัมเมอร์ที่โหดหิน แม้ฤดูกาลที่แล้ว Kirby จะกลับมาลงเล่นได้หลังจากต้องต่อสู้กับอาการเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบที่เกือบทำให้ต้องแขวนสตั๊ด โดยเธอทำสถิติเป็นดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของ Chelsea และคว้าแชมป์ WSL มาครอง แต่ในวันที่ 2 ของเกมการแข่งในช่วงฤดูร้อน เธอก็มีอาการบาดเจ็บ ในขณะที่ Henderson ผู้เป็นกัปตันทีม Liverpool และเป็นหนึ่งในนักเตะแกนหลักของทีมชาติอังกฤษในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกือบชวดลุยศึกยูโร เพราะอาการบาดเจ็บและต้องเห็นทีมตัวเองแพ้จุดโทษชี้ขาดในนัดชิงชนะเลิศ อย่างไรก็ดี ในบริบทของนักกีฬาที่ทุกวันนี้ออกมาส่งเสียงเรียกร้องกันมากขึ้นในประเด็นสำคัญต่างๆ ทั้งคู่มองเส้นทางอันยากลำบากนี้เป็นโอกาสในการพัฒนาและได้แรงผลักดันจากอุปสรรคและความพ่ายแพ้ อาการป่วยและอาการบาดเจ็บ โดยทั้งตัว Kirby และ Henderson เองก็ได้กลายมาเป็นผู้ให้การสนับสนุนและนักกิจกรรม เสาะหาการเปลี่ยนแปลงในด้านทัศนคติ การปรับตัวในบทบาทต่างๆ และความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นถึงความหมายของการเป็นผู้นำทั้งในและนอกสนาม สิ่งเหล่านี้ยิ่งใหญ่กว่ากีฬา และสำหรับ 2 นักเตะชาวอังกฤษที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในเจเนอเรชันของตนนั้น วันนี้เรียกได้ว่าไม่มีความพ่ายแพ้ มีแต่สิ่งที่เป็นบทเรียนเท่านั้น
อาการบาดเจ็บส่งผลอย่างมากกับการสู้ศึกทัวร์นาเมนต์ช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมาของคุณทั้งคู่ อยากทราบว่ามันทำให้คุณเปลี่ยนวิธีการในบทบาทผู้นำในทีมอย่างไรบ้าง
Fran: การได้เข้าร่วมแข่งศึกใหญ่ในช่วงซัมเมอร์เป็นอะไรที่พิเศษมากๆ ค่ะ แต่พอได้รับบาดเจ็บตั้งแต่ช่วงต้นการแข่งขัน ความรู้สึกแรกเลยก็คือเป็นอารมณ์ที่รับมือได้ยากจริงๆ เวลาที่รู้ว่าได้ทำอะไรลงไปแล้วแต่ไม่ค่อยแน่ใจว่ามันแย่แค่ไหน มันเป็นความเศร้าอย่างหนึ่งค่ะ แต่ในสถานการณ์นั้น ฉันต้องจัดการกับความคาดหวังและได้รับบทเรียนอย่างรวดเร็ว คือกลายมาเป็นผู้เล่นที่ไม่ใช่ตัวหลัก ไม่ใช่คนที่จะได้ลงสนามเป็นตัวจริง ฉันได้เข้าใจถึงบทบาทนี้และโฟกัสไปยังการเป็นเพื่อนร่วมทีมที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวเองสามารถควบคุมได้ค่ะ
Jordan: ผมว่าผมคล้ายกับ Fran มากนะ ผมทุ่มเทเต็มที่เพื่อให้ได้ติดทีมไปลุยศึกยูโรหลังจากที่ไม่ได้ลงสนามมาเป็นเวลานาน การได้ติดทีมชุดนี้จึงเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่สำหรับผม และตอนที่อยู่ที่นั่นผมก็คิดกับตัวเองว่า “ผมสบายดี ไม่ได้มีปัญหาอะไร” แต่ก็มาตระหนักได้อย่างรวดเร็วว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในระดับที่เคยอยู่ ผมต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเพื่อที่จะได้ทำหน้าที่ผู้นำให้ได้ดีที่สุด แน่นอนว่าผมอยากจะฟิตให้ได้เต็มร้อยตั้งแต่เริ่มทัวร์นาเมนต์เลยนะครับ แต่มันก็เป็นช่วงซัมเมอร์ที่ยิ่งใหญ่สำหรับพวกเราในฐานะทีม ถึงแม้จะไม่ได้จบลงดั่งที่เราหวังเอาไว้ แต่ผมก็คิดว่าเราได้นำความสุขกลับมาให้คนทั้งประเทศได้เป็นอย่างมาก
“ต้องบอกตรงๆ ครับว่าการบาดเจ็บคือสิ่งที่รับมือได้ยากที่สุด แม้วันนี้เราจะมานั่งคุยเรื่องนี้กันแล้วดูเหมือนมันเป็นอะไรที่ง่าย แต่ไม่ใช่เลย ผมทรมานครับ”
Jordan Henderson
Abby Wambach ตำนานฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกาเขียนบอกเล่าแนวคิด “การเป็นผู้นำจากม้านั่งสำรอง” ลงในหนังสือของเธอ ในฐานะที่พวกคุณคือผู้เล่นที่คุ้นเคยดีกับการเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งในทีมชุดใหญ่ นี่ต้องเป็นประสบการณ์ที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นแน่เลยในการปรับตัวเข้ากับบทบาทใหม่
Jordan: ใช่ครับ เราต้องวางอีโก้เราลงก่อน ช่วงต้นของศึกยูโรผมคิดว่า “ผมฟิต 100% ผมเล่นได้” แต่ผมไม่ได้ฟิตเต็มร้อยครับ ซึ่งคิดว่าทุกคนก็น่าจะทราบกันดี แต่ผมเองก็ยังเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำในทีมอยู่นะครับ จึงพยายามพูดคุยกับเพื่อนร่วมทีมให้ดีขึ้น อยากจะให้แน่ใจว่าทุกคนมีจิตใจที่แข็งแกร่ง เพราะในที่สุดแล้วเป้าหมายสำหรับทั้งทีมของเราก็คือการประสบความสำเร็จและคว้าแชมป์ นี่ไม่ใช่เรื่องของตัวคุณเพียงคนเดียว หรือนักเตะที่ได้ลงตัวจริง หรือตัวสำรองที่ถูกเปลี่ยนลงมา แต่มันเป็นเรื่องของทั้งทีมครับ
Fran: เห็นด้วยเลยค่ะ ทั้งตัวฉันเองและ Jordan ต่างก็เป็นผู้เล่นที่มีประสบการณ์มากแล้ว ในฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ มีนักเตะหลายคนที่เป็นตัวสำรอง บางคนก็เพิ่งติดทีมชาติครั้งแรก สิ่งสำคัญคือต้องทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ฉันมีหน้าที่ช่วยให้นักเตะเหล่านั้นคว้าชัยเพื่อทีม และถ้าตัวเองไม่ได้ลงเล่นมากนักแต่สุดท้ายได้เหรียญทองมาครอง ฉันก็โอเคค่ะ
ต้องเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยแน่ๆ กับการต้องหาสมดุลของความรู้สึกหงุดหงิดใจและความเศร้า แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยิ้มสู้เพื่อคนรอบตัว การแสดงความแข็งแกร่งออกมาผ่านทางความเปราะบางนั้นสำคัญขนาดไหน ในฐานะผู้เล่นที่มีประสบการณ์ การเผยความซื่อสัตย์ในอารมณ์ให้เพื่อนร่วมทีมได้เห็นต้องเป็นอะไรที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เล่นรุ่นน้องแน่ๆ
Fran: ฉันคิดว่าใช่นะคะ คนอื่นจะเห็นได้เลยว่าฉันเศร้า เห็นได้เลยว่าฉันเจ็บปวด แต่ฉันก็ต้องเรียนรู้ที่จะเผยอารมณ์ความรู้สึกออกมาในทางที่ถูกต้อง แน่นอนว่าไม่ได้เดินฉีกยิ้มกว้างให้ใครดูหรอกนะตอนที่รู้ว่าลงเล่นในเกมแรกไม่ได้หรือในเกมถัดมาไม่ได้ ฉันไม่ได้มีความสุขค่ะ แต่การเผยความเปราะบางออกมาว่าถึงแม้จะเศร้า แต่ก็ยังพยายามทุ่มเทเพื่อที่จะกลับมาให้ได้ในระดับที่เคยเป็น สิ่งนี้สร้างกำลังใจให้กับคนอื่นๆ ค่ะ ฉันบอกกับเพื่อนร่วมทีมว่า “พวกเธอต้องผ่านรอบแบ่งกลุ่มไปให้ได้นะ ฉันจะได้ลงเล่นได้” แม้จะดูเห็นแก่ตัว แต่ฉันก็หมายความอย่างนั้นจริงๆ การพยายามทำให้พวกเธอผ่านเข้ารอบคือแรงจูงใจของฉันค่ะ
Jordan: ต้องบอกตรงๆ ครับว่าการบาดเจ็บคือสิ่งที่รับมือได้ยากที่สุด แม้วันนี้เราจะมานั่งคุยเรื่องนี้กันแล้วดูเหมือนมันเป็นอะไรที่ง่าย แต่ไม่ใช่เลย ผมทรมานครับ แต่ผมเป็นกัปตันทีม Liverpool และเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำในทีมชาติอังกฤษ จึงตามมาด้วยความรับผิดชอบครับ บางครั้งแม้จะหงุดหงิดใจและรู้สึกแย่แค่ไหน แต่ก็ยังมีทั้งทีมที่จะต้องคอยดูแล ผมเคยบาดเจ็บมาก่อน แต่ครั้งนี้ [บาดเจ็บบริเวณขาหนีบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ต้องเข้ารับการผ่าตัดและต้องพักฟื้นเป็นเวลานาน พักเจ็บจนถึงเดือนเมษายน] เป็นอะไรที่หนักสุดๆ ครั้งหนึ่งเลยสำหรับผม แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องพยายามอย่างเต็มที่ครับเพื่อที่จะเป็นตัวอย่างให้กับคนอื่นๆ
“ฉันมีหน้าที่ช่วยให้นักเตะเหล่านั้นคว้าชัยเพื่อทีม และถ้าตัวเองไม่ได้ลงเล่นมากนักแต่สุดท้ายได้เหรียญทองมาครอง ฉันก็โอเคค่ะ”
Fran Kirby
คุณทั้งคู่คว้าแชมป์รายการสำคัญใหญ่ๆ มาแล้วกับสโมสร คุณคิดว่าจุดสูงสุดในการเป็นนักฟุตบอลของคุณคืออะไร แล้วหลังจากจุดนั้นคุณรู้สึกอย่างไร ความสำเร็จส่งผลต่อคุณในทางบวกหรือทางลบหรือไม่
Jordan: ผมคิดว่าจุดสูงสุดในการเล่นอาชีพจนถึงตอนนี้คือการคว้าแชมป์รายการแชมเปียนส์ลีกครับ แต่สิ่งที่ผมจำได้ไม่เคยลืมเลยคือช่วงเวลาหลังจากการคว้าแชมป์ คือเรียกได้ว่ามันไม่ได้มีความรู้สึกของความพึงพอใจ แต่มันเป็นอารมณ์แบบว่า จะเรียกว่า “ความเศร้า” ก็ไม่เชิง มันเป็นความรู้สึกที่ผมไม่ได้คาดหวังเอาไว้เลยครับ เพราะผมคิดเอาไว้ว่าจะต้องรู้สึกสุขสุดๆ เป็นอาทิตย์ๆ แน่ๆ เลยหลังจากที่ได้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ฝันมาทั้งชีวิต
อาจเป็นความรู้สึกสร่างจากความสุขสุดขีดมั้งครับ แต่ผมรับมือกับความรู้สึกนั้นได้ยากลำบากมากอยู่หลายวันเลยหลังจากคว้าแชมป์ ผมพยายามทำความเข้าใจอย่างหนักว่ามันเกิดอะไรขึ้น ว่าเราประสบความสำเร็จอะไรร่วมกัน มันอารมณ์ประมาณว่า “โอเค แล้วไงต่อ ตอนนี้เอาไงต่อกับชีวิตดี” แน่นอนว่าเราหันมาโฟกัสกับพรีเมียร์ลีกกันอย่างรวดเร็ว เพราะเราไม่ได้เป็นแชมป์รายการนี้มานานมากแล้ว แถมยังชวดแชมป์ไปอีกในปี 2019 ซึ่งความคิดนี้ก็ช่วยนะครับ แต่ความรู้สึกสุขสุดๆ หลังคว้าแชมป์รายการแชมเปียนส์ลีกนี่สิ เป็นอะไรที่ผมไม่ได้จินตนาการเอาไว้จริงๆ
Fran: ฉันเข้าใจความรู้สึกนั้นดีเลยค่ะ ฉันคิดว่าน่าจะเพราะอะดรีนาลีนมันหยุดพุ่งพล่านนะ คุณปลุกใจตัวเองด้วยความตื่นเต้นสุดๆ แล้วหลังจากนั้นก็จะคิดกับตัวเองว่า “แล้วตอนนี้เอาไงต่อกับชีวิตดีล่ะ” ส่วนไฮไลต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับฉันคงจะเป็นซีซั่นที่ผ่านมาค่ะ ฉันหายป่วยกลับมาลงเล่นได้อีกครั้งหลังจากร้างสนามไปนาน [ช่วงปลายปี 2019 ระหว่างทานมื้อค่ำกับเพื่อนสนิทและ Beth England กับ Maren Mjelde ที่เป็นเพื่อนร่วมทีม Chelsea เธอได้ล้มทรุดลง แพทย์วินิจฉัยว่า Fran มีอาการเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งเป็นอาการของโรคหัวใจชนิดหนึ่งที่อาจทำให้เธอต้องยุติเส้นทางนักฟุตบอลอาชีพได้ อาการนี้เกิดจากไวรัสที่ไปทำให้เยื้อหุ้มหัวใจมีอาการอักเสบ] ไม่ว่าทีมจะคว้าแชมป์ได้หรือไม่ ฉันก็มีความสุขค่ะ หลังจากผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้นมาได้ แต่หลังจากที่ทีมคว้าแชมป์ได้สำเร็จ ฉันก็รู้สึกคล้ายกับ Jordan มากๆ เลย คือฉันมีซีซั่นที่ยอดเยี่ยมแล้วมันก็จบลง และไม่ได้เปิดโอกาสให้ตัวเองดื่มด่ำความสุขกับการมองไปยังความสำเร็จที่ตัวเองทำได้เลย มันรู้สึกเหมือนว่า “ฉันทำได้แล้วและมีเวลาพักไม่กี่อาทิตย์ จากนั้นก็ต้องกลับมาเล่นต่อ” ไม่ได้มีเวลาได้รีเซ็ตตัวเองเลยค่ะ
การคุยกับตัวเองนั้นเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างหลังจากคว้าชัยชนะนัดสำคัญได้ เทียบกับเมื่อคุณพ่ายแพ้อย่างน่าผิดหวังสุดๆ
Fran: ตอบไม่ถูกจริงๆ ค่ะ ฉันรู้สึกว่าการกลับมาหลังจากพ่ายแพ้นั้นยากกว่าการชนะเสียอีก ฉันคว้าแชมป์ลีกกับ Chelsea มาได้หลายสมัยแล้วและรู้สึกยินดีทุกครั้งที่ทำได้ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ฉันพยายามบอกตัวเองไม่ให้ดีใจเกินไปเมื่อทุกอย่างกำลังไปได้สวย และไม่ให้เสียใจเกินไปเมื่อทุกอย่างเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะมันจะกลายเป็นอารมณ์ที่ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอด เป็นคลื่นของอารมณ์เศร้า สุข เศร้า สุข ซัดมากระทบไม่เคยหยุด และอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้แหละที่จะส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งที่เราทำ กระทบต่อทุกสิ่งที่เราชอบทำ หรือต่อสิ่งที่เราเคยชอบทำ
Jordan: เห็นด้วยเลยครับ ที่คุณพูดมานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับนักกีฬา อย่าดีใจหรือเสียใจจนเกินไป แต่ถ้าให้ผมมองย้อนกลับไป ผมก็จะบอกว่าการรับมือกับความพ่ายแพ้นั้นทำได้ง่ายกว่านะ อย่างนัดชิงฯ แชมเปียนส์ลีกที่เราแพ้ให้กับ Real Madrid หรือตอนที่เราชวดแชมป์ลีก มันเจ็บปวดมากเสียจนกลายมาเป็นการโฟกัสว่า “เราต้องทำให้ได้อีกครั้งและเราต้องไปให้ไกลกว่าเดิมอีกก้าว” ได้ในทันใดเลย หลังจากการพ่ายแพ้ คุณจะมีไฟในการทำให้ทุกสิ่งเข้าที่เข้าทาง
Fran: เราอยู่ในวงการที่ยังไงก็ต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ ซึ่งคุณจะไม่ได้เป็นผู้ชนะตลอดเวลา แน่นอนว่าฉันก็เจ็บปวดนะเมื่อแพ้ เพราะฉันไม่ชอบการพ่ายแพ้ ฉันเป็นคนชอบแข่งขันมากๆ แม้แต่ในการเทรนนิ่งก็เถอะ ฉันอยากเป็นผู้ชนะ แต่ฉันก็ต้องพยายามเปลี่ยนความรู้สึกของตัวเองจากการพ่ายแพ้ให้กลายเป็นบทเรียน
Jordan: ผมเข้าใจที่คุณพูดมาดีเลยครับ ผมคิดเสมอว่าในการที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น เราจำเป็นต้องพ่ายแพ้ ซึ่งนี่ได้มาจากประสบการณ์ คือเราต้องรู้สึกถึงความพ่ายแพ้นั้นให้ได้ ต้องผ่านการที่อะไรๆ ก็ไม่เป็นไปในอย่างที่อยากให้เป็น ช่วงที่ผมเป็นนักเตะดาวรุ่งที่ Liverpool อุปสรรคทุกอย่างที่ผมผ่านมาได้นั้นได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของเส้นทางและพัฒนาการของตัวผม มันทำให้ผมแกร่งขึ้น เตรียมผมให้พร้อมยิ่งขึ้นสำหรับครั้งต่อไป ถ้าให้มองย้อนกลับไป สมมติว่า Liverpool ไม่ได้แพ้นัดชิงฯ แชมเปียนส์ลีกให้กับ Real Madrid ปีถัดมาเราจะสู้จนคว้าแชมป์ได้หรือเปล่า สมมติว่าเราไม่ได้ชวดแชมป์พรีเมียร์ลีกในแบบที่เราพลาด ปีถัดมาเราจะสู้จนคว้าแชมป์ได้หรือเปล่า
“เราอยู่ในวงการที่ยังไงก็ต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ ซึ่งคุณจะไม่ได้เป็นผู้ชนะตลอดเวลา แน่นอนว่าฉันก็เจ็บปวดนะเมื่อแพ้ ฉันเป็นคนชอบแข่งขันมากๆ แต่ฉันก็ต้องเปลี่ยนความรู้สึกของตัวเองจากการพ่ายแพ้ให้กลายเป็นบทเรียน”
Fran Kirby
ความกดดันในช่วงที่คุณเป็นผู้เล่นดาวรุ่งกับช่วงที่เป็นผู้เล่นทีมชาติตัวหลักแล้วต่างกันอย่างไรบ้าง
Jordan: เมื่อเป็นผู้เล่นดาวรุ่ง คุณแค่พยายามโชว์ฟอร์มให้ดี ให้ทีมและผู้จัดการทีมประทับใจ และพยายามพัฒนาทักษะตัวเองในทุกด้าน แต่พอเวลาผ่านไป บทบาทของคุณก็จะเปลี่ยนไปด้วย ช่วงแรกที่ผมได้รับหน้าที่เป็นกัปตันทีม Liverpool รู้สึกเลยว่าบทบาทนี้ไม่ง่ายเลย ผมแบกรับอะไรไว้หลายอย่าง สูญเสียความเป็นตัวเองไปบ้าง สูญเสียสิ่งที่ผมอยากจะพัฒนาให้กับตัวเองในฐานะผู้เล่น เพราะผมเป็นห่วงคนอื่นๆ มากเกินไป คือผมเป็นกัปตันทีมและคิดว่าตัวเองจะต้องมีหน้าที่ทำทุกอย่างเพื่อทุกคนตลอดเวลา ในตอนนั้นนี่คือสิ่งที่ผมต้องจัดการให้ได้จริงๆ ร่วมกับผู้จัดการทีม เพื่อหาความสมดุลระหว่างผมในฐานะกัปตันทีมกับผมในฐานะตัวบุคคล
Fran: ตอนฉันอายุ 16 ปี ฉันขึ้นมาเล่นทีมชุดใหญ่ให้กับ Reading เลย เป็นอะไรที่ก้าวกระโดดมากๆ ค่ะ [ปีถัดมา Fran เลิกเล่นฟุตบอลเพราะคุณแม่ของเธอเสียชีวิตและเพราะอาการซึมเศร้า] ฉันข้ามจากการเล่นกับคนอายุ 16 ปีมาเล่นกับคนอายุ 26, 27, 28 ปีเลย วันนี้ฉันเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำที่ Chelsea แต่ช่วงแรกที่รับบทบาทนี้ ฉันก็รู้สึกได้ว่าสูญเสียความเป็นตัวเองไปบ้างเหมือนกัน เพราะมัวแต่คิดว่า จะช่วยคนนั้นยังไงดี จะช่วยคนนี้ยังไงดี ลำดับความสำคัญของคุณเปลี่ยนหมด แต่พอผ่านไปไม่กี่ปี ฉันก็ตระหนักได้ว่าการทำแบบนี้ การเป็นห่วงคนอื่นอยู่ตลอดเวลาแบบนี้ มันดูดพลังตัวเองมากเหลือเกินจนทำให้ทุ่มเทเต็มร้อยในฐานะผู้เล่นไม่ได้เลย ฉันเลยเปลี่ยนทัศนคติ คือแน่นอนว่าฉันเป็นผู้นำ ฉันทำในสิ่งที่ต้องทำเพื่อทุกคนในทีม ฉันเป็นแบบนี้มาตลอด แต่ก็รู้ดีเช่นกันค่ะว่าต้องหันมาดูแลตัวเองด้วยเช่นกัน
คุณสนับสนุนเรื่องการตระหนักรู้ถึงสุขภาพจิตมาโดยตลอด และช่วงซัมเมอร์นี้ก็ได้แสดงให้เห็นจริงๆ ถึงความสำคัญของผลกระทบที่สุขภาพจิตมีต่อนักกีฬาระดับโลก คุณคิดว่านี่คือสิ่งที่คุณไม่ได้ตระหนักมาก่อนในช่วงเริ่มต้นเส้นทางอาชีพนี้หรือเปล่าว่ามันสำคัญมาก
Jordan: เรื่องสุขภาพจิตเป็นส่วนสำคัญยิ่งไม่ว่าจะเล่นกีฬาอะไร ผมพยายามช่วยผู้เล่นรุ่นน้องให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่กังวลมากไปต่อสิ่งที่ผู้คนพูดกันในโซเชียลมีเดียหรือในข่าว อะไรพวกนี้ครับ เพราะสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบได้มากเหลือเกินกับฟอร์มการเล่นของนักฟุตบอล ตอนที่ผมย้ายมา Liverpool เมื่ออายุ 20 ปี ก็เคยมีจุดที่สภาพจิตใจผมแย่เอามากๆ ในฐานะที่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน ถ้าผมใช้เสียงที่มีสร้างการตระหนักรู้และช่วยให้ผู้คนรู้สึกดีขึ้นได้ นั่นจะเป็นสิ่งที่สำคัญสุดๆ สำหรับผมเลยครับ วันนี้ประเด็นไม่ใช่การตั้งคำถามว่า “ผมควรจะพูดอะไรหน่อยดีไหม” เพราะผมเคยประสบมาแล้ว ผมจึงจำเป็นต้องพูดครับ ผมต้องพยายามช่วยเหลือคนอื่นๆ
Fran: ฉันก็เช่นกันค่ะ และในเรื่องตราบาปที่เกี่ยวข้องกับการตระหนักรู้ถึงสุขภาพจิตนั้นวันนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว โดยเฉพาะในวงการฟุตบอล แม้เส้นทางจะยังอีกยาวไกล แต่ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกค่ะ ฉันมักจะพูดอยู่เสมอว่านักฟุตบอลไม่ใช่หุ่นยนต์ เราไม่ได้ถูกตั้งโปรแกรมมาให้มีอารมณ์ความรู้สึกแค่แบบเดียวในทุกวัน มันมีดีบ้างแย่บ้างสลับกันไป เราเผชิญกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตเช่นเดียวกันกับคนอื่นๆ สูญเสียผู้คนในชีวิต มีความวิตกกังวลในเรื่องต่างๆ เช่นเดียวกันกับคนอื่นๆ ค่ะ
“ตอนที่ผมย้ายมา Liverpool เมื่ออายุ 20 ก็เคยมีจุดที่สภาพจิตใจผมแย่เอามากๆ… วันนี้ประเด็นไม่ใช่การตั้งคำถามว่า “ผมควรจะพูดอะไรหน่อยดีไหม” เพราะผมเคยประสบมาแล้ว ผมจึงจำเป็นต้องพูดครับ ผมต้องพยายามช่วยเหลือคนอื่นๆ”
Jordan Henderson
Fran ก่อนหน้านี้คุณพูดถึงเรื่องบทเรียน ไม่ใช่การพ่ายแพ้ แค่เพราะว่ามันเป็นประเด็นที่ผู้คนหยิบยกมาคุยกันยาก หรือเป็นประสบการณ์อันเจ็บปวดที่จะนึกถึง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นช่วงเวลาที่นำมาเป็นบทเรียนไม่ได้ใช่ไหม
Fran: ฉันเชื่อเช่นนั้นค่ะ เราได้เรียนรู้กันมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะได้ช่วยให้ผู้คนเข้าใจกันได้มากขึ้น ฉันเป็นผู้ให้การสนับสนุนในเรื่องการตระหนักรู้ถึงสุขภาพจิตและสิทธิ LGBTQ+ แต่ก็ได้เรียนรู้มากมายในเรื่องประวัติศาสตร์คนดำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเช่นกัน ซึ่งเรื่องพวกนี้ส่วนใหญ่หลายคนก็ไม่ได้ถูกสอนมาด้วยค่ะ ทุกวันนี้เราเห็นผู้คนที่สุดยอดมาพูดอย่างทรงพลัง ให้ความรู้ดีๆ ในเชิงลึก ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ได้และทำความเข้าใจได้มากขึ้นว่าคนอื่นๆ เขาต้องผ่านอะไรกันมาบ้าง และทำไมมันถึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องต่อสู้ในประเด็นเหล่านี้ วงการฟุตบอลเองก็เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนได้ค่ะ เราอยากช่วยเหลือคนที่อยากจะรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่ให้มากขึ้น และวิธีการที่เราจะร่วมมือกันเพื่อทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้น
Jordan: ผมคิดว่าเมื่อนักกีฬาออกมาส่งเสียงกันมากขึ้น ผู้คนก็จะตระหนักถึงประเด็นต่างๆ กันมากขึ้นครับ ไม่ใช่แค่ในวงการกีฬาหรือในอังกฤษ แต่ผมหมายถึงทั่วโลกเลย เมื่อคุณสนใจประเด็นใดมากจริงๆ และคุณมีประสบการณ์ตรง เมื่อคุณทุ่มเทเวลาในการเรียนรู้และทำความเข้าใจถึงความสำคัญของประเด็นนั้นๆ มากขึ้น เมื่อนั้นคุณก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ เมื่อนั้นความเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นได้จริงๆ ครับ
ภาพประกอบโดย Leonardo Santamaria