Garima Thakur กำลังออกประท้วงเพื่ออนาคตของโลก
วัฒนธรรม
ทำความรู้จักกับนักเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชาวอินเดียวัย 15 ปี ผู้ไม่มีวันยอมให้เมืองบ้านเกิดของเธอหลงลืมเรื่องราวภัยพิบัติทางธรรมชาติในอดีต
“โลกภายนอก” คือซีรีส์เกี่ยวกับเหล่านักกีฬาทั่วไปที่ออกตามหาความเชื่อมโยงและความสมดุลในโลกแห่งธรรมชาติ
ก่อนที่เธอจะเริ่มคิดผันตัวเป็นนักเคลื่อนไหว Garima Thakur วัย 15 ปีจากเมืองโภปาล ประเทศอินเดีย ก็ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบอันรุนแรงทั่วโลกแล้ว เมื่ออายุ 13 ปี ภาพอันโหดร้ายในสารคดีที่บรรยายโดย Leonardo DiCaprio เรื่อง “Before the Flood” ทำให้เธอรู้สึกหดหู่และ “วิตกกังวลกับธรรมชาติ” เธอค้นพบว่าภาวะเร่งด่วนด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลกนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวเธอเลย เธอสังเกตเห็นได้ทันทีว่าสัญญาณของความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติมีอยู่ทุกหนทุกแห่งในเมืองและในประเทศของเธอเอง
“ฉันเริ่มมองเห็นสิ่งที่ภาพยนตร์พยายามจะสื่อในสิ่งเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นยางรถยนต์ที่กำลังเผาไหม้อยู่ข้างถนน ต้นไม้ที่ถูกตัดในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ผู้คนต่อแถวรอกรอกน้ำเก็บไว้ใช้ในครอบครัว” Garima กล่าว “นี่คือสัญญาณของภาวะฉุกเฉิน และในอินเดียเอง สัญญาณเหล่านี้มีอยู่ทุกหนแห่งจนคุณไม่สามารถหลีกหนีจากมันได้”
Garima ยังจำได้ดีถึงธารน้ำใสใกล้ๆ บ้านของคุณยายของเธอในเมืองพิลาสปุระ รัฐหิมาจัลประเทศ ที่เต็มไปด้วยป่าไม้บนหุบเขา “ฉันชอบไปเดินเล่นกับญาติๆ ที่ลำธาร ที่นั่นแทบไม่มีคนอยู่เลย เราเลยวิ่งเล่นกันได้อย่างอิสระ น้ำก็ใสจนมองเห็นตัวปลาเลยค่ะ” เธอทบทวนความทรงจำที่น่าถวิลหา
ปัจจุบัน สถานที่อันอุดมสมบูรณ์จากวัยเด็กของเธอนั้นได้ถูกเททับด้วยยางมะตอย และแทนที่จะมีธารน้ำไหลเป็นถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิต กลับ “มีเพียงแอ่งน้ำแน่นิ่งริมถนน” Garima กล่าว “สมัยที่มีการตัดถนน ฉันน่าจะอายุสัก 11 ขวบได้ค่ะ แม้จะเพิ่งได้ไปเที่ยวชมที่ลำธารแห่งนั้นได้ไม่กี่ปี แต่การได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นก็ส่งผลต่อจิตใจฉันมากเหมือนกัน”
“ฉันหวังอย่างยิ่งว่าสักวันหนึ่งจะมีผู้บัญญัติกฎหมายหรือผู้นำทางการเมืองสักคนผ่านมาเห็นฉัน แล้วหยุดเพื่อหันมาถามถึงสิ่งที่ฉันทำอยู่ และใส่ใจในสิ่งที่ฉันต้องการจะบอกอย่างแท้จริง”
ต่อไปในอนาคต ประสบการณ์แบบเดียวกับที่ Garima พบจะเป็นที่พบเจอได้ทั่วไป หากไม่มีการออกมาตรการใดๆ ในขณะเดียวกันหากปราศจากอากาศบริสุทธิ์และโลกอันอุดมสมบูรณ์ ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเดิน วิ่ง หรือเล่นกีฬากลางแจ้งได้อย่างอิสระ
นอกจากนี้ Garima ยังเคยได้เห็นโอกาสและประโยชน์ของสภาพแวดล้อมที่เจริญงอกงาม ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ในวัยเด็กของเธอ Garima ต้องย้ายบ้านบ่อยครั้งเนื่องจากพ่อของเธอทำงานในกองทัพ และได้อาศัยอยู่ในหลายเมืองที่โดยปกติแล้วไม่ปรากฏอยู่ในแผนที่มลพิษของอินเดีย “ฉันโชคดีมากที่เติบโตมาในหลายๆ เมืองที่มีธรรมชาติสวยงามอย่างเดห์ราดูนกับธารามโกฏ ซึ่งทุกเย็นฉันมักออกไปเดินเล่นเป็นเวลานานเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ มันทำให้ฉันรู้สึกสดชื่นและมีพลัง” เมื่อครอบครัวเธอย้ายไปอยู่ในเมืองใหญ่ เธอก็ยังคงคิดถึงการได้ออกไปกลางแจ้ง ปัจจุบัน Garima วางแผนที่จะย้ายกลับไปเดห์ราดูนเพื่อศึกษาต่อ
ด้วยแรงกระตุ้นจากความรู้สึกถึงความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นและความทรงจำจากวัยเด็กท่ามกลางธรรมชาติ ปัจจุบัน Garima คือหนึ่งในกลุ่มผู้หญิงรุ่นใหม่ที่กำลังขยายวงกว้างขึ้นทั่วโลกซึ่งกำลังเดินตามรอยเท้าของ Greta Thunberg นักเคลื่อนไหวชาวสวีเดน และส่งเสียงเตือนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และด้วยความที่วิทยาศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่เธอถนัดที่สุด Garima จึงมีเป้าหมายที่จะฝึกฝนความเชี่ยวชาญในอีกด้านของวิกฤติสิ่งแวดล้อม นั่นก็คือด้านกฎหมาย
ด้วยน้ำเสียงที่ฟังดูจริงจังไม่ว่อกแว่กเกินวัย เธอบอกว่า “การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมคือสาขาหลักที่ฉันสนใจจริงๆ ฉันเห็นตัวเองเปลี่ยนแปลงโลกและส่งต่อข้อความของฉันเกี่ยวกับภาวะเร่งด่วนด้านสภาพอากาศทั่วโลกในลักษณะนี้” Garima ดูจะทราบดีถึงความหนักหนาสาหัสของความท้าทายครั้งนี้
อันที่จริง Garima กำลังเตรียมสอบที่อาจทำให้เธอได้เข้าเรียนในสถาบันด้านนิติศาสตร์อันทรงเกียรติที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดีย National Law Universities ส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอเลือกเส้นทางด้านการบริหารจัดการก็คือประวัติศาสตร์ของเมืองโภปาล ซึ่งจากคำกล่าวของเธอ “คือเมืองที่ทำให้เธอค้นพบจิตวิญญาณแห่งการเป็นนักเคลื่อนไหว”
ในคืนวันที่ 2-3 ธันวาคม 1984 เมืองโภปาล ในรัฐมัธยประเทศทางตอนกลางของอินเดีย ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ปัจจุบันถือว่าเป็นหายนะทางอุตสาหกรรมที่ร้ายแรงที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ ก๊าซพิษประมาณ 40 ตันรั่วไหลออกจากโรงงานผลิตยาฆ่าแมลงที่ตั้งอยู่ ณ ใจกลางเมืองเก่า คร่าชีวิตผู้คนหลายพันในทันที และอีกหลายพันคนต้องเสียชีวิตในอีกหลายปีหรือหลายสิบปีต่อมาเนื่องจากอาการป่วยหรือปัญหาสุขภาพเรื้อรังอันเนื่องมาจากการได้รับก๊าซพิษทั้งทางตรงและทางอ้อม ในบางรายงานได้มีการคาดคะเนยอดผู้เสียชีวิตจากหายนะครั้งนี้เอาไว้ถึงประมาณ 25,000 รายเป็นอย่างน้อย
แม้ว่าเธอจะลืมตาดูโลกเมื่อหลายสิบปีหลังเหตุการณ์นั้น แต่ Garima ก็ยังคงตระหนักถึงคืนเคราะห์ร้ายในปี 1984 อยู่เสมอ รวมถึงการปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อมที่ตามมาหลังเหตุการณ์นั้นด้วย “ฉันต้องการศึกษากฎหมายเหล่านี้ให้ละเอียดขึ้น เพื่อเรียนรู้วิธีบังคับใช้ซึ่งอาจสร้างผลสำเร็จได้มากกว่าที่ผ่านมา” เธอกล่าว
ขณะเตรียมพร้อมสำหรับอาชีพด้านกฎหมาย Garima ใช้เวลาในทุกวันศุกร์ติดป้ายประกาศตามแนวไหล่ทางของถนน VIP Road ห่างออกไป 20 นาทีจากโรงงานผลิตยาฆ่าแมลงต้นเหตุ นักอนุรักษ์รุ่นเยาว์คนนี้ได้กลายมาเป็นบุคคลที่มีคนรู้จักมากที่สุดในการเคลื่อนไหว Fridays for Future ทั่วโลกของ Thunberg ในเมืองโภปาล
ไม่ว่าในยามแดดออก ฝนตก หรืออากาศหนาว Garima ก็ไม่เคยพลาด “Day of Revolution” แม้แต่ครั้งเดียวนับตั้งแต่ที่เธอเริ่มต้นเมื่อช่วงต้นปีก่อน แม้ว่าเธอมักจะมาร่วมกิจกรรมเพียงลำพัง หรืออาจมีเพื่อนหรือผู้ปกครองมาร่วมด้วยในบางครั้งคราว Garima จะมาพร้อมกับจิตใจที่เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นในสิ่งที่เชื่อ และป้ายกระดาษแข็งที่เขียนคำว่า “Climate Strike!” ในตัวอักษรหนาสีดำ
ขณะที่เยาวชนวัยเดียวกับเธอส่วนใหญ่ในอินเดียมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางการศึกษาผ่านการเรียนแบบท่องจำในโรงเรียน Garima เลือกที่จะไม่ทำตามแบบแผน เธอกำลังจัดการกับปัญหาเร่งด่วนที่สุดของโลกด้วยการก้าวออกไปนอกห้องเรียน “หากฉันสามารถจุดประกายความตระหนักรู้แม้เพียงเล็กน้อยให้กับรัฐบาลของเราหรือเพื่อนๆ ของฉันเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงสำหรับเจเนอเรชันของเรา เวลาทั้งหมดที่ฉันใช้ไปกับการฝ่าฟันอุปสรรคก็จะคุ้มค่า”
ปัจจุบัน สิ่งที่ Garima สนใจเป็นหลักคือการติดตามเรื่องราวจากอีกซีกโลก นั่นก็คือไฟป่าที่กำลังเพิ่มปริมาณขึ้นตามแนวชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นี่คือภาพที่ลุกโชนในจิตสำนึกของเธอมาโดยตลอด “เมื่อใดก็ตามที่ฉันคิดถึงภาวะเร่งด่วนด้านสภาพอากาศในปัจจุบัน ฉันจะนึกถึงไฟ” เธอเล่า “มันสะท้อนความรู้สึกของฉัน เพราะฉันรู้ว่าการต้องสำลักอากาศที่หายใจเข้าไปมันเป็นอย่างไร”
Garima มองโศกนาฏกรรมในเมืองโภปาลบ้านเกิดของเธอเมื่อกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมาว่าเป็นลางสังหรณ์ของสิ่งที่จะถูกปล่อยสู่โลกหากผู้นำต่างๆ ไม่ลงมือทำอะไรเลยก่อนจะสายเกินไป “อากาศที่เรามีจะใช้หายใจไม่ได้ น้ำที่เรามีจะใช้ดื่มกินไม่ได้ ในน้ำจะไม่มีปลา ในนาจะไม่มีข้าว” เธอกล่าว “จะมีอะไรสำคัญไปกว่าการพยายามหยุดไม่ให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น”
ทว่ายังมีอีกภาพหนึ่งที่สร้างแจงจูงใจให้กับเธอต่อไป “มีสถานการณ์หนึ่งที่ฉันจินตนาการถึงอยู่ตลอด” เธอบอก “นั่นก็คือสักวันหนึ่งจะมีผู้บัญญัติกฎหมายหรือผู้นำทางการเมืองสักคนผ่านมาเห็นฉัน แล้วหยุดเพื่อหันมาถามถึงสิ่งที่ฉันทำอยู่ และใส่ใจในสิ่งที่ฉันต้องการจะบอกอย่างแท้จริง”
เรียบเรียงโดย Prayag Arora Desai
ภาพถ่ายโดย Dolly Haorambam