ปีนอีกครั้ง ผาแห่งชีวิตและความแข็งแกร่ง เรื่องราวของ Favia
วัฒนธรรม
พบนักปีนเขาแห่งเมืองแอลบูเคอร์คี ผู้กลับมาทำในสิ่งที่ตัวเองรักหลังฟื้นตัวจากโรคมะเร็ง เป็นอีกครั้งที่เธอค้นพบความแข็งแกร่งและจุดหมายในชีวิต
“โลกภายนอก” คือซีรีส์เกี่ยวกับเหล่านักกีฬาคนธรรมดาที่ออกตามหาความเชื่อมโยงและความสมดุลในโลกแห่งธรรมชาติ
ณ 20.00 น. ห่างออกไปจากตัวเมืองแอลบูเคอร์คี รัฐนิวเม็กซิโก เป็นเวลาที่ไฟฉายคาดหัวของ Favia Dubyk ส่องไปหาด้ามจับถัดไปบนถ้ำหินปูน The Temple ที่เธอมักมาปีนอยู่บ่อยๆ ทุกสัปดาห์ แมลงเม่าที่มาเล่นแสงไฟบินวนเวียนอยู่รอบๆ ใบหน้าของเธอ ความร้อนในช่วงกลางวันยังไม่จางหาย ร่างกายของเธอมีเหงื่อท่วมตัว Favia ปีนหน้าผามาเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมงแล้ว แต่เธอเก็บความแอบรำคาญเล็กๆ ที่อยากจะปัดแมลงออกไปให้พ้นเอาไว้ในใจ แล้วปีนขึ้นต่อไป เส้นทางปีนของเธอเป็นระดับมืออาชีพ V11 เต็มไปด้วยพื้นผิวสุดลื่นที่ต้องจับแบบหงายฝ่ามือซึ่งเธอใช้ดึงตัวขึ้นเพื่อให้ตัวเองอยู่บนผา และมีส่วนที่ยื่นออกมาแค่เล็กน้อยซึ่งยึดจับไว้ด้วยปลายนิ้วแทบจะไม่ได้ “ค่อนข้างลำบาก แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าอยู่ที่อื่นแล้วลำบากใจกว่านี้อีกค่ะ” เธอยอมรับพร้อมกับหัวเราะ
Favia ปีนจนถึง 22.30 น. จากนั้นเธอเก็บเบาะรองตกแล้วเดินลากเท้าพาสุนัขของเธอที่ชื่อ Hans ลงไปตามเส้นทางเทรล เมื่อถึงบ้าน เธอจะกินอาหารค่ำมื้อที่ 2 ซึ่งอัดแน่นไปด้วยโปรตีน จากนั้นรอจนกระทั่งอะดรีนาลีนหายไปจากร่างกายในระดับหนึ่งก่อนแล้วจึงหลับ ชีวิตเธอตลอด 5 วันต่อสัปดาห์เป็นเช่นนี้ เธอรักชีวิตแบบนี้ถึงแม้จะลำบาก “นี่แหละเหตุผลหลักที่ทำให้ฉันตื่นขึ้นมาในตอนเช้า” เธอกล่าว “ฉันไม่รู้สึกเพลิดเพลินกับสิ่งไหนหรือกิจกรรมใดไปมากกว่าการปีนหน้าผาแล้วค่ะ”
Favia เก่งทั้งการทรงตัวให้สมดุลเวลาปีนหน้าผา เก่งทั้งการแบ่งเวลาให้สมดุลในเส้นทางอาชีพทั้ง 2 อย่าง ปัจจุบันเธออายุ 33 ปี เป็นทั้งนักปีนหน้าผามืออาชีพและแพทย์เต็มเวลา โดยทำหน้าที่หมอสัปดาห์ละ 60-100 ชั่วโมง และปีนหน้าผาสัปดาห์ละ 20-25 ชั่วโมง ถึงแม้ความมุ่งมั่นนี้จะเป็นสิ่งที่น่าประทับใจอยู่แล้วไม่ว่าต่อใครก็ตาม แต่ก็น่าชื่นชมยิ่งขึ้นไปอีกเพราะ Favia เป็นผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งที่ได้รู้จักกับการปีนหน้าผาเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว เพียงปีเดียวก่อนที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งในปี 2012
“ฉันไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งมากนักก่อนที่จะมาเริ่มปีนหน้าผาค่ะ” เธอเล่า “เมื่อก่อนไม่เคยรู้เลยว่ามีการปีนหน้าผากลางแจ้งด้วยซ้ำ มีคนชอบมาคะยั้นคะยอให้ออกไปข้างนอก ฉันก็จะแบบว่า ‘จะไปปีนพลาสติกนอกบ้านทำไมกัน’ แต่คือไม่รู้เลยว่าเขาปีนหน้าผาที่เป็นหินกันจริงๆ” ไม่ใช่ว่า Favia ไม่ชอบเล่นกีฬา เพราะเติบโตมากับการเล่นยิมนาสติก สเก็ตน้ำแข็ง และขี่ม้า แต่เธอบอกว่าชีวิตของเธอวนเวียนอยู่กับกีฬาเหล่านั้นมากกว่ากิจกรรมกลางแจ้งหรือการเดินป่าไฮกิ้ง
เธอค่อยๆ เริ่มเดินทางไปยังหน้าผาต่างๆ สัปดาห์เว้นสัปดาห์ในวันเสาร์และอาทิตย์ ขับรถ 4-7 ชั่วโมงไปยังพื้นที่ที่ใกล้ที่สุด รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นว่าไปทุกสุดสัปดาห์เสียแล้ว “ฉันได้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ และคุ้นชินกับการออกนอกบ้าน กับเมืองเล็กๆ กับพวกแมลง กับการเดินป่าไฮกิ้ง และมีทักษะนอกบ้านมากขึ้นค่ะ” Favia กล่าว “ฉันชอบฟังเสียงรองเท้าปีนหน้าผากระทบหินของจริง” เธอพูดถึงเสียงที่เงียบและแผ่วเบา ราวกับการแตะนิ้วลงบนโต๊ะ “การฟังเสียงรองเท้าช่วยให้ฉันรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับหินผาค่ะ”
อย่างไรก็ตาม Favia ตระหนักเป็นอย่างดีว่าเธอเป็นคนผิวดำไม่กี่คนในแวดวงปีนหน้าผาในพื้นที่ “ในอดีตฉันเคยชินกับการเป็นคนผิวดำที่ไม่สำคัญคนหนึ่งมาแทบจะทั้งชีวิตค่ะ” เธอกล่าว แต่เธอก็รู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้พบกับคนผิวดำคนอื่นๆ “บางครั้งก็จะมีคนผิวดำมาเข้ายิม และฉันก็จะรู้สึกว่า โอ้โห… สุดยอดไปเลย”
ถึงแม้ Favia ก้าวหน้าในฐานะนักปีนหน้าผาอย่างรวดเร็ว และรับมือกับความหนักอึ้งของการเรียนแพทย์ได้ แต่เธอก็เริ่มรู้สึกป่วยเรื้อรังในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2011 ทว่าเหล่าพยาบาลเวชปฏิบัติที่ศูนย์สุขภาพสำหรับนักศึกษากลับไม่ได้สนใจปัญหาของเธอเลย โดยวินิจฉัยว่าเธอเป็นหอบหืดและสั่งยาพ่นสูดให้ “พวกเขาแย่มากๆ ค่ะ” Favia นึกย้อนกลับไปว่าตอนนั้นเธอเพิ่งได้เรียนเกี่ยวกับมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ก็เลยสงสัยว่าโรคนี้อาจเป็นตัวการที่ทำให้เธอป่วย แต่พยาบาลเวชปฏิบัติเหล่านั้นก็ไม่สนใจ “ฉันขอผลเอ็กซเรย์ไปตั้งหลายครั้ง แต่ก็โดนปฏิเสธ” เธอกล่าวเสริม เมื่อถึงเดือนมิถุนายนปีถัดมา อาการของเธอก็ทรุดลงเป็นอย่างมาก เริ่มหายใจและกลืนได้ลำบาก ในการไปปีนหน้าผาครั้งหนึ่ง เธอตกลงมาจากหน้าผาและหายใจหอบ หลังจากนั้น 1 เดือน หมอตรวจพบว่ามีก้อนเนื้อขนาด 13 เซนติเมตรในทรวงอก และวินิจฉัยว่านักศึกษาแพทย์หัวกะทิคนนี้เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะลุกลาม เธอจึงพักการเรียนเอาไว้และรักษามะเร็งในปีถัดมา “ในระหว่างที่ต้องทำคีโม ฉันคิดแต่ต้องชนะ ไม่คิดเรื่องอื่นเลย ต้องรอดให้ได้” เธอกล่าว
ถึงแม้ Favia จะเพิ่งเริ่มปีนหน้าผามาได้ไม่นานก่อนที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง แต่เธอก็บอกว่าการปีนหน้าผานั้นทำให้ชีวิตมีเป้าหมายหลังจากที่เธอรักษาจนครบทุกขั้นตอน “การปีนหน้าผาคือเหตุผลหนึ่งเดียวในการมีชีวิตอยู่ต่อค่ะ ฉันจมอยู่กับความเจ็บปวดนี้ไม่ได้เพราะชอบปีนหน้าผามาก” ผู้รอดชีวิตจากมะเร็งคนนี้กล่าวย้อนรำลึก โดยเธอไม่มีอาการของโรคมาตั้งแต่ปี 2013 “ฉันยอมทนทุกอย่างหากจะได้กลับไปปีนหน้าผาอีกครั้ง”
Favia กลับไปยังเส้นทางที่เธอได้วางแผนไว้ก่อนจะได้รับการวินิจฉัย ในภาษาการปีนหน้าผาคือการอุทิศเวลาในการปีนหน้าผาใดหน้าผาหนึ่งให้ดีที่สุด โดยถ้ำที่เธอไปเป็นถ้ำระดับ V5 ที่ชื่อ The Helicopter อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งรัฐ Coopers Rock State Forest นอกเมืองมอร์แกนทาวน์ รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย จุดปีนนั้นเกือบจะติดพื้นจนเธอแทบจะนั่งหลังตรงไม่ได้เลย เธอปีนหน้าผาซ้ำไปซ้ำมาจนไปถึงจุดสูงสุดได้สำเร็จ และความสำเร็จนั้นได้จุดประกายความชื่นชอบกิจกรรมกลางแจ้งขึ้นมาอีกครั้ง เธออยากเห็นว่าร่างกายของตัวเองจะไปได้ไกลแค่ไหน
“การปีนหน้าผาทำให้คุณรู้สึกมีพลัง เวลาเห็นผาหินแล้วรู้สึกว่า ไม่มีทางขึ้นไปได้หรอก แต่แล้วพอหาทางได้ก็จะรู้สึกยอดเยี่ยมไปเลยล่ะค่ะ” เธออธิบาย “คุณจะต้องก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซนหลายแบบเลย ใช้ทั้งความกล้า ความแข็งแกร่ง การแก้ปัญหา คุณจะได้ค้นพบตัวเองในหลายๆ เรื่อง เช่น ผลักดันร่างกายและจิตใจของตัวเองให้ไปได้ไกลแค่ไหน”
ความเจ็บป่วยทางร่างกายของ Favia ไม่ได้เรียกได้ว่าหายเป็นปลิดทิ้งเสียทีเดียว เธอยังต้องระวังเป็นพิเศษไม่ให้โดนบาด โดนข่วน เพราะแผลจะหายช้าลง อีกทั้งยังติดเชื้อได้ง่ายขึ้นด้วย นอกจากนี้ แผลเป็นที่เกิดจากการรักษามะเร็งก็ยังสร้างปัญหาในการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ทำให้เกิดปัญหาเรื่องหลังและสะโพกซึ่งรบกวนมานานหลายปี เธอเพิ่งจะกลับมาเดินเป็นปกติได้อีกครั้ง เพื่อนๆ ต้องช่วยพาเธอเดินไฮกิ้งขึ้นไปยังจุดปีนต่างๆ “การถืออุปกรณ์หนักราว 20 กิโลกรัมก็ถือว่าหนักเกินไปแล้วค่ะ” เธอบอก ในขณะที่นักปีนหน้าผาส่วนมากจะบอกว่าการวางเท้านั้นสำคัญต่อกลยุทธ์ของตน แต่สำหรับ Favia ความถดถอยที่เกิดขึ้นกับเธอทำให้การปีนหน้าผากลายเป็นกีฬาที่เน้นการใช้ร่างกายส่วนบนเป็นหลัก และยังเป็นเหตุผลอีกด้วยว่าทำไมเธอจึงชอบการปีน Bouldering แบบ Overhangs มากกว่าหน้าผาชันที่มีรอยแยก “พอฉันร่วงแบบเอาเท้าลง สะโพกของฉันจะเคลื่อนค่ะ แต่ถ้าฉันเอาหลังลงตรงๆ สะโพกฉันจะไม่รู้สึกเจ็บเลย” เธออธิบาย
กิจกรรมกลางแจ้งได้ช่วยให้ Favia กลับมาเป็นตัวเองอีกครั้ง ในช่วงเวลา 7 ปีที่ผ่านมา การปีนหน้าผากลายเป็นหนทางหลบหนีจากงานอันตึงเครียด งานที่เธอต้องตัดสินใจสำคัญๆ เรื่องการรักษาโรคตลอดทั้งวัน “ฉันไม่รู้ว่าเหมือนกันค่ะว่าทำไมตัวเองถึงรู้สึกสนุกกับการที่ผิวหนังได้สัมผัสกับหินคมๆ ได้มีเลือดออก มีรอยช้ำ และได้เสี่ยงกระดูกหัก เสี่ยงตาย มากถึงขนาดนี้ค่ะ” เธอเล่า “ฉันรู้ว่าฉันเพลิดเพลินกับการแก้ปัญหาและแก้ปริศนา การปีนหน้าผาก็คือปริศนาอย่างหนึ่งที่คุณต้องแก้โดยใช้ความสามารถทางจิตใจและร่างกายของตัวเองค่ะ”
“ในโลกใบเล็กๆ ที่ฉันได้สร้างขึ้นมา ฉันมีพื้นที่ที่ปลอดภัย และพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่กลางแจ้ง”
Favia ยังได้พบชุมชนในพื้นที่กลางแจ้งสุดยอดเยี่ยมต่างๆ เธอเป็นผู้เขียนบทความลงบล็อกของ Melanin Base Camp ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่อุทิศให้กับความหลากหลายในกีฬาผจญภัยกลางแจ้ง ได้ถ่ายทอดประสบการณ์และความชื่นชอบในการปีนผาไม่สูงลงบนเว็บไซต์ Traverse Girl ของเธอเอง นอกจากนี้ยังแนะนำกีฬานี้ให้กับเหล่านักปีนหน้าใหม่อีกด้วย “ฉันไม่รู้ว่ามีการปีนหน้าผาเลยจนฉันเรียนจบ แล้วถ้าหากกีฬานี้ช่วยเปลี่ยนชีวิตใครสักคนให้ดีขึ้นได้ เหมือนที่ได้เปลี่ยนชีวิตฉัน ฉันก็อยากให้พวกเขาได้เห็นค่ะ” Favia กล่าว “ฉันอยากให้โอกาสกับคนอื่นๆ ได้พูดว่า ‘การปีนหน้าผาเป็นสิ่งที่ฉันควรจะทำในชีวิตนี้‘”
Favia บอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะพูดได้ว่าความพยายามครั้งหลังๆ ที่จะทำให้กีฬากลางแจ้งเปิดกว้างมากขึ้นนั้นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากหรือไม่ เธอชี้ให้เห็นด้วยว่ายิมปีนผานั้นยังจำเป็นต้องมีความหลากหลายให้มากขึ้นในด้านเชื้อชาติ เพศ และระดับทักษะ แต่เธอหวังว่าการปรากฏตัวของเธอจะแสดงให้คนผิวสีและผู้ที่รอดชีวิตจากมะเร็งเห็นว่าธรรมชาติก็เป็นพื้นที่สำหรับพวกเขาเช่นกัน “สิ่งเดียวที่วนเวียนอยู่ในหัวฉันอยู่หลายชั่วโมงคือจะทำอย่างไรให้ปีนขึ้นผาหินนี้ได้” Favia กล่าว “ในโลกใบเล็กๆ ที่ฉันได้สร้างขึ้นมา ฉันมีพื้นที่ที่ปลอดภัย และพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่กลางแจ้ง”
เรียบเรียงโดย Colleen Stinchcombe
ภาพถ่ายโดย Evan Green
รายงานเมื่อ: กันยายน 2020