ต้องการให้จิตใจสงบใช่ไหม มาขยับร่างกายกัน
การโค้ช
การออกกำลังกายทำให้สมองปลอดโปร่งและมีสมาธิมากขึ้นได้อย่างไร
ในการเล่นกีฬาและการเทรนนิ่ง มีการพูดถึงกันเยอะว่าทัศนคติส่งผลต่อประสิทธิภาพได้ แต่ในทางกลับกันล่ะจะได้ผลไหม ถ้าเกิดว่ากิจกรรมทางกายภาพเปลี่ยนวิธีการทำงานของสมองคุณได้ ซึ่งจะช่วยให้คุณมีสมาธิและสมองปลอดโปร่งในการใช้ชีวิตทุกวันได้ล่ะ นั่นคือสิ่งที่งานวิจัยชิ้นใหม่จาก Brainvolts Auditory Neuroscience Laboratory ที่มหาวิทยาลัย Northwestern University นำเสนอ
“เสียงเป็นสิ่งที่มีพลังมากๆ ในชีวิตของเรา แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าที่ควร” Nina Kraus, PhD ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการของ Brainvolts Auditory Neuroscience Laboratory ที่มหาวิทยาลัย Northwestern University กล่าว Kraus ใช้เวลาทั้งหมดในวิชาชีพของเธอไปกับการค้นคว้าวิธีที่สมองประมวลผลเสียง เธอทำงานกับผู้คนที่ประสบกับภาวะการขาดทักษะด้านภาษาในวัยเด็ก และดูเหมือนจะส่งผลให้มีปัญหากับการมีสมาธิจดจ่อ เธอยังทำงานกับนักดนตรีและผู้ที่พูดได้ 2 ภาษา ซึ่งมีความสามารถสูงในการประมวลผลเสียง และในปัจจุบัน การศึกษาวิจัยล่าสุดในห้องแล็บของเธอ เธอหันมาให้ความสนใจกับกลุ่มตัวอย่างใหม่ “เราต้องการทราบว่ามีความแตกต่างในการประมวลผลเสียงในนักกีฬาชั้นนำหรือไม่” เธอกล่าว
ในการค้นหาคำตอบ ห้องแล็บของ Kraus ทำงานร่วมกับกลุ่มตัวอย่างเกือบ 1,000 คน ครึ่งหนึ่งเป็นนักกีฬา Division I (การแข่งขันกีฬาระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ดิวิชั่น 1) และอีกครึ่งหนึ่งเป็นนักศึกษาทั่วไปในระดับมหาวิทยาลัย นักวิทยาศาสตร์วัดการตอบสนองด้วยคลื่นไฟฟ้าในสมองของกลุ่มตัวอย่างหลังจากได้ยินเสียงพยางค์ “ดา” สิ่งสำคัญที่ค้นพบก็คือนักกีฬาแสดงระดับของ “เสียงกระตุ้นประสาทในพื้นหลัง” ที่ต่ำกว่าคนที่ไม่ได้เป็นนักกีฬาอยู่เสมอ
“เมื่อเสียงพื้นหลังน้อยลง คุณก็จะเข้าใจเสียงรอบตัวคุณมากขึ้น”
Nina Kraus, PhD ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการของ Brainvolts Auditory Neuroscience Laboratory ที่มหาวิทยาลัย Northwestern University
“เสียงกระตุ้นประสาทในพื้นหลัง” นั้นไม่ใช่เสียงจริงเลย สำหรับนักกีฬา เสียงนี้ไม่ใช่เสียงฝูงชนที่เชียร์อยู่ ไม่ใช่เสียงสัญญาณกันขโมยของรถที่อยู่ใกล้สนาม หรือเสียงคู่ต่อสู้ที่คุยข่มแบบไร้สาระก็ไม่ใช่ “ให้คิดว่าเป็นเหมือนเสียงคลื่นวิทยุที่อยู่ในสมอง” Kraus กล่าว “นั่นเป็นกิจกรรมของประสาทที่เกิดขึ้นอยู่เสมอโดยไม่รู้ตัว หากเกิดขึ้นมากเกินไป ก็จะไปขัดขวางการประมวลผลข้อมูลที่เข้ามาถึงคุณ” ยกตัวอย่างให้ดูก็ได้ว่า สิ่งนี้อาจทำให้เราทำความเข้าใจกับสิ่งที่คนอื่นกำลังพูดได้ยากขึ้น อันที่จริงแล้วทีมของ Kraus ได้พบเห็นความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างการได้ยินเสียงกระตุ้นประสาทในปริมาณที่สูงกับความยากลำบากในการเรียนรู้ทางวิชาการ “นั่นคืออัตราส่วนระหว่างสัญญาณต่อเสียง” เธอกล่าว “เมื่อเสียงพื้นหลังน้อยลง คุณก็จะเข้าใจเสียงรอบตัวคุณมากขึ้น”
Kraus กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่ว่านักกีฬาเยาวชนเหล่านี้ได้สัมผัสกับคลื่นแทรกทางจิตในลักษณะนี้น้อยกว่านั้นเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งอาจหมายความว่าสมาธิจดจ่อที่ดีขึ้นและการทำความเข้าใจได้มากขึ้นจะช่วยพวกเขาไม่ว่าจะทำอาชีพใดก็ตาม แม้ว่า Kraus และทีมของเธอยังไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมนักกีฬาถึงสัมผัสกับเสียงกระตุ้นประสาทน้อยกว่า นักวิจัยกลุ่มนี้ก็มีทฤษฎีที่น่าสนใจอยู่ 2 ประการ
ข้อแรกคือ สมองของนักกีฬาอาจปรับให้เข้ากับการเทรนนิ่งและความต้องการเฉพาะทางเพื่อเกมการแข่งขัน “นักกีฬาจะต้องคอยฟังสัญญาณตลอด” Kraus กล่าว “พวกเขาต้องฟังโค้ช ฟังผู้เล่นคนอื่น ฟังเสียงอุปกรณ์กีฬาของตัวเอง นักกีฬาจะต้องตื่นตัวสูงมากกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว พวกเขาต้องรู้ว่าต้องฟังอะไรและต้องไม่สนใจอะไร” Kraus สันนิษฐานว่าสมองของนักกีฬาอาจ “หรี่เสียง” ที่เป็นเสียงกระตุ้นประสาทของตัวเองลงได้เพื่อให้ได้ยินเสียงที่ต้องได้ยินจริงๆ เมื่ออยู่ในสนาม ซึ่งนี่ถือเป็นวิวัฒนาการปรับตัวประเภทหนึ่งในช่วงเวลาของชีวิต
แล้วอีกทฤษฎีล่ะ “ยังมีการศึกษาวิจัยอีกมากมายที่แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมทางกายภาพนั้นดีต่อร่างกายและดีต่อสมองของคุณ” Kraus กล่าว “เรายังแค่รู้ในระดับผิวเผินเท่านั้น เป็นไปได้ว่าหนึ่งในเหตุผลที่เราเห็นว่าเสียงกระตุ้นประสาทต่ำลงในหมู่นักกีฬาคงเป็นเพราะพวกเขามีสุขภาพที่ดีมาก”
แนวคิดที่ 2 นี้เองที่อาจเกี่ยวพันอย่างกว้างขวางกับนักกีฬาทั่วไป ซึ่งอาจหมายถึงทุกการวิ่งยามเช้า ทุกเซสชันการเทรนนิ่งในห้องนั่งเล่น หรือทุกครั้งที่เล่นบาสเก็ตบอลกับเพื่อน ก็ล้วนอาจส่งผลต่อความสามารถในการรับรู้โลกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม การค้นคว้าวิจัยนี้สำคัญกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาที่แข่งขันหรือไม่ Kraus กล่าว “ในความพยายามที่จะเรียนรู้ว่ากิจกรรมทางกายภาพส่งผลต่อจิตใจอย่างไร เราได้รับคำใบ้อยู่บ่อยครั้งด้วยการศึกษากรณีที่รุนแรงที่สุด” เธอกล่าว “ส่วนมากกฎทางชีวภาพเหล่านี้ทำงานแบบเป็นภาวะต่อเนื่อง ความรู้ที่ได้นี้น่าจะเป็นการส่งเสริมให้ทุกคนทำกิจกรรมทางกายภาพแบบพื้นฐานทุกวัน” แม้ว่าจะทำเล็กๆ น้อยๆ ก็ช่วยได้ แต่ก็มีแนวโน้มว่า ยิ่งทำมาก ก็จะยิ่งปลอดโปร่งมากขึ้น
นอกจากนี้ Kraus ยังชี้ให้เห็นว่า คุณอาจไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมทีมเพื่อเริ่มต้น “นักกีฬาที่เราทดสอบนั้นทำการเทรนนิ่งในปริมาณมากด้วยตนเองอยู่แล้ว” เธอกล่าว “เรายังคงพบกับหลักฐานอย่างต่อเนื่องที่นำมาสนับสนุนข้อเท็จจริงที่ว่า การเคลื่อนไหวทางกายภาพนั้น ไม่ว่าจะทำในรูปแบบใด ก็ล้วนเป็นกิจกรรมที่ส่งผลดีเป็นอย่างยิ่งกับร่างกายและจิตใจ”