เคล็ดลับเสริมทัศนคติเพื่อช่วยเตรียมความพร้อมก่อนคลอดได้อย่างมั่นใจ

นี่ล่ะ Nike (M)

การดึงความเป็นนักกีฬาในตัวคุณออกมา (แม้ว่าการตั้งครรภ์จะทำให้คุณไม่รู้สึกแบบนั้นเลยก็ตาม) จะช่วยให้ความไม่แน่นอนระหว่างคลอดดูน่ากลัวน้อยลงเยอะ

อัพเดทล่าสุด: 15 พฤศจิกายน 2565
ใช้เวลาอ่าน 7 นาที
  • มีการค้นพบว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตลอดการตั้งครรภ์จะทำให้คุณได้เปรียบมากในห้องคลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านทัศนคติ
  • การมีเครื่องมือช่วยจัดการความคิด การใช้พลังการหายใจเข้าช่วย และการเข้าใจระดับความสบายของร่ายกายจะทำให้การคลอดลูกเป็นไปได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น
  • หมั่นรักษาทัศนคติของนักกีฬาให้เฉียบคมอยู่เสมอผ่านโปรแกรม Nike (M) เคลื่อนไหวสไตล์คุณแม่ในแอพ NTC

อ่านต่อเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม…

การออกกำลังกายสามารถเตรียมความพร้อมในการคลอดให้คุณได้อย่างไร ฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

*เนื้อหานี้ออกแบบมาเพื่อให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ แต่ไม่ใช่เพื่อการวินิจฉัย รักษา หรือให้คำแนะนำเฉพาะทางการแพทย์ จึงควรปรึกษากับผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพของคุณอยู่เสมอเกี่ยวกับวิธีรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและปลอดภัยทั้งก่อน ระหว่าง และหลังตั้งครรภ์

คุณกำลังหอบหายใจอย่างหนัก ออกแรงเต็มที่เพื่อไปให้ถึงเส้นชัย และอาจรู้สึกว่าไปต่อไม่ไหวแล้ว สถานการณ์ราวกับอยู่ในการแข่งขัน แต่เปล่าเลย คุณกำลังคลอดลูก

ยังโชคดีที่หากคุณเป็นคนชอบออกกำลังกายอยู่แล้ว ก็จะได้เปรียบมากในห้องคลอด "มีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่าคุณแม่ที่ออกกำลังกายช่วงที่ตั้งครรภ์มักจะจัดการกับความไม่สบายตัวช่วงใกล้คลอดและความเจ็บปวดในการคลอดลูกได้ดีกว่าคุณแม่ที่ไม่ออกกำลังกาย" Amanda Williams, MD แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูตินรีเวชวิทยาในเมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย และสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาโปรแกรม Nike (M) เคลื่อนไหวสไตล์คุณแม่กล่าว

หากสงสัยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบก็คือการออกกำลังกายสามารถฝึกร่างกายของคุณให้ตอบโจทย์ที่ต้องใช้ในการคลอดบางส่วนได้ เช่น ความจุของปอดที่มากขึ้น แต่ประโยชน์ที่คุณจะได้รับก็ไม่ใช่ในทางกายภาพเท่านั้น "ส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ที่ออกกำลังกายและเคยชินกับการก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ จะมีประสบการณ์การคลอดที่จัดว่าดีที่สุด" Dr. Williams กล่าว

เช่นเดียวกับการวิ่งแข่งระยะไกลและการออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงทุกรูปแบบ การสร้างความมั่นใจในการคลอดก็จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ดีๆ ด้านร่างกายและจิตใจเช่นกัน คุณอาจคาดเดาไม่ได้ว่าการคลอดของคุณจะเป็นอย่างไร แต่ก็สามารถเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับอะไรก็ตามที่อาจเกิดขึ้นได้ และเราก็มีคำแนะนำง่ายๆ แต่เปี่ยมประสิทธิภาพมาช่วยให้คุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นคุณแม่สุดแกร่งในวันคลอด

1. ตระหนักว่าความคิดของคุณมีพลังแค่ไหน

ทัศนคติในเชิงบวกและจิตใจที่แข็งแกร่งจะช่วยให้คุณใช้ความสามารถทางร่างกายได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นในยิมหรือห้องคลอด หากคุณไม่คิดว่าตัวเองจะยกของหนักๆ (หรือคลอดเด็กทารกออกมาได้) ร่างกายของคุณก็มักจะตอบสนองแบบเดียวกัน "หากใจคุณพยายามฝืนสู้กับการบีบตัวของมดลูก ตัวคุณก็จะเกร็งไปด้วยและทำให้ส่วนต่างๆ ในร่างกายหดตัวมากขึ้น มดลูกของคุณก็เช่นเดียวกัน" Cherie Seah ผู้ช่วยทำคลอดในเบย์แอเรียกล่าว

เพื่อลดโอกาสในการกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองในทางตรงข้ามกับที่คุณต้องการ งานวิจัยชี้ว่าการเปลี่ยนความกังวลให้เป็นความคิดในแง่บวก (่เช่น "ฉันทำได้" แทนที่จะคิดว่า "น่ากลัวจัง") จะช่วยคลายความวิตกกังวลได้ ก่อนที่จะถึงวันคลอด Seah แนะนำว่าให้คุณลองเขียนถ้อยคำที่จะสร้างความมั่นใจให้ตัวเองเพื่อสู้กับความกลัวบางอย่างที่มี เช่น "ร่างกายของฉันรู้ว่าจะต้องเบ่งลูกออกมายังไง" หรือ "ฉันทำได้สบายๆ แค่ไม่กี่อึดใจก็จบแล้ว"

การพูดคำเหล่านั้นให้ตัวเองฟังบ่อยๆ ระหว่างตั้งครรภ์จะช่วยปรับมุมมองที่คุณมีต่อการคลอดและความสามารถของคุณเอง และถ้าทำได้ ก็ให้พกคำพูดเหล่านั้นเข้าไปในห้องคลอดด้วย "บางครั้งการเขียนคำพูดให้กำลังใจตัวเองลงในกระดาษแล้วแปะตามผนังในตอนคลอดก็นับเป็นการบำบัดอย่างหนึ่ง ซึ่งช่วยลดความกลัวลงได้" Seah กล่าว เราเองก็เชื่อเช่นกันว่าคำพูดในแง่บวกนั้นดีที่สุด

2. หาความรู้เพิ่มเติม

คุณคงไม่เข้าร่วมคลาสออกกำลังกายใหม่ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะต้องออกกำลังกายอย่างไรบ้างหรอกจริงไหม การหาความรู้เพิ่มเติมว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายบ้างระหว่างที่เจ็บท้องและคลอดลูก (เช่น การดูภาพวาดที่แสดงให้เห็นว่าการบีบตัวของมดลูกช่วยให้ช่องคลอดขยายตัวได้อย่างไร หรือการอ่านเกี่ยวกับเรื่องราวการผ่าคลอดที่ไม่น่ากลัว) ก็ช่วยให้คุณรู้สึกพร้อมมากขึ้นได้เช่นกัน

สิ่งที่ควรระวังคือ ตอนนี้ข้อมูล (และเรื่องราวเกี่ยวกับการคลอดที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก) ก็มีให้ศึกษามากมาย และ Seah ก็กล่าวว่าการรับข้อมูลมากเกินไปอาจทำให้จิตใจไม่สงบแทน ดังนั้นจึงควรหาข้อมูลแค่เท่าที่จำเป็น ไม่เสิร์ชหาข้อมูลมากเกินไป แล้วหันมาพึ่งพาแหล่งข้อมูลในชีวิตจริงสักสองสามคนที่คุณเชื่อถือแทน ถ้าไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นจากไหน สูตินรีแพทย์ พยาบาลผดุงครรภ์ ผู้ช่วยทำคลอด หรือคลาสคลอดลูกที่สอดคล้องกับค่านิยมของคุณก็เป็นตัวเลือกที่ดี

การออกกำลังกายสามารถเตรียมความพร้อมในการคลอดให้คุณได้อย่างไร ฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

3. โฟกัสเฉพาะสิ่งที่ควบคุมได้

การคลอดลูกนั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้ เช่นเดียวกับการวิ่งระยะไกลหรือการออกกำลังกายในสถานการณ์ที่ยากๆ คุณอาจจะอยากคลอดลูกโดยไม่พึ่งหัตถการหรือคลอดปกติทางช่องคลอด แต่เพื่อความปลอดภัยของคุณและ/หรือลูกน้อย สถานการณ์ก็อาจเปลี่ยนไปได้ ซึ่งนั่นก็ไม่เป็นไรเลย (แถมการดมยาสลบก็อาจจะเป็นตัวช่วยที่วิเศษไปเลยก็ได้ ถ้าคุณรู้สึกโอเคก็ไม่มีอะไรเสียหายเลย) การเปิดใจให้กว้างและจดจ่ออยู่กับประสบการณ์การคลอดเฉพาะส่วนที่คุณพอจะควบคุมได้จะช่วยให้คุณรับมือกับความไม่แน่นอนที่ต้องเผชิญได้ดีขึ้น Dr. Williams กล่าว "เลือกสิ่งที่คุณให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เช่น การมีคนช่วยให้กำลังใจในห้องคลอดหรือการให้แม่กับลูกสัมผัสกันแบบเนื้อแนบเนื้อทันทีที่คลอด"

นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับองค์ประกอบที่ควบคุมได้อาจช่วยให้คุณไม่ตำหนิตัวเองในภายหลังด้วย "ฉันบอกให้คุณแม่ๆ เข้าห้องคลอดโดยมีความพร้อมเท่าที่จะทำได้ และยังต้องทำความเข้าใจด้วยว่าการคลอดของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกันและหากไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวังก็ไม่ได้ถือว่าเป็นความล้มเหลวของตัวเองเลย" Andreka Peat, PsyD นักจิตวิทยาคลินิกวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตของมารดาในเมืองเดคาเทอร์ รัฐจอร์เจียกล่าว

4. ใช้เทคนิคการหายใจ

หากว่าเริ่มจะสติแตกระหว่างที่ปวดท้องคลอด (เป็นปกตินะ) ก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะคิดจินตนาการอย่างสร้างสรรค์ว่าจะผ่านพ้นไปได้อย่างไร นั่นเป็นเพราะโดยพื้นฐานแล้วสมองส่วนที่ใช้เหตุผลจะหยุดทำงานเมื่อสมองส่วนที่เครียดจัดเข้ามากันซีน Peat กล่าว แต่อย่างที่นักกีฬารู้กันดี เราสามารถสั่งให้ร่างกายส่งสัญญาณบอกสมองว่าได้เวลาสงบลงแล้ว

การสูดหายใจลึกๆ เป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุดวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ Peat กล่าว การหายใจลึกๆ ช้าๆ เป็นการส่งสัญญาณบอกร่างกายว่าฉันปลอดภัยดี ซึ่งจะช่วยลดการตอบสนองแบบสู้หรือหนีได้ "การหายใจลึกๆ เป็นการมอบหมายงานให้จิตของคุณไม่ฟุ้งซ่านและจะส่งสัญญาณทางจิตให้ร่างกายรับรู้ว่าสงบลงได้แล้ว" Peat กล่าว (นอกจากนี้ Seah ยังเสริมว่าการจดจ่อกับลมหายใจก็ยังช่วยให้เราไม่หมกมุ่นกับความหนักหน่วงของการบีบตัวของมดลูกได้ สูดหายใจเข้าออกลึกๆ ยาวๆ 5 ครั้งเดี๋ยวก็ผ่านไปแล้ว)

ในช่วงที่อารมณ์คุกรุ่น การจะลองใช้เทคนิคใหม่ๆ นับว่าทำได้ยาก ดังนั้นให้ฝึกซ้อมเทคนิคการสูดหายใจลึกๆ หรือกลยุทธ์การรับมือแบบอื่นๆ ที่คุณอยากนำมาใช้ในห้องคลอดไว้ล่วงหน้าเลย

5. จำไว้ว่าความไม่สบายตัวเป็นเรื่องธรรมชาติ

ในขณะที่ออกกำลังกายและผลักดันตัวเองขึ้นไปอีกขั้น ความรู้สึกไม่สบายตัวถือเป็นเรื่องปกติและมีประโยชน์ด้วยซ้ำ และจนถึงตอนนี้ คุณน่าจะเข้าใจวิธีแยกแยะความเจ็บปวดประเภทที่คุณสามารถฝ่าฟันไปได้ออกจากประเภทที่บ่งบอกว่าถึงเวลาต้องพักก่อนแล้ว Peat บอกว่าหลักการเดียวกันนี้จะเป็นประโยชน์ในระหว่างการคลอด

จงเชื่อสัญญาณจากร่างกายเมื่อรู้สึกว่ามีบางอย่างไม่ปกติ (คุณจะรู้เองแหละ) แต่อย่าลืมว่าความรู้สึกเจ็บปวดทางกายอย่างหนักหน่วงเหล่านั้นก็มักจะเป็นสัญญาณที่ดีได้ "การคลอดลูกเป็นกระบวนการทางสรีระวิทยาโดยธรรมชาติและความรู้สึกไม่สบายตัวก็ไม่ได้หมายถึงอันตรายเสมอไป" Dr. Williams กล่าว "การทำตัวให้รู้สึกสบายในสถานการณ์ที่หาความสบายไม่ได้และตระหนักว่าคุณมีเครื่องมือที่จะช่วยให้ผ่านมันไปได้เป็นสิ่งที่สร้างแรงใจได้เป็นอย่างมาก" ก็คงเหมือนกับเซสชันเทรนนิ่งสุดโหดนั่นแหละ (ใช่เลย) คุณจะรู้สึกเหมือนตกนรกอยู่ช่วงหนึ่ง แต่หลังจากนั้นก็จะภูมิใจ เบิกบานใจ และแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

เรียบเรียงโดย Ashley Abramson
ภาพถ่ายโดย Vivian Kim

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

หากต้องการฝึกความแกร่งทางจิตใจ ลองดูโปรแกรม Nike (M) เคลื่อนไหวสไตล์คุณแม่ในแอพ Nike Training Club เพื่อดูการฝึกกำหนดลมหายใจพร้อมเสียงแนะนำ การออกกำลังกาย และคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญ หรือเข้าถึงทัศนคติแบบนักกีฬาในตัวด้วยการวิ่งพร้อมเสียงแนะนำสำหรับช่วงก่อนคลอดในแอพ Nike Run Club

เผยแพร่ครั้งแรก: 18 พฤศจิกายน 2565