ครบวงจร: กรรมวิธีการเกิดใหม่ของ Air ด้วยการรีไซเคิลภายใน
นวัตกรรม
มาดูเบื้องหลังกรรมวิธีการผลิตส่วน Nike Air ขึ้นมาใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก
Move to Zero ขอนำเสนอ: การเดินทางของ Nike สู่การลดปริมาณคาร์บอนและของเสียให้เป็นศูนย์เพื่อช่วยปกป้องอนาคตแห่งเกมกีฬา
แม้ระบบลดแรงกระแทก Nike Air จะอัดแน่นไปด้วยตำนานแห่งความสบายและความมีสไตล์ แต่คุณอาจยังไม่ทราบว่าประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวนี้ยังมาพร้อมนวัตกรรมที่คำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยาวนานหลายทศวรรษ Nike พัฒนาเทคโนโลยีการอัดแรงดันอากาศนี้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่จุดเริ่มต้น เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
"ตั้งแต่ตอนเริ่มแรกเป็นต้นมา เราได้เปิดตัวนวัตกรรมที่มองไม่เห็นหลายอย่างในเทคโนโลยีที่โดดเด่นเห็นได้ชัดเจนที่สุดของเรา" Mitesh Patel ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการผลิตประจำศูนย์ Air Manufacturing Innovation (AirMI) กล่าว "เป้าหมายคือการรักษาบางอย่างให้สอดคล้อง อย่างรูปลักษณ์และสัมผัส แต่ในขณะเดียวกันก็มุ่งมั่นพัฒนาวิธีในการผลิตอย่างต่อเนื่อง"
เราทำได้อย่างไร
"การรังสรรค์ Air ก็เปรียบเสมือนการอบขนมเค้ก" Mitesh บอก "เค้กต่างชนิดกันก็ต้องใช้สูตรคนละแบบกัน ซึ่ง Nike เองก็มี Air หลากหลายรูปแบบมาก ทุกครั้งที่มีดีไซน์ใหม่เข้ามา เราก็จะต้องสร้างเครื่องยนต์กลไกและคิดค้นกระบวนการเพื่อทำให้มันเกิดขึ้นได้จริง เป็นการใช้วัตถุดิบเดียวกันในกรรมวิธีที่แตกต่างกัน"
ติดตามต่อเพื่อเรียนรู้วิธีการอบขนมเค้กเกรดอุตสาหกรรมอวกาศนี้ คุณมองเห็นไหมว่าเราใส่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมลงไปเป็นส่วนผสมอย่างไร
เศษวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตถูกนำมารีไซเคิลเพื่อสร้างสรรค์ส่วน Air ชิ้นใหม่ นี่คือส่วนหนึ่งของ
กระบวนการที่ได้รับการคุ้มครองตามกรรมสิทธิ์ ถ่ายภาพไว้ที่ศูนย์ AirMI ในบีเวอร์ตัน รัฐโอเรกอน เมื่อเดือนมกราคม 2022
รวบรวมวัตถุดิบ
จะว่าไป ระบบลดแรงกระแทก Air ผลิตมาจากอะไรกันนะ? องค์ประกอบหลักๆ มีอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือเทอร์โมพลาสติกโพลียูริเทน (TPU) เป็นพลาสติกประเภทหนึ่งที่ขึ้นชื่อในเรื่องความแข็งแกร่งและคุณสมบัติในการนำกลับมารีไซเคิลได้
"แม้ TPU จะนำกลับมารีไซเคิลไปจนตลอดกาลไม่ได้ แต่เราก็สามารถนำมันกลับมารีไซเคิลซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ในกระบวนการของเรา" Makely Lyon ผู้จัดการโครงการเพื่อความยั่งยืนกล่าว ความพยายามอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษทำให้เราปรับปรุงและพัฒนากระบวนการจนสามารถนำเศษวัสดุจำนวนมากที่จริงๆ แล้วต้องนำไปทิ้งกลับมารีไซเคิลและกลับมาใช้ใหม่ได้
วัสดุ TPU ดังกล่าวกลายมาเป็นวัสดุชั้นนอกของส่วน Air ซึ่งจากนั้น ก็เติมด้วยองค์ประกอบหลักส่วนที่ 2 เข้าไปอีกนั่นคือแก๊ส อาจฟังดูแปลก แต่ทราบหรือไม่ว่าอากาศที่เราทุกคนใช้หายใจล้วนเป็นส่วนผสมของแก๊สหลายชนิด และ Nike Air ก็มีแก๊สเป็นส่วนประกอบด้วยเช่นกัน เมื่อก่อนเราใช้แก๊สที่มีชื่อว่าซัลเฟอร์เฮกซาฟลูออไรด์ (SF6) ซึ่งไม่ค่อยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่นัก
"ย้อนกลับไปในยุค 90 ทีมของเราตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องเลิกใช้ SF6 ซึ่งเป็นแก๊สที่มีส่วนเป็นอย่างมากในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน" Makely เล่า "เราคิดค้นนวัตกรรมกันอยู่หลายปี จนตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา เราก็เลิกใช้ SF6 ได้อย่างสิ้นเชิง โดยหันไปใช้ไนโตรเจนแทน 100%"
นั่นเป็นเพราะชั้นบรรยากาศของโลกมีแก๊สไนโตรเจนอยู่ราว 78% เยอะกว่าออกซิเจนที่มีอยู่ราว 21% มาก ดังนั้นหากไนโตรเจนรั่วหลุดออกไปได้ระหว่างกระบวนการผลิต ก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้น้อยกว่าแก๊สชนิดก่อนหน้านี้ที่เราเคยเลือกใช้
เตรียมแก๊สกับพลาสติกเจ๋งๆ มาหรือยัง? ดีมาก ต่อไปก็…
มาสร้าง Air กันเลย
ขั้นตอนที่ 1: นำวัสดุ TPU จำนวน 2 แผ่นมาประกบกัน แล้วทำให้ร้อนขึ้นจนได้อุณหภูมิที่เหมาะสม ความร้อนนี้จะทำให้ TPU ที่แข็งนั้นอ่อนตัวลงจนนำไปขึ้นรูปให้มีรูปทรงที่ต้องการได้ จากนั้นก็ซีลให้แน่นแบบไม่ให้อากาศเข้าได้
ขั้นตอนที่ 2: เมื่อส่วน Air อยู่ตัวแล้วก็ให้นำออกจากแม่พิมพ์ จากนั้นเล็มขอบที่มี TPU ส่วนเกินอยู่ออกเพื่อให้ได้เป็นทรงที่ต้องการ แต่อย่าเพิ่งนำส่วนที่เล็มออกไปทิ้ง ให้เก็บไว้สำหรับขั้นตอนสุดท้าย
ขั้นตอนที่ 3: อัดฉีดไนโตรเจนเข้าไป ส่วนประกอบที่ดูไม่ค่อยมีอะไรพิเศษนี้แหละจะห่อหุ้มด้วยวัสดุชั้นนอกที่งดงามจาก TPU เพื่อสร้างความดีดเด้งแบบที่เราทุกคนรู้จักและชื่นชอบ
ขั้นตอนที่ 4: นำเศษที่เล็มออกมาที่ยังสะอาดอยู่และเศษวัสดุเหลือทิ้งที่ไม่สกปรกทั้งหมด (ซึ่งนับได้เกิน 90%) ไปบดและหลอมเข้าด้วยกันเพื่อสร้างเป็นแผ่น TPU แผ่นใหม่ จากนั้นก็เริ่มกระบวนการทั้งหมดอีกครั้ง วนไปจนเกิดเป็นวงจรแห่ง Air
นี่แหละคือการได้มาซึ่งส่วน Air ที่พร้อมลดแรงกระแทกให้คุณทุกย่างก้าว ทั้งยังทำให้คุณได้รองเท้าที่มีส่วนประกอบจากวัสดุรีไซเคิลอีกด้วย
สังเกตเห็นการปรับเปลี่ยนเล็กๆ พวกนี้ที่ใส่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าไปไหม ทั้งการใช้ไนโตรเจนแทน SF6 เพื่อช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ทั้งการนำเศษวัสดุ TPU เหลือทิ้งแทบทั้งหมดกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งได้ช่วยให้เราเปลี่ยนเส้นทางเศษวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตให้กลับเข้ามาสู่กระบวนการผลิตอีกครั้งแทนที่จะไปยังสถานที่ฝังกลบได้แล้วมากกว่าปีละ 27 ล้านกิโลกรัม
สมาชิกทีม AirMI จากซ้ายไปขวา: Makely Lyon, Ana Castaneda, Mitesh Patel และ Jordan Binkerd
Makely ได้บอกกับเราว่าทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของ "ประวัติศาสตร์อันยาวนานแห่งนวัตกรรมที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม" ของ AirMI
เมื่อพิจารณาถึงประวัติศาสตร์ดังกล่าว นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
"เรากำลังทำในสิ่งที่เมื่อทศวรรษก่อนเคยคิดกันว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ สิ่งนี้มีผู้คนเป็นแรงขับเคลื่อน ถ้าไม่มีพวกเขา ไม่มีไอเดียของพวกเขา Air ก็เป็นจริงขึ้นมาไม่ได้"
Mitesh Patel
ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการผลิตประจำศูนย์ Air Manufacturing Innovation (AirMI)
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม เข้าไปดูได้ที่ Nike.com/Sustainability เพื่อติดตามการเดินทางของพวกเราแต่ละก้าว แล้วร่วมกันค้นพบเส้นทางใหม่ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Move to Zero ด้วยกัน
ภาพถ่ายโดย Ariel Fisher
เรียบเรียงโดย Sallie Stacker