ตัวต่อตัว: Sloane Stephens x Madison Keys
นักกีฬา*
ดาวเด่นวงการเทนนิสชี้แนะแนวทางให้กันบนเส้นทางกีฬา ทั้งในฐานะคู่ชิงตำแหน่งและเพื่อนตลอดชีวิต
“ตัวต่อตัว” คือซีรีส์ที่ถ่ายทอดบทสนทนาระหว่างนักกีฬา Nike ชั้นนำแบบสดๆ ไม่มีสคริปต์
เส้นทางของ Madison Keys และ Sloane Stephens มาบรรจบกันครั้งแรกในการแข่งขันเวทีระดับเยาวชน แต่แทนที่จะมองว่าอีกฝ่ายเป็นคู่แข่ง ทั้ง 2 คนกลับสนิทกันได้อย่างรวดเร็ว เส้นทางการเล่นอาชีพของสาวคู่นี้มีหลายเรื่องที่คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นการเทิร์นโปรก่อนอายุ 20 ปี ไปจนถึงการถูกจับตามองว่าจะก้าวไปเป็นยอดฝีมือในอนาคต ในที่สุด ทั้ง Madison และ Sloane ต่างก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักขึ้นมาในฐานะนักกีฬาที่มีบุคลิกโดดเด่นในแบบของตัวเอง โดย Madison คว้าแชมป์ไปแล้ว 5 รายการ ไต่ขึ้นไปสูงสุดได้ถึงมือวางอันดับ 7 ของโลกจากการจัดอันดับของสมาคมนักเทนนิสอาชีพหญิง ขณะที่ Sloane นั้นไต่ไปได้สูงสุดถึงมือวางอันดับ 3 และคว้าแชมป์ไปแล้ว 6 รายการ ซึ่งรวมถึงแชมป์รายการเมเจอร์ในปี 2017 ด้วย
แม้จะเรียกได้ว่าการเดินสายแข่งขันนั้นเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของ Sloane และ Madison ไปแล้ว แต่ทั้งสองต่างก็ยอมรับว่าตนเป็นเพื่อนสนิทกันมากกว่าที่จะเป็นคู่แข่ง ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกันหมดแล้วไม่ว่าจะเป็นการชนะรายการใหญ่ พ่ายนัดแข่งน่าเสียใจ การระบาดใหญ่ทั่วโลก และเวทีต่างๆ ในนานาประเทศที่ไปแข่งด้วยกันมา ก็ยิ่งทำให้พวกเธอสนิทกันมากขึ้น อีกทั้งชีวิตก็มีทั้งขึ้นและลง มีการบาดเจ็บและประสบความสำเร็จ บวกกับการเติบโตของแต่ละคน นักกีฬาทั้ง 2 คนนี้จึงเป็นดั่งผู้เชี่ยวชาญด้านการแยกแยะปัจจัยที่ขัดกันอยู่ในเรื่องชีวิตส่วนตัวและชีวิตการเป็นนักเทนนิส เราได้ทาบทามให้ Deidre Dyer นักเขียนและผู้อำนวยการฝ่ายบรรณาธิการมาชวนทั้งคู่พูดคุยกันถึงความเป็นมาเป็นไปของความสนิทสนม ข้อคิดที่ได้เรียนรู้มา เส้นทางในการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม ไปจนถึงความพ่ายแพ้ที่ต้องก้าวข้ามผ่านให้ได้
ขอย้อนกลับไปตอนต้นก่อนเลย พวกคุณจำตอนที่เจอกันครั้งแรกได้ไหม ความประทับใจแรกที่มีต่ออีกฝ่ายเป็นอย่างไร
Madison: เราเจอกันครั้งแรกเมื่อไหร่นะ
Sloane: ลืมไปแล้วเหมือนกัน คงไม่มีอะไรให้น่าจดจำจริงๆ แหละ เพราะเราจำกันไม่ได้ แต่ก็คิดว่าเป็นเรื่องดีนะที่ไม่ได้มีอะไรดราม่าหรืออะไรที่ทำให้จำฝังใจ
Madison: ฉันรู้สึกว่าเราไปแข่งทัวร์นาเมนต์เดียวกันบ่อยมาก
Sloane: คือในวงการเทนนิสเนี่ย เจอกันทีไรก็มีแต่หน้าเดิมๆ ตลอดเลยค่ะ ฉันเลยคิดว่าพวกเราก็คงแบบว่า “อ้าว สวัสดี แบบว่า มาเป็นเพื่อนกันก็ดีนะ เราก็รุ่นๆ เดียวกันเนอะ”
ตอนที่เดินจากห้องล็อคเกอร์ออกไปลงคอร์ท มิตรภาพของทั้งคู่เปลี่ยนไปอย่างไรบ้างคะ ต้องดึงอะไรออกมาใช้บ้างในการเปลี่ยนจากโหมดเพื่อนไปเป็นโหมดคู่แข่งในสนาม
Madison: เอาตรงๆ ก็เปลี่ยนโหมดกันไม่ค่อยเก่งนะคะ [หัวเราะ]
Sloane: พอลงสนามฉันก็จะบอกตัวเองว่า “เอาล่ะ ทำให้เต็มที่นะ”
Madison: ฉันว่ามันเป็นเพราะเราแข่งกันมาตลอดเลยตั้งแต่เริ่มรู้จักกันมา ในใจเราทั้งคู่เลยรู้กันดีอยู่แล้วว่าอีกฝ่ายต้องการจะชนะในวันนั้น ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับมิตรภาพหรือตัวตนของอีกคนหนึ่งเลย เป็นเรื่องกีฬาล้วนๆ ค่ะ
Sloane: จากประสบการณ์ที่ได้ลงแข่งมานานนะคะ ก็จะรู้อยู่แล้วแหละว่ายังไงก็ต้องมีสักคนคว้าชัยไป ฉันรู้สึกในเรื่องมิตรภาพเนี่ย โดยเฉพาะในกีฬาและในวงการเทนนิส เราต้องรู้ก่อนว่าไม่ใช่ว่าเราจะเป็นเพื่อนกับทุกคนได้ เราเลยต้องแบบว่า “โอเค คนนี้เป็นเพื่อนฉันเอง เดี๋ยวฉันจะเตรียมรับมือแบบนี้” ฉันว่า Madi กับฉันเนี่ย พวกเราจูนกลับมาสู่โหมดเพื่อนได้ไวมากนะคะ อย่างพอแข่งเสร็จ แล้วอีก 5 นาทีให้หลังเราก็จะคุยกันว่า “เอ้อนี่ แก เดี๋ยวไปกินข้าวร้านไหนต่อ เสร็จแล้วไปไหนต่อหรือเปล่า”
ความสัมพันธ์ของพวกคุณพัฒนาไปอย่างไรบ้างในช่วงปีที่ผ่านๆ มา
Sloane: ฉันรู้สึกเหมือนว่าเราเติบโตไปพร้อมๆ กัน ได้เห็นว่าต่างฝ่ายต่างก็เติบโตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งค่ะ ไม่ว่าจะเรื่องซื้อบ้านใหม่ ซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่เข้าบ้าน หรืออย่างการได้เห็นอีกฝ่ายมีแฟน เหมือนเราผ่านอะไรหลายๆ อย่างมาคล้ายๆ กันเลย แล้วก็ Madi จะเป็นสายต้นไม้ค่ะ ซึ่งฉันเองก็รู้สึกแปลกนะ เข้าไม่ค่อยถึงเท่าไหร่ แต่เธอก็ชอบส่งรูปมาอวดนะคะ
“ฉันรู้สึกเหมือนว่าเราเติบโตไปพร้อมๆ กัน ได้เห็นว่าต่างฝ่ายต่างก็เติบโตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งค่ะ ไม่ว่าจะเรื่องซื้อบ้านใหม่ ซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่เข้าบ้าน หรืออย่างการได้เห็นอีกฝ่ายมีแฟน เหมือนเราผ่านอะไรหลายๆ อย่างมาคล้ายๆ กันเลย”
Sloane Stephens
สังเกตเห็นพัฒนาการด้านสไตล์การเล่นของอีกฝ่ายอย่างไรบ้าง
Madison: Sloane เป็นนักเทนนิสที่มีความไวมากที่สุดเท่าที่ฉันเคยเห็นมาในสนามเลยค่ะ เห็นแล้วต้องทึ่งเลย อย่างเวลามีคนเล่นลูกหยอดมา แค่พริบตาเดียวเธอก็ไปอยู่หน้าเน็ตแล้ว ทุกวันนี้เธอก็ยังคงวิ่งเข้าหาลูกอยู่นะคะ สมัยระดับเยาวชนเธอเล่นเกมรุกแบบสบายๆ เลย แล้วก็ได้แต้มตลอด แต่พอโตขึ้น เข้าถึงรอบลึกๆ ในทัวร์นาเมนต์ได้บ่อยขึ้น เธอก็เป็นคนที่บาลานซ์เกมของตัวเองได้เก่งทีเดียว รู้ว่าเมื่อไหร่ต้องคอยรับ เมื่อไหร่ต้องคอยรุก และจังหวะไหนต้องเล่นดุดันเพื่อคว้าชัย จังหวะไหนต้องคอยดึงเกมให้ช้าลง คือเธอหาจุดสมดุลในสไตล์การเล่นของตัวเองได้เก่งจริงๆ ค่ะ
Sloane: ต้องยกนิ้วให้เธอเลยค่ะ วิจารณ์ได้ดีมากๆ กดไลค์เลยค่ะ สำหรับ Madison ฉันคิดว่าเธอเล่นลูกเสิร์ฟได้เก่งขึ้นนะ ปกติ Madi จะเสิร์ฟหนักอยู่แล้ว แต่พอเราโตขึ้น แทนที่จะเน้นแรงในการหวดลูก เธอจะใช้หลายเทคนิครวมๆ กันมากขึ้น ซึ่งฉันก็คิดว่าเป็นอะไรที่ช่วยในฟอร์มการเล่นของเธอได้จริงๆ เพราะเธอเล่นลูกโฟร์แฮนด์ได้โหดมากๆ ค่ะ แล้วเมื่อเวลาผ่านไป เธอก็พัฒนาฝีมือจนมีสไตล์การเล่นเป็นของตัวเองที่ช่วยให้คว้าแชมป์ทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ได้ นี่แหละคือหนึ่งในสิ่งที่เจ๋งที่สุดในสไตล์การเล่นของเธอ ซึ่งก็คือลูกเสิร์ฟและลูกโฟร์แฮนด์ค่ะ
คุณเชียร์กันและกันอย่างไรบ้าง เวลาที่ตัวเองไม่ได้ลงแข่ง
Madison: มีหลายครั้งเหมือนกันค่ะที่คนหนึ่งต้องผิดหวัง ส่วนอีกคนโชว์ฟอร์มได้ดี สลับๆ กันไป แต่เราต่างก็ถนัดในการที่จะคอยให้กำลังใจกันและกันเมื่ออีกฝ่ายเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบาก เหตุผลหลักเลยก็คือพวกเราผ่านอะไรมาคล้ายๆ กันค่ะ
Sloane: แน่นอนค่ะว่าการบาดเจ็บเป็นอะไรที่แย่สุดๆ และฉันก็คิดว่าน่าจะช่วงก่อนรายการ US Open [ปี 2017] เป็นครั้งเดียวเลยมั้งคะที่เราทั้งคู่บาดเจ็บพร้อมกัน ซึ่งเราก็ต่างคิดกันว่าจะต้องทำอะไรกันต่อไปดี แบบว่า พวกเราจะกลับมาลงเล่นและโชว์ฟอร์มตอนลงแข่งได้เหมือนเก่าหรือเปล่า ฉันว่าครั้งนั้นแหละน่าจะเป็นครั้งเดียวเลยจริงๆ ที่เรา 2 คนบาดเจ็บในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องดีนะคะ
คุณมีทัศนคติอย่างไรในช่วงที่ต้องพักฟื้น และอะไรคือการตัดสินใจที่ผลักดันคุณให้ก้าวไปข้างหน้า
Madison: ฉันคิดว่าเราทั้ง 2 คนเคยผ่านช่วงเวลาต่างๆ กันมาแล้ว โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นที่ซึ่งทุกอย่างดูแย่ไปหมด และเราทั้งคู่ก็เคยมีอาการบาดเจ็บกันมาก็หลายครั้ง แต่พอโตขึ้น เราเก่งขึ้นด้วยในแง่ของการฟื้นตัวกลับมาสู้ต่อได้อย่างรวดเร็ว และตอบคำถามที่ว่า “ฉันจะต้องทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหานี้และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก” พวกเราเก่งกันมากเรื่องทำตัวให้ยุ่งสุดๆ ในช่วงที่กำลังบาดเจ็บ และคอยค้นหาสิ่งใหม่ๆ ที่เราสนใจ อย่าง Sloane ตอนบาดเจ็บนี่ก็ฉลุยเลยค่ะในเรื่องการเรียน แต่ฉันไม่ได้โหดขนาดนั้น ฉันเป็นแนวที่ว่าออกไปซื้อต้นไม้แล้วก็ใช้เวลาไปกับการเอาลงดินเพื่อปลูกมากกว่า คือ Sloane จะเป็นแนวเด็กเรียนแล้วก็เรียนจบด้วยนะคะ ส่วนฉันก็แบบว่า “โอเค เดี๋ยวไปหาซื้อเฟอร์นิเจอร์กับต้นไม้มาเพิ่มดีกว่า”
Sloane: ฉันไม่ชอบการบาดเจ็บเอาเสียเลย แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองได้ใช้เวลาคุ้มค่านะ ทำอะไรที่ปกติแล้วทำไม่ค่อยได้ทำ ต้องบอกว่าฉันบาดเจ็บมาแล้วทุกช่วงเวลาของปี มีครั้งนึงเป็นช่วงกลางปี ก็เลยได้ไปร่วมงานแต่งงาน ส่วนอีกรอบนึงมีอาการบาดเจ็บแปลกๆ ช่วงต้นปี ก็เลยได้หาอะไรทำ คือต้องใช้เวลาให้คุ้มค่ะ แน่นอนว่าบาดเจ็บรอบนึงก็อาจจะมีช่วงเวลาสักอาทิตย์นึงไปจนถึง 10 วันซึ่งจะเป็นช่วงที่ไม่แจ่มใสเอามากๆ หดหู่ แล้วก็น่าอารมณ์เสียนะคะ แต่แล้วพอพ้นช่วงนี้ไปก็จะเริ่มตั้งคำถามแล้วว่า “เอาล่ะ ตอนนี้ทำอะไรต่อดี” ฉันรู้สึกว่าในช่วงที่เกิดคำถามว่า “ตอนนี้จะทำอะไรดี” เนี่ย ฉันก็จะพยายามหาอะไรทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการถือโอกาสไปเที่ยวยาวๆ ในสถานที่ซึ่งไม่คิดว่าจะได้มีโอกาสไป หรือการแวะไปเยี่ยมเพื่อนๆ เยี่ยมครอบครัว
“เราต่างก็ถนัดในการที่จะคอยให้กำลังใจกันและกันเมื่ออีกฝ่ายเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบาก เหตุผลหลักเลยก็คือพวกเราผ่านอะไรมาคล้ายๆ กันค่ะ”
Madison Keys
คุณทั้งคู่ก็เคยทัวร์รายการแข่งต่างๆ มาแล้วหลายปีอยู่ อยากจะให้คำแนะนำอะไรกับนักกีฬารุ่นน้องที่ตอนนี้กำลังเริ่มตระเวนแข่งบ้างคะ
Madison: สนุกไปกับการแข่งและอย่าจริงจังกับผลแพ้ชนะมากเกินไปค่ะ เพราะแข่งๆ ไป ปีๆ นึงเนี่ย มันก็ต้องมีแพ้มีชนะเป็นเรื่องปกติ ยิ่งโฟกัสกับมันมากก็ยิ่งจะทำให้เครียดจนหัวระเบิดค่ะ ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเรายังมีเส้นทางสายอาชีพนี้อีกไกลนะ อะไรที่เราคิดว่าเป็นการแพ้แบบหมดรูปสุดๆ ก็อาจจะไม่ใช่ก็ได้ และอะไรที่เราคิดว่าเป็นชัยชนะแบบเทพๆ เลยเนี่ย ก็อาจจะไม่ใช่ได้เช่นกันค่ะ ดังนั้นจึงต้องมองอะไรๆ ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม
Sloane: ใช่เลยค่ะ แบบที่ Madi บอกเลย เราอาจจะคิดว่าแบบ “โห แพ้มา 5 แมตช์รวดแล้วนะเนี่ย” แต่พี่จะคิดว่า “ไม่ได้แล้วนะ ต้องงัดฟอร์มเก่งแล้ว” ขั้นต่อไปคือ [แพ้] 8 แมตช์รวด แล้วไปคว้าแชมป์รายการเมเจอร์ ต่อมาก็แพ้อีก 10 แมตช์ติดต่อกัน มันเหมือนวงล้อแฮมสเตอร์น่ะค่ะ เราต้องพยายามต่อไปเรื่อยๆ ลองคำนวณตัวเลขดูก็ได้ แล้วจะเริ่มมองออกมากขึ้น อย่างในรายการแกรนด์สแลม คนที่คว้าแชมป์ได้มีเพียงแค่คนเดียวใช่ไหมคะ แต่ลองหันมาดูสิว่าเข้าร่วมแข่งขันกันตั้งกี่คน
Madison: 128 ค่ะ
Sloane: ใช่เลย จากทั้งหมดนี่จะมีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะได้แชมป์ ถ้าเราไปถึงรอบรองฯ ได้ก็ถือว่าเยี่ยมแล้ว แต่ถ้าเข้าชิงฯ ได้ก็ถือว่าดียิ่งกว่าเสียอีก พี่คิดว่าเราลองคำนวณตัวเลขดูแล้วคิดว่า “ใครมันจะคว้าแชมป์ได้ทุกอาทิตย์” เนี่ยก็จะทำให้เรามองอะไรออกมาเป็นรูปธรรมได้มากขึ้น
สังคมปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงเวลาของการลุกฮือ แล้วไหนจะมีเรื่องของการระบาดใหญ่ทั่วโลกอีก เรากำลังสัมผัสกับการตื่นรู้ของคนในสังคม กำลังเห็นการเผยบทใหม่ของความเท่าเทียมทางสีผิวและความเป็นธรรมทางสังคม ในฐานะที่คุณทั้งคู่ได้ใช้เวทีของคุณในการเป็นกระบอกเสียงสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องในครั้งนี้ จึงอยากถามว่าทำไมการออกมาพูดถึงประเด็นเหล่านี้จึงมีความสำคัญสำหรับคุณ
Sloane: การที่ผู้คนออกมาสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มที่ตัวเองมีนั้นเป็นสิ่งสำคัญค่ะ เพราะเรื่องความไม่เท่าเทียมทางสีผิวนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องศึกษากันให้มาก จะเห็นเลยว่ามีเซเลบกับอินฟลูเอนเซอร์หลายคนใช้แพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อให้ข้อมูลความรู้กับคนอื่นๆ อย่างหลายเรื่องที่ฉันไม่เคยรู้ว่ามี หรือเรื่องที่ Madi ก็อาจจะไม่เคยรู้มาก่อน ฉันก็ได้รู้จากการนั่งดู Story [ใน Instagram] ของคนอื่นและจากสิ่งที่ผู้คนเอามาแชร์กัน การได้อ่านข้อมูลเหล่านี้และได้ศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองนั้นจะช่วยให้เรามองความเป็นไปจากอีกมุมหนึ่งได้ สังคมเปลี่ยนไปมากเลยค่ะ เพราะ [ตอนแรก] ผู้คนก็แค่อยากจะลงอะไรที่ตัวเองดูดีใน Instagram แต่ทุกวันนี้เราเริ่มเห็นกระแสเปลี่ยนไปเป็นลงข้อมูลความรู้ต่างๆ มากขึ้น ลงอะไรที่มันเป็นประเด็นสำคัญมากขึ้น อย่างเรื่องการลงคะแนนเลือกตั้ง
Madison: อยากจะเสริมว่า ที่กระแสทุกอย่างมันดูเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้นก็เพราะเราอยู่ในช่วงการระบาดใหญ่ทั่วโลกด้วยค่ะ คนก็เครียดและหงุดหงิดกันอยู่แล้ว แถมยังกังวลมากด้วย มันก็เลยมาลงกับการเริ่มต้นจุดกระแสเคลื่อนไหวครั้งใหญ่นี้ที่เรากำลังเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เราทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าเราจะไม่ทนอีกต่อไปแล้ว นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตของฉันเลยจริงๆ นะคะที่ได้เห็นคนกลุ่มใหญ่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “นี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ฉันอยากจะเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น และฉันจะต้องออกมาทำอะไรสักอย่างอย่างไม่ลดละ” หลายคนก็อยากที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ อย่างการออกมาแสดงความเห็น ออกมาพูดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ต่างคนต่างก็รู้สึกว่านี่แหละอาจจะเป็นอะไรที่สุดท้ายแล้วนำพาเราไปสู่จุดที่ไม่ต้องมาเห็นอะไรแบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
Madison คุณเป็นผู้ก่อตั้ง Kindness Wins ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่มุ่งสนับสนุนเรื่องความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจทั้งในและนอกคอร์ท Sloane คุณเองก็มีมูลนิธิ Sloane Stephens Foundation ซึ่งมุ่งเน้นด้านการศึกษา การฝึกซ้อมเทนนิส และเป็นแหล่งข้อมูลชุมชนสำหรับคนเจเนอเรชันถัดไป นอกจากนี้พวกคุณทั้งคู่ยังเป็นสมาชิก WTA Players Council ทำหน้าที่เป็นตัวแทนสนับสนุนนักเทนนิสเพื่อนร่วมอาชีพด้วย ความรักในการให้และการตอบแทนสังคมของพวกคุณมีที่มาจากอะไรบ้าง
Sloane: ฉันโตขึ้นมากับการเล่นเทนนิสในคลับ และประสบการณ์แรกที่มีก็ยอดเยี่ยมมากเลยค่ะ ฉันมีสุดยอดโค้ชคอยสอน เขาเป็นคนเฮฮามากค่ะ ทุกวันนี้ฉันมักพูดอยู่เสมอว่าเหตุผลที่ยังคงเล่นเทนนิสอยู่นั้นก็เพราะประสบการณ์แรกของตัวเองนี่แหละ ตอนนั้นคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่ฉันอยากย้อนเวลากลับไป คือแบบว่า “ให้ตายสิ ฉันอยากแวะไปหา Francisco จริงๆ เพราะเป็นคนสนุกสนาน ช่วงเวลาตอนนั้นก็ดีมากด้วย ฉันอยากเจอเพื่อนๆ จัง” ฉันรู้สึกได้ว่าประสบการณ์แรกในวัยเด็ก ไม่ว่าจะกิจกรรมอะไรก็ตาม มีความสำคัญมากๆ เสมอ อย่างถ้าออกจากบ้านไปเล่นเทนนิสครั้งแรก แล้วเจอโค้ชที่ไม่น่ารักเท่าไหร่ แถมยังเล่นไม่สนุกอีก เราก็อาจจะไม่หยิบไม้แร็คเก็ตขึ้นมาอีกเลย
เทนนิสให้อะไรในชีวิตฉันมากมายค่ะ ได้เดินทาง ได้พบเจอผู้คน แล้วก็ได้ทำอะไรดีๆ อีกตั้งหลายอย่าง ฉันก็เลยอยากจะส่งผ่านโอกาสในแบบเดียวกันนี้ไปให้กับเด็กๆ ที่ถ้าไม่ได้มาเข้าร่วมก็อาจจะไม่เคยหันมาสนใจการเล่นเทนนิสเลย แน่นอนว่าเทนนิสไม่ได้เป็นกีฬาที่ผู้เล่นมีความหลากหลายมากนัก ดังนั้นการที่สามารถทำให้เด็กๆ ที่โดยปกติแล้วไม่มี [ไม้แร็คเก็ต] ได้หันมาจับไม้แร็คเก็ตได้บ้าง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ฉันตั้งมูลนิธินี้ขึ้นมา ฉันอยากจะเห็นเด็กๆ ที่มีหน้าตาสีผิวเหมือนฉัน เมื่อมองมาที่ฉันแล้ว ได้เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าตัวเองก็เล่นเทนนิสได้เหมือนกัน และถึงแม้ว่าจะไม่ได้เล่นเทนนิสอาชีพ เล่นแค่กับทีมมัธยมปลายที่เรียนอยู่ก็ตาม เทนนิสก็เป็นกีฬาที่เล่นได้ตลอดชีวิต อย่างเวลาไปดูคลับสูงวัย เราก็จะเห็นคุณตาคุณยายอายุ 85 บ้าง 90 บ้างกำลังเล่นกันอยู่ เป็นอะไรที่น่าทึ่งมากนะคะเพราะเป็นกีฬาที่เล่นได้ตลอดชีวิตเลย แถมยังให้อะไรกับเราได้มากมายด้วย ฉันจึงอยากจะตอบแทนสิ่งนั้นกลับไปให้กับคนเจเนอเรชันถัดไป และให้กับเหล่าเด็กๆ ที่มีความหลากหลายให้มากขึ้นด้วย ที่โดยปกติแล้วไม่เคยคิดจะมาเล่นเทนนิสเลย
Madison: ฉันก่อตั้ง [มูลนิธิของฉัน] เพราะตอนแรกฉันเคยร่วมงานกับมูลนิธิ [อื่น] มาก่อนที่ชื่อ Fearlessly Girl และเป็นอะไรที่สำคัญมากในการปลูกฝังความเชื่อมั่นในตัวเองและคุณสมบัติด้านการเป็นผู้นำให้กับเด็กผู้หญิงระดับชั้นมัธยมต้นและปลาย ฉันเคยไปเยือนโรงเรียนมาหลายแห่ง พบปะกับน้องๆ นักเรียนหญิง ได้พูดคุยกัน และฉันก็ชอบทำมากๆ เลยค่ะ ก็เลยอยากจะขยายขอบเขตในจุดนี้ให้กว้างขึ้นมาอีกหน่อย ไม่ไปโฟกัสอยู่แต่เพียงกับกลุ่มน้องๆ นักเรียนหญิงชั้นมัธยมต้นและปลาย เพราะว่ามีผู้หญิงหลายคนเลยทั้งที่รุ่นราวคราวเดียวกับฉันและที่อายุมากกว่าซึ่งอยู่ในวัยทำงาน เข้ามาบอกว่า “คือว่าสิ่งที่เธอสื่อออกมาน่ะก็ยอดเยี่ยมอยู่นะ แต่พวกเราก็อยากได้เหมือนกัน พวกเราก็ต้องการเหมือนกัน” และฉันก็อยากจะทำให้นักกีฬาคนอื่นๆ ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิได้เข้าถึงได้จริงๆ เช่นกัน เพราะการตั้งมูลนิธิเป็นกระบวนการที่เรียกได้ว่าใหญ่อยู่เหมือนกันค่ะ ฉันอยากจะสร้างอะไรที่ให้ผู้คนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมได้ ซึ่งจะทำให้เราขยายวงสิ่งที่เราพยายามทำอยู่ได้ ฉันชอบแนวคิดของ Kindness Wins นะคะ เพราะเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างเข้าถึงได้ในวงกว้าง แถมยังตอบแทนสังคมได้ในหลากหลายรูปแบบอีกด้วย นั่นแหละค่ะคือวิธีการที่ดีที่สุดที่ฉันทำได้ในการช่วยโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้อีกนิด
“ฉันจึงอยากจะตอบแทนสิ่งนั้นกลับไปให้กับคนเจเนอเรชันถัดไป และให้กับเหล่าเด็กๆ ที่มีความหลากหลายให้มากขึ้นด้วย ที่โดยปกติแล้วไม่เคยคิดจะมาเล่นเทนนิสเลย”
Sloane Stephens
เทนนิสเป็นวงการที่ก้าวหน้ากว่าใครเพื่อนในเรื่องของความเท่าเทียมด้านรายได้ของทุกเพศ พวกคุณรู้สึกอย่างไรกับการที่ได้เริ่มต้นเส้นทางนักกีฬาอาชีพในวงการที่มีรากฐานวางไว้ให้อย่างมั่นคงแล้วคะ
Madison: เราทั้งคู่รู้สึกว่าโชคดีมากค่ะที่ข้อเรียกร้องหลายอย่างนั้นบรรลุผลสำเร็จแล้ว เราต้องขอบคุณ Billie [Jean King] และ Venus [Williams] มากๆ เลยค่ะที่ได้ทุ่มเทไปอย่างหนักเพื่อพวกเรา ถ้าเกิดไม่มีพวกเธอทั้ง 2 คน พวกเราทุกคนก็คงไม่ได้มาอยู่ในจุดที่ยืนกันอยู่ในปัจจุบันนี้แน่ๆ แต่เราก็ยังคงต่อสู้กันอยู่ต่อไปนะคะ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมที่มากขึ้น ความเท่าเทียมที่จะได้รับการยอมรับและเฉลิมฉลอง ดังนั้นแล้วเราจึงยังมาไม่ถึงเส้นชัยค่ะ แต่ก็อยู่ในจุดที่ดีมากๆ แล้วจริงๆ ในการที่จะพูดได้ว่า “จริงๆ เราสำเร็จแล้ว แต่ก็ยังสามารถเรียกร้องได้เพิ่มนะ” หรือ “มันทำให้เท่าเทียมกันมากกว่านี้ได้นะ” หรืออย่าง “มีอีกหลายต่อหลายคนที่จะตื่นเต้นกับเรื่องนี้นะ”
Sloane: ใช่เลยค่ะ ฉันรู้สึกว่าการได้เป็นสมาชิก [WTA Players] Council ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรมากมาย เกิดเป็นผู้หญิงชีวิตก็ยากอยู่แล้วค่ะ ไม่ได้รู้สึกว่าพวกเราได้รับความเท่าเทียม ไม่ได้รับเงินรางวัลในจำนวนที่เท่ากับรายการแข่งของผู้ชาย
ฉันคิดว่ามันเป็นงานที่ยังไม่จบค่ะ คือเราไม่เคยพูดได้เลยว่า “ค่ะ พวกเรารู้สึกดีมากกับสิ่งที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้” เพราะเราพยายามจะทำให้มันดีขึ้นอยู่เสมอ คอยต่อสู้เรียกร้องเพิ่มเติมอยู่ตลอด เราต้องการมากขึ้นกว่าเดิมอยู่ตลอด ฉันคิดว่านั่นคือส่วนสำคัญในการเป็นสมาชิก Council คือการต่อสู้เรียกร้องเพื่อคนที่โดยปกติแล้วไม่ได้อยู่ในจุดที่จะพูดได้ว่า “ค่ะ ขอดิฉันนำไปพิจารณานะคะ” พวกเธอรู้ดีว่าตัวเองก็ต้องการที่จะได้อะไรมากขึ้น และพวกเราก็มีหน้าที่ที่จะต้องออกไปเรียกร้องให้สำเร็จเพื่อพวกเธอ มันก็เลยเป็นอะไรที่เราต้องพยายามทำให้ดีขึ้นอยู่ตลอด ต่อสู้เรียกร้องให้มากขึ้นอยู่ตลอด และต้องรับประกันให้ได้ว่าทุกสิ่งที่พวกเราได้รับมานั้นเรียกได้ว่าเท่าเทียมกันจริงๆ ค่ะ
เรียบเรียงโดย Deidre Dyer
ภาพประกอบโดย Sarah Maxwell
รายงานเมื่อ: ตุลาคม 2020