คอร์ทคือบ้านของเรา
ชุมชน
กลุ่มวัยรุ่นผู้อพยพชาวซูดานในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียค้นพบความหวัง ตัวตน และมิตรภาพผ่านกีฬาบาสเก็ตบอล
“สามัคคีรวมใจ” คือซีรีส์เกี่ยวกับทีมกีฬาและสโมสรที่ท้าทายวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ในปัจจุบัน
มีเกมซ้อมแข่งข้างละ 3 คนจัดขึ้นที่คอร์ทบาสเก็ตบอล South Beach แห่งนครเพิร์ท ณ เมืองฟรีแมนเทิล (หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ฟรีโอ) เกมอาจจะดูเป็นเกมกระชับมิตร แต่คำหยอกล้อของผู้เล่นก็เผยถึงการเดิมพันครั้งใหญ่ นั่นคือใครแพ้ต้องเลี้ยงมื้อเย็น
“มื้อเย็นต้องอร่อยสุดๆ ไปเลย วู้ว!” เสียงจาก Chris Lako ดาวตลกประจำทีม (และยังเป็นผู้เล่นที่ตัวเล็กที่สุด นั่นทำให้เขาโดนแหย่อยู่บ่อยครั้ง)
Sebit Reath ผู้นำอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มนี้ยิ้มยิงฟันขณะถือลูกบาสในมือ “พวก ฉันอยากกินมิลก์เชก” หนุ่มวัย 22 ปีกล่าว Sebit เป็นผู้เล่นของมหาวิทยาลัยในฐานะผู้รับทุนการศึกษาบาสเก็ตบอล “แล้วเตรียมขุดเงินในกระเป๋าได้เลยเพราะฉันจะไปร้าน Nobu ด้วย!” แถมชายคนนี้ยังมีรสนิยมชอบกินอาหารญี่ปุ่นราคาแพง
“นายไม่ได้แอ้มมื้อเย็นจากเงินของฉันหรอก จะไปไหนก็ไป!” Chudier Lap วัย 21 ปีโต้กลับ เขาเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่อายุน้อยกว่าคนอื่นๆ ของกลุ่ม
“เราไปกินบาร์บีคิวได้ใช่เปล่า” Ngor Manyang วัย 25 ปี หนึ่งในเพื่อนร่วมทีมของ Sebit เสนอ สำเนียงของเด็กกลุ่มนี้ฟังแล้วรู้เลยว่ามาจากออสเตรเลีย ถึงกระนั้น รูปคำรูปประโยคที่พวกเขาใช้ยังคงสะท้อนถึงถิ่นกำเนิดที่ติดตัวมา ทุกคนที่อยู่บนคอร์ทคือผู้อพยพจากประเทศซูดานใต้และมาอาศัยอยู่ในเมืองทางตะวันตกของเพิร์ทตั้งแต่เด็ก
จากซูดานใต้เป็นระยะทางครึ่งโลก เด็กหนุ่มจากต่างแดนกลุ่มนี้ดูโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด เพราะ Sebit สูงถึง 208 ซม. แต่เหตุผลจริงๆ ที่ทำให้คนดูต้องตะลึงงันคือการได้เห็นทักษะฝีมือขั้นสูงแบบชิดขอบสนามอย่างที่น้อยคนนักจะมีโอกาส นักบาสกลุ่มนี้ถ้าคนไหนไม่เป็นมืออาชีพ ก็คงจะได้เป็นในอีกไม่ช้า แต่สำหรับวันนี้ ทุกคนมารวมตัวกันเพราะความรักในกีฬาบาสเก็ตบอล (และอาหาร) เท่านั้น
Sebit เลี้ยงบอลหลบฝั่งตรงข้ามจากปีกซ้าย พุ่งตัวไปที่ห่วง แล้วทำแต้ม ทีมใส่เสื้อนำไป 4 แต้ม ได้เวลาพักดื่มน้ำ
จากฝั่งซ้าย: Chudier, Ngor และ Chris คุยเล่นกันพลางยืดเส้นยืดสายก่อนลงแข่ง
เราแทรกตัวเข้ามากลางวงแล้วชวนคนในทีมพูดคุยถามสารทุกข์สุขดิบ ไม่ว่าจะเป็น Sebit หรือ Chuatwech น้องชายของเขาวัย 19 ซึ่งเล่นให้ทีมในลีก National Basketball League ของท้องถิ่น รวมไปถึง Ngor เพื่อหาคำตอบว่ากีฬาชนิดนี้ให้โอกาสพวกเขาได้เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัวเองให้คุณค่ามากที่สุดอย่างไร
เราพูดคุยถึงความรักต่อบาสเก็ตบอล กีฬาที่เปรียบเสมือนใบเบิกทางสู่อิสรภาพและชัยชนะ
จากซูดานใต้มาถึงเพิร์ท อะไรที่ทำให้ครอบครัวต้องออกเดินทาง
Chuatwech: ผมเกิดในเมืองวัตของซูดานใต้ และเป็นเพราะสงครามกลางเมือง ครอบครัวของเราจึงต้องอพยพมาที่ออสเตรเลียตอนผมอายุ 3 ขวบ
คิดว่าที่ไหนคือบ้านของตัวเอง
Chuatwech: ออสเตรเลียมีบทบาทสำคัญในชีวิตของผม และผมซาบซึ้งกับทุกๆ โอกาสที่ได้รับ แต่ผมจะผูกพันกับซูดานใต้ไปตลอด ที่นั่นจะเป็นบ้านของผมเสมอ และผมรู้สึกได้ถึงสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งต่อบรรพบุรุษของผมที่นั่น
จากฝั่งซ้าย: Chat, Nyanen, Chol, Sebit, Dinaay, Thomas, Nyadang และ Chuatwech Reath ที่บ้านของพวกเขาในเขตเอลเลนบรูก รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย
การเล่นกีฬาในระดับสูงช่วยขยายฐานคนรู้จักในหมู่คนออสเตรเลียให้กว้างขึ้นอย่างไร
Chuatwech: ออสเตรเลียทำให้ผมรู้ว่าจะทำอะไรโดยไม่ลงทุนลงแรงไม่ได้ การทำงานหนักคือตัวเลือกเดียวถ้าคุณต้องการหลุดพ้นจากสถานการณ์ลำบาก ผมดิ้นรนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า เพื่อทำให้การย้ายถิ่นฐานจากซูดานใต้มาที่ออสเตรเลียคุ้มค่า หวังว่าวันหนึ่งผมจะได้กลับไปที่ซูดานใต้และไปเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ที่นั่นให้ดีขึ้นเพื่อทุกคน
Sebit: ผมรู้สึกว่าตัวเองทำได้ค่อนข้างดีกับการเล่นกีฬา เหมือนกับว่าตัวเองได้มีส่วนร่วมมากขึ้น ผมว่าการเล่นกีฬานี่แหละที่ช่วยดึงดูดให้มีคนเข้าหา
ทำไมถึงเป็นบาสเก็ตบอล
Ngor: เราน่าจะเป็นหนึ่งในชนเผ่าที่ตัวสูงที่สุดในโลก [ชนเผ่า Dinka แห่งซูดานใต้] ความสนใจของเราเอียงไปทางบาสเก็ตบอลอยู่แล้วเพราะเราได้เปรียบในการเล่น ด้วยส่วนสูงและความเป็นนักกีฬาที่เรามี
Sebit: หลักๆ เลยเป็นเพราะพี่ชายผม ผมอยากเล่นกับพี่น่ะ เราทำทุกอย่างด้วยกัน บาสเก็ตบอลคือหนึ่งในสามเสาหลักของชีวิต ซึ่งมีโรงเรียน ครอบครัว แล้วก็บาสเก็ตบอล
Chuatwech: พี่ๆ 2 คนเล่นด้วยกัน ไปลงสนามกันทุกสุดสัปดาห์ ผมก็อยากเล่นด้วยบ้าง เลยเลิกเล่นฟุตบอลแล้วหันมาเล่นบาสเก็ตบอลแทน ซึ่งพอขึ้น ป.4 ก็เริ่มซ้อมหนักขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้ผมกำลังพยายามขึ้นเป็นมืออาชีพ แล้วก็วางแผนชีวิตตามเป้าหมาย นอกจากเรื่องนี้ผมก็ไม่ได้คิดเรื่องอื่นเลย
จากฝั่งซ้าย: Chris, Ngor และ Chudier หัวเราะจากเบาะหลังระหว่างเดินทางไปคอร์ทบาสเก็ตบอล South Beach
มาตั้งกลุ่มกันได้อย่างไร
Chuatwech: เรารู้จักกันมาหลายปีแล้ว ครอบครัวของเราต่างรู้จักกัน เราได้เล่นด้วยกันตั้งแต่เด็ก จากนั้นก็มีคนตั้งทีมเพื่อลงแข่งในลีก South Sudanese Australian National Basketball Association ทีมชื่อ Perth Rhinos ซึ่งได้ยุบตัวไปเมื่อปี 2018 แต่เราคิดว่าทีมของเราตอนนี้คือการสืบทอดมาจากทีมนั้น
รู้สึกอย่างไรกับการได้เล่นให้ทีมนี้
Sebit: มันทำให้ผมไม่สนใจเสียงจากภายนอกเลย เมื่อเราอยู่ด้วยกันแล้วเรื่องอื่นก็ไม่ได้สำคัญอะไร เพราะว่าบาสเก็ตบอลคือกีฬาที่ต้องเล่นให้สอดประสานกัน ทุกคนต้องเข้าใจตรงกันก่อนถึงจะสำเร็จได้ เรามีเถียงกันบ้าง แต่ก็ไม่ติดใจแล้วลุยด้วยกันในเกมต่อไป มันคือทีมเวิร์ก เรื่องพวกนี้ทั้งหมดทำให้มิตรภาพเข้มแข็งยิ่งขึ้น
Ngor: ผมรู้สึกถึงความผูกพัน เหมือนได้รับพลังบวกอะไรแบบนั้น รู้สึกถึงแรงสนับสนุนมากมายจากการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม เพราะเราคอยหนุนหลังกันและกันจริงๆ ไม่ว่าจะอยู่จุดไหน
Chuatwech: เหมือนได้อยู่กับครอบครัว ใครมีปัญหาอะไร บอกคนในกลุ่มได้เลย คนไหนก็ได้ การแข่งในเกมไม่ได้ราบรื่นอยู่แล้ว และไม่มีใครอยากแพ้ แต่บาสเก็ตบอลคือกีฬาที่เล่นเป็นทีม ต้องมียอมกันบ้างเวลาเสียงแตก ซึ่งเวลาเจอเหตุการณ์อะไรแบบนี้ เราจะได้ฝึกแก้ปัญหา เพราะทุกคนต้องมาคุยกันว่าจะทำอะไร
Ngor ฉุด Bang ให้ลุกขึ้นยืนหลังจากโดนทำฟาวล์
คนในทีมเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์จากการเป็นแค่ผู้เล่นในทีมเดียวกันได้อย่างไร
Ngor: เราให้กำลังใจกันและกัน ซึ่งช่วยทำให้พวกเราแข็งแกร่งได้มาก เวลาเล่นด้วยกัน เรามองว่าถ้าใครประสบความสำเร็จ ทุกคนในทีมก็สำเร็จไปด้วย นี่แหละสิ่งที่ผมชอบในกีฬาเล่นเป็นทีม
Sebit: การเล่นด้วยกันเป็นเครื่องยืนยันมิตรภาพของเรา การได้ทะเลาะกันแล้วคืนดีกันทำให้มิตรภาพเข้มแข็งยิ่งขึ้น
ครอบครัว Reath ใช้เวลาร่วมกันระหว่างมื้อเที่ยงที่บ้าน
คุณจะอธิบายสไตล์การเล่นและจุดแข็งของคุณอย่างไร
Ngor: จุดแข็งของผมคือการชู้ต ผมเป็นหนึ่งในคนทำแต้มที่มีพรสวรรค์มากที่สุด
Sebit: ผมถนัดหลายตำแหน่งและได้เรื่องส่วนสูง จะให้ชู้ตจากตรงนี้ก็ทำได้
Chuatwech: ผมมีความเร็วกับความเป็นนักกีฬา ผมไม่กลัวที่จะต้องส่งบอลให้เพื่อน ผมชอบเวลาชนะ ดังนั้น อะไรที่ทำแล้วชนะผมทำหมด
ใครเล่นเก่งที่สุดในทีม
Sebit: (น้ำเสียงจริงจัง) ผมว่าผมนี่แหละ
Chuatwech: (น้ำเสียงจริงจัง) พี่ชายผม
จากฝั่งซ้าย: Chris, Bang และ Chudier ขึ้นแย่งรีบาวด์
กลับไปที่คอร์ท และเกมก็เริ่มจะดุเดือด เสียงของพวกเขาลั่นดังทั่วคอร์ทอย่างว่องไวตามจังหวะการส่งบอล
“มันไม่อยากชู้ต!”
“ยัดลงห่วงไปเลย!”
“โย่ รู้สึกไงบ้างล่ะที่ตัวเตี้ยเท่านี้”
“อย่างนั้นแหละ ไหนดูหน่อยว่าเจ๋งแค่ไหน!”
คนที่อยู่คอร์ทข้างๆ หยุดเล่นแล้วมาเกาะกลุ่มกันรอบสนามเพื่อดูการเล่นระดับโปรของทีมแบบชิดขอบ การชื่นชมยอมรับของคนดูต่อทักษะความสามารถของพวกเขานั้นคือหลักฐานบ่งบอกว่าเด็กหนุ่มกลุ่มนี้กลายเป็นฮีโร่ของเมืองไปเรียบร้อยแล้วผ่านการเล่นบาสเก็ตบอล
เกม 11 แต้มที่เล่นกันต่อเนื่องจบลงที่ 4–3 เซ็ต โดยทีมของ Sebit เป็นฝ่ายชนะ ซึ่งในฐานะ MVP ของการแข่ง Sebit ใช้เวลาเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้คำแนะนำแก่เด็กๆ ที่นั่งดูพวกเขาเล่นตลอดการแข่ง
จากนั้นทีมก็มุ่งหน้าไปที่ชายหาดเพื่อพักเหนื่อยท่ามกลางลมทะเลของฟรีแมนเทิล หรือคนแถวนี้เรียกกันว่า Freo Doctor (หมอเมืองฟรีโอ) เนื่องจากอากาศชายทะเลอันสดชื่นช่วยบรรเทาความร้อนระอุของอากาศออสเตรเลียช่วงหน้าร้อนลงได้ เมื่อพวกเขาลงมาถึงหาดทราย คุณหมอ Freo Doctor ก็เริ่มพัดโบกรอบตัว ทุกคนวิ่งปะทะคลื่น เล่นไล่จับ หยอกล้อกัน แล้วทิ้งตัวบนผืนทรายพร้อมเสียงหัวเราะ
จากฝั่งซ้าย: Chris, Chudier และ Bang พักเหนื่อยหลังจบเกมที่ South Beach
คนแพ้สัญญากับคนชนะไว้ว่าเดี๋ยวจะพาไปกินเบอร์เกอร์หรือสเต็กซี่โครง แม้ชัยชนะจะสำคัญที่สุดเวลาแข่ง แต่ก็ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญเลย เพราะสำหรับเด็กหนุ่มกลุ่มนี้ บาสเก็ตบอลคือภาษาที่ใช้สื่อสาร คือเลนส์ที่พวกเขาใช้มองโลก คือคุณค่าของชีวิต ส่วนสเต็กซี่โครงก็เป็นแค่ของแถมรสชาติอร่อยเท่านั้น
เรียบเรียงโดย Aarti Betigeri
ภาพประกอบโดย Chris Gurney
รายงานเมื่อ: ตุลาคม 2020