เลือกช็อปรองเท้าวิ่งแบบมือโปร

การโค้ช

ความพอดี ลักษณะการก้าว และรูปแบบการใส่ใช้งาน ทุกองค์ประกอบสำคัญที่ต้องรู้สำหรับการเสาะหาคู่เก่งประจำตัวคุณโดยเฉพาะ เรารวมมาไว้ให้ที่นี่แล้ว

อัพเดทล่าสุด: 21 กรกฎาคม 2564
วิธีการเลือกรองเท้าวิ่งคู่ที่ใช่

ความจริงก็คือ มีรองเท้าที่ทำให้คุณอยากออกวิ่งอยู่จริงๆ เป็นรองเท้าที่จะรองรับคุณตลอดการวิ่งหลายร้อยกิโลเมตร เป็นผู้พิทักษ์เท้าให้คุณ และอาจจะทำให้การออกกำลังกายในแต่ละครั้งหรือทุกๆ ครั้งดีขึ้นด้วย เป็นรองเท้าที่ทำให้คุณรู้สึกราวกับว่ากำลังทุ่มเทเพื่อคุณอยู่

แล้วจะหารองเท้าคู่ที่เหมาะกับเราให้เจอได้อย่างไรล่ะ “คุณควรเลือกรองเท้าที่ปกป้องและรองรับรูปทรงเท้าที่ไม่เหมือนใครของคุณ” Ian Klein นักสรีรวิทยาการออกกำลังกาย ผู้เชี่ยวชาญด้านครอสเทรนนิ่งและการป้องกันการบาดเจ็บประจำ Ohio University กล่าว สิ่งแรกที่ต้องทำคือการไม่เลือกรองเท้าจากการรีวิวหรือหน้าตา (ถึงแม้หน้าตาจะสำคัญก็ตาม) พยายามทุ่มเทในการค้นหาสไตล์ที่ใช่ให้พบ และถ้าอยากรู้ว่าต้องทำอย่างไร อ่านต่อได้เลย

1. ตัดตัวเลือก

ข้อนี้ทำได้ง่าย เรารู้กันอยู่แล้วว่าถ้าคุณจะวิ่ง ก็ต้องใส่รองเท้าที่ผลิตมาเพื่อการวิ่ง ไม่ใช่รองเท้าสำหรับเทรนนิ่ง (หรือสำหรับการเดิน หรือไลฟ์สไตล์) เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเลือกซื้อรองเท้าทางออนไลน์หรือหน้าร้าน ให้ตรงดิ่งไปหารองเท้าประเภทที่ต้องการเลย

รองเท้าวิ่งดีไซน์มาเพื่อการเคลื่อนไหวเป็นเส้นตรง และควรมีระบบลดแรงกระแทกพร้อมให้ความรู้สึกสบาย เพื่อที่จะช่วยรองรับคุณได้เสมอขณะเคลื่อนไหวในรูปแบบดังกล่าว Emily Hutchins โค้ช Nike Run Club จากชิคาโกกล่าว ส่วนรองเท้าเทรนนิ่งนั้นจะให้ความมั่นคงเพื่อการเคลื่อนไหวหลากหลายทิศทาง เช่น เวลาทำท่าย่อตัว ท่าเหยียดขางอเข่า และท่าสลับด้านข้าง

2. ใส่ใจเรื่องสัมผัส

รองเท้าคู่ที่รู้สึกว่าใช่พอดีนั้นควรให้สัมผัสราวกับว่าเป็นส่วนเสริมตามธรรมชาติของร่างกายคุณ “ถ้ารองเท้าใส่ไม่สบาย คุณก็รอสัมผัสกับความไม่สบายในทุกย่างก้าวที่ลงเท้าได้เลย” Chris Bennett ผู้อำนวยการอาวุโสแห่ง Nike Running Global หรือที่รู้จักในชื่อโค้ช Bennett กล่าว ซึ่งจะไปทำให้ร่างกายต้องปรับท่าทางในการวิ่ง ส่งผลต่อลักษณะการก้าวย่างตามธรรมชาติได้ และเขาเสริมว่า อาจนำไปสู่การบาดเจ็บที่ตามมา

ลองไปร้านขายรองเท้าวิ่งโดยเฉพาะที่วิเคราะห์ลักษณะการก้าวย่างของคุณได้เพื่อรับคำแนะนำที่เจาะจง (ซึ่งกำลังจะกล่าวถึงในส่วนถัดไป) โดยขณะที่พนักงานให้คุณลองใส่รองเท้าหลายๆ รุ่น ต้องไม่ลืมว่าความสบายเท้าคือสิ่งที่สำคัญที่สุด “ถ้าคนอื่นแนะนำรองเท้าคู่ที่คุณใส่แล้วรู้สึกไม่สบายเท้า ก็ขอให้คุณเชื่อในสัญชาตญาณตัวเอง” Kate VanDamme นักกายภาพบำบัดและผู้เชี่ยวชาญทางคลินิกออร์โธปิดิกส์ที่ NYU Langone Health Sports Performance Center กล่าว เพราะท้ายที่สุดแล้ว คนที่รู้ดีกว่าใครว่ารองเท้ามีสัมผัสที่ใช่หรือเปล่าคือตัวคุณเอง

ตัวอย่างเช่น รองเท้าสำหรับการทรงตัวอาจเป็นคู่ที่เหมาะสมเมื่อดูจากลักษณะการบิดของเท้า แต่คู่ที่คุณเคยลองใส่อาจจะกัดหรือทำให้เท้ารู้สึกอบอ้าว Lee Welch แพทย์กายภาพบำบัดที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการบาดเจ็บของรยางค์ล่างในนักวิ่ง และเจ้าของร่วมของ The Running PTs กล่าว ให้ลองใส่รองเท้าเดินรอบๆ ร้าน (ถ้าใส่ทดสอบบนลู่วิ่งได้จะยิ่งดีมาก) หรือให้ซื้อกับร้านที่มีนโยบายคืนหรือเปลี่ยนสินค้าแบบผ่อนปรน เพื่อที่คุณจะทดสอบรองเท้าได้มากขึ้นที่บ้าน

“คุณควรเลือกรองเท้าที่ปกป้องและรองรับรูปทรงเท้าที่ไม่เหมือนใครของคุณ”

Ian Klein
นักสรีรวิทยาการออกกำลังกาย

3. รู้ว่าต้องใส่ไซส์อะไร

เมื่อพูดถึงรองเท้าแล้ว ไซส์ถือเป็นเรื่องสำคัญ

การสวมคู่ที่เล็กเกินไปอาจทำให้คุณลงเอยด้วยตุ่มพองและเล็บเท้าช้ำ ส่วนการวิ่งในรองเท้าคู่ที่ใหญ่เกินไปจะทำให้เท้าเคลื่อนไปมาจนรองเท้าซับแรงกระแทกไม่ได้และช่วยให้ดีดตัวออกจากพื้นอย่างเต็มที่ไม่ได้

สำหรับการสวมใส่ที่พอดี “รองเท้าควรจะเหลือที่ว่างเล็กน้อยระหว่างนิ้วเท้ากับส่วนปลายรองเท้า” Lee Welch กล่าว “นั่นเป็นเพราะรองเท้าดีไซน์มาเพื่อให้โค้งรับใต้อุ้งเท้า ไม่ใช่ส่วนอื่นก่อนถึงอุ้งเท้า” คุณควรจะขยับนิ้วเท้าไปมาได้เช่นกัน แต่ถ้าขยับนิ้วเท้าไม่ได้เลยก็แปลว่ารองเท้าคู่นั้นเล็กเกินไปสำหรับคุณ Welch กล่าว

คำแนะนำจากมือโปร: ไม่ว่าคุณจะอยู่ในร้านหรือสั่งซื้อทางออนไลน์ ต้องอย่าลืมลองใส่รองเท้าหลังวิ่งเสร็จหรือในช่วงเย็น เท้าคนเราจะบวมขึ้นในระหว่างวัน และบวมในแบบเดียวกันระหว่างการวิ่ง Welch กล่าว ถ้าลองรองเท้าก่อนออกกำลังกายหรือในช่วงเช้าตรู่ คุณอาจจะได้รองเท้าที่คับมากเกินไป

4. คำนึงถึงปัญหาเกี่ยวกับเท้า

กายวิภาคของรูปเท้าและวิธีที่คุณวิ่งนั้นส่งผลต่อการเลือกรองเท้าคู่ที่ดีที่สุด นี่คือวิธีรับมือกับบางปัญหาที่พบบ่อย

  • การบิดเท้าออกด้านนอกหรือการบิดเท้าเข้าด้านใน
    ทุกคนจำเป็นต้องมีการบิดของเท้าบ้างในระดับหนึ่ง โดยเมื่อเราวิ่ง เท้าจะขยับไปในตำแหน่งที่บิดออก (หมุนเข้า) โดยธรรมชาติในจังหวะลงพื้น จากนั้นเท้าจะบิดเข้าด้านใน (หมุนออก) เมื่อนักวิ่งดันเท้าออกจากพื้น VanDamme อธิบาย การบิดตามธรรมชาติเช่นนี้จะช่วยให้เราเคลื่อนเท้าได้รวดเร็วและวิ่งไปตามพื้นผิวที่ไม่เท่ากันได้ Welch กล่าว และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “นี่เป็นวิธีที่ร่างกายคนเราซับแรงกระแทกเพื่อไม่ให้ตัวเองบาดเจ็บ”

    ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อบิดเท้ามากเกินไป การที่เท้าบิดออกด้านนอกหรือลักษณะที่เท้าเอียงเข้าด้านในจนเกินไปจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรครองช้ำ เอ็นต้นขาด้านข้างอักเสบ กลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท ปวดเข่า หรืออาการกล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบ Welch กล่าว แต่ถ้าเท้าบิดเข้าด้านใน ข้อต่อของเท้าจะไม่เคลื่อนไหวเพื่อซับแรงกระแทก และน้ำหนักตัวส่วนใหญ่จะลงไปที่กรอบนอกของเท้า ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการกระดูกหักล้าได้ VanDamme กล่าว อาการบาดเจ็บเหล่านี้อาจทำให้ออกไปวิ่งไม่ได้เลยเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนๆ ดังนั้นจึงต้องหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด

    ผู้ที่เท้าบิดออกด้านนอกอาจเลือกรองเท้าสำหรับการทรงตัวที่มีพื้นรองเท้าชั้นกลางที่แน่นกว่า ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เท้าทรุดมากเกินไป VanDamme กล่าว ส่วนผู้ที่เท้าบิดเข้าด้านในนั้นจะเดินเหินได้ดีกว่าเมื่อใส่รองเท้าทั่วไป ซึ่งจะช่วยลดแรงกระแทกและซับแรงกระแทกได้มากกว่า (แต่ช่วยรองรับน้อยลง)

  • เท้าแบนหรืออุ้งเท้าสูง
    ถ้าคุณมีเท้าแบน ให้ลองมองหารองเท้าที่รองรับได้มากขึ้นอีกนิด Welch กล่าว แต่ในทางกลับกัน คนที่มีอุ้งเท้าสูง “จะใส่แบบไหนก็ได้ที่ต้องการ และวิ่งได้ดีในรองเท้าทั่วไป” เขาบอก

  • โรครองช้ำ
    โรครองช้ำคือการบาดเจ็บที่พังผืดใต้ฝ่าเท้า ซึ่งเป็นแผ่นเนื้อเยื่อแข็งแรงที่ทอดยาวตลอดส่วนกลางเท้าและทำหน้าที่รองรับอุ้งเท้า Klein กล่าว โรคนี้มักเกิดขึ้นเมื่อมีแรงกดมากระทำมากเกินไป เช่น การเทรนนิ่งมากเกินไป หรือการเพิ่มระยะทางในการวิ่งขึ้นอย่างกะทันหัน การอักเสบแบบนี้มักก่อให้เกิดลักษณะอาการปวดร้าวที่ใต้ฝ่าเท้า ตั้งแต่ส้นเท้าไปจนถึงปลายเท้า

    ถ้าอาการรองช้ำของคุณไม่รุนแรง และ/หรือตรวจเจอและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ปกติแล้วจะกลับไปวิ่งต่อได้ตราบเท่าที่คุณไม่วิ่งเกินระยะ ถ้าเป็นในกรณีนี้แล้ว “ยิ่งรองเท้ารองรับได้มากขึ้นก็ยิ่งดี” VanDamme กล่าว รองเท้าที่ให้ความมั่นคงและลดแรงกระแทกเป็นพิเศษที่ส้นจะช่วยลดอาการเจ็บได้

5. คิดถึงการใช้งานหลัก

“สำหรับการวิ่งสบายๆ ในทุกๆ วัน รองเท้าทั่วไปที่มีระบบลดแรงกระแทกบ้างก็ตอบโจทย์แล้ว” Jason Fitzgerald โค้ชที่ผ่านการรับรองของ USA Track & Field หัวหน้าโค้ชของ Strength Running และผู้จัดรายการ The Strength Running Podcast กล่าว รองเท้าทั่วไปส่วนใหญ่จะมีทั้งระบบลดแรงกระแทกและการตอบสนองที่ดีซึ่งจะช่วยให้การวิ่งระยะไกลเป็นไปอย่างสบายยิ่งขึ้น แต่ก็ยังให้การส่งแรงกลับที่เพียงพอเมื่อคุณอยากเร่งความเร็ว

เมื่อลงแข่งหรือออกกำลังกายเพื่อความเร็ว โค้ช Bennett บอกว่ารองเท้าที่เบากว่าจะช่วยได้มาก (เวลาที่ต้องการวิ่งแบบใส่เต็มแรง ยิ่งเท้ารับน้ำหนักน้อยในแต่ละก้าวก็ยิ่งดี) “รองเท้าวิ่งแข่งพื้นเรียบช่วยให้นักวิ่งรู้สึกถึงพื้นได้ดี พร้อมทั้งช่วยให้ดีดตัวออกจากพื้นได้อีกด้วย” Robyn LaLonde โค้ช Nike Run Club จากชิคาโกกล่าว

ถ้าวิ่งทางวิบาก ก็อาจต้องการรองเท้าวิ่งเทรลสักคู่เพื่อช่วยให้วิ่งได้ดียิ่งขึ้นบนพื้นผิวที่เต็มไปด้วยรากไม้ กรวดทราย ก้อนหิน รวมถึงพื้นผิวที่นิ่มกว่าและไม่ราบเรียบ LaLonde กล่าว รองเท้าประเภทนี้มีพื้นรองเท้าที่ทนทานและฐานที่กว้างกว่า พร้อมดอกยางที่ยึดเกาะพื้นได้มากขึ้นเพื่อความหนึบในการเกาะที่ดียิ่งขึ้น คุณอาจจะลองมองหารองเท้าวิ่งเทรลที่กันน้ำหรือทนน้ำด้วยก็ได้เช่นกัน แบบที่มีส่วนหุ้มข้อเท้าเพื่อป้องกันเศษฝุ่นเศษดิน แต่ถ้าจะไปวิ่งเทรลในเส้นทางที่เต็มไปด้วยหินหรือเป็นทางชันเป็นพิเศษ LaLonde ก็แนะนำให้เลือกรองเท้าที่มีแผ่นรองหินติดเข้ากับพื้นรองเท้าชั้นกลาง ซึ่งจะช่วยปกป้องเท้าของคุณจากการสะดุดโดยไม่คาดคิดและการลงเท้าที่ผิดแปลก จึงช่วยให้วิ่งบนทางวิบากได้ง่ายยิ่งขึ้น

รู้ว่าควรเปลี่ยนรองเท้าเมื่อใด

คุณได้รับรู้วิธีการต่างๆ ในการค้นหารองเท้าที่เหมาะกับคุณแล้ว เยี่ยมไปเลย อย่างไรก็ดี คุณอาจต้องทบทวนข้อมูลเหล่านี้อีกครั้งในอนาคตอันใกล้ “รองเท้าก็คล้ายกับกล้ามเนื้อ” Klein อธิบาย “เมื่อกล้ามเนื้ออ่อนล้า การทำงานของกล้ามเนื้อก็จะเริ่มสูญหาย ดังนั้นเมื่อรองเท้าเสื่อมสภาพหรือสึกหรอ ความสมบูรณ์ของโครงสร้างรองเท้าก็จะหายไปและไม่สามารถใช้งานได้ดีดังเดิม”

คุณจะใช้งานรองเท้าวิ่งส่วนมากได้อย่างปลอดภัยในระยะทางราวๆ 500-800 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับวิธีการวิ่งของคุณ Welch กล่าว แต่การก้าวยาวเกินเข่า การบิดเท้ามากเกินไป และการลงน้ำหนักไปด้านหน้าหรือด้านหลังของรองเท้ามากเกินไปก็ทำให้พื้นรองเท้าชั้นนอกสึกได้ไวยิ่งขึ้น เขากล่าวเสริม

วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้รู้ว่าควรเปลี่ยนรองเท้าแล้วหรือยัง คือการดูว่าความรู้สึกขณะใส่เป็นอย่างไร Fitzgerald กล่าว “ลองถามตัวเองดูว่ารองเท้ายังช่วยรองรับและลดแรงกระแทกให้เท้าและขาส่วนล่างเหมือนเดิมอยู่หรือไม่” เขาบอก ถ้าไม่เหมือนเดิมหรือถ้าคุณเห็นสัญญาณที่แสดงถึงการสึกหรอตรงพื้นรองเท้า เขาเสริมว่า ถึงเวลามองหาคู่ใหม่แล้ว

ถ้าคุณโชคดี รองเท้าที่มีสไตล์ที่คุณชอบอาจยังมีเหลือให้คุณได้ซื้อคู่ใหม่ แต่ถ้ารุ่นนั้นได้รับการเปลี่ยนโฉม คุณคงอาจจะต้องลองใส่ดูเพื่อเช็คว่าความพอดีที่เปลี่ยนแปลงไปยังใช้งานได้ดีสำหรับคุณหรือไม่ แต่ข่าวดีก็คือ ในเมื่อคุณได้อ่านบทความนี้จนครบถ้วนแล้ว คุณก็ทราบแล้วว่าต้องมองหารองเท้าแบบใด

นำไปใช้เป็นข้ออ้างเพื่อช็อปปิ้งเลย

เรียบเรียงโดย Ashley Mateo
ภาพประกอบโดย Justin Tran

วิธีการเลือกรองเท้าวิ่งคู่ที่ใช่

รับประโยชน์ที่มากขึ้น

เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านการเคลื่อนไหว รวมถึงทัศนคติ โภชนาการ การฟื้นกำลัง และการนอนหลับ

รับประโยชน์ที่มากขึ้น

เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านการเคลื่อนไหว รวมถึงทัศนคติ โภชนาการ การฟื้นกำลัง และการนอนหลับ

เผยแพร่ครั้งแรก: 24 มิถุนายน 2563