จัดการความอยากอย่างมืออาชีพ

การโค้ช

บทความนี้ไม่ได้บอกให้ "เลิกกินของหวานหรือของเค็ม" แต่บอกให้ "เรียนรู้วิธีการหักห้ามใจและบรรลุตามเป้าหมายการกินให้เป็นประโยชน์อยู่เสมอ"

อัพเดทล่าสุด: 29 มิถุนายน 2565
ใช้เวลาอ่าน 7 นาที
  • พึ่งตนเองด้วยการตระหนักว่าสิ่งกระตุ้นและภาวะการขาดสารอาหารสำคัญๆ (Nutrition Gap) อาจช่วยให้คุณควบคุมความอยากได้
  • อยากกินก็กินเลย เคล็ดลับคือ ให้ใช้ระบบให้คะแนนเพื่อประเมินว่าสิ่งนั้นทำให้คุณพึงพอใจมากน้อยแค่ไหนก่อนจะกินต่อ
  • กินอาหารให้หลากหลาย โฟกัสกับตัวเลือกมากมายที่คุณกินได้แทนที่จะโฟกัสสิ่งที่กินไม่ได้ และรักษาความสม่ำเสมอไว้เพื่อเป้าหมายระยะยาว


อ่านต่อเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม…

5 เคล็ดลับในการจัดการความอยากอาหาร โดยอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญ

1. ช็อกโกแลต
2. ไอศกรีม
3. เฟรนช์ฟรายส์
4. พิซซ่า
5. คุกกี้

ใครที่อ่านเมนู 5 ข้อนี้แล้วเริ่มน้ำลายสอหรือมีเสียงร้องโครกครากดังจากกระเพาะ เราถือว่าคุณเป็นคน "อ่านง่าย" มากๆ เพราะมีงานสำรวจบอกว่า เมนูพวกนี้คืออาหารลำดับต้นๆ ที่มักจะกระตุ้นต่อมความหิวของคนได้อยู่หมัด

ว่าแต่ความอยาก (Craving) คืออะไรกันแน่ แล้วเจ้าความอยากนี้มันเกิดจากอะไร มาเจาะลึกในรายละเอียดกันเลยดีกว่า เพื่อที่คุณจะหยุดยั้งไม่ให้ความอยากทำลายความมุ่งมั่นในการกินให้เป็นประโยชน์ที่สุดรวมถึงความก้าวหน้าโดยรวม

เข้าใจแรงขับที่นำไปสู่ความอยาก

ถ้าจะให้พูดง่ายๆ ความอยากอาหารหรืออาการอยากอาหารคือความรู้สึกว่าตัวเองต้องการกินอะไรสักอย่างมากๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันหรือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ยอมหยุด นอกจากนี้ เมนูที่เรา "อยาก" ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่เทรนเนอร์ โค้ช หรือหมอประจำตัวเห็นแล้วอดหน้านิ่วคิ้วขมวดไม่ได้อีกด้วย Katherine Haysbert ที่ปรึกษาด้านโภชนาการที่ผ่านการรับรอง และ Natural Chef (เชฟอาหารเพื่อสุขภาพ) ที่ผ่านการรับรอง กล่าวว่า ความอยากมักจะเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกหิว ซึ่งแปลว่าระดับน้ำตาลในเลือดและพลังงานของร่างกายอยู่ในระดับต่ำ และเมื่อ 2 ปัจจัยนี้เกิดขึ้น เราจะถูกกระตุ้นให้อยากกิน อย่างไรก็ตาม นอกจากตอนท้องหิวแล้ว ความอยากยังเกิดขึ้นเวลาท้องอิ่มได้เช่นกัน (จัดเมนูซุป-สลัด-แซนด์วิชแบบคอมโบไปเต็มท้องแล้ว แต่ยังซัดคุกกี้ช็อกโกแลตชิพชิ้นใหญ่เข้าไปอีก เคยเป็นเหมือนกันใช่ไหม?)

เมื่อเราจำนนต่อความอยากนี้ สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาคือความรู้สึก "ควบคุมตัวเองไม่ได้" ซึ่งในบางแง่มุม นั่นเป็นเพราะคุณควบคุมตัวเองไม่ได้จริงๆ Krista Scott-Dixon, PhD ผู้อำนวยการฝ่ายหลักสูตรที่ Precision Nutrition อธิบายว่า ร่างกายเรามีสิ่งที่เรียกว่าระบบเฮโดนิก (Hedonic) หรือระบบตามหาความพอใจ ซึ่งทำงานควบคู่กับความอยากอาหาร และทำให้การเลือกกินของเราเป็นการตัดสินใจที่ยึดโยงกับ "รางวัล" ซึ่งอาจได้จากอาหารบางชนิด

ความอยากอาจเกิดขึ้นเพราะร่างกายของเราต้องการสารบำรุงหล่อเลี้ยง เช่น ถ้ามีใครอดข้าวเช้า ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาคนคนนั้นจะเริ่มน้ำลายสอเวลาได้เห็นแซนด์วิชวางซ้อนกันเป็นตั้งๆ อย่างไรก็ตาม ความอยากส่วนใหญ่มักจะเชื่อมโยงกับเรื่องทางจิตวิทยาด้วยเช่นกัน ซึ่ง Scott-Dixon มักจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ยาสลบทางอารมณ์" (Emotional Anesthetic) หรือ ความสบายใจที่ได้รับจากอาหารบางชนิด ตัวอย่างเช่น เป็นเรื่องปกติที่เวลากินคุกกี้แล้วจะได้ความอร่อยหรือรู้สึกฟิน แต่สำหรับบางคนที่ตอนเด็กๆ เคยอบคุกกี้ การกินจะทำให้ย้อนนึกถึงความสุขในอดีตด้วย

5 เคล็ดลับในการจัดการความอยากอาหาร โดยอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญ

แล้วทำไมต้องอยากกินของไม่มีประโยชน์

สงสัยไหม ทำไมเวลาอยากอาหาร เราถึงไม่เคยหยิบแครอทหรือเมล็ดอัลมอนด์มากินเลย ทั้งๆ ที่ปกติตัวเองก็เป็นคนดูแลสุขภาพการกินค่อนข้างดี (แต่ถ้าคุณทำ เก่งมาก ปรบมือให้เลย) นั่นเพราะนอกจากเรื่องความสบายใจที่ได้กินแล้ว Haysbert กล่าวว่า ความอยากนี้ยังมักจะเกิดขึ้นเมื่อภาวะธํารงดุล (Homeostasis) หรือสมดุลของร่างกายเกิดความผิดปกติอีกด้วย และในสภาวะดังกล่าวเราก็มักจะเลือกอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงเพราะเป็นแหล่งเติมพลังงานที่รวดเร็วนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ใครที่เคยเหนื่อยใจเพราะกินแท่งลูกกวาดหรือของทอด แล้วเผลอแปบเดียวก็กลับมาหิวอีกรอบ คงจะรู้อยู่แล้วว่าการเติมพลังแบบนี้ไม่ค่อยยั่งยืนเท่าไหร่นัก

ซ้ำร้าย Scott-Dixon กล่าวว่า สภาะนี้ยังอาจจะทำให้เราแยกแยะความต้องการกับความชอบออกจากกันไม่ได้ จนสุดท้ายต้องมารู้สึกผิดกับตัวเองทีหลังด้วย เพราะบางครั้งเราอยากกินอาหารก็จริง แต่พอได้กินกลับรู้สึกไม่พอใจอย่างที่หวังไว้ สมองก็จะไม่รับรู้ "รางวัล" ที่ได้จากการกินของเรา การเลี่ยงไม่ให้เกิดสภาวะความสับสนดังกล่าวจึงเป็นทางหนึ่งที่เราทำได้ เพื่อแยกแยะและเลือกอยากเฉพาะกรณีที่ทำให้รู้สึกดี ไม่ใช่ทำให้แย่ลง

ต่อไปนี้เป็นวิธีรับมือความอยาก รวมถึงวิธีควบคุมความอยากกินอื่นๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ

1. กินดีให้บ่อยที่สุด

ความอยากที่เรามักจะเจอบ่อยๆ ส่วนมากจะมาจากร่างกายที่พยายามส่งสัญญาณว่า "ฉันอยากได้อันนี้แล้วนะ เมื่อไหร่จะได้ซะที" Haysbert กล่าวว่า ครั้งถัดไปที่เราเจอสัญญาณแบบนี้ ลองใช้เวลาสังเกตตัวเองแล้วหาว่ากำลังเจอความรู้สึกแบบไหนอยู่ คุณอาจจะเจอภาวะขาดสารอาหารตัวหลักๆ ที่กำลังบอกให้ร่างกายเชื่อว่าเป็นปัญหาร้ายแรงและต้องรีบแก้ปัญหาเพื่อที่จะมีชีวิตรอด ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณต้องให้ความสนใจ ในกรณีนี้ให้กินคาร์บ ไขมันดี และโปรตีนในสัดส่วนที่สมดุล โดยอาหารที่กินส่วนใหญ่จะต้องเป็นอาหารจากธรรมชาติหรือมีการแปรรูปน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ถ้าความอยากนี้ไม่หายไป แต่ยังมาเรื่อยๆ ไม่หยุด ลองปรึกษานักโภชนาการเพื่อหาทางออก ความอยากอาจไม่หายไปทันที แต่เมื่อพยายามไปเรื่อยๆ คุณจะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง

2. นอนให้เยอะขึ้น

Scott-Dixon กล่าวว่า การนอนหลับถือเป็นฟันเฟืองตัวหลักในระบบเผาผลาญของร่างกาย งานวิจัยบางส่วนให้ข้อมูลว่า การนอนหลับไม่เพียงพออาจไปเร่งการทำงานของระบบเฮโดนิก ซึ่งทำให้ความอยากกินของเรามากขึ้นจนบางครั้งอาจทำให้กินมากเกินพอดี การฝึกตัวเองให้นอนหลับอย่างเพียงพอ (อย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อคืนตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ) จะช่วยรักษาระบบเผาผลาญของร่างกายให้ทำงานได้อย่างราบรื่นและทำให้มีโอกาสเกิดความอยากนี้น้อยลง

3. อย่าแก้ความอยากทางอ้อม

เวลาอยากกินชิปส์ (มันฝรั่งทอดกรอบ) คุณอาจจะเคยหักห้ามใจด้วยการเปลี่ยนไปซื้อเวจจี้สติ๊กส์ แล้วต่อด้วยเพรตเซล แต่สุดท้ายก็ยอมแพ้แล้วกลับมากินชิปส์อยู่ดี โดยที่ตัวเองก็รู้ว่าถ้าซื้อชิปส์มากินแต่แรกคงไม่ต้องมานั่งเครียดหรือรับแคลอรี่โดยไม่จำเป็นแบบนี้ Haysbert อธิบายว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย เพราะสิ่งที่คุณพยายามกินกับรางวัลที่สมองกำลังไล่ตามไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และการอดอาจส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้า วังวนที่สุดท้ายก็กลับมาอีหรอบเดิมแบบนี้สามารถหยุดลงได้ด้วยการกินไปเลย อะไรที่อยากกิน อะไรที่หยุดคิดถึงไม่ได้ แต่จะต้องกินโดยคำนึงถึงข้อต่อไปนี้ควบคู่ด้วย

4. ตรงๆ กับตัวเอง

ถ้าอยากแยกแยะระหว่างความต้องการกับความชอบให้ได้ คุณจะต้องซื่อสัตย์กับตัวเองให้มากที่สุดก่อน ตอบตัวเองตรงๆ ว่าอาหารที่อยากกินสุดใจ ถ้ากินไปแล้วจะตอบสนองความพอใจได้จริงหรือไม่ โดย Scott-Dixon กล่าวว่า ให้เริ่มจากกินช้าๆ เพื่อสำรวจตัวเอง ลิ้มรสชาติของอาหารให้เต็มที่ แล้วสังเกตตอนกำลังเคี้ยวว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นตรงกับความคาดหวังที่มีมากหรือไม่ ลองให้คะแนนความพอใจดูว่าจาก 5 คะแนน ความพอใจอยู่ที่ 4 หรือเต็ม 5 หรือจริงๆ แล้วไปทาง 2 กับ 3 ซึ่งถ้าคะแนนได้ไม่มาก ก็ไม่ต้องกินต่อ (แล้วจำความรู้สึกนี้ไว้เพื่อให้ตัวคุณแน่วแน่ต่อไปในอนาคต) แต่ถ้าคะแนนได้เต็มหรือเกือบเต็ม งั้นก็เอาเลย เอนจอยกับการกินให้เต็มที่ คิดซะว่าเป็นการทำตามหน้าที่ ไม่ใช่การละเลย อย่าลืมว่าการกินอาหารอร่อยๆ เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ และยังถือว่าคุณได้รักตัวเองด้วย Haysbert ย้ำ

5. กินให้กว้างขึ้น

ประเด็นหนึ่งที่ Haysbert คิดว่าน่าสนใจคือ เวลาที่เราตั้งกฎให้ตัวเองอย่างเข้มงวดว่าอะไรกินได้ อะไรห้ามกิน แล้วใช้กฎนี้กับอาหารทุกๆ จานที่กิน กฎพวกนี้จะทำให้เรารู้สึกเป็นมนุษย์หรือรักตัวเองน้อยลง และอาจมีส่วนที่ทำให้เกิดความอยากได้ Haysbert จึงเสนอว่า ความอยากจะเกิดขึ้นน้อยลงถ้าหากอาหารที่เรากินมีความหลากหลาย เพราะร่างกายจะพอใจเมื่อได้รับสารอาหารที่หลากหลายมากขึ้นจากอาหารหลากหลายรูปแบบ เธอเสริมต่อไปว่า เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนเราที่จะอยากได้สิ่งที่ตัวเองบอกว่า "ห้าม" Haysbert แนะนำให้ลองเปลี่ยนมามองอีกแบบ ดูว่าอาหารทั้งหมดที่ตัวเองกินได้มีอะไรบ้าง (เช่นให้นึกภาพ "สลัดธัญพืชที่ใส่ผักและโปรตีนเต็มจาน" แทนที่จะมองว่า "โปรตีน 1 อย่างแล้วเครื่องเคียงอีก 2") แล้วค่อยๆ ขยายตัวเลือกการกินให้กว้างขึ้นด้วยการลองเมนูใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ครบถ้วนกระบวนความแล้ว เท่านี้คุณก็ไม่ต้องกลัวพลาดเรื่องอาหาร รู้สึกว่าทำตามเป้าหมายด้านโภชนาการได้ง่ายขึ้น และสร้างความก้าวหน้าได้เรื่อยๆ แบบนี้มีใครจะไม่ "อยาก" บ้างล่ะ

เรียบเรียงโดย Brooke Slade
ภาพประกอบโดย Davide Bonazzi

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

หากต้องการคำแนะนำด้านโภชนาการในชีวิตจริงเพิ่มเติม ลองดูไลบรารีที่รวบรวมบทความและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการโดยตรงเลย

เผยแพร่ครั้งแรก: 2 พฤษภาคม 2565