วิธีการตั้งอยู่ในสติให้มากขึ้น (โดยไม่ต้องทำสมาธิ)
การโค้ช
เรียนรู้การควบคุมสติ แล้วนำไปใช้พัฒนาการออกกำลังกาย ความสัมพันธ์ และสุขภาพ
รูปที่อัพใน Instagram คือคุณนั่งสบายๆ อยู่ในท่าหลังตรง หลับตา เพ่งสมาธิจดจ่ออยู่กับลมหายใจอย่างสงบ ปล่อยวางสิ่งรอบข้าง แต่ในความเป็นจริงก็คือคุณเอาแต่ขยับตัวไปมาเพื่อทำยังไงก็ได้ให้คลายความปวดที่จี๊ดขึ้นมาตรงหลัง และสิ่งที่คุณจดจ่อจริงๆ มีอยู่อย่างเดียวคือเสียงเอี๊ยดอ๊าดน่ารำคาญสุดๆ ของพื้นห้อง ถ้าแบบหลังฟังดูคุ้นๆ ล่ะก็ นี่แหละคือการทำสมาธิ ดูเหมือนจะง่าย แต่พอทำจริงก็ยากพอตัว และสำหรับใครหลายคนแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายเลยจริงๆ
ข่าวดีก็คือการทำสมาธิไม่ใช่หนทางเดียวที่จะทำให้จิตใจคนเราปลอดโปร่ง คลายความเครียด และรู้สึกสงบขึ้น เย็นขึ้น และนิ่งขึ้น สิ่งสำคัญสำหรับเป้าหมายของการทำสมาธิคือการสอนให้คุณตั้งอยู่ในสติมากขึ้น แต่ว่าก็ยังมีวิธีอื่นๆ อีกในการบรรลุเป้าหมายนั้นและให้ได้มาซึ่งประโยชน์ตามที่กล่าวมา
“ความสงบตั้งอยู่ในสติคือการฝึกใจให้จดจ่อ” Nick Wignall, PhD นักจิตวิทยาคลินิกประจำ Cognitive Behavioral Institute of Albuquerque กล่าว “เป็นกล้ามเนื้อจิตใจมัดที่ช่วยให้เรา ‘ลดเกียร์ลง’ ได้ จากเกียร์สูง อย่างการแก้ปัญหา ลงมาเป็นเกียร์ต่ำ อย่างการเฝ้าสังเกต”
ถ้ากล้ามเนื้อมัดดังกล่าวไม่แข็งแรง พอเจออะไรนิดอะไรหน่อยคุณก็จะว่อกแว่กได้ง่าย Wignall บอก แต่ถ้ามีการฝึกและมีความแข็งแรง คุณก็จะควบคุมอารมณ์ได้ง่ายขึ้นและเอาอยู่ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการคงความใจเย็นไว้เมื่อต้องโต้เถียง หรือการจับจังหวะโฟลว์ของคุณในยิม โดยเขาอธิบายว่า “เมื่อพูดถึงความสุขสมบูรณ์ การเสริมประสิทธิภาพ และการมีความสัมพันธ์ที่ดี ก็แทบจะนึกไม่ออกเลยว่าจะมีกล้ามเนื้อจิตใจมัดอื่นมัดไหนที่สำคัญกว่ามัดนี้”
“ความสงบตั้งอยู่ในสติคือการฝึกใจให้จดจ่อ เป็นกล้ามเนื้อจิตใจมัดที่ช่วยให้เรา ‘ลดเกียร์ลง’ ได้ จากเกียร์สูง อย่างการแก้ปัญหา ลงมาเป็นเกียร์ต่ำ อย่างการเฝ้าสังเกต”
Nick Wignall
นักจิตวิทยาคลินิกประจำ Cognitive Behavioral Institute of Albuquerque
ความสงบตั้งอยู่ในสตินั้นส่งผลดีเยี่ยมต่อสุขภาพกายด้วยเช่นกัน Dan Siegel, MD กล่าว เขาคือศาสตราจารย์คลินิกสาขาจิตเวชศาสตร์ประจำ UCLA School of Medicine และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของ Mindsight Institute ในลอสแอนเจลิส โดย Siegel อธิบายว่า เมื่อมีการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ความสงบตั้งอยู่ในสตินี้จะไปลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลลงได้ ทั้งยังลดความดันโลหิตสูงและคอเลสเตอรอลได้ด้วย ช่วยให้ร่างกายควบคุมอาการอักเสบได้ดีขึ้น ซึ่งจะไปช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและการฟื้นกำลังด้วย “ความสงบตั้งอยู่ในสติยังช่วยซ่อมแซมและรักษาส่วนปลายของโครโมโซมได้ด้วย ซึ่งเป็นการช่วยชะลอวัย”
นี่คือเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ที่จะช่วยให้คุณเสริมสร้างกล้ามเนื้อจิตใจมัดนี้ได้โดยไม่ต้องทำสมาธิเลย
- หายใจเมื่อตื่นนอน
เมื่อนาฬิกาปลุกดังขึ้น ก็ให้ลืมตา แล้วคอยสังเกตการหายใจ “ไม่ต้องไปคิดถึงวิธีการหายใจ แต่ให้ตระหนักรู้ถึงความรู้สึกนั้นก็พอ” Wignall กล่าว การทำเช่นนี้เป็นสิ่งแรกจะช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าจะไม่ลืม และยังเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีไปตลอดวันอีกด้วย
แน่นอนว่าคุณจะถูกรบกวนสมาธิอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางทีอาจคิดถึงอาหารเช้าหรือรายการที่ต้องทำ แต่เขาบอกว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหาเลย “เป้าหมายคือคุณไล่ตามใจที่ลอยไปได้ทันหรือไม่ แล้วจะดึงความสนใจกลับมาจดจ่อที่ลมหายใจได้หรือไม่” ลมหายใจของคนเราก็คือจังหวะในตัวของร่างกายที่พร้อมตอบสนองทุกความต้องการเสมอ ทุกครั้งที่เรากลับมาจดจ่อกับลมหายใจ เราก็ได้ฝึกตัวเองให้เลือกฟังเสียงดนตรีภายใน แทนที่จะไปฟังเสียงอื่นใดในโลกภายนอก
- ทำสมาธิในยามที่น่าเบื่อ
แทนที่จะมัวแต่ใจลอย ลองหันมาเริ่มใส่ใจกับสิ่งที่อยู่รอบข้าง Wignall ยกตัวอย่างว่า ถ้ากำลังขับรถอยู่ ก็ให้ “สัมผัสถึงแรงสั่นสะเทือนบนท้องถนน รับรู้สีของท้องฟ้า พยายามสังเกตสิ่งต่างๆ โดยไม่ต้องไปคิดถึงสิ่งนั้นมาก” เขากล่าว คุณก็ทำเช่นนี้ได้เช่นกันเวลาล้างจาน (รับรู้ถึงความอุ่นของน้ำและน้ำหนักของจาน) เวลาแปรงฟัน (ตระหนักรู้ถึงความรู้สึกของขนแปรงบนฟันและเหงือก) หรือเวลามองออกไปนอกหน้าต่าง (สังเกตดูเพื่อนบ้านที่กำลังพาสุนัขไปเดินเล่น) การฝึกตัวเองให้เป็นคนช่างสังเกตมากขึ้น แม้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีอะไรให้น่าตื่นเต้น นานวันเข้าก็จะทำให้คุณตั้งอยู่ในสติยิ่งขึ้นได้
- ลองสแกนกายดู
เริ่มจากปลายด้านหนึ่งของร่างกาย สมมติว่าเริ่มจากเท้า ให้จดจ่อไปยังความรู้สึกที่นิ้วเท้า ไล่ขึ้นมาตามส้น ข้อเท้า หน้าแข้ง หัวเข่า ฯลฯ จนถึงปลายบนสุดที่ศีรษะ Wignall บอกว่า โดยธรรมชาติแล้ว ไม่ได้มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับความรู้สึกที่เข่า สะโพก หรือไหล่เลย แต่แนวคิดก็คือความรู้สึกทางกายภาพเป็นการรับรู้ภายใน และการจดจ่อกับความรู้สึกเหล่านั้นจะช่วยให้เราพักสมองได้ การเพ่งสมาธิจดจ่อนั้นเป็นหัวใจสำคัญในการตัดเสียงรบกวนออกไปในทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นความคิดของตัวเองหรือเสียงเอี๊ยดอ๊าดของพื้นห้อง
แผนในระยะยาว
ประเด็นสำคัญคือตัวอย่างข้างต้นนั้นไม่ต่างอะไรจากการวิดพื้นระหว่างช่วงพักโฆษณา หรือการขึ้นบันไดแทนใช้ลิฟต์เลย โดยผู้เชี่ยวชาญของเราบอกว่า เช่นเดียวกับที่การออกกำลังกายจำเป็นต่อการมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง คุณก็ต้องคอยฝึกทุกวันเป็นประจำ หรือแทบทุกวันเช่นกัน เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งประโยชน์เต็มที่ของความสงบตั้งอยู่ในสติที่มีต่อทั้งจิตใจและร่างกาย
เช่นเดียวกับการบริหารร่างกาย เราเลือกรูปแบบได้หลากหลายและนำมา “ครอสเทรนนิ่ง” ได้ บางวันอาจสังเกตลมหายใจก่อนอาหารเช้าและสแกนร่างกาย ส่วนวันถัดมาอาจเป็นการทำสมาธิจริงๆ แบบมีเสียงแนะนำ โดยให้เริ่มต้นด้วยช่วง 5 นาทีแบบง่ายๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาที่ทำ (Wignall บอกว่าเป้าหมายที่ดีคือ 20 นาที)
ฟังดูเหมือนจะยากใช่ไหม Wignall บอกว่า การฝึกนี้ควรจะยากไม่ต่างจากการเทรนนิ่งที่ได้ประสิทธิภาพใดๆ “สิ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่ล้มเลิกไปคือคนเราวาดภาพเอาไว้ว่าความสงบตั้งอยู่ในสตินั้นเป็นเครื่องมือเพื่อการผ่อนคลายหรือทำให้ใจปลอดโปร่ง” เขากล่าว แต่ประโยชน์ที่จะได้รับนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเลยทันที แต่จะไปเกิดขึ้นในภายหลัง “ความสงบตั้งอยู่ในสติไม่ได้สงบอะไรไปมากกว่าการเล่นท่ายกน้ำหนักที่ม้านั่งซึ่งยก 150 ปอนด์เลย การฝึกดังกล่าวจะได้ผลเพราะว่าต้องทุ่มเท ไม่ต่างจากกล้ามเนื้อที่จะแข็งแรงขึ้นได้เพราะคุณคอยออกกำลัง” เขาบอก “แต่ละครั้งที่ใจว่อกแว่ก ต้องคอยสังเกตให้ได้ และดึงความสนใจกลับมายังปัจจุบัน นี่คือการฝึกเรื่องความสงบตั้งอยู่ในสติ และหากไม่ฝึก คุณก็จะเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดนี้ไม่ได้”
เมื่อใดก็ตามที่หงุดหงิด ต้องอย่าลืมว่า การพบกับความยากลำบากเมื่อทำสมาธิ หรือเมื่อทำท่าย่อตัวเหยียดขาเดียว ท่าดึงข้อ หรือใช้ทักษะออกแรงทักษะใดก็ตามที่คุณยังทำได้ไม่ดีนัก ถือเป็นสัญญาณที่ดี โดย Wignall บอกว่า เพราะนั่นหมายความว่าคุณกำลังจัดการกับจุดอ่อนอยู่ “ผมพบว่า หากเรามองให้ได้อย่างนี้จริงๆ เราก็จะเข้าใจในสิ่งนี้ได้อย่างรวดเร็วครับ”