ความจำของกล้ามเนื้อช่วยเร่งพัฒนาการได้อย่างไร
การโค้ช
กล้ามเนื้อสามารถจดจำความแข็งแรงที่เพิ่มขึ้นเมื่อเดือนก่อนได้ แม้หลังจากนั้นคุณจะไม่ได้ออกกำลังกายอีกเลย มาลองกระตุกความจำนั้นกันที่นี่เลย
สมองไม่อาจจดจำข้อมูลบางอย่างไว้ได้ตลอด เช่น หมายเลขบัตรเครดิต (ซึ่งจำได้ก็ดี) หรือหาแว่นกันแดดไม่เจอ (ทั้งที่คาดไว้บนศีรษะ) แต่คุณยังอาจจำวิธีเล่นสกีได้อยู่ แม้ไม่ได้ไปลานสกีมาเป็นปีๆ แล้วก็ตาม หรือจำวิธีทำท่าล้อเกวียนได้ แม้จะไม่ได้เล่นยิมนาสติกมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็กเลยก็ตาม
ความสามารถที่ร่างกายจดจำสิ่งที่เคยทำค้างไว้ได้เรียกว่า ความจำของกล้ามเนื้อ แต่กล้ามเนื้อไม่ได้จำอะไรได้จริงๆ เป็นสมองของคุณที่เก็บทักษะของกล้ามเนื้อเอาไว้ “เวลาออกท่าเคลื่อนไหวบางอย่างซ้ำไปมา คุณกำลังฝึกระบบกล้ามเนื้อร่วมประสาทของตัวเองไปด้วย จนกระทั่งระบบประสาทส่วนกลางเรียนรู้ที่จะออกท่าเคลื่อนไหวนั้นในลักษณะที่ประสานงานกันได้อย่างลื่นไหลโดยที่คุณไม่ต้องเสียเวลาคิดเลยค่ะ” Heather Milton, CSCS นักสรีรวิทยาการออกกำลังกายทางคลินิกวิชาชีพและหัวหน้างานที่ศูนย์ NYU Langone Health Sports Performance Center (แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะละเลยกับการใส่ใจฟอร์มของตัวเองได้นะคะ Milton เสริม)
แม้ความจำของกล้ามเนื้อจะอยู่ในสมองเป็นหลักอย่างที่เรารู้ แต่ล่าสุดนักวิจัยค้นพบว่ามีความจำของกล้ามเนื้อบางจำพวกที่เก็บอยู่ในกล้ามเนื้อโดยตรง หรือที่เรียกว่าความจำแบบอีพิเจเนติกส์ (Epigenetic Memory) ความจำลักษณะนี้จะเก็บอยู่ในกล้ามเนื้อเมื่อกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ ผ่านการฝึกความแข็งแรง ด้วยเหตุนี้ ดีเอ็นเอของกล้ามเนื้อจะสร้างสายเส้นใหม่ขึ้นมาตอบสนองกับสิ่งที่คุณโยนไปให้ โดยจะพัฒนาเนื้อเยื่อให้แข็งแรงพร้อมสำหรับสิ่งที่จะได้รับในอนาคต อันที่จริง งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Medicine & Science In Sports & Exercise นั้นพบว่ากล้ามเนื้อเก็บความทรงจำได้จริงในระดับโมเลกุล แม้จะผ่านเซสชันการเทรนนิ่งแบบมีแรงต้านมานานสูงสุด 20 สัปดาห์ ซึ่งนี่จะช่วยให้พัฒนาการของคุณรวดเร็วขึ้นแม้จะหยุดเข้ายิมไป (นานประมาณหนึ่ง) ก็ตาม
ฟังแล้วรู้สึกว่าดีเกินจริงใช่ไหม ลองดูนี่ ในงานวิจัยที่ผู้เข้าร่วมต้องฝึกความแข็งแรงให้กับขาเพียงข้างเดียวสัปดาห์ละ 3 ครั้งเป็นเวลา 10 สัปดาห์ จากนั้นต้องหยุดการเทรนนิ่งไปเป็นเวลา 5 เดือน ทีมวิจัยพบว่าขาข้างที่เคยออกกำลังมาก่อนมีความแข็งแรงมากกว่าขาข้างที่ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างมีนัยสำคัญ มากจนกระทั่งสามารถยกน้ำหนักได้มากขึ้น 10-25 เปอร์เซ็นต์ Marcus Moberg เจ้าของงานวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Swedish School of Sport and Health Sciences ที่สตอกโฮล์มกล่าว ดังนั้น หากคุณห่างเหินจากการยกน้ำหนักและรับไม่ได้ที่จะต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น จำไว้ว่า คุณอาจไปได้ไกลว่าเดิมถึง 25% เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียวเมื่อเทียบกับตอนเริ่มต้นใหม่ๆ บนเส้นทางการเทรนนิ่งของคุณ
งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Medicine & Science In Sports & Exercise พบว่ากล้ามเนื้อเก็บความทรงจำได้จริงในระดับโมเลกุล แม้จะผ่านเซสชันการเทรนนิ่งแบบมีแรงต้านมานานสูงสุด 20 สัปดาห์
ทีม Moberg ยังได้เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อจากกล้ามเนื้อของผู้เข้าร่วมทั้งในเวลาทันทีหลังจากผ่านช่วงเทรนนิ่ง 10 สัปดาห์และในเวลา 5 เดือนต่อมาหลังจากออกกำลังกายครั้งสุดท้าย สิ่งที่ค้นพบในขาของผู้ที่ผ่านการเทรนมาแล้วคือ ระดับยีนและโปรตีนที่ระบุได้ว่ามีปริมาณมากขึ้นนั้น เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ สุขภาพ และการเจริญเติบโต รวมไปถึงความทนทานของกล้ามเนื้อ ซึ่งถือว่านำมาใช้อธิบายความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้
หากมองในมุมนี้ จะดูเหมือนว่าสมองกับกล้ามเนื้อทำงานร่วมกัน Moberg กล่าว สมองจะกักเก็บทักษะกล้ามเนื้อต่างๆ เอาไว้ ขณะที่กล้ามเนื้อจะรอการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างที่จะช่วยซ่อมแซมและฟื้นฟูความแข็งแรงที่เคยถดถอยให้กลับคืนมาอย่างรวดเร็วขึ้น
เรื่องนี้ไม่ใช่ข้ออ้างให้คุณเลิกเล่นดัมเบลล์แล้วเอาเก็บเข้าตู้ไปเลย เพราะการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่หยุดออกกำลังกายไปนั้นยังเป็นความจริงอยู่ ถึงแม้ผลที่เกิดขึ้นจะค่อนข้างขึ้นอยู่กับประเภทกิจกรรมและระดับความแข็งแรงของร่างกายก่อนหยุดไปก็ตาม Milton กล่าวว่า สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว ขีดความสามารถในการใช้ออกซิเจนจะหายไปบางส่วนภายใน 1 สัปดาห์ ขณะที่ทักษะฝีมือจากการฝึกความแข็งแรงนั้นจะมีเวลาเสื่อมถอยนานกว่าและส่งผลต่างกันไปในคนแต่ละคน แต่ไม่ว่าคุณจะรามือจากการออกกำลังกายไป 1 สัปดาห์หรือ 5 เดือนก็ตาม ขอให้รู้ไว้ว่า “หากคุณเคยเทรนมาก่อน เป็นไปได้มากที่คุณจะไม่เสียทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยทำมาค่ะ” Milton กล่าว “ตอนนี้คุณอยู่ที่ไหนสักแห่งระหว่างความแข็งแรงสูงสุดที่มีได้กับพื้นฐานร่างกายตั้งแต่แรกสุด” ดังนั้น… ตอนนี้ก็ไม่ได้เท่าไหร่หรอก
แต่เมื่อรู้ข้อมูลนี้แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องงัดพลังที่มีออกมาจนสุดตัวเมื่อกลับเข้ากิจวัตรออกกำลังกายตามเดิม เห็นใจร่างกายสักนิดแล้วให้เซสชันหรือสัปดาห์แรกๆ สบายกว่าที่เคยทำค้างไว้ตอนนั้น “แม้จะเป็นคนที่ผ่านการเทรนมาดีมากๆ ก็ยังต้องเริ่มจากระดับที่น้อยกว่าก่อนค่ะ แต่คนคนนั้นอาจจะฟื้นตัวกลับมาด้วยอัตราเร็วที่มากกว่า เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ซึ่งผ่านการเทรนนิ่งมาน้อยกว่าค่ะ” Milton กล่าว คุณคงไม่อยากเริ่มใหม่อีกครั้งเพียงเพื่อมาพลาดท่าให้กับอาการบาดเจ็บหรือการหักโหมเป็นแน่
และถึงแม้กิจกรรมที่ทำอาจไม่ได้รู้สึกน่าดีใจหรือดูดีมากนักหลังจากที่พักไปนาน (แบบกลับมาทำท่าล้อเกวียนตอนโต) แต่อย่างน้อยคุณก็น่าจะมีกำลังใจขึ้นบ้างที่ได้รู้ว่า การต้องกลับไปเริ่มใหม่ตั้งแต่ศูนย์นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยไม่ว่าจะเว้นช่วงไปเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ตาม แถมคุณยังอาจจะพัฒนาตัวเองได้เร็วกว่าที่เคยพยายามครั้งแรกด้วยซ้ำ ขอแค่อย่าลืมขอบคุณสมอง รวมถึงกล้ามเนื้อของคุณสำหรับเรื่องนี้ด้วย