ฝึกสมองของคุณให้ลุยต่อได้เสมอ
การโค้ช
ไม่ว่าเป้าหมายที่กำลังไล่ตามจะเป็นอะไร หนทางแห่งความไม่ย่อท้อของนักวิ่งอัลตร้ามาราธอนมืออาชีพและโค้ช 2 คนนี้จะช่วยให้คุณไปถึงจุดนั้นได้
ลองจินตนาการถึงการวิ่ง 160 กม. รวดเดียวดูสิ ระยะทางที่ว่านี้เกือบเท่ากับการวิ่งมาราธอน 4 รอบติดเลย แล้วก็ไกลกว่าเส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปสิงห์บุรีอีกเล็กน้อย หากคุณใช้เพซ 5 ถึง 5:15 ไปได้ตลอด แปลว่าถ้าเริ่มตอน 9 โมงเช้าแล้ววิ่งแบบไม่มีหยุดพัก ก็จะไปจบที่ 3 ทุ่ม ทำได้สบายๆ ใช่ไหมล่ะ
ตอนนี้อย่าเพิ่งไปคิดว่าระยะทางจะส่งผลอย่างไรกับร่างกายคุณ ให้โฟกัสไปตรงที่ว่าจิตใจต้องแบกรับอะไรบ้าง ทั้งความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะความกลัว วินัยที่จะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ มุมมองความคิดที่จะรู้ว่าความเจ็บปวดทรมานจะผ่านไป สิ่งเหล่านี้เป็นเชื้อไฟในจิตใจที่ทุกคนนำมาใช้กับชีวิตประจำวัน แต่สำหรับนักวิ่งอัลตร้ามาราธอนที่ปกติแล้วจะวิ่งกัน 55 ถึง 160 กิโลเมตรหรือบางทีก็ไกลกว่านั้นเยอะ ดูเหมือนว่าเชื้อไฟของพวกเขามอดดับยากยิ่งกว่า ทีนี้คำถามก็คือทำได้อย่างไร และเราต้องทำอย่างไรถึงจะมีทัศนคติที่ไม่ย่อท้อแบบนั้นบ้างเพื่อให้ไปได้ไกลไม่ว่าจะไล่ตามเป้าหมายใดอยู่ มาร่วมหาคำตอบจากเคล็ดลับส่วนตัวของ Sally McRae และ David Laney นักวิ่งอัลตร้ามาราธอนและโค้ชสังกัด Nike Elite กันเลย
01. ยึดมั่นในเหตุผล
งานศึกษาวิจัยล่าสุดชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน “Psychology Research and Behavior Management” พบว่า ในขณะที่นักวิ่งระยะสั้นมีแรงผลักดันหลักจากผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมอย่างการชนะการแข่งขัน นักวิ่งอัลตร้ามาราธอนกลับพบจุดประสงค์จากการผลักดันความทนทานทางร่างกายและจิตใจของตัวเอง และในเพื่อนร่วมทางที่ทำแบบเดียวกัน นักวิจัยตั้งข้อสงสัยว่าอาจเกี่ยวกับลักษณะไลฟ์สไตล์ที่นักวิ่งอัลตร้ามาราธอนต้องมี
Laney บอกว่าเขาวิ่งระยะทางไกลมากๆ เพราะสนุกกับทุกสิ่งอย่างแท้จริง “ผมชอบวิ่งมาก” เขาบอก “ผมชอบเทรนหนักๆ ชอบอยู่ท่ามกลางภูเขา เป้าหมายทั้งหมดของผมคือการโฟกัสให้เต็มที่ไปในสิ่งที่ทำ อย่างที่ Churchill เคยกล่าวไว้ ผมอยากจะ ‘สั่งการให้ห้วงเวลานี้คงอยู่ไปตลอด’”
ส่วนทางฝั่ง McRae เองก็เห็นด้วยกับประเด็นแรงจูงใจจากเพื่อนร่วมทางที่ระบุไว้ในงานศึกษาวิจัยดังกล่าวเช่นกัน และมักจะถ่อมตัวอยู่ตลอดเมื่อพูดถึงเหรียญรางวัลต่างๆ ที่ไปคว้ามาได้ (คว้าเหรียญทองมาแล้ว 11 เหรียญ) “สิ่งที่ทำให้ฉันไม่ยอมแพ้จริงๆ ก็คือตอนที่ฉันวิ่งอัลตร้ามาราธอน ฉันได้ทำสิ่งเดียวกันกับนักวิ่งคนอื่นๆ ทั่วโลก” เธอบอก “ฉันชอบการที่ได้ใช้กีฬาเป็นตัวช่วยให้พบเจอผู้คนใหม่ๆ และหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจและเป็นกำลังใจให้พวกเขาได้ตลอดทาง สำหรับฉันแล้วสิ่งนี้น่าจดจำกว่าการได้เหรียญรางวัลเสมอ”
ลองนึกภาพการวิ่งอัลตร้ามาราธอนว่าเป็นเสมือนการไขว่คว้าเป้าหมายระยะยาวดูก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นภารกิจการทานอาหารรักสุขภาพ 30 วัน หรือเรียนภาษาใหม่ การพบเจอแรงจูงใจระหว่างเส้นทางแทนที่จะรอให้ทำสำเร็จก่อน หรือได้รู้จักกับคนที่มีเส้นทางเดียวกัน ก็อาจทำให้คุณมีแนวโน้มที่จะไปถึงเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ที่ตั้งเอาไว้ได้มากขึ้น
“ฉันชอบการที่ได้ใช้กีฬาเป็นตัวช่วยให้พบเจอผู้คนใหม่ๆ และหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจและเป็นกำลังใจให้พวกเขาได้ตลอดทาง สำหรับฉันแล้วสิ่งนี้น่าจดจำกว่าการได้เหรียญรางวัลเสมอ”
Sally McRae
นักวิ่งอัลตร้ามาราธอนและโค้ชสังกัด Nike Elite
02. วางแผนรับมือสถานการณ์เลวร้ายที่สุด
“เพื่อให้ผ่านการวิ่งอัลตร้ามาราธอนไปได้ คุณต้องคาดการณ์ไว้เลยว่าจะได้สัมผัสความท้าทายในแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน” McRae บอก “พอวิ่งไปได้ 114 กิโลเมตรแล้วเกิดพายุ หรือต้องวิ่งข้ามเขาอีกลูก หรือรู้สึกท้องไส้ปั่นป่วน สถานการณ์พวกนี้เกิดขึ้นได้ คุณจึงต้องมีจิตใจพร้อมเสมอที่จะรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้น”
วิธีหนึ่งที่ Laney ใช้ฝึกจิตใจของเขาให้รับมือได้ดีขึ้นกับความเจ็บปวดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ระหว่างการแข่งขันก็คือการลงแช่น้ำแข็งในอ่างบ่อยๆ “ผมจะเติมน้ำใส่น้ำแข็งให้เต็มอ่างแล้วนั่งแช่อยู่แบบนั้น” เขาบอก “ภายใน 5 นาที ผมจะต่อสู้กับทุกสิ่งที่สมองสั่งการ อย่าง ‘ลุกเลย นายต้องขึ้นจากอ่างเดี๋ยวนี้’ แต่ผมก็แค่นั่งและรับรู้ถึงความรู้สึกนั้นไว้ บางทีแช่ไป 15 นาที ผมคุมจังหวะการหายใจให้ผ่อนคลายมากขึ้น แล้วก็ไปถึงจุดที่ว่า ‘ไม่เป็นไร สบายมาก’”
นี่ไม่ได้หมายความว่าต้องแช่น้ำแข็งจนเป็นไอศกรีมแท่งก่อนถึงจะสร้างพลังใจอันมุ่งมั่นได้ คุณเริ่มต้นได้ด้วยการฝึกเทคนิคทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “การมองโลกในแง่ดีตามความเป็นจริง” หรือจดสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมดที่คิดวนเวียนอยู่ในหัวว่าอาจผิดพลาดได้ออกมา แล้วสร้างแผนรับมือเหตุการณ์ผิดพลาดแต่ละอย่างที่อาจเกิดขึ้น การทำเช่นนี้จะทำให้เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่พังไม่เป็นท่า คุณก็จะไม่เลิกล้มง่ายๆ
03. มองให้เห็นภาพก่อนที่จะทำ
เช่นเดียวกับนักวิ่งชั้นนำส่วนใหญ่ ทั้ง McRae และ Laney ต่างก็ฝึกการจินตนาการบางรูปแบบก่อนการแข่งขัน “ฉันชอบจินตนาการถึงเส้นทางที่จะวิ่ง” McRae บอก “ฉันจะนึกภาพทุกส่วนของเส้นทางในหัวก่อนนอนว่าเนินแต่ละลูกอยู่ตรงไหน สถานีช่วยเหลืออยู่ตรงไหน ฉันนึกภาพตัวเองกำลังวิ่งไปยังสถานีช่วยเหลือและนึกภาพชัดๆ ว่าจะทำอะไรบ้างที่แต่ละสถานี”
ในขณะที่แนวทางของนักกีฬาที่มักนั่งแช่น้ำแข็งในอ่างเพื่อควบคุมสติอารมณ์อย่าง Laney นั้นก็เดาได้ไม่ยาก “ผมดับเครื่องชนลูกเดียวครับ” เขาบอก “ผมรู้ว่าผมไม่ต้องฝึกอะไรที่ทำให้รู้สึกดี ผมเลยจินตนาการถึงตอนที่ผมร้อนมากและหิวน้ำมาก ท้องไส้ก็ปั่นป่วนอย่างแรง และผมก็อยู่ห่างจากสถานีช่วยเหลือไปอีก 8 กิโลเมตร”
รูปแบบการจินตนาการภาพของนักวิ่งทั้ง 2 คนนั้นมีจุดประสงค์เดียวกันก็คือ การเตรียมจิตใจให้รับมือกับสถานการณ์ทั้งที่คาดคิดไว้และที่คาดไม่ถึง เพื่อจะได้มีปฏิกิริยาที่เฉียบคมขึ้นและโฟกัสได้ดีขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา วิธีนี้นำมาปรับใช้กับเรื่องอื่นนอกเหนือจากการวิ่งระยะไกลสุดๆ ได้เช่นกัน อย่างคืนก่อนที่จะออกไปวิ่งจ๊อกกิ้งตอนเช้า ให้ลองจินตนาการถึงทุกแยกที่คุณจะเลี้ยว สายลมที่พัดมาสัมผัสกับผิวคุณ และทุกเพลงที่อยู่ในเพลย์ลิสต์ เมื่อคุณผูกเชือกรองเท้าในตอนเช้า ให้ลองสังเกตดูว่าคุณกระตือรือร้นขึ้นสักนิดหรือสนุกมากขึ้นไหม
“สิ่งที่สำคัญมากที่ห้ามลืมเลยก็คือคุณเป็นคนบังคับหางเสือเรือ ถ้าคุณแค่บอกตัวเองว่า ‘ทุกอย่างจะดีขึ้น’ และ ‘เรื่องนี้เกิดขึ้นได้’ นั่นจะทำให้คุณกลับมาควบคุมได้บ้างเมื่ออะไรๆ เริ่มจะดูเหมือนว่ากำลังสับสนวุ่นวาย”
David Laney
นักวิ่งอัลตร้ามาราธอนและโค้ชสังกัด Nike Elite
04. เป็นโค้ชของตัวเอง
“สิ่งที่สำคัญมากที่ห้ามลืมเลยก็คือคุณเป็นคนบังคับหางเสือเรือ” Laney บอก “ถ้าคุณแค่บอกตัวเองว่า ‘ทุกอย่างจะดีขึ้น’ และ ‘เรื่องนี้เกิดขึ้นได้’ นั่นจะทำให้คุณกลับมาควบคุมได้บ้างเมื่ออะไรๆ เริ่มจะดูเหมือนว่ากำลังสับสนวุ่นวาย” ตอนที่ Laney ใช้คำว่า “แค่บอกตัวเอง” เขากำลังพูดถึงการฝึกที่เรียกว่า “การคุยกับตัวเอง” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเมื่อคุณอยู่กับความคิดตัวเองเพียงลำพังหลายชั่วโมง (อย่างตอนวิ่งอัลตร้ามาราธอนไงเล่า) เป็นการปรับบทสนทนาในหัวอย่างมีสติ ทำให้สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองได้ในเวลาที่คุณต้องการมากที่สุด
McRae ฝึกการคุยกับตัวเองด้วยเหมือนกัน “หนึ่งในสิ่งที่มีพลังมากที่สุดที่ฉันบอกตัวเองคือ ‘อย่าคิด ทำเลย’” เธอบอก “หลายครั้งที่ใจคนเราก็กลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของตัวเราเองได้ด้วย คุณจะรู้สึกติดในใจว่า ‘ตายแล้ว ต้องเป็นอย่างนี้ไปตลอดแน่’ แต่ถ้าผ่านจุดนั้นไปได้ คุณก็จะไปถึงเส้นชัย คุณกำลังทำสิ่งมหัศจรรย์อยู่”
แนวคิดที่ทั้งคู่มีตรงกันดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไม่ว่าช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งจะยากลำบากแค่ไหน เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป เมื่อการออกกำลังกาย การวิ่ง เกม หรือวงจรข่าวครั้งถัดไปเริ่มหนักขึ้น ก็ให้ลองเตือนตัวเองอย่างใจเย็นถึงแนวคิดนี้ดู เพราะถ้าแนวคิดนี้ทำให้ Laney และ McRae ผ่านการวิ่งชั่วโมงที่ 12 ไปได้ ก็จะช่วยให้คุณผ่านพ้นวันที่ยากลำบากไปได้เช่นกัน
รับประโยชน์ที่มากขึ้น
เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านการฟื้นกำลัง รวมถึงทัศนคติ การเคลื่อนไหว โภชนาการ และการนอนหลับ
รับประโยชน์ที่มากขึ้น
เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านการฟื้นกำลัง รวมถึงทัศนคติ การเคลื่อนไหว โภชนาการ และการนอนหลับ