วิธีการทำชีววัสดุและสร้างสรรค์อนาคตจากครัวของคุณ

นวัตกรรม

เรียนรู้วิธีเปลี่ยนสาหร่ายให้กลายเป็นพลาสติกจากธรรมชาติ และรับรู้บทเรียนชีวิตในการค้นหาสิ่งที่คุณหลงใหลกับ Rikke Bonde ดีไซเนอร์ของ Nike

อัพเดทล่าสุด: 9 พฤศจิกายน 2564
ใช้เวลาอ่าน 7 นาที

“เรียนรู้โดยปฏิบัติจริง” คือซีรีส์ที่คุณจะได้เรียนรู้เทคนิคจากการลงมือทำจริงกับนวัตกรผู้เชี่ยวชาญ

เคยรู้สึกต้องหาวิธีผ่อนคลายโดยการลงมือทำเค้กกล้วยหอม หรือพิชิตความเบื่อหน่ายโดยการทดลองหมักขนมปังซาวโดว์ไหม ขอแนะนำให้รู้จักกับ Rikke Bonde ดีไซเนอร์ด้านวัสดุของ Nike มีคอร์สฝึกสอนในครัวให้กับคุณในรูปแบบที่… ต่างจากคอร์สเข้าครัวปกตินิดหน่อย

“เมื่อการระบาดใหญ่ทั่วโลกเริ่มขึ้น ฉันเห็นโอกาสที่ยอดเยี่ยมที่จะทำการทดลองที่บ้าน” เธอกล่าว เมื่อต้องทำงานทางไกล Rikke ตัดสินใจเริ่มโปรเจกต์เสริมที่เธอคิดเอาไว้ เริ่มจากการเปิดแล็บแบบบ้านๆ ที่สามารถทำวิจัย ทดลอง และพัฒนาสูตรทำชีววัสดุมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกทนทาน หรือสารคล้ายยางที่ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ “ฉันสร้างกฎของตัวเองขึ้น เช่น การใช้เฉพาะสิ่งที่คุณมี [รอบๆ บ้าน]” เธอพูดถึงวิธีการที่ใช้แนวคิดความยั่งยืนของเธอเอง

“ฉันคิด [ชีววัสดุคือ] เรื่องอนาคต” Rikke เล่า “เรามี [สิ่งของต่างๆ] กองทิ้งอยู่รอบตัวมากเกินไป และเราต้องคิดเรื่องวิธีการนำกลับมาใช้หรือเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งานเสียใหม่ เรามองวัสดุที่แทบจะไม่ส่งผลใดๆ ต่อโลกนี้กันอย่างไรล่ะ เราจะนำวัสดุเหล่านี้มาหลอมรวมเพื่อให้แข็งแกร่งขึ้น ดีขึ้น หรืองดงามขึ้นอย่างสดใหม่ได้อย่างไร”

เรียนรู้โดยปฏิบัติจริง: วิธีทำวัสดุชีวภาพ

ในการทำหน้าที่ทั้งดีไซเนอร์ นักวิทยาศาสตร์ และเชฟ งานประจำวันของ Rikke ที่ Nike คือการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องในการสร้างชุดเครื่องมือวัสดุเพื่อส่งมอบให้กับดีไซเนอร์รองเท้า และด้วยโปรเจกต์เสริมด้านชีววัสดุของเธอนี้ เธอได้ผสานรวมพรสวรรค์ด้านการแก้ปัญหาของเธอเข้ากับปฏิกิริยาทางเคมีและเทคนิคการทำอาหารวีแกน

ในการเริ่มหาคำตอบต่อคำถามเหล่านี้ ไม่ต้องไปมองหาสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากในครัวเลย นั่นคือที่ที่ Rikke ค้นหาและนำของต่างๆ มาใช้ เช่น นม เจลาติน สาหร่าย และอควาฟาบา (น้ำที่ได้จากการปรุงถั่วชิกพี บางครั้งใช้เป็นสารทดแทนไข่ขาวสำหรับวีแกน) เพื่อคิดค้นวัสดุชิ้นใหม่ และทำให้มีชีวิตด้วยสีย้อมธรรมชาติจากดอกไม้ บีทรูต ผักเคล ขมิ้น และอีกมากมาย

สำหรับ Rikke ความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ถือเป็นเรื่องที่น่าพอใจอย่างสูง เธอคอยทดลอง พบกับความผิดพลาด ดัดแปลง และปรับแต่งอย่างต่อเนื่อง ทำออกมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ไม่ทำให้ความตื่นเต้นจากค้นพบสิ่งใหม่จืดจางลงเลย “มันเหมือนเวทมนตร์เพราะว่ากระบวนการนั้นเรียบง่ายมาก” เธอบอก “เริ่มจากของอย่างหนึ่ง ได้ผลลัพธ์เป็นอีกอย่างหนึ่ง”

ชมคลิปด้านบนเพื่อดูเรื่องราวแล็บชีวะในบ้านของ Rikke และเรียนรู้วิธีทำชีวพลาสติกโดยใช้วุ้น (สารเพิ่มความข้นหนืดสำหรับอาหารที่ได้จากสาหร่าย) ส่วนด้านล่างนี้ Rikke จะมาแบ่งปันเคล็ดลับความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ผลจากการทดลองที่ผ่านมา และสูตรแบบทีละขั้นสำหรับเอาไปลองทำเองที่บ้าน

เรียนรู้โดยปฏิบัติจริง: วิธีทำวัสดุชีวภาพ

ความอัศจรรย์จากวัสดุของ Rikke คือการที่สารประกอบแต่ละอย่างมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ทั้งหมดถูกสร้างจากสารตั้งต้นไม่กี่อย่าง (สาหร่าย เจลาติน เคซีน หรือแป้ง) และสารเติมแต่งต่างๆ (สีย้อมธรรมชาติและเศษอาหาร) วุ้นทำจากสาหร่าย: (1) ผงกาแฟบด (2) น้ำแครอท/เปลือกไข่/จุกคอร์ก (3) สีย้อมบีทรูต/สีย้อมเปลือกหัวหอม (4) สีผสมอาหาร/เปลือกไข่ (5) เปลือกไข่ โฟมสาหร่าย: (6) สีย้อมเห็ด (7) สีย้อมเห็ด เจลาติน: (8) สาหร่ายสไปรูลิน่าสีน้ำเงิน (9) สีย้อมบีทรูต/สีผสมอาหาร (10) สีย้อมกระหล่ำปลีแดง (11) สีย้อมบีทรูต (12) สีย้อมดอกไม้/ขมิ้น โฟมเจลาติน: (13) สีย้อมดอกไม้/สไปรูลิน่า (14) กะหล่ำปลีแดง/ขมิ้น เคซีน: (15) สไปรูลิน่า/สีย้อมเปลือกหัวหอม (16) สไปรูลิน่า/สีผสมอาหาร (17) สไปรูลิน่าสีน้ำเงิน แป้งข้าวโพด: (18) พริกป่น (19) ขมิ้น (20) ขมิ้น แป้งมัน: (21) ของเหลือจากการทดลอง (22) ลาเวนเดอร์

จงอย่าหวาดกลัว (และเคล็ดลับอื่นๆ จาก Rikke)

เคล็ดลับที่ 1: ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการทดลองแย่ๆ หรอก

“ฉันล้มเหลวไปเยอะ” Rikke พูดถึงสูตรชีววัสดุของเธอ “แต่ก็ทำให้ฉันกระหายที่จะทำเวอร์ชันที่ 2 และตอนนี้กำลังทำเวอร์ชันที่ 3 มันก็แค่เป็นเส้นแห่งการเรียนรู้เท่านั้น”

การได้เล่นกับส่วนประกอบหลายอย่างและระดับอุณหภูมิต่างๆ ส่งผลให้เกิดไอเดียและผลลัพธ์ใหม่ๆ (บางอย่างแสดงอยู่ด้านบน) ซึ่ง Rikke นำเสนอให้กับทีมของเธอเอง “เหมือนกับพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก หรือการแอบแง้มดูสิ่งที่จะอยู่ในโลกอนาคต” เธอกล่าว

การผสมผสานของความอยากรู้อยากเห็นและความดื้อรั้นของ Rikke ความไม่เคยล้มเลิก แม้ว่าผลลัพธ์จะไม่เป็นอย่างที่เธอคาดเอาไว้ก็ตาม ถือเป็นกุญแจแห่งความก้าวหน้าในโปรเจกต์ของเธอ “ฉันคิดว่ามันคือความไม่หวาดหวั่น” เธอบอก “ฉันแค่ต้องการอยากรู้และต้องการลองทำด้วยตัวเอง”

เคล็ดลับที่ 2: ใช้เฉพาะสิ่งที่หาง่าย (และมีตามธรรมชาติ) ที่คุณมีอยู่เท่านั้น

“คุณต้องสร้างสีย้อมของคุณเอง และจำเป็นต้องการทำการทดลองหลายครั้ง ” Rikke กล่าว โดยอ้างถึงข้อจำกัดที่เธอกำหนดขึ้นเองซึ่งให้ใช้เฉพาะของที่เธอมีเท่านั้น

การทดลองช่วยให้เธอได้รู้ถึงสิ่งส่วนประกอบบางส่วนที่ครัวเรือนไม่ค่อยสนใจ เช่น สาหร่าย ซึ่งมี “คุณประโยชน์มากมาย… สาหร่ายดูดซับคาร์บอนจากอากาศ และสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” เธอกล่าว “ไม่เพียงแต่กินได้เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้เพื่อสร้างวัสดุ และยังใช้ติดสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันก็ได้”

เพื่อความสวยงาม สามารถนำดอกไม้สีสันสดใสมาต้มกับเกลือเพื่อสกัดสีย้อมธรรมชาติออกมา “สำหรับฉัน สีก็คืออาหารตา ฉันไม่สามารถอาศัยอยู่ในโลกที่ไร้สีสันได้” Rikke บอก เธอได้พิจารณาแล้วว่าการทดลองในอนาคตนั้นจะเป็นการนำผลงานของตัวเองมาทดลองซ้ำ “อาจเป็นเรื่องที่ดีเยี่ยมอย่างยิ่งหากคุณใช้ชีววัสดุเพื่อทำสีย้อมอีกด้วย…”

เคล็ดลับที่ 3: สำรวจต่อไป อย่าหยุดทดลอง

“เมื่อตอนที่ยังเด็ก ฉันต้องการมีธนาคารไอเดียเป็นของตัวเองเสมอ” Rikke บอกถึงความอยากรู้อยากเห็นและความคิดสร้างสรรค์ที่มีมาอย่างยาวนานของเธอ เธอยังได้แรงบันดาลใจจากการก้าวพ้นขีดจำกัดจากสิ่งที่เป็นไปได้ และไม่มีวันพักเพราะหลงไปกับคำชมใดๆ ที่ได้รับ “ทั้งหมดนี้ก็คือ [การบอกว่า] ‘โอเค ฉันประสบความสำเร็จแล้ว แล้วจะผลักดันไปได้อีกไกลแค่ไหนล่ะ’”

เรียนรู้โดยปฏิบัติจริง: วิธีทำวัสดุชีวภาพ

ทำชีวพลาสติกจากสาหร่ายของคุณ

นี่คือหนึ่งในสูตรชีววัสดุชิ้นโปรดของ Rikke จากหลายๆ สูตรที่เธอปรับแต่งมา เป็นสูตรเดียวกับที่สาธิตอยู่ในคลิปด้านบน

หมายเหตุ: คุณจะต้องทำงานร่วมกับของเหลวอุณหภูมิสูง ดังนั้น ควรมีผู้ใหญ่คอยดูแล รวมถึงให้ใส่แว่นนิรภัยและสวมถุงมือด้วย

อุปกรณ์

  • เครื่องตวงวัดในครัว
  • ถ้วยตวง
  • หม้อ
  • สารพี
  • เครื่องวัดอุณหภูมิ
  • บรรจุภัณฑ์ใดๆ ก็ได้ที่สามารถบรรจุและเซ็ตตัวของเหลวร้อน เช่น บล็อกแม่พิมพ์หรือจานเพาะเชื้อ

ส่วนผสม

  • น้ำ 80 มิลลิลิตร
  • สาหร่าย 3 กรัม
  • กลีเซอรีน/กลีเซอรอล 12 กรัม
  • สีผสมอาหารหรือสีย้อมธรรมชาติ (มีหรือไม่มีก็ได้)

วิธีทำ

  1. ผสมน้ำ สาหร่าย และกลีเซอรอลเข้าด้วยกันในหม้อ คนจนกว่าสาหร่ายและกลีเซอรอลจะละลาย
  2. วางหม้อบนเตา คนจนกว่าส่วนผสมจะร้อนจนเกือบเดือด (ประมาณ 93ºC) เมื่อส่วนผสมเริ่มมีฟอง ให้ยกออกจากเตาแล้วเริ่มคน ช้อนไขที่ลอยอยู่ออก (ไขที่เหลืออยู่บนผิวหน้าจะทำให้เกิดฟองอากาศในชีวพลาสติก)
  3. เทของเหลวลงในแม่พิมพ์หรือบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เติมสีย้อมหรือของตกแต่งอื่นๆ เช่น ไม้คอร์กหรือดอกไม้ หากต้องการ
  4. ทิ้งไว้ 30-60 นาทีเพื่อให้แข็งตัว จากนั้นนำออกจากแม่พิมพ์ (หมายเหตุ: วัสดุจะยังคงเปลี่ยนไปได้อยู่ในช่วง 1-2 วันถัดไป โดยมีลักษณะแข็งขึ้นหรือเปลี่ยนรูปร่าง)
  5. ตรวจดูผลงานของคุณได้เลย จากนั้น เริ่มคิดถึงวิธีทำกระบวนการนี้ซ้ำในครั้งต่อไป โดยอาจปรับเปลี่ยนสัดส่วนผสม เทตัวอย่างให้บาง/หนาขึ้น หรือผสมของใหม่ๆ เพื่อตกแต่ง

เคล็ดลับ: คุณสามารถเพิ่มเศษอาหารต่างๆ ได้ เช่น ผงกาแฟบด เปลือกส้ม/หัวหอม/มะเขือเทศ พริกป่น ใบชา เปลือกไข่ ฯลฯ เพื่อทำสีและพื้นผิว โดยสำหรับสีย้อมธรรมชาติ ให้ลองส่วนประกอบที่มีสีสันสดใส เช่น ขมิ้น น้ำบีทรูต ผงสไปรูลิน่า หรือถ่านกัมมันต์

สาระน่ารู้: การใช้ชีวพลาสติกมีมาก่อนพลาสติกที่ทำจากน้ำมันดิบ ในศตวรรษที่ 15 ก่อนคริสต์ศักราช ชาวอียิปต์ใช้กาวที่ทำจากคอลลาเจน เคซีน หรือแอลบูมินในการทำเฟอร์นิเจอร์

เรียนรู้โดยปฏิบัติจริง: วิธีทำวัสดุชีวภาพ

สำหรับสูตรเวอร์ชันพิมพ์ออกมาได้ ให้คลิกด้านล่าง
(หมายเหตุ: PDF มีเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น)

ภาพยนตร์โดย Azsa West
เรียบเรียงโดย Brinkley Fox

รายงานเมื่อ: พฤศจิกายน 2020

เผยแพร่ครั้งแรก: 10 พฤศจิกายน 2564