ไม่ว่าจะใช้กรรไกร หรืออยู่บนสเก็ตบอร์ด เพื่อนสองคนนี้อธิบายว่าทำไมกุญแจสำคัญถึงอยู่ที่การฝึกฝน

วัฒนธรรม

Mio Asakawa กับ Masami Hosono แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากความพยายามอันสร้างสรรค์ของทั้งคู่ให้กันในฐานะนักสเก็ตบอร์ดและเจ้าของร้านซาลอน รวมถึงแลกเปลี่ยนความสำคัญของการทำซ้ำๆ ในการทำให้ทักษะทั้งด้านกีฬาและด้านความคิดสร้างสรรค์พัฒนาขึ้นได้

อัพเดทล่าสุด: 7 กรกฎาคม 2564

“คุยต่างสายอาชีพ” เป็นซีรี่ส์ของการพูดคุยอย่างเจาะลึกตรงประเด็นระหว่างเพื่อนในแวดวงกีฬาและกลุ่มคนสร้างสรรค์เพื่อเปิดมุมมองวิธีที่พวกเขาพิชิตชัยชนะทั้งในและนอกคอร์ท

เป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางว่าการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอคือกุญแจสำคัญในการยกระดับทักษะเมื่อพูดถึงเรื่องกีฬา แต่ความมานะอุตสาหะนอกคอร์ทหรือสนามก็เป็นสิ่งที่มีผลไม่แพ้กัน ทั้งสองปัจจัยนี้จึงเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญไปพร้อมกัน ในฐานะที่เป็นเจ้าของ Vacancy Project ร้านซาลอนที่เป็นกลางทางเพศในย่านอีสต์วิลเลจ นครนิวยอร์ก Masami Hosono วัย 32 ปีทราบว่าแรงบันดาลใจที่มากเกินกว่าแค่ในซาลอนนั้นทำให้การทำงานภายในห้องสี่เหลี่ยมของร้านสร้างแข็งกล้ามากขึ้น “แม้ตอนที่ฉันแต่งทรงผมทรงเดิมให้ลูกค้าทุกวัน ก็ยังได้ค้นพบอะไรใหม่ในทุกครั้ง ถ้าฉันทำตรงนี้ให้ต่างไปสักหน่อย ก็อาจจะดูดีกว่าเดิม อะไรประมาณนั้น” Masami กล่าว “ในหัวของฉันกำลังฝึกฝนสิ่งนี้โดยที่ไม่รู้ตัว”

สำหรับ Mio Asakawa วัย 28 ปี ผู้จัดการบัญชีทางเทคนิคและผู้คลั่งไคล้สเก็ตบอร์ดจากโตเกียว การฝึกฝนนั้นสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มพูนความมั่นใจและเล่นท่าต่างๆ ได้คล่องแคล่ว ก่อนที่ Masami จะย้ายมานิวยอร์ก ทั้งคู่พบกันตอนไปกินอาหารที่ร้านซูชิเล็กๆ ในเขตนากาเมงูโระของโตเกียว แม้ว่าทั้งคู่จะประกอบอาชีพต่างกัน แต่ Masami และ Mio ก็เข้าใจตรงกันว่าเวลาที่ทุ่มเทให้กับงานนั้นจะช่วยยกระดับทักษะและความสามารถ พร้อมช่วยให้พวกเธอท้าทายปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับอคติทางเพศ

คุยต่างสายอาชีพ: Mio Asakawa กับ Masami Hosono

ในบทสัมภาษณ์ของ “คุยต่างสายอาชีพ” นี้ Masami และ Mio จะมาพร้อมใจกันแบ่งปันวิธีที่พวกเธอแต่ละคนเรียนรู้ความสำคัญของการฝึกฝน การพัฒนาตนเอง รวมถึงมุมมองความคิดให้ดีขึ้น ไม่ใช่เพื่อตนเองอย่างเดียวแต่เพื่อสังคมด้วย


Mio: เธอเริ่มทำงานในอุตสาหกรรมความงามตอนที่ยังอยู่ที่ญี่ปุ่น ฉันสงสัยว่าเส้นผมมีความหมายอะไรกับเธอ

Masami: สำหรับฉัน เส้นผมคือเครื่องมือสำหรับสื่อสาร แม้จะย้ายมาอยู่นิวยอร์ก ความคิดนี้ก็ไม่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะช่วงแรกที่ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยเก่ง ช่วงนั้นฉันจะผูกมิตรกับคนอื่นๆ ผ่านการตัดผม และการถ่ายรูปแต่ละคนลงในโซเชียลมีเดียของฉัน

Mio: อะไรที่ทำให้เธอเริ่ม Vacancy Project

Masami: หลังจากที่ทำงานในร้านทำผมมา 14 ปีทั้งในโตเกียวและนิวยอร์ก วิสัยทัศน์ของฉันสำหรับสิ่งที่อยากทำก็ชัดเจนขึ้น ฉันเริ่มคิดถึงคอนเซ็ปต์ร้านซาลอนของตัวเอง อยากเปิดพื้นที่สันทนาการ/ร้านทำผมที่เราจะสนุกไปกับคอนเซ็ปต์ของความหลากหลาย ความสนุกสนาน และการยอมรับ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งใหม่ๆ ที่ฉันได้เรียนรู้ในฐานะผู้ย้ายถิ่นฐานจากญี่ปุ่นมาอยู่นิวยอร์ก ในตอนนั้นฉันไม่รู้ว่ามีร้านทำผมที่ไม่จำกัดเพศหลายแห่ง จึงตัดสินใจไม่ออกแบบสไตล์ให้ลูกค้าตามเพศ ฉันเชื่อว่าเราควรตัดผมตามแบบที่ลูกค้าต้องการ และซาลอนของเรายังบริจาคเงินจำนวนหนึ่งของยอดขายทั้งหมดให้องค์กร LGBTQ Center เดือนละครั้งอีกด้วย

คุยต่างสายอาชีพ: Mio Asakawa กับ Masami Hosono

“งานของฉันไม่ใช่การตัดแต่งทรงผมให้เหมือนเป๊ะกับรูปที่ลูกค้าเอามาให้ดู ฉันสร้างสไตล์ที่มีหนึ่งเดียวด้วยการมองทุกแง่มุมของลูกค้า และฉันต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้หน้าที่นี้สำเร็จลุล่วงไปได้”

Masami

Mio: สำหรับการออกแบบทรงผม เธอฝึกฝนกระบวนการสร้างสรรค์ของตัวเองอย่างไร

Masami: ฉันฝึกฝนด้วยการเปิดรับวัฒนธรรมใหม่ๆ และขยายความรู้ของฉันเพื่อออกแบบทรงผมที่เหมาะกับลูกค้า ภารกิจของฉันไม่ใช่การตัดแต่งทรงผมให้เหมือนเป๊ะกับรูปที่ลูกค้าเอามาให้ดู ฉันสร้างสไตล์ที่มีหนึ่งเดียวด้วยการมองทุกแง่มุมของลูกค้า และฉันต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้หน้าที่นี้สำเร็จลุล่วงไปได้ ถ้าลูกค้าไม่ได้มีภาพทรงผมที่ตัวเองต้องการอย่างชัดเจน ฉันจะพยายามมองว่าลูกค้าชอบฟังเพลงแบบไหนหรือทำงานอะไร ซึ่งถ้าไม่มีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับศิลปะและดนตรี ฉันคงจินตนาการทรงผมไม่ได้แม้ลูกค้าจะเล่าแรงบันดาลใจให้ฟังก็ตาม แค่แนวร็อคแอนด์โรลอย่างเดียวก็มีตั้งหลายแบบแล้ว ถ้าลูกค้าชอบแนวพังค์คลื่นลูกใหม่สไตล์ลอนดอนยุค 1970 ก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับแนวเพลงนั้นๆ เพื่อใช้ทำงาน ฉันเปิดรับศิลปะและวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ๆ เสมอ เมื่อฉันปรึกษาหารือกับลูกค้า ก็อยากให้ลูกค้ารู้สึกว่า Masami รู้ใจอยู่แล้ว

Mio: เธอแชร์เรื่องที่เกิดขึ้นในชุมชน LGBTQ ในนิวยอร์กกับคนที่ตาม Instagram ของเธอในญี่ปุ่นอยู่ตลอด รู้สึกว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์รึเปล่า

Masami: ใช่เลยฉันคิดแบบนั้น ตอนย้ายมานิวยอร์กใหม่ๆ และเห็นความหลากหลายของสิ่งต่างๆ ในเมือง ก็รู้สึกโล่งใจขึ้นมาทันที ประมาณว่าฉันรอดแล้ว ญี่ปุ่นเป็นประเทศอนุรักษ์นิยมและบางครั้งกลุ่มคน LGBTQ ก็อยู่อย่างอึดอัดใจ หลายคนปิดบังความนิยมทางเพศของตัวเองและบางคนก็แสดงความไม่เป็นกลางในจิตใต้สำนึกของตัวเองออกมาผ่านการเหยียดทางคำพูดหรือการกระทำง่ายๆ โดยไม่รู้สึกรู้สา การแบ่งปันประสบการณ์ในเชิงบวกของนิวยอร์ก จึงเป็นสิ่งที่ฉันอยากทำเพื่อบอกว่าการเป็น LGBTQ นั้นไม่ใช่เรื่องผิด

ว่าแต่อะไรที่ทำให้เธอเริ่มเล่นสเก็ตบอร์ด ปกติแล้วคนอื่นเค้าคิดว่าสเก็ตบอร์ดเป็นกิจกรรมของพวกผู้ชาย

Mio: ฉันสนใจเรื่องสเก็ตบอร์ดมานานแล้วแต่รู้สึกมาตลอดว่าผู้หญิงเค้าไม่เล่นกันหรอก แล้วพอได้เห็นสาวๆ เค้าโพสต์วิดีโอที่ตัวเองเล่นสเก็ตบอร์ดลงใน Instagram ฉันก็ส่งข้อความตรงไปหา แล้วพวกเธอก็พาไปลานสเก็ตบอร์ด ฉันเลยเลิกคิดถึงสเก็ตบอร์ดในเรื่องเพศ และอยากให้สังคมมองว่าสาวๆ ก็เล่นสเก็ตบอร์ดได้เป็นเรื่องธรรมดา นั่นคือเหตุผลที่ฉันโพสต์วิดีโอของตัวเองใน Instagram ไม่ใช่แค่ฉันคนเดียวแต่เป็นสาวๆ คนอื่นที่สเก็ตกับฉันด้วย แบบนี้คนอื่นจะได้เห็นว่าจริงๆ แล้วมีผู้หญิงเล่นสเก็ตบอร์ดกันตั้งเยอะ นี่ก็เกือบปีกว่าแล้วตั้งแต่ฉันเริ่มสเก็ต นักสเก็ตบอร์ดที่เป็นผู้หญิงจะมีสายสัมพันธ์ระหว่างกันที่เหนียวแน่นและเราทุกคนรู้สึกเหมือนเป็นเพื่อนของกันและกัน

การฝึกฝนและการใช้เวลากับเพื่อนทำให้ความสัมพันธ์ของเราแน่นแฟ้นขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นกำลังใจและทำให้ฉันอยากบอกทุกคนว่า “ไปฝึกกัน ไปเล่นสเก็ตบอร์ดกันเถอะ”

Mio

คุยต่างสายอาชีพ: Mio Asakawa กับ Masami Hosono

Masami: เธอรู้สึกว่าการฝึกฝนมีคุณค่าตอนไหน

Mio: การฝึกฝนเป็นองค์ประกอบหลักของการเล่นสเก็ตบอร์ด ไม่นานมานี้ฉันจับจุดวิธีทำท่า Kickflip ได้ ซึ่งกว่าจะได้ต้องเสียเวลาฝึกเป็นล้านรอบ และเพราะว่าการเล่นสเก็ตบอร์ดนั้นยากมาก เธอจะรู้สึกดีเมื่อในที่สุดก็เริ่มทำได้ สิ่งที่ฉันให้ความสำคัญเป็นหลักคือชุมชน การฝึกฝนและการใช้เวลากับเพื่อนทำให้ความสัมพันธ์ของเราแน่นแฟ้นขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นกำลังใจและทำให้ฉันอยากบอกทุกคนว่า “ไปฝึกกัน ไปเล่นสเก็ตบอร์ดกันเถอะ” บางครั้งฉันก็ไปเล่นสเก็ตคนเดียว แต่หลายๆ ครั้งฉันจะไปกับเพื่อน

Masami: ฉันได้ยินมาว่าคนเขาเล่นสเก็ตกันที่สวน Komazawa ในโตเกียว เธอก็เล่นที่นั่นด้วยใช่ไหม

Mio: ใช่แล้ว นักสเก็ตบอร์ดผู้หญิงทุกคนรู้จักกัน เลยมีโอกาสเยอะที่เราจะเจอคนรู้จัก เวลาอยู่ในสวนฯ เธอจะเล่นสเก็ตกับใครก็ได้ ทุกคนเลยรู้สึกว่าอยู่ที่นั่นแล้วปลอดภัย

Masami: ในฐานะที่เธออาศัยอยู่ในญี่ปุ่น คิดว่าสังคมคนญี่ปุ่นมองการเล่นสเก็ตบอร์ดเปลี่ยนไปบ้างไหม

Mio: ตอนนี้สเก็ตบอร์ดกลายเป็นกีฬาที่แข่งในโอลิมปิกแล้ว ฉันรู้สึกว่าภาพจำของคนที่เชื่อว่า “สเก็ตบอร์ดเป็นสิ่งไม่ดี” นั้นค่อยๆ เลือนหายไป Aori Nishimura เป็นนักสเก็ตบอร์ดที่เล่นเก่งมากๆ เธอเป็นนักกีฬาโอลิมปิกและเป็นผู้หญิงด้วย ฉันเลยคิดว่าเธอช่วยเปลี่ยนภาพจำของคนทั่วๆ ไปเกี่ยวกับการเล่นสเก็ตบอร์ดได้ แต่ว่า Komazawa ก็ยังคงเป็นสวนสาธารณะแห่งเดียวในโตเกียวที่ยังไม่เก็บค่าเข้า การสร้างลานสเก็ตบอร์ดในที่แบบนั้นเลยยังไม่ใช่เรื่องง่าย และก็เลยทำให้ฉันซาบซึ้งมากที่มีคนสร้างลานให้เรา ยิ่งกว่านั้น เมื่อไหร่ที่เราเล่นสเก็ตริมถนน ตำรวจก็จะชอบโผล่มาทุกที ดังนั้น กว่าการเล่นสเก็ตบอร์ดที่โตเกียวจะเป็นเหมือนการเล่นสเก็ตบอร์ดในนิวยอร์กได้ หนทางคงยังอีกยาวไกล

เรียบเรียงโดย Momoko Ikeda
วิดีโอโดย Travis Wood

รายงานเมื่อ พฤศจิกายน 2020

เผยแพร่ครั้งแรก: 25 มิถุนายน 2564