ใช้งานร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว
เปิดอกคุย
เด็กผู้หญิงมากมายพะวงกับรูปร่างหน้าตาของตัวเองแทนที่จะสนใจสิ่งที่ร่างกายทำได้และประสบการณ์จากการเล่นกีฬา หากปรับวิธีพูดสักหน่อย คุณก็สามารถช่วยให้เด็กๆ เปลี่ยนวิธีคิดได้เมื่อออกไปขยับร่างกาย
ทุกคนแตกต่างกัน และร่างกายของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน คุณซึ่งเป็นโค้ชและพ่อแม่จึงต้องยอมรับและเคารพทุกรูปลักษณ์ รวมถึงยินดีกับทุกความแตกต่าง อย่าลืมว่าเพศ ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ทางเพศ ความพิการ ศาสนา รวมถึงความเชื่อและลักษณะอื่นๆ ของเรามีอิทธิพลต่อวิธีที่เราวางตัวในสังคม ดังนั้นหากคุณวิจารณ์รูปลักษณ์ของคนอื่น ก็เท่ากับว่าคุณกำลังวิจารณ์ถึงตัวตนและวิธีการวางตัวของคนๆ นั้นด้วย
คำพูดของเรามีพลังมหาศาลและส่งผลต่อมุมมองที่เด็กผู้หญิงมีต่อการเล่นกีฬา ก่อนที่เราจะพูดถึงวิธีสื่อสารกับเด็กผู้หญิง การคิดทบทวนถึงความมั่นใจของคุณต่อร่างกายของตัวเองก็สำคัญเช่นกัน เพราะสุดท้ายแล้ว มุมมองที่คุณมีและวิธีที่คุณพูดถึงร่างกายของตัวเองก็ส่งผลต่อมุมมองที่ลูกของคุณหรือนักกีฬาที่คุณฝึกมีและวิธีที่พวกเธอพูดถึงร่างกายของตัวเองเช่นกัน ลองถามตัวเองดูว่า คุณเคยพูดถึงร่างกายของตัวเองหรือคนอื่นในทางลบต่อหน้าลูกของคุณหรือนักกีฬาที่คุณฝึกหรือไม่ และการพูดเช่นนั้นส่งผลอย่างไรต่อพวกเขาบ้าง
เมื่อพูดถึงวิธีสื่อสารกับเด็กผู้หญิง สิ่งที่เราควรทำก็คือกระตุ้นให้พวกเธอหันมาสนใจว่า "ร่างกายของฉันสามารถทำอะไรและช่วยให้เปิดรับประสบการณ์ชีวิตอะไรได้บ้าง" แทนที่จะสนใจว่า "ร่างกายของฉันเป็นอย่างไร" การเปลี่ยนความสนใจเช่นนี้จะช่วยให้เด็กผู้หญิงสื่อสารกับร่างกายของตัวเองได้ดีขึ้นและจดจ่อกับการทำผลงานได้มากขึ้น แทนที่จะไปจดจ่ออยู่กับรูปลักษณ์ของตัวเอง การจำกัดอาหาร และการเทรนหนักเกินไป
คำพูดที่ควรหลีกเลี่ยง
หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดและการพูดคุยเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของเด็กผู้หญิง รวมไปถึงการพูดเรื่องรูปลักษณ์ของเด็กคนหนึ่งให้เด็กอีกคนฟัง เช่น
- "เธอดูดีขึ้นนะ ลดน้ำหนักอยู่เหรอ"
- "ต้องตัวใหญ่กว่านี้นะถึงจะเป็นโกลที่ดีกว่านี้ได้"
- "มาฟิตหุ่นกันหน่อยดีกว่า เธอจะได้วิ่งได้เร็วขึ้น"
- "ถ้าลดน้ำหนักอีกหน่อยเธอจะกระโดดได้สูงกว่านี้นะ"
- "วันนี้เธอเทรนหนักมาก กินมัฟฟินได้เต็มที่เลยนะ!"
- "กินอันนั้นจะดีเหรอ"
- "ฉันดูน่าเกลียดมากเลย เหงื่อท่วมตัว เมคอัพก็ละลายหมดแล้ว!"
- "เห็นขาเด็กคนนั้นไหม ผิวนี่แตกลายหมดแล้ว"
- "ฉันว่าเด็กคนนั้นไม่ควรยกเวทนะ กล้ามขึ้นแล้ว พวกผู้ชายไม่ชอบผู้หญิงมีกล้ามหรอก"
คำพูดที่ใช้ได้
ใช้คำพูดต่างๆ และร่วมพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์และสิ่งที่ร่างกายของเด็กๆ สามารถทำได้ เช่น
- "มาฝึกความคล่องตัวเพื่อวอร์มกล้ามเนื้อกันดีกว่า"
- "ดูตำแหน่งหัวไหล่ให้ดีๆ นะ เวลาชู้ตลูกไหล่จะต้องอยู่ด้านหน้า"
- "เก่งมาก! เธอทำท่า [ชื่อทักษะ] ได้เยี่ยมมากเลย!”
- "แรงเตะสุดยอดมาก"
- "ตอนเต้นเธอดูมีความสุขแล้วก็เป็นอิสระมากเลยนะ!"
- "ร่างกายเป็นยังไงบ้างหลังจากฝึกหนักไปเมื่อวันก่อน"
- "อย่าลืมหาอะไรกินเติมพลังหลังแข่งจบนะ!"
- "อย่าลืมคูลดาวน์ด้วยการยืดเส้นยืดสายล่ะ บาดเจ็บไม่ได้นะ!"
- อย่าลืมนะว่าร่างกายเราไม่ได้สำคัญแค่รูปลักษณ์ภายนอก ร่างกายของเธอสามารถทำสิ่งต่างๆ และสัมผัสอะไรเจ๋งๆ ได้อีกเยอะเลย
การปรับวิธีพูดนิดๆ หน่อยๆ เช่นนี้สร้างความแตกต่างได้อย่างมากในวัฒนธรรมกีฬาและต่อความมั่นใจที่เด็กผู้หญิงมีต่อร่างกายของตัวเอง เราหวังว่าวิธีนี้จะช่วยสร้างวงการกีฬาที่ร่างกายของเด็กผู้หญิงไม่ได้เป็นแค่สิ่งที่มีไว้มองดูเฉยๆ แต่เป็นสื่อกลางในการสัมผัสความมหัศจรรย์ของการเคลื่อนไหว มิตรภาพ และการแข่งขัน
Body Confident Sport คือโปรแกรมที่ Nike และ Dove ร่วมกันพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในร่างกายของตัวเองให้กับเด็กผู้หญิง และเพื่อช่วยให้เด็กผู้หญิงทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของวงการกีฬา โดยเนื้อหาภายในโปรแกรมนี้ได้ดีไซน์ขึ้นร่วมกับ Tucker Center for Research on Girls & Women in Sport และ Centre for Appearance Research
หากต้องการดูภาพรวมทั้งหมดของแหล่งข้อมูลนี้ โปรดไปที่