ในการจะบรรลุเป้าหมาย อย่าลืมคำนึงถึงด้วยว่ากระบวนการนั้นคุ้มค่าจริงๆ หรือไม่
การโค้ช
ความคาดหวังที่เกินจริงอาจสร้างความท้อถอยเมื่อต้องทำตามให้สำเร็จ นี่เป็นวิธีที่จะหลบเลี่ยงหลุมกับดักนั้น
- การตั้งเป้าหมายไว้สูงๆ ไม่ได้ช่วยให้คุณทุ่มเทมากขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น แต่อาจกลายเป็นอุปสรรคได้ ไม่ว่ารางวัลปลายทางจะดีแค่ไหน
- หมั่นเช็คความก้าวหน้ากับตัวเองเพื่อปรับแผนพิชิตเป้าหมายที่คุณตั้งไว้
- ลองใช้กลยุทธ์ทางจิตใจที่เรียกว่า "WOOP" หรือ "Wish, Outcome, Obstacle, Plan" (ความปรารถนา ผลลัพธ์ อุปสรรค แผนการ) ซึ่งจะช่วยให้คุณก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปได้
อ่านต่อเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม…
การจับจ้องไปยังเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้สูงอาจเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น อย่างการวิ่งมาราธอน การทำภารกิจทานอาหารเพื่อสุขภาพ 30 วันให้สำเร็จ หรือการพิชิตท่าหกสูง แต่เหตุใดแรงจูงใจในการบรรลุเป้าหมายจึงมักเป็นเรื่องง่ายในตอนแรก แล้วค่อยๆ มอดดับไป หรือหายไปโดยสิ้นเชิง งานวิจัยชิ้นล่าสุดเผยว่า นี่เป็นเพราะบางครั้งความตั้งใจก็มีน้อยกว่าความทุ่มเทที่ต้องใช้ในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
"เมื่อจำเป็นต้องทุ่มเททำอะไรสักอย่าง ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญอยู่ที่การเลือกว่าจะทำอะไรกับการลงมือทำจริงๆ" Agata Ludwiczak, PhD กล่าว เธอเป็นนักวิจัยด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย Queen Mary University of London "หากต้องตัดสินใจเลือกทุ่มเททำอะไรสักอย่าง คนเรามักมีแนวโน้มพุ่งเป้าไปมองที่รางวัลปลายทาง แต่ระดับความทุ่มเทที่ต้องใช้ลงมือจริงนั้นจะขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่ทำนั้นจำเป็นต้องทุ่มเทแค่ไหนเสียมากกว่า" นี่จึงอาจอธิบายได้ว่าทำไมคุณจึงเลือกที่จะลงแข่งฮาล์ฟมาราธอนแทนลงแข่ง 10K เพราะการอยากคุยโม้ในภายหลังอาจทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้
งานวิจัยของ Ludwiczak ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Behavioural Brain Research แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ในระยะแรก จะมีชุดงาน 2 กิจกรรมเสนอให้กลุ่มตัวอย่างเลือกทำซ้ำอยู่เรื่อยๆ แต่ละกิจกรรมต้องใช้ความทุ่มเทต่างกันและเงินรางวัลที่ได้ก็ไม่เท่ากัน กิจกรรมที่ง่ายกว่ามักได้เงินน้อยกว่า ส่วนกิจกรรมที่ยากกว่าก็จะได้เงินเยอะกว่า ในระยะที่ 2 กลุ่มตัวอย่างต้องพยายามลงมือทำกิจกรรมที่ตัวเองเลือกไว้ในระยะแรกให้สำเร็จ นักวิจัยพบว่า ในระยะแรกนั้นทุกคนแห่กันเลือกกิจกรรมที่ได้เงินมากกว่า แต่พอมาถึงระยะที่ 2 กลุ่มตัวอย่างกลับพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ไปให้ความสำคัญกับความทุ่มเทที่ต้องใช้ ณ ขณะนั้นเป็นหลักแทน ไม่ว่าความทุ่มเทนั้นจะส่งผลให้ตัวเองได้เงินรางวัลตามที่ตั้งใจไว้ในตอนต้นหรือไม่ก็ตาม
"งานวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า เป้าหมายคืออะไรนั้นไม่สำคัญ จะวิ่ง 5K หรือวิ่งมาราธอนก็ตาม เพราะในระหว่างการวิ่งเทรนนิ่งแต่ละรอบนั้น สมองจะโฟกัสไปที่ว่าวันนี้ต้องทุ่มเทเท่าไหร่" Ludwiczak กล่าว "หากว่าต้องทุ่มเทเกินกว่าที่คาดไว้มาก ก็เป็นไปได้ที่จะล้มเลิก แม้ว่ารางวัลปลายทางจะดึงดูดใจมากก็ตาม"
กลุ่มตัวอย่างนี้จับจ้องไปที่เงินจำนวนไม่มาก จึงค่อนข้างมีความเสี่ยงน้อย แต่จะเป็นอย่างไรหากรางวัลปลายทางนั้นเป็นสิ่งที่ฝันมาตลอดชีวิต อย่างการพิชิตยอดเขาที่ปีนขึ้นไปได้ยากหรือการลงแข่งไอรอนแมน คุณก็อาจอยากไปให้ถึงสิ่งที่มุ่งหวังเอาไว้จริงไหม แต่ก่อนที่จะลงมือทำ ต้องรู้ก่อนว่าตัวเองกำลังจะตอบตกลงมุ่งมั่นทำสิ่งใด เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความล้มเหลวและความไม่มั่นใจในตัวเอง วิธีการมีดังนี้
1. ก่อนอื่น ไม่ต้องไปคิดถึงรางวัลปลายทาง
Ludwiczak บอกว่า "หากกำลังตัดสินใจว่าจะทำสิ่งไหนดี ให้ลองนึกดูก่อนว่า คุณต้องทุ่มเทลงแรงแค่ไหนเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมาครอง" และอย่าหลอกตัวเอง หากชอบทานขนมปัง การจะหันไปทานอาหารแบบคีโตสักเดือนก็คงไม่เหมาะ หากไม่ชอบตื่นเช้าในวันเสาร์อาทิตย์เพื่อจะได้ออกไปวิ่งเทรนนิ่งในเส้นทางเทรล ก็อาจต้องทบทวนดูใหม่ว่าจะไปแข่งวิ่งแบบผจญภัยดีไหม
Ludwiczak แนะนำว่า หากเกิดสะดุดระหว่างทางหรือรู้สึกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เริ่มจำเจ ให้ลองพยายามหาอย่างอื่นทำดู เช่น ฟังเพลง ชวนเพื่อนให้มาทำด้วยกัน หรือทำเป้าหมายให้เล็กลงในแบบที่จับต้องได้เพื่อพิชิตไปทีละขั้น
2. คุยกับตัวเอง
ให้ฝึกทบทวนตนเองเพื่อจะได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะเมื่อเป้าหมายกินเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน เพราะจะช่วยให้ยังคงมุ่งมั่นต่อไปได้และลดทอนความไม่มั่นใจในตัวเอง งานวิจัยชิ้นหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ได้ขอให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สร้างเป้าหมายด้านการมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ในที่ทำงาน แล้วให้ประเมินพฤติกรรมของตนทุก 2-3 สัปดาห์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Zurich พบวิธีง่ายๆ นี้ช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ตระหนักถึงนิสัยในที่ทำงานที่ดีและไม่ดีได้มากขึ้นถึง 85 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงสังเกตเห็นได้ว่าตัวเองมีประสิทธิภาพในการทำงานและสุขภาวะที่ดีขึ้นถึง 80 เปอร์เซ็นต์
ถ้าให้ยกตัวอย่าง ลองจดบันทึกดูว่าการออกกำลังกายทำให้คุณรู้สึกอย่างไร แล้ววันไหนที่เป็นวันพัก ก็ให้ลองนึกย้อนกลับไปดูการเทรนนิ่งที่คุณทำในสัปดาห์นั้น ว่ายังคงเป็นไปตามแผนการเทรนนิ่งไหม ง่ายหรือยากเกินไปไหม แล้วปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมเพื่อให้แน่ใจว่าจะยังคงท้าทายมากพอที่จะทำให้ตัวเองพัฒนาต่อไปได้อยู่ แต่ต้องไม่ท้าทายเกินไปจนกลายเป็นภาระหรือทำให้คุณสงสัยในความสามารถของตัวเอง
3. รับรู้ถึงอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น
การมองโลกในแง่บวกก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป Gabriele Oettingen, PhD กล่าว เธอเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาที่ New York University จากงานวิจัยหลายปี เธอพบว่าการฝันใหญ่ถึงเป้าหมายนั้นนำไปสู่การทุ่มเทที่ไม่มีประสิทธิภาพและทำให้เกิดความสำเร็จได้น้อย เมื่อพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น
เธอได้คิดค้นกลยุทธ์ทางจิตใจเพื่อช่วยให้ผู้คนก้าวข้ามผ่านอุปสรรคนั้นได้ กลยุทธ์นี้เรียกว่า "WOOP" ย่อมาจาก "Wish, Outcome, Obstacle, Plan" (ความปรารถนา ผลลัพธ์ อุปสรรค แผนการ) ขั้นแรกคือระบุความปรารถนาที่สำคัญซึ่งท้าทายแต่ก็ทำสำเร็จได้ เช่น อาจลองงดดื่มแอลกอฮอล์ในคืนวันธรรมดาดู จากนั้นลองจินตนาการให้เห็นภาพชัดเจนถึงผลลัพธ์ที่ดีที่สุดและนึกดูว่าผลลัพธ์นี้จะเปลี่ยนชีวิตประจำวันไปอย่างไร บางทีคุณอาจนอนหลับได้เต็มอิ่มขึ้นและมีแรงทำอะไรได้มากขึ้น ถัดไปคือให้รับรู้ถึงอุปสรรคที่อาจฉุดรั้งไม่ให้ทำตามความปรารถนานั้นได้สำเร็จ Oettingen บอกว่า ลองถามใจตัวเองลึกๆ ดูว่าฉันมีอะไรในตัวเองบ้างที่คอยขัดขวางอยู่ อารมณ์เหรอ หรือความเชื่อที่ไร้เหตุผล หรือว่าความไม่มั่นใจ หรือจะเป็นนิสัยที่ไม่ดี บางทีการดื่มไวน์กับอาหารเย็นก็อาจกลายเป็นนิสัยที่ไม่ดีได้ สุดท้ายให้ระบุการกระทำหรือความคิดที่จะช่วยให้คุณเอาชนะอุปสรรคและวางแผนการ "ถ้า-งั้นก็" เช่น "ถ้าเกิดอยากดื่มไวน์กับอาหารเย็น งั้นก็จะดื่มชาหมักคอมบูชาหรือน้ำโซดาแทน"
"ภาพจินตนาการเชิงบวกทำให้คนเรารู้สึกว่าตัวเองได้ทำความฝันสำเร็จแล้ว กำลังใจเลยหายไป" Oettingen อธิบาย "การค้นพบว่ายังมีอุปสรรคอยู่จะทำให้เรามีกำลังใจ ส่วนการทำแผนการ 'ถ้า-งั้นก็' จะทำให้เรารู้ว่าจะเอาชนะอุปสรรคนั้นได้อย่างไร และเมื่อเจออุปสรรคอีกในภายหลัง เราก็จะตอบสนองในลักษณะนี้โดยอัตโนมัติ ดังนั้นคุณจึงเดินหน้าสู่เป้าหมายต่อไปได้"
สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การทำตามเป้าหมายที่จัดการได้ตั้งแต่ต้นนั้นไม่ใช่เรื่องน่าอาย เพราะการเตรียมตัวเองให้พร้อมประสบความสำเร็จตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้เดินหน้าสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นได้ เมื่อพร้อมและตื่นเต้นกับการที่จะทุ่มเทให้มากขึ้น
เรียบเรียงโดย Marjorie Korn
ภาพประกอบโดย Rune Fisker
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
Nike Trainer อย่าง Joe Holder รู้ดีว่าขั้นตอนมีบทบาทอย่างไรในการสร้างความก้าวหน้า อ่านเรื่องราวส่วนตัวของเขาเพื่อรับคำแนะนำและค้นหาแรงบันดาลใจ จากนั้นวางแผนการออกกำลังกายของคุณให้เรียบร้อยด้วยโปรแกรมการท้าทายเพื่อการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันในแอพ Nike Training Club