Road Ready: Nike Sole 2.0 x Össur Running Blade

นวัตกรรม

ด้วยแรงบันดาลใจจากอุปกรณ์พิเศษที่นักกีฬาคนพิการทำเอง ดีไซเนอร์ Nike จึงพัฒนาแนวทางพลิกชีวิตในการวิ่งด้วยขาเทียม เรามาดูรูปแบบล่าสุดกัน

อัพเดทล่าสุด: 18 ตุลาคม 2564
ใช้เวลาอ่าน 8 นาที

“พิสูจน์ให้รู้” เป็นซีรีส์ที่เผยโฉมนวัตกรรมพลิกขั้วในด้านกีฬา การมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ และศักยภาพ

ลองนึกภาพนักกีฬาระดับโลกบรรจงประดิษฐ์อุปกรณ์ของตัวเองด้วยกรรไกรและกาวในโรงรถของตัวเอง

อาจฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่นั่นคือสิ่งที่นักไตรกีฬาคนพิการ Sarah Reinertsen ทำ เธอเคยเลื่อยพื้นรองเท้าออกมาปะแทนบริเวณสำหรับยึดเกาะของรองเท้าเข้ากับขาเทียมสำหรับวิ่งของเธอ (ขาเทียมพิเศษสำหรับใส่เล่นกีฬา)

“เรายังพัฒนาขึ้นได้อีกนะ” นี่คือปฏิกิริยาจาก Tobie Hatfield นวัตกรมากประสบการณ์ของ Nike และอดีตโค้ชกรีฑาแสดงออกมาในทันทีเมื่อเขาเห็นงานซ่อมภาคบังคับของ Sarah เป็นครั้งแรก ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ Nike Sole 1.0 ระบบการยึดเกาะเปลี่ยนเร็วที่ใช้กับขาเทียมสำหรับวิ่งแบรนด์ Össur ซึ่งได้พลิกวงการนักกีฬาคนพิการทั่วโลกไปเลย ทำให้พวกเขาบอกลาพื้นรองเท้าที่ใส่จนสึกเพื่อหันมาใช้ของใหม่ในไม่กี่อึดใจ

แม้รุ่น 1.0 จะปฏิวัติวงการมากเพียงใดก็ตาม แต่ “เราไม่เคยดีไซน์สินค้าที่สมบูรณ์แบบ” Tobie กล่าวในคลิปด้านบน เป็นการย้ำเตือนว่าไม่มีเส้นชัยในเรื่องของนวัตกรรม 9 ปีให้หลัง นักกีฬาและนวัตกรกลุ่มใหม่เข้ามารับไม้ต่อและผลักดันให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีก

ชมคลิปเพื่อดูเรื่องราวต้นกำเนิดของ Nike Sole 2.0 เพิ่มเติม จากนั้นอ่านด้านล่างเพื่อดูว่า George Xanthos ดีไซเนอร์ผู้นำโปรเจกต์รับช่วงต่อมาในทิศทางใด

พบกับ George หัวหน้าดีไซเนอร์ของ Nike Sole 2.0 (1) ภาพ Nike Sole 1.0 จากปี 2012 (2) การทำงานของระบบตัวยึดที่พัฒนามาใหม่ของรุ่น 2.0 ในตัวต้นแบบรุ่นแรกๆ

เฟส 1: ปัญหาการติด
บทเรียน: เริ่มด้วยความใส่ใจและความทะเยอทะยาน

เนื่องจากได้ทำงานสร้างสรรค์นวัตกรรมล้ำยุคอย่าง Nike FlyEase (โซลูชันการใส่และถอดได้ง่าย) และ Nike Pulse (รองเท้าทนทานสูงสำหรับบุคลากรทางการแพทย์) George จึงคุ้นเคยกับดีไซน์ที่มีความใส่ใจเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นกระบวนการของการมองในมุมของคนอื่นเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ดีขึ้น

สำหรับ Nike Sole 2.0 นั่นหมายความว่าต้องเข้าใจความคิดในหัวของผู้ใช้ขาเทียมสำหรับวิ่ง ลองจินตนาการถึงอุปกรณ์ที่ Sarah ติดกาวเองก่อนหน้านี้ พอผ่านไปไม่กี่เดือนก็มีพื้นสึกจนเปื่อยติดกับเท้า นั่นคือเหตุผลที่ระบบ Nike Sole ที่เปลี่ยนได้นั้นมีความสำคัญมาก และเป็นเหตุผลที่ทีมมุ่งมั่นที่จะสร้างรุ่น 2.0 ให้ติดและถอดได้ง่ายขึ้นกว่าที่เคย

แต่พวกเขาก็ยังไม่พอใจที่จะหยุดแค่นั้น โดยยังคงมองไปถึงการสร้างตัวเลือกต่างๆ เพราะใครบ้างล่ะจะมีรองเท้าแค่เพียงคู่เดียว ยกตัวอย่างก็เช่นนักกีฬาที่ต้องเปลี่ยนจากพื้นรองเท้าวิ่งบนถนนมาเป็นแบบพื้นตะปูสำหรับวิ่งลู่ “ขาเทียมสำหรับวิ่งมีราคาแพง” George ชี้ให้เห็น “นักกีฬาคนพิการส่วนใหญ่ไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อขาเทียมเฉพาะสำหรับแต่ละการแข่งขัน” จึงจำเป็นต้องใช้การเปลี่ยนพื้นรองเท้ากับขาเทียมอเนกประสงค์ที่มีอยู่ชิ้นเดียวแทน

คลิปวิดีโอด้านบนบอกเล่ารายละเอียดทุกแง่ทุกมุมของการประดิษฐ์กลไกการติดแบบใหม่ แต่สำหรับ George แล้ว ชัยชนะที่ได้มาอย่างยากลำบากนั้นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของเส้นทาง

(1) นักกระโดดไกลพาราลิมปิก Markus Rehm และ George ทำงานร่วมกันที่สำนักงานใหญ่ของ Össur ในไอซ์แลนด์ (2) ภาพช้าในการทดสอบตัวต้นแบบของ Markus (3) Markus ปรับแต่งขาเทียมสำหรับกระโดดไกลเพื่อให้ปุ่มตะปูด้านหน้าอยู่ไกลออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เฟส 2: นวัตกร x นักกีฬา
บทเรียน: เตรียมพร้อมที่จะลองผิด

George นั่งเครื่องไปยังกรุงเรคยาวิก เมืองหลวงของประเทศไอซ์แลนด์ พอถึงแล้วเขาก็มุ่งหน้าไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทผลิตกายอุปกรณ์ Össur ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์มาอย่างยาวนานในโครงการริเริ่ม Nike Sole และเขาพร้อมที่จะทดสอบงานดีไซน์ที่คิดค้นมาตลอดหลายเดือน

จากจุดนั้น เขาก็กระโจนเข้าสู่การทำงานต่อเนื่องกับนักกระโดดไกลพาราลิมปิก Markus Rehm ภายในไม่กี่นาทีก็ต้องโยน “แผน A” ทิ้งออกนอกหน้าต่างไป เพราะเมื่อได้ดูภาพช้าในการวิ่งและกระโดดของ Markus พวกเขาก็พบเลยว่าตัวต้นแบบเริ่มแรกของ George สัมผัสพื้นได้ไม่ดีพอ

เขาปรับให้ตัว Sole นั้นสั้นลงเพื่อจะได้ให้เบาขึ้น แต่ดูเหมือนว่าจะปรับมาสั้นเกินไปสักหน่อย “ผมเห็นทันทีเลยว่า Markus ลงพื้นตรงส่วนขาเทียมที่เลยบริเวณยึดเกาะไปอีก” George บอก แต่พวกเขาก็กลับไปลงมือแก้ไขกันต่ออย่างไม่ไหวหวั่น “เราเริ่มประยุกต์ ปรับตัวต้นแบบ แล้วทดสอบใหม่”

นั่นเป็นแค่ช่วงเวลา “ถึงบางอ้อ” ครั้งหนึ่งที่ทั้งคู่มีระหว่างสุดสัปดาห์ที่คืบหน้าไปมาก การปรับปรุงอื่นๆ รวมถึงการไม่ใช้หมุดพลาสติกที่อาจจะอันตรายเมื่อเลื่อนหลุดสำหรับการกระโดดไกล และเลื่อนปุ่มตะปูไปที่ขอบด้านหน้าสุดเพื่อให้ยึดเกาะได้ตรงจุด

(1) George พบว่านักกีฬาชั้นนำจำนวนน้อยมากที่ต้องการพื้นรองเท้าชั้นกลาง (ระบบลดแรงกระแทกระหว่างขาเทียมและแผ่นรองพื้นตะปู) — “ขาเทียมก็เป็นสปริงตัวใหญ่ [อยู่แล้ว]” (2) นักกีฬาต้องจัดวางปุ่มตะปูแตกต่างกันตามประเภทกีฬาที่ตัวเองเล่น (3) ตัวเลือกแผ่นรองพื้นตะปูตามสั่งของ George มีร่องที่ผ่าไว้แล้วเพื่อให้ผู้ใช้นำไปปรับแต่งต่อเองได้

เฟส 3: สุดยอดเกราะเพื่อการวิ่ง
บทเรียน: เปลี่ยนความล้มเหลวเป็นโอกาส

ต่อมาที่สำนักงานใหญ่ของ Össur ทาง George ก็ได้เข้าเซสชันถามตอบฉับไวกับนักกีฬาคนพิการระดับโลกหลายคนมากขึ้น

แต่แค่เพิ่งเริ่ม เขาก็ต้องเจอทางตันย่อยๆ เสียแล้ว เมื่อถามว่าพวกเขาจะใช้ระบบเปลี่ยนได้ที่เป็นซิกเนเจอร์ของ Nike Sole หรือเปล่า นักกีฬานับสิบคนต่างก็เปิดอกพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่”

นักกีฬาระดับท็อปมักมีขาเทียมหลายชิ้นและสามารถสั่งทำพิเศษให้เข้ากับการแข่งขันได้ ซึ่งแตกต่างจากนักวิ่งคนพิการทั่วไป (โดยปกติแล้วนั่นหมายถึงการติดแผ่นตะปูพิเศษด้วยกาวลงโดยตรง)

คำตอบที่คาดไม่ถึงนี้ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่ทำมานั้นสูญเปล่า George นึกย้อนไปว่านักกีฬายัง “เห็นได้ในทันทีเลยว่าระบบเปลี่ยนได้สำหรับนักกีฬาคนพิการทั่วไปนั้นก็มีประโยชน์ และมองเห็นได้ว่าพวกเขาเองก็น่าจะได้รับประโยชน์ [จากสิ่งนี้] ในช่วงแรกของอาชีพนักกีฬา ตอนที่พวกเขามีขาเทียมสำหรับวิ่งเพียงชิ้นเดียว”

แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่นักกีฬาชั้นนำซึ่งไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของโปรเจกต์ที่ทำอยู่ George ได้มองหากลุ่มเป้าหมายใหม่แทน และเป็นกลุ่มที่ดูมีแววมากเสียด้วย

“ผมชอบคิดว่า [พวกเขา] เป็นนักขับรถแข่ง” George กล่าวถึงชั้นเชิงของนักวิ่งและความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อขาเทียม “พวกเขาปรับเครื่องยนต์ ลดน้ำหนักลง แต่งส่วนต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นเรื่องที่ยอดมากที่ดีไซเนอร์อย่างเราได้เห็น”

เขาใช้โอกาสนี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของตัวเลือกแผ่นรองพื้นตะปูตามสั่งให้อยู่ในระดับสูงสุดซึ่งผู้ใช้นำไปปรับแต่งต่อเองได้ นักกระโดดไกลจะได้มีแผ่นรองในลักษณะที่ต่างจากนักวิ่ง แต่ละคนจะได้มีแผ่นรองที่เหมาะกับตัวเอง

รูปเรขาคณิตตามธรรมชาติของไอซ์แลนด์เป็นแรงบันดาลใจให้ดีไซน์แผ่นรองพื้นตะปู Sole 2.0 ซึ่งมีริ้วนูนยกสูงเพื่อโอบรับและรองรับการใส่ปุ่มตะปู และให้เป็นลักษณะของฟันยึดเกาะรองที่ขอบนอก

เฟส 4: ทริปสร้างแรงบันดาลใจ
บทเรียน: รูปแบบนำไปสู่การใช้งาน

หลังจากที่รับข้อมูลเชิงลึกทางเทคนิคกับนักกีฬาและวิศวกรของ Össur แบบอัดแน่นทั้งสัปดาห์ George ก็พร้อมที่จะเปิดรับการกระตุ้นทุกโสตประสาท

เขาเช่ารถและหลงเข้าไปในทิวทัศน์กับบรรยากาศแปลกตาไม่เหมือนใครของไอซ์แลนด์ ในที่สุดเขาก็มาถึงน้ำตก Svartifoss สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติชวนพิศวงที่เขาอธิบายว่าเป็นส่วนที่มีพลังกับตัวเขาเองมากที่สุดในการเดินทางเพื่อค้นคว้าครั้งนี้

“มันดูเหมือนไปป์ออร์แกนหลังใหญ่เพราะมีแท่งหินบะซอลต์เรียงตัวกันในแนวตั้ง” George ย้อนนึกถึง “จังหวะของภาพที่น้ำตกสร้างขึ้นนั้นสวยจนต้องหยุดหายใจ ทั้งดูเป็นทรงเรขาคณิตและมีความเป็นธรรมชาติในเวลาเดียวกัน”

เขานำแรงบันดาลใจนี้เองมาใช้กับแผ่นรองพื้นตะปู Sole 2.0 ไม่ใช่เอาไว้แค่ตกแต่งให้สวยสะดุดตา แต่เป็นแหล่งที่มาของการใช้งานจริงอันมีประสิทธิภาพด้วยริ้วเอียงที่ทำให้ส่วนที่นูนลื่นไหลเพื่อให้มีวัสดุมากขึ้นในจุดที่ต้องการ

(1) ทุกส่วนที่ยุบลงและริ้วนูนของพื้นรองเท้าสำหรับถนนแบบใหม่มีหน้าที่เฉพาะ (2) George มีคนที่จะมาเป็นผู้ทดสอบสวมใส่อยู่เพียงไม่กี่คนที่ Nike HQ ในโอเรกอน แต่ใครจะดีไปกว่า Sarah ผู้ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ทีมเริ่มเข้าสู่เส้นทางนี้ตั้งแต่แรก

เฟส 5: การตกแต่งขั้นสุดท้าย
บทเรียน: สิ่งที่ดีกว่าเดี๋ยวก็ดับไป จากนั้นจะทำอย่างไรต่อ

เมื่อแผ่นรองพื้นตะปูเริ่มจะลงตัวแล้ว George หันมาสนใจพื้นรองเท้าสำหรับถนน โดยได้ไอเดียมาจากการที่เขาย้อนนึกถึงครั้งแรกที่เห็นการใช้งานจริงของ Nike Sole 1.0 กับเด็กๆ ที่สนุกสุดเหวี่ยงกับการแข่งขันรายการ Challenged Athletes Foundation (CAF) เมื่อไม่กี่ปีก่อน

“ผมเห็นนักกีฬาคนพิการรุ่นเล็กวิ่งบนพื้นหญ้า วิ่งบนถนน เล่นบาสเก็ตบอล และเล่นกีฬาอื่นๆ” เขาย้อนนึก “เป็นอะไรที่ทำให้มีแรงบันดาลใจขึ้นมาเมื่อได้เห็นขาเทียม Össur และ Nike Sole ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างอิสระให้นักกีฬาเหล่านี้ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความสดใส เมื่อพวกเขาเรียนรู้เทคนิคที่คลินิกของ CAF เพื่อช่วยให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น”

ในการปรับให้นักกีฬาที่ชอบทำกิจกรรมเคลื่อนไหวประจำวันกลางแจ้งใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์กับหลายพื้นผิวในหลายประเภทกีฬา George บอกว่าเขา “นำองค์ประกอบการยึดเกาะที่ดีที่สุดจากรองเท้าบาสเก็ตบอลและรองเท้าวิ่งมาใช้ อย่างลายก้างปลาและดอกยาง แล้วมองหาวิธีสร้างรุ่นไฮบริดสุดเพอร์เฟกต์”

ผลของการผสมผสานอาจเห็นได้จากภาพสเก็ตช์แรกๆ ไปจนถึงสินค้าสำเร็จด้านบน แต่เช่นเดียวกับนวัตกรที่ดีคนอื่นๆ George ก็คิดล่วงหน้าไปถึงการพัฒนาต่อไปในอนาคตแล้ว ซึ่งอาจรวมถึงตัวเลือกการยึดเกาะเฉพาะประเภทกีฬาแบบครบสูตร

“บางที [เราจะทำ] รุ่นที่ทนทานยิ่งขึ้นสำหรับการวิ่งเทรล” เขาจินตนาการ “และอาจมีรุ่นสำหรับบาสเก็ตบอลโดยเฉพาะ [ดังนั้น] คุณก็อาจจะมีพื้นรองเท้าเปลี่ยนได้ถึง 4 แบบ”

หรือมากกว่านั้นตามการใช้งาน เมื่อเป็นเรื่องของการคิดค้นนวัตกรรมสำหรับนักกีฬาคนพิการ อนาคตนั้นเปิดกว้าง อย่างที่ George ว่าไว้ “ใครจะไปรู้ว่าอะไรเป็นไปได้” แต่อย่างหนึ่งที่แน่ชัดคือเขาจะตั้งใจค้นหาคำตอบอย่างเต็มที่

รับสักชิ้นไหม หากคุณหรือคนรู้จักอยากจะรู้ว่าจะเป็นเจ้าของ Nike Sole 2.0 ได้อย่างไร ก็สามารถติดตามเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของบริษัทผลิตกายอุปกรณ์ Össur ระบบการยึดเกาะ Sole 2.0 จำหน่ายพร้อมกับสินค้า Össur รุ่นที่ร่วมรายการ

ภาพยนตร์โดย Azsa West
เรียบเรียงโดย Brinkley Fox

เผยแพร่ครั้งแรก: 18 ตุลาคม 2564